Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก

ทีมข่าว TCIJ: 4 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 15698 ครั้ง

โลกผ่านอะไรมาบ้าง? ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ฉบับแรกจนถึงยุคที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของประชากรโลก ชวนอ่านรายงานพิเศษซีรีส์ ‘Media Disruption’ ตอนแรก ว่าด้วยไทม์ไลน์ ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารและวงการสื่อโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป 'ใช้เวลากับสื่อเก่าน้อยลง' - 'ให้เวลากับสื่อใหม่เพิ่มขึ้น'

 

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

ในสหรัฐอเมริกา มีการเผยแพร่สัญญาณ 'โทรทัศน์ขาวดำ' สู่สาธารณชนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1928 ต่อมาในปี ค.ศ. 1951 เทคโนโลยี 'โทรทัศน์สี' ได้เริ่มปรากฏขึ้นในสหรัฐฯ ท้ายที่สุดโทรทัศน์สีก็ได้เข้ามาแทนที่โทรทัศน์ขาวดำเกือบทุกหลังคาเรือนของคนอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ 1980s ความเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลาระยะเวลาเกือบ 30 ปี [1] [2] และตั้งแต่มีการวางจำหน่าย ‘โทรศัพท์เคลื่อนที่’ ครั้งแรกในยุคทศวรรษที่ 1970s จนมาถึงปี ค.ศ. 1996 เราต้องใช้เวลากว่า 20 ปี ที่ยอดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแตะที่ 60 ล้านเครื่องทั่วโลก แต่ในรอบ 12 ปี (ระหว่างปี ค.ศ. 2007-2018) ยอดจำหน่าย ‘สมาร์ทโฟน’ อันเป็นวิวัฒนาการล่าสุดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลับพุ่งจากหลักร้อยล้านเครื่องเป็นพันล้านเครื่องได้อย่างง่ายดาย [3] [4]  ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 พบว่า ทั่วโลกมีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 16 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 0.4% ของประชากรโลกทั้งหมดในขณะนั้น ต่อมาอีก 24 ปี ในต้นปี ค.ศ.2019 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 4,422 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 57.3% ประชากรโลก [5] – เหล่านี้คือตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงอัน 'ฉับพลัน' ของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงอันฉับพลัน

ในปี ค.ศ. 1991 โลกมีเว็บไซต์เพียง 1 เว็บ (คือ http://info.cern.ch/hypertext/WWW/TheProject.html) จากนั้นก็ใช้ระยะเวลาเพียง 27 ปี เพิ่มเว็บไซต์ได้ถึง 1,630,322,579 เว็บ ในปี ค.ศ. 2018

ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ค.ศ. 2000-2019) เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า มีความรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงต่างๆ ในประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะแรงผลักจาก ‘อินเตอร์เน็ต’ รวมทั้งการเกิดขึ้นของเครือข่ายทางสังคมในอินเตอร์เน็ตหรือ ‘โซเชียลมีเดีย’ (social media) ที่ได้ส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของโลก ไม่ว่าจะเป็นการหันไปใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เผยแพร่เนื้อหาสื่อต่างๆ แทนช่องทางโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม ได้สร้างผลกระทบมากมาย เช่น การลดจำนวนการพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ การลดการรายงานข่าวจากท้องถิ่นหรือการรายงานจากต่างประเทศ การปิดตัว การลดขนาดองค์กร การควบรวมกิจการสื่อสารมวลชน รวมถึงการลดตำแหน่งงานประจำ การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ในอุตสาหกรรมสื่อมากขึ้น เป็นต้น (ปรากฏการณ์เหล่านี้จะขอนำเสนอในตอนต่อๆ ไป)

จากการประเมินในปี ค.ศ. 1995 พบว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 16 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 0.4% ต่อประชากรทั้งหมดของโลก อีก 10 ปี ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 เพิ่มเป็น 1,018 ล้านคน คิดเป็น 15.7% ของประชากรโลก แต่ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมายิ่งก้าวกระโดดกว่านี้ โดยในปี ค.ศ. 2010 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 1,971 ล้านคน คิดเป็น 28.8% ของประชากรโลก ในปี ค.ศ.2017 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีสัดส่วนเกินครึ่งต่อประชากรทั้งหมดของโลก โดยเมื่อสิ้นปี ค.ศ.2017 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 4,156 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 54.4% ของประชากรโลก ในปี ค.ศ. 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 4,313 ล้านคน และในเดือน มิ.ย. 2019 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 4,422 ล้านคน คิดเป็น 57.3 % ของประชากรทั้งหมดของโลก ส่วนข้อมูลจาก Global Digital Report 2019 ประเมินว่าในเดือน ม.ค. 2019 นี้จะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกถึง 4,388 ล้านคน หรือคิดเป็น 57% ของประชากรโลกเลยทีเดียว [6] [7] สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนเว็บไซต์และผู้ใช้เว็บไซต์ประเภทโซเชียลมีเดีย พบว่าในปี ค.ศ. 1991 โลกมีเว็บไซต์เพียง 1 เว็บ จากนั้นก็ใช้ระยะเวลา 27 ปี เพิ่มเว็บไซต์ขึ้นถึง 1,630,322,579 เว็บ ในปี ค.ศ. 2018 [8] ส่วนโซเชียลมีเดียที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2000’s มีการประเมินว่าในเดือน ม.ค. 2019 ทั่วโลกมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ยัง active อยู่ถึง 3,484 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% ของประชากรโลก โดยโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ที่ผู้ใช้ยัง active อยู่ ได้แก่ อันดับ 1.Facebook 2,234 ล้านบัญชี 2.YouTube 1,900 ล้านบัญชี 3.WhatsApp 1,500 ล้านบัญชี 4.Facebook Messenger 1,300 ล้านบัญชี และ 5.WeChat 1,058 ล้านบัญชี (ข้อมูล ณ ต.ค. 2018) [9]

นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนของ ‘สมาร์ทโฟน’ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 หลังการออกวางจำหน่ายของ iPhone ก็ได้กระตุ้นให้อุปกรณ์ในกลุ่มสมาร์ทโฟนเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก โดยในปี ค.ศ. 2007 ยอดขายของสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ 122.32 ล้านเครื่อง ปี ค.ศ. 2010 เพิ่มเป็น 296.65 ล้านเครื่อง ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 ยอดขายของสมาร์ทโฟนทั่วโลกทะลุหลักพันล้านเครื่องเป็นครั้งแรก ที่ 1,244.74 ล้านเครื่อง และในปี ค.ศ. 2018 ยอดขายของสมาร์ทโฟนทั่วโลกก็ได้เพิ่มเป็น 1,555.27 ล้านเครื่อง [10] นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่าในเดือน ม.ค. 2019 มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกประเภท 5,112 ล้านเครื่องทั่วโลก ในจำนวนนี้มีผู้ใช้ 3,253 ล้านคน ใช้สมาร์ทโฟนร่วมกับโซเชียลมีเดีย [11]

Time Line ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารและวงการสื่อโลก

ที่มาภาพประกอบ: Radio Free Europe/Radio Liberty

  • ปี ค.ศ. 1609 หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นในยุโรป (รายสัปดาห์)
  • ปี ค.ศ. 1690 หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา (ขณะที่ยังเป็นอาณานิคม)
  • ปี ค.ศ. 1821 มีนิตยสาร (Magazine) ระดับชาติฉบับแรกในสหรัฐฯ
  • ประมาณ ปี ค.ศ. 1826-1827 มีการถ่ายภาพโดยกล้องถ่ายรูปเป็นครั้งแรกของโลก
  • ปี ค.ศ. 1827 เกิดหนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน ฉบับแรกในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1828 เกิดนิตยสารสำหรับสตรีฉบับแรกในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1844 สายโทรเลขเส้นแรกถูกวางโดย Samuel Morse
  • ปี ค.ศ. 1858 มีสายเคเบิลเส้นแรกวางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
  • ทศวรรษที่ 1870s พบว่า มีสื่อสิ่งพิมพ์ลามกเผยแพร่ในยุโรปแล้ว
  • ปี ค.ศ. 1876 Alexander Graham Bell คิดค้นโทรศัพท์ให้ใช้งานได้
  • ปี ค.ศ. 1877 Thomas Edison คิดค้นแผ่นเสียงให้ใช้งานได้
  • ปี ค.ศ. 1885 George Eastman คิดค้นกล้องถ่ายรูปฟิล์มให้ใช้งานได้
  • ปี ค.ศ. 1894 Guglielmo Marconi คิดค้นวิทยุให้ใช้งานได้
  • ปี ค.ศ. 1923 มีการถ่ายทอดเสียงการแข่งขันเบสบอล World Series เป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1927 มีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ครั้งแรกโดย Philo Farnsworth
  • ปี ค.ศ. 1928 มีการเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ (ขาวดำ) สู่สาธารณชนครั้งแรกในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1932 Walt Disney สร้างภาพยนตร์สีขึ้นครั้งแรก
  • ทศวรรษที่ 1940s วิทยุเทปถูกพัฒนาขึ้นในเยอรมนี
  • ทศวรรษที่ 1940s มีการพัฒนาระบบชุมสายโทรทัศน์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นระบบเคเบิลทีวี
  • ทศวรรษที่ 1940s มีการพัฒนาระบบดิจิทัล ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นระบบอินเตอร์เน็ต
  • ทศวรรษที่ 1950s โทรทัศน์ขาวดำได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอเมริกัน
  • ปี ค.ศ. 1950 มีการเผยแพร่ข่าวสารสู่โลกคอมมิวนิสต์ผ่านสถานีวิทยุ Radio Free Europe (RFE) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1951 เทคโนโลยีโทรทัศน์สีเริ่มปรากฏขึ้นในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1953 นิตยสาร Playboy ฉบับแรกออกวางจำหน่าย
  • ทศวรรษที่ 1960s ยุครุ่งเรืองของวิทยุ FM
  • ปี ค.ศ. 1960 กีฬาโอลิมปิกเผยแพร่ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก
  • ปี ค.ศ. 1963 เริ่มมีการใช้เทปคาสเซ็ต
  • ปี ค.ศ. 1966 ดาวเทียม Telstar I ได้ส่งสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณโทรทัศน์
  • ปี ค.ศ. 1969 มีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตภายในประเทศขึ้นครั้งแรก จากเครือข่าย DOD’s ARPAnet ของสหรัฐฯ
  • ทศวรรษที่ 1970s มีการพัฒนาระบบ E-mail
  • ทศวรรษที่ 1970s เริ่มมีการเผยแพร่เนื้อหาโป๊เปลือยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
  • ทศวรรษที่ 1970s การให้บริการและจำหน่าย Pager เริ่มแพร่หลาย
  • ปี ค.ศ. 1972 มีการวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรก คือ Xerox PARC ของบริษัท Xerox Alto
  • ปี ค.ศ. 1973 มีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศขึ้นครั้งแรก โดยมีการเชื่อมเครือข่ายจากอังกฤษและนอร์เวย์ เข้ากับเครือข่าย DOD’s ARPAnet ของสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1973 Motorola เปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องแรกของโลก
  • ปี ค.ศ. 1974 ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ (ISP) เกิดขึ้นครั้งแรก คือเครือข่าย Telenet
  • ปี ค.ศ. 1974 นักวิทยาศาสตร์ของ Kodak ประดิษฐ์กล้องดิจิทัลออกมาใช้งานจริงได้
  • ปี ค.ศ. 1977 ม้วนวีดีโอระบบ VHS ก้าวเข้ามาเป็นมาตรฐานของเครื่องเล่นวีดีโอ
  • ปี ค.ศ. 1978 เกิด Spam E-mail ครั้งแรกในโลก
  • ปี ค.ศ. 1979 เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 1G เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น
  • ทศวรรษที่ 1980s โทรทัศน์สีเข้ามาแทนที่โทรทัศน์ขาวดำ
  • ทศวรรษที่ 1980s มีการใช้สายส่งสัญญาณไฟเบอร์ออปติก
  • ปี ค.ศ. 1980 มีการเผยแพร่เนื้อหาจากหนังสือพิมพ์สู่ระบบอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรก (Columbus Dispatch)
  • ปี ค.ศ. 1980 สถานี CNN เป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมงแห่งแรกของโลก
  • ปี ค.ศ. 1981 IBM วางจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล IBM 5150 ซึ่งได้ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
  • ปี ค.ศ. 1981 มีการเปิดตัวช่อง MTV
  • ปี ค.ศ. 1985 โดเมน .com ซึ่งเป็นโดเมนระดับบนสุดตามหมวด เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กันกับ .net, .org, .gov, .mil, .arpa และ .edu
  • ปี ค.ศ. 1985com เป็นเว็บไซต์แรกที่ใช้ระบบโดเมน
  • ปี ค.ศ. 1985 Microsoft เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
  • ปี ค.ศ. 1986 เปิดตัว MCI Mail ผู้ให้บริการ Email เชิงพาณิชย์แห่งแรก
  • ปี ค.ศ. 1989 Compaq เปิดตัวคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก (Laptop Computer) เครื่องแรกของโลก
  • ทศวรรษที่ 1990s ยุครุ่งเรืองของรายการแบบ talk radio
  • ปี ค.ศ. 1991 มีการเผยแพร่เว็บไซต์ http://info.cern.ch/hypertext/WWW/TheProject.html สู่สาธารณะ ถือเป็นเว็บไซต์แรกตามระบบ World Wide Web (WWW) เว็บแรกของโลก
  • ปี ค.ศ. 1991 ระบบ GSM (Global System for Mobile Communications) เข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือว่าเข้าสู่ยุค 2G แทนที่ยุค 1G
  • ปี ค.ศ. 1992 มีการนำไฟล์เสียงและไฟล์วีดีโอ เผยแพร่ในเว็บไซต์เป็นครั้งแรก
  • ปี ค.ศ. 1992 มีการส่ง SMS ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นครั้งแรก
  • ปี ค.ศ. 1993 ทำเนียบขาวและสหประชาชาติเริ่มมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
  • ปี ค.ศ. 1994 เปิดตัวเว็บบราวเซอร์ Netscape ส่วน Microsoft เริ่มสร้างเว็บบราวเซอร์สำหรับ Windows 95
  • ปี ค.ศ. 1994 เปิดตัวเว็บไซต์ Yahoo!
  • ปี ค.ศ. 1994 มีโฆษณาแบบ Banner Ad เป็นครั้งแรกในเว็บไซต์ HotWired โดยเป็นโฆษณาของบริษัท AT&T
  • ปี ค.ศ. 1994 หนังสือพิมพ์ Telegraph เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในอังกฤษที่เผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์
  • ปี ค.ศ. 1995 Internet Live Stats ประเมินว่ามีเว็บไซต์ทั่วโลก 23,500 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 1995 International Data Group ประเมินว่ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 16 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 0.4% ต่อประชากรทั้งหมดของโลก
  • ปี ค.ศ. 1995 Microsoft เปิดตัวเว็บบราวเซอร์ Internet Explorer
  • ปี ค.ศ. 1995 เปิดตัวเว็บไซต์ com เว็บไซต์หาคู่เว็บแรกของโลก
  • ปี ค.ศ. 1995 เปิดตัวเว็บไซต์ขายของออนไลน์ com และ eBay.com โดยสินค้าชิ้นแรกที่ขายได้ใน eBay คือพอยต์เตอร์เลเซอร์ ราคา 14 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1996 ตั้งแต่มีการวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่ยุค ทศวรรษที่ 1970s ถึงปี 1996 มีโทรศัพท์มือถือจำหน่ายออกไปแล้วประมาณ 60 ล้านเครื่องทั่วโลก
  • ปี ค.ศ. 1996 Nokia 7110 เป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่มีเว็บบราวเซอร์ (Web Browser)
  • ปี ค.ศ. 1997 BBC Online เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ
  • ปี ค.ศ. 1997 DVD เข้ามาแทนที่ม้วนวีดีโอระบบ VHS
  • ปี ค.ศ. 1997 Netflix เริ่มให้บริการเช่า DVD ทางไปรษณีย์ในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 1998 เปิดตัวเสิร์ชเอนจิน Google
  • ปี ค.ศ. 1998 The Guardian เปิดเว็บไซต์ และกลายเป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในอังกฤษ
  • ทศวรรษที่ 2000s เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของโทรศัพท์เคลื่อนที่
  • ปี ค.ศ. 2000 Internet Live Stats ประเมินว่ามีเว็บไซต์ทั่วโลก 17,087,182 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 2000 ฟองสบู่ dot-com แตก ธุรกิจเว็บไซต์มีการเลิกจ้างในสหรัฐฯ ถึง 22,000 ตำแหน่ง
  • ปี ค.ศ. 2000 Sharp J-SH04 เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกที่มีกล้องดิจิทัลฝังติดกับตัวเครื่อง
  • ปี ค.ศ. 2000 เปิดตัว Nokia 3310 ที่ถือว่าเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดรุ่นหนึ่ง มียอดจำหน่ายระหว่างปี 2000-2005 ที่ 126 ล้านเครื่อง
  • ปี ค.ศ. 2000 Internet World Stats ประเมินว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 361 ล้านคน คิดเป็น 5.8 % ของประชากรโลก
  • ปี ค.ศ. 2000 เริ่มมีความกังวลใจเรื่องแฮคเกอร์ หลังเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Yahoo, Amazon.com, Buy.com และ com เกิดอาการล่ม
  • ปี ค.ศ. 2000 สำนักข่าว AP เปิดตัวบริการ Streaming News
  • ปี ค.ศ. 2000 เปิดตัวเสิร์ชเอนจิน Baidu
  • ปี ค.ศ. 2001 เปิดตัวเว็บไซต์ Wikipedia
  • ปี ค.ศ. 2001 เปิดตัวเครื่องเล่น iPod และไฟล์เสียง MP3 ได้กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับการเล่นเพลงดิจิทัล
  • ปี ค.ศ. 2002 โทรทัศน์ระบบดิจิทัลเริ่มเข้ามาแทนที่ระบบแอนาล็อก
  • ปี ค.ศ. 2002 The New York Times เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก ที่นำเนื้อหาฉบับเก่ามาเก็บไว้ในแบบดิจิทัล โดยย้อนหลังไปถึงฉบับในปี 1851
  • ปี ค.ศ. 2002 เทรนด์การเก็บเงินค่าสมาชิกของเว็บไซต์ข่าวเริ่มแพร่หลาย เว็บไซต์ com มีสมาชิกที่จ่ายเงินให้ถึง 25,000 คน มีผลสำรวจชิ้นหนึ่งในอังกฤษระบุว่า พนักงานในออฟฟิศอ่านข่าวผ่านเว็บไซต์มากกว่าดูภาพโป๊
  • ปี ค.ศ. 2002 Google เปิดตัว Google News ที่รวบรวมพาดหัวข่าวจากเว็บไซต์ข่าวถึง 4,000 แห่ง
  • ปี ค.ศ. 2003 เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่ยุค 3G
  • ปี ค.ศ. 2003 Apple Inc. เปิดตัวเว็บบราวเซอร์ Safari
  • ปี ค.ศ. 2003 Apple Inc. เปิดตัว iTunes ร้านจำหน่ายเพลงออนไลน์
  • ปี ค.ศ. 2003 TiVo ให้บริการ video on demand เป็นครั้งแรก
  • ปี ค.ศ. 2003 เปิดตัวเว็บบราวเซอร์ Firefox
  • ปี ค.ศ. 2003 ไวรัสคอมพิวเตอร์ Slammer ใช้เวลาเพียง 10 นาที ในการแพร่กระจายผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก
  • ปี ค.ศ. 2003 เปิดตัว WordPress เว็บไซต์แบบ Weblog ที่เปิดให้คนทั่วไปเขียนเนื้อหาผ่านเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น
  • ปี ค.ศ. 2003 สงครามอ่าวกระตุ้นให้คนอ่านข่าวผ่านเว็บไซต์มากขึ้น The Wall St Journal ลงทุนกับฉบับออนไลน์ถึง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลตอบแทนคือมีผู้สมัครสมาชิกฉบับออนไลน์นี้ถึง 625,000 คน
  • ปี ค.ศ. 2003 The Times เปิดตัวฉบับออนไลน์
  • ปี ค.ศ. 2003 The NYTimes.com มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • ปี ค.ศ. 2003 เว็บไซต์ข่าว The Guardian เริ่มมีการเก็บเงินผู้อ่านจากบางเนื้อหา และในปีเดียวกันนี้เว็บไซต์ The Guardian ได้ทดลองผลิตเนื้อหาฉบับออนไลน์เอง โดยไม่อิงฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์
  • ปี ค.ศ. 2004 Microsoft ทดลองโครงการ Newsbot ที่รวบรวมฐานข้อมูลจากแหล่งข่าวทั่วโลก 4,800 แหล่ง
  • ปี ค.ศ. 2004 Google เปิดตัว Gmail
  • ปี ค.ศ. 2004 เปิดตัว Facebook ที่ถือว่าเป็นหัวหอกในการนำโลกเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย
  • ปี ค.ศ. 2004 อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ครอบคลุมครอบครัวในสหรัฐฯ กว่า 50%
  • ปี ค.ศ. 2004 Podcast (รายการเสียงทางอินเตอร์เน็ต) เริ่มแพร่หลาย
  • ปี ค.ศ. 2005 Internet Live Stats ประเมินว่ามีเว็บไซต์ทั่วโลก 64,780,617 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 2005 เปิดตัว YouTube
  • ปี ค.ศ. 2005 Internet World Stats ประเมินว่ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 1,018 ล้านคน คิดเป็น 15.7% ของประชากรโลก
  • ปี ค.ศ. 2005 ปรากฏการณ์ 'นักข่าวพลเมือง' ที่ประชาชนทั่วไปส่งข่าวและภาพข่าวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับสื่อโดยตรง เริ่มทำให้สื่อมวลชนมืออาชีพกังวลใจว่างานของพวกเขากำลังถูกคุกคามจากมือสมัครเล่นเหล่านี้
  • ปี ค.ศ. 2006 เปิดตัว Twitter
  • ปี ค.ศ. 2006 Facebook ซื้อ YouTube ในราคา 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2006 เปิดตัว Nokia N95 ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลก ออกวางจำหน่าย
  • ปี ค.ศ. 2007 iPhone ออกวางจำหน่าย
  • ปี ค.ศ. 2007 Netflix เริ่มให้บริการ video on demand
  • ปี ค.ศ. 2007 มีการเขียนข่าวผ่าน Weblog เป็นครั้งแรก
  • ปี ค.ศ. 2008 สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ออกวางจำหน่าย
  • ปี ค.ศ. 2009 เปิดตัว WhatsApp แอปพลิเคชั่นส่งข้อความที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
  • ทศวรรษที่ 2010s เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของสมาร์ทโฟน
  • ปี ค.ศ. 2010 Internet Live Stats ประเมินว่ามีเว็บไซต์ทั่วโลก 206,956,723 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 2010 กล้องดิจิทัลทำยอดขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 121.5 ล้านตัวทั่วโลก ก่อนที่ยอดขายจะตกลงมาทุกๆ ปีหลังจากนั้น
  • ปี ค.ศ. 2010 มีผู้ใช้ Facebook ทั่วโลก 400 ล้านคน
  • ปี ค.ศ. 2010 iPad ออกวางจำหน่าย
  • ปี ค.ศ. 2010 Facebook ซื้อ Friendster ในราคา 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2010 เปิดตัว Pinterest และ Instagram อีก 2 โซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
  • ปี ค.ศ. 2010 Internet World Stats ประเมินว่ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 1,971 ล้านคน คิดเป็น 28.8% ของประชากรโลก
  • ปี ค.ศ. 2011 โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง
  • ปี ค.ศ. 2011 Samsung ก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของโลก
  • ปี ค.ศ. 2012 Facebook ซื้อ Instagram ในราคา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2013 ข้อมูลจาก World Press Trends Database ระบุว่า ยอดขายของหนังสือพิมพ์รายวันทั่วโลกอยู่ที่ 538.90 ล้านฉบับ
  • ปี ค.ศ. 2013 ข้อมูลจาก PwC ระบุว่ามีเว็บไซต์ข่าวที่เก็บเงินผู้อ่านในโลกทั้งหมด 7,746 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 2014 Facebook ซื้อ WhatsApp ในราคา 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2014 Google บรรจุดัชนีการค้นข้อมูลไว้มากกว่า 130 ล้านล้านเว็บเพจ ซึ่งศูนย์ข้อมูลของ Google ใช้ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 0.01% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก
  • ปี ค.ศ. 2015 มีผู้ใช้ Instagram ทั่วโลก 400 ล้านคน ส่วนผู้ใช้ Twitter ทั่วโลก 316 ล้านคน
  • ปี ค.ศ. 2015 Internet World Stats ประเมินว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 3,366 ล้านคน คิดเป็น 46.4% ของประชากรโลก
  • ปี ค.ศ. 2015 Internet Live Stats ประเมินว่ามีเว็บไซต์ทั่วโลก 863,105,652 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 2015 ประมาณการว่าโซเชียลมีเดียทำรายได้จากโฆษณาถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2015 ทั่วโลกมีการค้นข้อมูลใน Google มากกว่า 1 แสนล้านครั้งต่อเดือน
  • ปี ค.ศ. 2016 World Economic Forum ประเมินว่าทุกๆ นาที จะมีคนเขียนข้อความใน Facebook 30 ล้านครั้ง และมีการทวิตใน Twitter 350,000 ครั้ง
  • ปี ค.ศ. 2016 หนังสือพิมพ์รายวัน Yomiuri Shimbun ของญี่ปุ่น มียอดขายสูงที่สุดในโลก 9.1 ล้านฉบับต่อวัน
  • ปี ค.ศ. 2016 สัดส่วนการใช้อุปกรณ์ในการค้นข้อมูลจาก Google เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ 60%
  • ปี ค.ศ. 2016 มีธุรกิจกว่า 60 ล้านแห่งที่มี Page Facebook
  • ปี ค.ศ. 2017 ข้อมูลจาก World Press Trends Database ระบุว่ายอดขายของหนังสือพิมพ์รายวันทั่วโลกอยู่ที่ 536.60 ล้านฉบับ
  • ปี ค.ศ. 2017 ข้อมูลจาก PwC ระบุว่ามีเว็บไซต์ข่าวที่เก็บเงินผู้อ่านในโลกทั้งหมด 25,725 เว็บ
  • ปี ค.ศ. 2017 ณ เดือน มิ.ย. 2017 มีผู้ใช้ Facebook ทั่วโลก 1,979,703,530 คน โดยระหว่างปี 2010-2017 อัตราการเติบโตของผู้ใช้ Facebook เท่ากับ 282.3%
  • ปี ค.ศ. 2017 ประมาณการว่า ปี 2017 นี้มีการถ่ายภาพในโลกทั้งหมด 1.2 ล้านล้านครั้ง โดย 85% เป็นการถ่ายภาพจากโทรศัพท์
  • ปี ค.ศ. 2017 ทุกๆ วันคนทั่วโลกดูวีดีโอใน YouTube รวมกันมากกว่า 1 พันล้านชั่วโมง และมากกว่าครึ่งรับชมผ่านโทรศัพท์
  • ปี ค.ศ. 2018 กล้องดิจิทัลมียอดขายต่ำที่สุดเท่าที่เคยเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2003 โดยในปี 2018 ขายได้เพียง 19.4 ล้านเครื่อง
  • ปี ค.ศ. 2018 ประมาณการว่าโซเชียลมีเดียทำรายได้จากโฆษณาถึง 74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2019 Internet World Stats ประเมินว่าในเดือน มิ.ย. 2019 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 4,422 ล้านคน คิดเป็น 57.3% ของประชากรโลก
  • ปี ค.ศ. 2019 Internet Live Stats ประเมินว่าในเดือน ก.ค. 2019 มีเว็บไซต์ทั่วโลก 1,703,875,000 เว็บ แต่กระนั้นคาดว่ามีเว็บไซต์น้อยกว่า 200 ล้านเว็บเท่านั้นที่ยัง active อยู่

เรียบเรียงจาก: nimcj.org, j387mediahistory, statista.com, wikipedia.org, livescience.com, tigermobiles.com, mobilephonehistory.co.uk, silicon.co.uk, 11points.com, internetworldstats.com, weforum.org, journalism.co.uk, businessinsider.com, internetlivestats.com, brandwatch.com, wptdatabase.org, globalwebindex.net, Newspaper Association of America,

*Update ข้อมูล 31 July 2019
 

 

พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนไป ใช้เวลากับสื่อเก่าน้อยลง ให้เวลากับสื่อใหม่เพิ่มขึ้น

การสำรวจในหลายประเทศ พบแนวโน้มไปในทางเดียวกันว่า ผู้บริโภคสื่อใช้เวลากับสื่อเก่าน้อยลง และให้เวลากับสื่อใหม่เพิ่มขึ้น ที่มาภาพประกอบ: Chris Blakeley (CC BY-NC-ND 2.0)

แรงผลักจาก ‘อินเตอร์เน็ต’ และ ‘โซเชียลมีเดีย’ ได้สร้างทางเลือกในการเข้าถึงข่าวสารให้กับผู้บริโภคอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ความสะดวก สบายและความรวดเร็วในการบริโภคข่าวสารผ่านโลกออนไลน์ ทำให้สื่อเก่าเสื่อมความนิยมลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง  ทั้งนี้ มีสถิติบ่งชี้ว่า  ผู้คนทั่วโลกบริโภคสื่อเก่าอย่าง สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้

จากผลสำรวจของ GlobalWebIndex  ถึงพฤติกรรมการใช้สื่อ 'ออนไลน์' เปรียบเทียบกับ 'ออฟไลน์' ของผู้บริโภคสื่อ 350,000 คน จาก 34 ประเทศทั่วโลก (ได้แก่ประเทศ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, เบลเยียม, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, สเปน, สวีเดน, ไต้หวัน, ไทย, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และเวียดนาม) ระหว่างปี ค.ศ. 2012 และ 2016 พบว่า ในด้านการบริโภคสื่อออนไลน์นั้นมีการใช้เวลาเพิ่มขึ้นในทุกหมวด ทั้งการรับชมทีวีออนไลน์และสตรีมมิ่งจาก 43 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 56 นาทีต่อวัน, การฟังเพลงและวิทยุออนไลน์จาก 35 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 39 นาทีต่อวัน, การอ่านสิ่งพิมพ์ออนไลน์จาก 41 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 50 นาทีต่อวัน และการใช้โซเชียลมีเดียจาก 1:30 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 2:40 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการบริโภคสื่อออฟไลน์กลับตรงกันข้าม ทั้งการรับชมโทรทัศน์ลดลงจาก 2:15 ชั่วโมงต่อวัน เหลือ 2:05 ชั่วโมงต่อวัน การฟังวิทยุผ่านเครือข่ายปกติลดลงจาก 57 นาทีต่อวัน เหลือ 52 นาทีต่อวัน, ส่วนการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใดที่ 39 นาทีต่อวัน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสำหรับกิจกรรมบริโภคสื่อออฟไลน์ คือการเล่นเกมเครื่องเล่นคอนโซลที่เพิ่มจาก 43 นาทีต่อวัน เป็น 52 นาทีต่อวัน เท่านั้น [12]

ทั้งนี้ จากข้อมูลระยะเวลาการใช้สื่อ 'ออนไลน์' เปรียบเทียบกับ 'ออฟไลน์' ของผู้บริโภคสื่อ 350,000 คน จาก 34 ประเทศระหว่างปี 2012 และ 2016 ของ GlobalWebIndex พบว่า จากทั้ง 34 ประเทศที่ทำการสำรวจ มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ยังใช้เวลาการรับข่าวสารจากสื่อออฟไลน์มากกว่าสื่อออนไลน์ [13]

จากรายงานของ ZenithOptimedia พบว่าระยะเวลาการอ่านหนังสือพิมพ์ของผู้คนทั่วโลกลดลงมากกว่า 25% ระหว่างปี ค.ศ. 2010-2014 โดยในปี ค.ศ. 2010 ผู้คนทั่วโลกใช้เวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือพิมพ์ 21.9 นาทีต่อวันต่อคน ถัดมาในปี ค.ศ. 2014 ลดลงเหลือ 16.3 นาทีต่อวันต่อคน ทั้งนี้มีการประเมินว่าในปี ค.ศ. 2017 ค่าเฉลี่ยทั่วโลกจะลดลงมาอยู่ที่ 14.1 นาทีต่อวันต่อคน เลยทีเดียว [14] ส่วนการสำรวจเทรนด์การบริโภคข่าวสาร ปี ค.ศ.1991-2012 โดย Pew Research Center ที่ได้ทำการสำรวจความเห็นคนอเมริกัน 3,2012 คน (เผยแพร่ในเดือน ต.ค. 2012) พบว่าสัดส่วนของผู้บริโภคสื่อเก่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น โดยเมื่อถามว่า “เมื่อวานคุณได้อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือไหม ?” ในปี ค.ศ. 2002 ผู้ตอบว่าได้อ่านหนังสือพิมพ์มี 41% นิตยสาร 23% และหนังสือ 34% ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 ผู้ตอบว่าได้อ่านมีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตอบว่าได้อ่านหนังสือพิมพ์ 23% นิตยสาร 17% และหนังสือ 30% [15]

จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะลดลงนั้น สอดคล้องกับยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ด้วยเช่นกัน โดยยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน (ที่ไม่รวมฉบับวันอาทิตย์) ในสหรัฐฯ เคยไปแตะที่ระดับ 60 ล้านฉบับต่อวันตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960's จนถึงต้นยุคทศวรรษที่ 1990's ก่อนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนลงมา โดยในปี ค.ศ. 1990 เคยมียอดจำหน่ายสูงถึง 62 ล้านฉบับ แต่กลับลดลงมาเหลือเพียง 40 ล้านฉบับในปี ค.ศ. 2014 สวนทางกับการอ่านข่าวออนไลน์ทางเว็บไซต์ที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี โดยในปี ค.ศ. 2014 มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ 50 อันดับแรกของสหรัฐฯ รวมกันเดือนละ 8.23 ล้านคน เพิ่มเป็น 11.73 ล้านคน ต่อเดือนในปี ค.ศ. 2016 [16]

ในส่วนสถานการณ์การรับชมสื่อโทรทัศน์ จากการประเมินของ ZenithOptimedia พบว่าผู้คนทั่วโลกใช้เวลารับชมโทรทัศน์ลดลงเรื่อยๆ จากเฉลี่ยแล้ว 179 นาทีต่อวันต่อคนในปี ค.ศ. 2011 ลดลงเหลือ 170 นาทีต่อวันต่อคนในปี ค.ศ. 2015 และคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือ 165 นาทีต่อวันต่อคนในปี ค.ศ. 2021 [17] สอดคล้องกับการสำรวจเทรนด์การบริโภคข่าวสาร ปี ค.ศ.1991-2012 ของคนอเมริกัน 3,2012 คน โดย Pew Research Center ที่พบว่าในปี ค.ศ. 2006  มีผู้ตอบว่าได้รับชมโทรทัศน์ในวันที่ผ่านมา 57% ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 มีผู้ตอบว่าได้รับชมลดลงเหลือ 55% [18]

ด้านการรับฟังวิทยุ (เครือข่ายปกติที่ไม่ใช่ออนไลน์) จากการสำรวจระหว่างปี ค.ศ. 2012 และ 2016 โดย GlobalWebIndex ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคสื่อ 350,000 คน จาก 34 ประเทศทั่วโลก พบว่าคนใช้เวลาฟังวิทยุลดลงจาก 57 นาทีต่อวันต่อคนในปี ค.ศ. 2012 เหลือเพียง 52 นาทีต่อวันต่อคนในปี ค.ศ. 2016 [19] ส่วนผลสำรวจเทรนด์การบริโภคข่าวสาร ปี ค.ศ.1991-2012 ของคนอเมริกัน 3,2012 คน โดย Pew Research Center พบว่าในปี ค.ศ.1991 มีผู้ระบุว่ารับฟังวิทยุบ่อยครั้งถึง 54% แต่ตัวเลขนี้กลับลดเหลือเพียง 33% ในปี ค.ศ. 2012 [20]

ในปี ค.ศ. 2018 Pew Research Center ได้เผยแพร่ผลสำรวจการบริโภคสื่อเก่าและสื่อใหม่เปรียบเทียบปี ค.ศ. 2016 ค.ศ. 2017 และ ค.ศ. 2018 (เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2018) พบว่าเป็นครั้งแรกเท่าที่ Pew Research Center เคยมีการเก็บข้อมูลมา ที่ชาวอเมริกันกลุ่มอายุ 18-49 ปี เลือกบริโภคข่าวออนไลน์จากเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อเก่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นมีวัฒนธรรมการบริโภคสื่อเก่าอย่าง ‘โทรทัศน์, วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์’ ค่อนข้างเข้มแข็ง (ที่สะท้อนได้จากผลสำรวจนี้ที่คนอเมริกันอายุ 50-65 ปีขึ้นไป ยังคงติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ในสัดส่วนสูงอยู่) ผลสำรวจของ Pew Research Center ที่สำรวจระหว่าง 30 ก.ค.-12 ส.ค. 2018 ระบุว่าคนอเมริกันอายุระหว่าง 18-29 ปี ติดตามข่าวสารจากโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งที่สุด 36% ตามมาด้วยเว็บไซต์ข่าว 27% ส่วนคนอเมริกันอายุระหว่าง 30-49 ปี ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ข่าวบ่อยครั้งที่สุด 42%

ผลสำรวจนี้ยังทำการเปรียบเทียบสัดส่วนการติดตามข่าวสารในช่องทางต่างๆ ระหว่างปี ค.ศ. 2016 และ 2018 ของคนอเมริกันทุกกลุ่มอายุ สำหรับการติดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์พบว่าในปี ค.ศ. 2016 มีผู้ตอบว่าติดตามบ่อยครั้งที่ 20% ลดลงมาเหลือเพียง 16% ในปี ค.ศ. 2018 การติดตามข่าวจากโทรทัศน์จาก 57% ลดลงเหลือ 49% ในปี ค.ศ. 2018 สวนทางกับการติดตามข่าวทางออนไลน์ ที่ผู้ติดตามข่าวทางโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี ค.ศ. 2016 เป็น 20% ในปี ค.ศ. 2018 และติดตามจากเว็บไซต์ข่าว 28% ในปี ค.ศ. 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 33% ในปี ค.ศ. 2018 [21]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] TIMELINE: Major Events in the History of Mass Communications (J387: Media History, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 31 July 2019)
[2] 1st American TV station begins broadcasting, July 2, 1928 (Suzanne Deffree, EDN, 02 July 2019)
[3] Evolution of the Mobile Phone (TigerMobiles.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 31 July 2019)
[4] Number of smartphones sold to end users worldwide from 2007 to 2018 (in million units) (Arne Holst, statista, 26 Feb 2019)
[5] INTERNET GROWTH STATISTICS (internetworldstats.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 31 July 2019)
[6] เพิ่งอ้าง
[7] Global social media research summary 2019 (Dave Chaffey, Smart Insights, 12 Feb 2019)
[8] Total number of Websites (InternetLiveStats.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 31 July 2019)
[9] Global social media research summary 2019 (Dave Chaffey, Smart Insights, 12 Feb 2019)
[10] Number of smartphones sold to end users worldwide from 2007 to 2018 (in million units) (Arne Holst, statista, 26 Feb 2019)
[11] Global social media research summary 2019 (Dave Chaffey, Smart Insights, 12 Feb 2019)
[12] INSIGHT REPORT | Q1 2017: Digital vs. Traditional Media Consumption (GlobalWebIndex, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 31 July 2019)
[13] เพิ่งอ้าง
[14] Time spent reading newspapers worldwide falls over 25% in four years (Mark Sweney, theguardian.com, 1 June 2015)
[15] In Changing News Landscape, Even Television is Vulnerable (Pew Research Center, 27 September 2012)
[16] Newspapers Fact Sheet (Pew Research Center, 9 JULY 2019)
[17] Daily time spent watching TV worldwide from 2011 to 2021 (in minutes) (Amy Watson, statista, 26 June 2019)
[18] In Changing News Landscape, Even Television is Vulnerable (Pew Research Center, 27 September 2012)
[19] INSIGHT REPORT | Q1 2017: Digital vs. Traditional Media Consumption (GlobalWebIndex, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 31 July 2019)
[20] In Changing News Landscape, Even Television is Vulnerable (Pew Research Center, 27 September 2012)
[21] Social media outpaces print newspapers in the U.S. as a news source (Elisa Shearer, Pew Research Center, 10 December 2018)


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกระหว่างปี 1995-2019

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: