'ผู้ร้าย' ที่ลอยนวล กับทางออกวิกฤตฝุ่น PM 2.5

ภูริณัฐ ชัยบุญลือ | นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | 4 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5801 ครั้ง

ข่าวหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาในกรุงเทพฯและปริมณฑลในเวลานี้ ทำให้คาดเดาได้ว่าปัญหาเดียวกันนี้ที่ยิ่งวิกฤตกว่าหลายเท่า จะเกิดขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ทางภาคเหนือในหน้าแล้งที่ จะมาถึงนี้อีกอย่างแน่นอน ที่มาภาพ: CM Publica

กว่า 10 ปีที่ประชาชนในแถบภาคเหนือต้องทุกข์ทนกับปัญหาเรื้อรังเรื่องฝุ่นหมอกควัน ล่าสุดในปี 2562 นี้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน คือช่วงวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของปัญหานี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งทะยานสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันนานนับหลายวันและหลายครั้งในช่วงดังกล่าว หมอกควันที่ปกคลุมทั่วอาณาบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมาก

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวที่เปิดสาธารณะว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ชัดว่า มลพิษทางอากาศมีผลร้ายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เพิ่มอัตราเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด มีผลกระทบต่อพัฒนาการในเด็ก หรือแม้แต่มีผลทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด

ด้าน นางสาว วนิดา พะจุไท นักศึกษามาหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า หมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเธอเป็นอย่างมาก เธอมีเลือดกำเดาไหลแทบทุกวัน พร้อมด้วยอาการหายใจสั้นลง แสบโพรงจมูกและในบางครั้งก็มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมอีกด้วย เธอยังได้บอกอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอก็ทำได้เพียงช่วยเหลือและป้องกันตนเองเบื้องต้นเท่านั้น โดยการซื้อหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 และพยายามอยู่แต่ในห้องพักเท่านั้น

สถานการณ์ที่ย่ำแย่ของหมอกควันภาคเหนือในช่วงต้นปี 2562 นี้ มาจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นประจวบเหมาะกัน ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ของภาคเหนือที่มีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะคล้ายแอ่งกระทะจึงกักเก็บหมอกควันไม่ให้ระบายออก ลมที่นิ่งสงบเพราะความกดอากาศสูง การเผาพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นก็คือ การเผาซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเตรียมทำการเกษตรครั้งต่อไปในฤดูฝนที่จะมาถึง

 

ภาพชี้ให้เห็นถึงสาเหตุการเกิดหมอกในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  ถึงเเม้จะเป็นข้อมูลปี 2558 เเต่สาเหตุของปัญหายังคงเป็นเหมือนเช่นเดิม  ที่มาภาพ : สำนักทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือ 1 ใน 4 พืชเศรษฐกิจของประเทศไทย อันได้แก่ ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลังเเละข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประเทศไทยเราปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 7.03 ล้านไร่ ภาคเหนือมี 4.51 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดในประเทศ จากรายงานพบว่าจุดฮ็อตสป็อตหรือจุดความร้อนที่แสดงให้เห็นว่ามีการเผาไหม้เกิดขึ้น มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะกับพื้นที่ทำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งได้แก่ เปลือกและซังข้าวโพดและส่วนอื่น ๆ ซึ่งไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปล่อยไว้และรอเผาทิ้ง ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี  

จากข้อมูลดังกล่าว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ราบสูงจึงตกเป็นจำเลยของสังคมแต่เพียงผู้เดียว ตามการรายงานของสำนักข่าวหลายสำนัก ทั้งที่ในความจริงแล้วนั้น รัฐบาลรวมถึงภาคธุรกิจอาหารสัตว์เอกชนควรจะมีส่วนรับผิดชอบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เพราะรัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนได้สนับสนุนให้เกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านโครงการส่งเสริมการปลุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาตามยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะสนับสนุนเงินอุดหนุนให้เกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท แต่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยจากบริษัทธุรกิจเอกชน เมื่อผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว ภาคธุรกิจรายนี้ก็จะมารับซื้อไป ด้วยหลักประกันและการส่งเสริมจากผู้สนับสนุนหลักทั้งสองภาคส่วนนี้ เกษตรกรจึงหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรรายหนึ่งในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า  “จริงๆแล้ว ก็ไม่ได้อยากจะปลูกข้าวโพดหรอก แต่รัฐกับภาคเอกชนมาสนับสนุน ปลูกแล้วก็ขายได้ทันทีเพราะมีตลาดมารองรับ ถ้าจะให้ไปปลูกอย่างอื่นก็ทำไม่เป็นแล้ว แต่พอเกิดหมอกควัน รัฐก็มากล่าวโทษเกษตรกร ทั้ง ๆ ที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนให้ปลูกเองแท้ ๆ”

คำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ไม่กว้างไกล ความคิดที่แยกส่วน ทำให้การทำงานไม่สอดคล้องประสานกัน ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยหลักการนโยบายคือการออกคำสั่งที่ผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงปฏิเสธอยู่ความรับผิดไม่ได้ หากแต่ควรเร่งรีบจัดการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม แต่ในกรณีนี้รัฐบาลกลับกล่าวโทษเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว

เมื่อเปรียบเทียบเเล้ว ภาคธุรกิจเอกชนอาจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดนี้มากที่สุด เกษตรกรจะได้รับกำไรจากการขายข้าวโพดต่อไร่ประมาณ 1,942 บาท แต่บริษัทธุรกิจการเกษตรที่รับซื้อจะได้กำไรเฉลี่ย 2,255.38 บาทต่อไร่ สัดส่วนการเเบ่งผลประโยชน์ระหว่างบริษัทธุรกิจการเกษตรเเละเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ต่อ ร้อยละ 46 (อนุภาพ: 2556, 124) ผลประโยชน์มากกว่าครึ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนได้รับนั้นยิ่งตอกย้ำหลักเหตุผลว่า ภาคธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ควรออกมาทำอะไรบางอย่างเพื่อเเก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะลำพังเพียงกำลังเเละทรัยากรของเกษตรกรเอง คงจะไม่เพียงพอในการหาทางออกของปัญหาที่วิกฤตมากนี้ ที่ผ่านมาภาคธุรกิจการเกษตรเอกชนก็ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด มีเพียงโครงการบางอย่างที่ดูเสมือนเป็นกิจกรรม CSR ว่าได้มีส่วนร่วมดูแลชุมชนแล้ว ตัวอย่างเช่น ฝายชะลอน้ำ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งแท้จริงแล้วการกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดการบรรเทาปัญหาลงเลย ผลลัพธ์ได้เพียงภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรไว้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากการโจมตีของสังคมเท่านั้น

จากผลการศึกษายังพบว่า ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง หากเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนก็จะเพิ่มการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีก จึงอาจคาดเดาได้ว่าหากยังไม่มีวิธีแก้ไขและทางออกให้กับการเผาซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้ ในอนาคต ปัญหาหมอกควันจะยิ่งทวีคุณความรุนแรงขึ้นไปอีก

 

ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ ปี 2553-2559  ที่มาภาพ: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกรมปศุสัตว์สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย

แนวทางแก้ไขปัญหาและทางเลือกใหม่ 

การแก้ไขปัญหาฝุ่นหมอกควันในภาคเหนือจากการเผาซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันคิดหาทางออกหรือทางเลือกที่ดีกว่า และพบว่าส่วนเหลือใช้จากซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นแท้จริงสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง ก่อเกิดมูลค่าให้กับชุมชนและระบบเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าเมล็ดข้าวโพดเลย แนวทางต่างๆที่นักวิชาการบางส่วนนำเสนอ ได้แก่

วัสดุเพาะเห็ดจากต้นและเปลือกฝัก เป็นการนำส่วนต้น เปลือกฝักและซังข้าวโพดมาบดเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดแทนขี้เลื่อย เมื่อเห็ดให้ผลผลิตจนหมดแล้วยังสามารถนำวัสดุเพาะที่เหลือใช้ไปเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์อีกต่อหนึ่งด้วย ตัวอย่างจากการศึกษานำซากข้าวโพดมาใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดโคนน้อย พบว่า ต้นทุนต่อก้อนคิดเป็น 14 บาท ราคาขายเห็ดโคนอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-150 บาท ให้ผลผลิตนาน 10-13 วัน เฉลี่ยวันละ 100-200 กรัม ตลอดการเพาะปลูกเกษตรจะได้กำไร 90 – 181 บาทต่อวัสดุปลูก 1 ก้อน เป็นการสร้างรายได้เสริมและความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวบ้าน

อาหารเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง เปลือกฝักข้าวโพดใช้เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ โดยใช้เครื่องอัดฟางข้าวอัดเปลือกข้าวโพดให้เป็นฟ่อน เพื่อลดพื้นที่และความสะดวกในการขนส่งให้กับเกษตรผู้เลี้ยงวัวหรือผู้รับซื้อ แต่ละฟ่อนมีน้ำหนัก 7-10 ก.ก. ราคาขายประมาณ 5 บาท/ฟ่อน ซากข้าวโพดสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ทั้งแบบดิบหรือแบบหมักก็ได้ แต่หากใช้การหมักอาหารนั้นทำให้โคกินซังข้าวโพดแห้งๆ ได้มากขึ้น จากเดิมโคตัวหนึ่งกินได้ไม่ถึง 10 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 20 กิโลกรัม และยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนหญ้าสดเลี้ยงโคในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี สูตรอาหารโคหมักมีส่วนผสมเป็นเศษวัสดุทางการเกษตร รำกลาง กากน้ำตาล น้ำและลูกแป้งจุลินทรีย์สำหรับเป็นหัวเชื้อหมัก ซึ่งนอกจากช่วยลดหมอกควันทางภาคเหนือแล้วยังช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายอาหารโคในช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนหญ้าสดได้ด้วย  แต่ก็มีความยากลำบากในการที่นายทุนหรือผู้รับซื้อจะเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรมนั้น ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่บนพื้นที่สูงและเส้นทางค่อนข้างลาดชัน อีกทั้งต้นทุนของผู้รับซื้ออาจจะเพิ่มมากขึ้นจากระยะทางที่ไกล จึงไม่ค่อยมีนายทุนขึ้นไปรับซากข้าวโพดจากเกษตรกรมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ 

แปรรูป -อัดเป็นถ่านก้อนชีวมวล ซังข้าวโพดที่เหลือจากการกะเทาะเมล็ดออก สามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นถ่านอัดแท่งได้โดยการนำซังข้าวโพดไปเผาในเตาไร้ควัน แล้วนำมาบดให้ป่นละเอียด คลุกเคล้าส่วนผสมแป้งมันและน้ำในอัตราส่วน 10:1:7 จากนั้นนำไปเข้าเครื่องอัดแท่งให้ได้รูปทรงและตากแดด 2-3 วันก็จะได้ถ่านอัดแท่งชีวมวลจากซังข้าวโพดที่มีคุณสมบัติเผาไหม้ช้า ไม่มีควัน ไม่มีกลิ่นและไม่แตกง่าย ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีหลายพื้นที่ที่มีการผลักดันและสนับสนุนให้เกษตรกรนำส่วนเหลือทิ้งจากข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่านอัดแท่ง ตัวอย่างเช่น ถ่านอัดแท่งซังข้าวโพดของวิสาหกิจชุมชนตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 20 บาท จากซังข้าวโพดในพื้นที่ 3,339,504 กิโลกรัม เมื่อเผาแล้วจะได้ถ่าน 667,900 กิโลกรัม แล้วนำมาอัดแท่งและจำหน่าย ในแต่ละปีสร้างรายได้กว่า 1 ล้านบาท

ปัญหาของทางเลือกนี้คือ เครื่องอัดถ่านแท่งมีราคาค่อนข้างสูง โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 20,000 ไปจนถึงราคาหลักแสนบาทแตกต่างกันไปตามกำลังผลิต และเครื่องอัดถ่านแท่งนี้ควรกระจายให้แก่ชุมชนได้ใช้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ อีกทั้งเกษตรกรควรได้รับการอบรมและเรียนรู้จนเข้าใจและชำนาญสามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเอง

ใช้ผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ซังข้าวโพดเป็นวัตถุดิบแห่งแรกและแห่งเดียวในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีอยู่ที่จังหวัดเชียงราย  อำเภอเวียงแก่น ของบริษัท ซูพรีม รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (Supreme Renewable Energy Co.,Ltd.) เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กหรือโรงไฟฟ้าชุมชน  นับเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนโรงแรกของประเทศไทย  โรงไฟฟ้าแห่งนี้ทำงานอย่างครบวงจร มีการซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของเกษตรกรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้า และบริษัทได้ทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯเรียบร้อยแล้ว มีการจ้างงานและเกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและโรงไฟฟ้า เพื่อร่วมกันทำประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2553 จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดประมาณ  653,667 ไร่ ได้ผลผลิต  497,289 ตัน มีซังข้าวโพดแต่ละปีประมาณ 30,000  ตัน ทางโรงไฟฟ้าใช้ซังข้าวโพด วันละ 3 ตัน เฉลี่ยใช้ซังข้าวโพดประมาณปีละ 1,000 ตัน ยังมีซังข้าวโพดเหลือจากการรับซื้ออีกมาก ซึ่งซังข้าวโพดที่เหลือเหล่านี้ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ส่วนใหญ่ปล่อยทิ้งให้ย่อยสลายเอง ทางโรงไฟฟ้ารับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกรในราคาตันละ 500 – 600 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

 

กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากซากข้าวโพด ที่มาภาพ: www.thai-greenenergy.com 

การมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับในบางพื้นที่ยังเป็นเรื่องใหม่ จำเป็นต้องใช้เวลาให้ความรู้และความเข้าใจ จัดทำประชาคม เพื่อขอความเห็นจากชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้พลังงานทดแทน เข้าใจเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชน  จนไม่มีการต่อต้านแล้ว  คงจะได้เห็นโรงไฟฟ้าพลังชีวมวลอีกหลายแห่งผุดขึ้นอีก

 

ภาพประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน Farmbook เพื่อให้เกษตรกรลงทะเบียนแบบออนไลน์ ที่มาภาพ: กรมส่งเสริมการเกษตร

ระบุตัวตน ใครคือคนเผา ?

 แอปพลิเคชัน ‘สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล’ (Farmbook) ของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ทางการได้รู้ข้อมูลการเพาะปลูกของแต่ละปีว่า เกษตรกรปลูกพืชอะไร เนื้อที่เท่าไร ไว้เป็นข้อมูลประเมินภาวะผลผลิตของแต่ละปี และนำไปใช้ในการชดเชยค่าเสียหายให้เกษตรกรเมื่อประสบภัยธรรมชาติ  เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่ให้วุ่นวาย หรือเสียค่าเดินทางในการไปขึ้นทะเบียน เพราะสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้จากสมาร์ทโฟนทั้งระบบ iOS และ Android เพียงดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน ‘Farmbook’ มาและทำตามขั้นตอนที่แนะนำ  ช่วงไหนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรยังสามารถติดตามนโยบายจากภาครัฐผ่านช่องทางแอปพลิเคชันนี้ได้ด้วย เพื่อตรวจสอบสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือตามโครงการและมาตรการของรัฐได้อย่างรวดเร็ว

ทางออกต่างๆดังกล่าวมา ตรงกับความเห็นของอาจารย์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กล่าวว่า แนวทางที่จะใช้แก้ไขปัญหาการลักลอบเผาซากข้าวโพดหลังฤดูเก็บเกี่ยวนั้น ในมุมมองของตน รัฐบาลควรจะให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกคนได้ขึ้นทะเบียนแบบ  E-electronic ใช้งานร่วมกับระบบดาวเทียมที่ทำงานแบบ Real- Time เมื่อเกิดจุดฮ็อตสป็อตหรือจุดความร้อนขึ้น จะทำให้สามารถตรวจสอบพื้นที่นั้นว่าตรงกับพื้นที่ของเกษตรรายใดหรือไม่ และดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันไฟป่าต่อไป ซึ่งอาจจะดำเนินคดีตามกฎหมายหรือปฏิเสธรับซื้อผลผลิตจากเกษตรรายนั้น ๆ เพื่อเป็นการลงโทษ 

อาจารย์เดชรัต ยังให้ความเห็นว่า “รัฐบาลและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมควรรับผิดชอบและออกมาร่วมผลักดันทางเลือกที่ดีกว่าในการกำจัดซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ให้เข้าถึงเกษตรกรและมีตลาดรองรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้น อาจจะผลักดันเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปของพื้นที่ หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดแท้จริงอย่างต่อเนื่อง การสร้างความตระหนักและทัศนคติใหม่ให้ชาวบ้าน มีทางออกอยู่หลากหลายทาง ทว่า รัฐบาลชุด ปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาว แต่ไปแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น ในอนาคต ไม่มีใครรู้ได้ว่า ปัจจัยทั้งหลายจะประจวบเหมาะเร้าให้เกิดปัญหารุนแรงและยาวนานอีกหรือไม่ การเผาซากข้าวโพดซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสาเหตุหลายๆอย่าง ควรได้รับการผลักดันแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพให้ยั่งยืนมากกว่านี้”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: