คุยกันหลังหนังจบ: Marvel’s The Punisher (Season 2) – ความชอบธรรมในการพิพากษา

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 5 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 7846 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

แฟรงก์ แคสเซิล เป็นอดีตทหารผ่านศึกนาวิกโยธิน กองทัพสหรัฐ ลูกๆ และภรรยา เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงของแก๊งค์อาชญากร ส่วนแคสเซิลถูกยิงที่หัว แต่รอดชีวิตมาได้ หลังจากนั้น เขาออกตามล่าอาชญากรไปทั่ว เพื่อตามหาคนที่รับผิดชอบ เพื่อตามหาคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด คนที่พรากลูกเมียไปจากเขา เขาคอยกระซิบเพลงกล่อมเด็กที่ลูกสาวเขาชื่นชอบ ก่อนจะลงทัณฑ์อาชญากรที่เขาพิพากษาและประหารเองกับมือ

“One batch… Two batch… Penny and Dime”

เขาสวมเสื้อเกราะกันกระสุน ที่เพ้นต์ลายหัวกะโหลก เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแก่อาชญากรทุกคนที่พบเจอเขา... Memento Mori ตามหลักปรัชญาโบราณที่คอยพร่ำเตือนใจผู้คนว่า “อย่าลืมว่าพวกท่านเองก็ต้องตาย” แล้วหลังจากพบว่า บิลลี่ รุสโซ่ เพื่อนรักของเขาเองที่ร่วมรบด้วยกันมา เป็นคนหักหลังเขา เขาก็ลงมือพิพากษาให้เพื่อนรักของเขาตายทั้งเป็น

ใน season 2 ของ The Punisher แคสเซิลต้องรับศึก 2 ด้าน หลังการล้างแค้นยังไม่จบ รุสโซ่ กลับมาเป็นอาชญากรอีกครั้ง และอีกด้านหนึ่ง แคสเซิลเอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับการปกป้อง เอมี่ สาวน้อยคนหนึ่ง ที่จะถูกฆ่าปิดปาก เนื่องจากเธอถูกจ้างให้แบล็คเมล์ลูกชายของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมือง และเป็นกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา ทำให้เขาต้องใช้เวลากับเด็กหญิงแปลกหน้า ความผูกพันนี้ทำให้ season นี้ แคสเซิลเป็นมากกว่าเครื่องจักรสังหารที่จะออกไปตามล่าอาชญากรเพียงอย่างเดียว เขาต้องคอยดูแล คุ้มกัน รวมถึงสอนวิธีการป้องกันตัวให้เธอ แม้เขาจะทำตัวโหดกับเธอไปบ้าง แต่ในท้ายที่สุด แคสเซิลก็มีคนบางคน หรือบางสิ่งให้เขา “แคร์” เหมือนเขาได้สวมบทเป็นพ่ออีกครั้ง แคสเซิลได้กลับมาเป็นมนุษย์เวลาที่อยู่กับเอมี่

แต่โจทย์ที่น่าสนใจที่แคสเซิลต้องเผชิญอยู่ตอนท้ายของ season และน่าจะมีโอกาสได้พูดถึงมันมากขึ้น คือ การที่บิลลี่ รุสโซ่ ทำลาย The Punisher ได้ ชั่วขณะหนึ่ง เพราะแคสเซิลเข้าใจว่าตนเองได้ละเมิดกฎเหล็กที่เขาตั้งไว้กับตัวเองไปแล้ว The Punisher ถูกทำลายเจตจำนงไปแล้ว

แม้ The Punisher หรือแฟรงก์ แคสเซิล จะเป็นตัวแทนของความล้มเหลวของระบบยุติธรรม ของการที่รัฐไร้ประสิทธิภาพที่จะปกป้องพลเมือง Punisher คือ Anti-Hero เพราะเขาตั้งตนเป็นลูกขุน ผู้พิพากษา และเพชรฆาตในคนๆ เดียว แต่ The Punisher จำเป็นต้องนิยามตนเอง ให้ต่างจากอาชญากรอื่นที่เขาจะลงทัณฑ์ นั่นคือ กฎเหล็กที่แคสเซิลมีให้ตัวเอง และยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด คือ แคสเซิลจะไม่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ จะไม่ฆ่าตำรวจหรือทหาร (ถ้าไม่ได้เป็นพวกเดียวกับอาชญากร) กฎเหล็กนี้เองเป็นเครื่องแบ่งแยก นิยามตนเองของแคสเซิล ว่าเขาไม่ได้เป็นอาชญากรแบบที่เขาตามล่า ในหลายครั้งแคสเซิลต้องอยู่ในสถานการณ์เป็นรองเพราะอีกฝ่ายคือคนในเครื่องแบบที่ทำตามหน้าที่พยายามจับกุมเขา และสถานการณ์ใน season 2 จะมีช่วงหนึ่งที่รุสโซ่ ทำให้แคสเซิลเข้าใจว่าเขากราดยิงไปโดนผู้บริสุทธ์เสียชีวิต 3 ราย

แค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้แคสเซิลใจสลาย เขาถูกตำรวจจับกุม และนอนรอความตายด้วยความยินยอม เพราะเขาสูญเสียนิยามความเป็น The Punisher ไป เขาเสีย “ความชอบธรรม” ที่ตนเองตั้งขึ้นมาไปแล้ว

ความชอบธรรม เป็นสิ่งสำคัญมาก หลายๆ ครั้ง มันถูกใช้เพื่อให้เหตุผล หรือทำให้การฆ่าสังหาร รวมถึงสงคราม มีความชอบธรรม เหมือนที่มนุษยชาติใฝ่ฝันและถกเถียงถึงทฤษฎี “สงครามอันชอบธรรม” (Just War) มาตั้งแต่อดีตกาลนับพันๆ ปีที่แล้ว แม้แต่ในยุคกลางที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือระบบรัฐเกิดขึ้น แต่ละดินแดนจะทำสงครามต่อกัน ก็ต้องมีความชอบธรรมบางประการเอาไว้ผลักดันวาระของสงคราม อย่างในการถกเถียง Just war จะมี 2 ประการคือ Jus ad bellum (สิทธิที่จะทำสงคราม) เช่น เหตุผลในการก่อสงครามจะต้องมีความชอบธรรม กระทำอย่างถูกต้องผ่านผู้มีอำนาจประกาศสงคราม และมีเจตจำนงที่ถูกต้อง หรือที่ นักบุญโทมัส อไควนัส ให้ความหมายว่า ต้องมิใช่ผลประโยชน์ส่วนตน

The Punisher ไม่ได้แสวงหา Jus ad bellum โดยตรง เพราะในบางกรณีเช่น กับบิลลี่ รุสโซ่ เป็นความแค้นส่วนตัว ซึ่งในบางมุมมอง ก็มีความชอบธรรมอยู่บ้าง เพราะแคสเซิลเป็นผู้ถูกกระทำ เขาไม่ได้ต้องการจะก่อสงครามล้างแค้นนี้ และ The Punisher อาจจะเข้ากับ Jus in bello (สิทธิที่จะกระทำในภาวะสงคราม) คือ The Punisher พยายามอย่างเต็มที่ที่ไม่ให้ผู้บริสุทธ์โดนลูกหลง รวมถึง เจ้าหน้าที่บ้านเมือง บางสถานการณ์ The Punisher ที่ถืออาวุธอัตโนมัติอยู่ในมือ ก็เลือกที่จะไม่ยิง และใช้วิธีที่ไม่ถึงตาย กับตำรวจ 3 นายที่จะเข้ามาจับกุมตัวเขา ทำให้สถานการณ์ของเขายากลำบากยิ่งกว่าเดิม

เมื่อไม่มีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่ แฟรงก์ แคสเซิลหมดอาลัยตายอยาก

แคสเซิลจึงนอนนิ่งอยู่บนเตียงโรงพยาบาล รอให้นักล่าค่าหัวมารับชีวิตเขาไป ในตอนนั้นเอง เขาถึงยื่นแขนให้นักล่าค่าหัวฉีดยาพิษให้เขาตายไปให้พ้นๆ เพราะเขาต้องการลงโทษพิพากษาตัวเอง เขามองตนเองเป็นอาชญากรที่ตัวเองก็เคยลงมือสังหารมาตลอด

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พื้นที่ปฏิบัติการของ The Punisher ไม่ใช่ผู้ผดุงความถูกต้อง หรือระบบยุติธรรม เขาอยู่ในพื้นที่สีเทา หรือในบางมุมมอง อาจถือได้ว่าดำมืดไม่ต่างกันกับอาชญากร ดังที่ แมทธิว เมอร์ด็อก The Daredevil ว่าไว้ตอนเจอกับแคสเซิลครั้งแรกว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะกลับตัว การสังหารพวกเขาคือการพรากโอกาสเหล่านั้นไปตลอดกาล

แม้ในตอนหลัง เขาจะกลับมาสวมบทเป็น Punisher อีกครั้ง เพราะรู้ว่านั่นเป็นกลลวงของรุสโซ่ แต่สุดท้าย สิ่งที่แคสเซิลทำลงไป ก็นับเป็นอาชญากรรมอยู่ดีในสายตาของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพราะการเป็นศาลเตี้ย และการฆาตกรรม แม้อีกฝ่ายจะเป็นอาชญากรก็ตาม เพราะการกระทำของแคสเซิลนั้นอยู่นอกระบบกฎหมาย นอกกระบวนการยุติธรรม แม้มันจะมีความชอบธรรมในแบบของเขาก็ตาม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: