พบนักเรียน 10 ล้านคน ออกมาทำงานได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4156 ครั้ง

พบนักเรียน 10 ล้านคน ออกมาทำงานได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ระบุการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงาน ผู้ที่จบการศึกษา 6, 9 ,12 ปี ก็ยังคงได้ค่าจ้างแรงงานเท่ากัน 10 ปีที่ผ่านมากว่า 70% ของนักเรียนพื้นฐาน พบนักเรียน 10 ล้านคน ออกมาทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 ว่ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip) โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ "คุณภาพโรงเรียนกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา" ตอนหนึ่งว่า ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องให้มากกว่าความรู้ และไม่ใช่ผู้เรียนเข้าถึงโอกาสการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ เป็นการพัฒนาตลอดชีวิต และต้องเป็นไปตามบริบทแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนนี้ระบบการสอนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อก่อนเวลาคิดเลขยังใช้ลูกคิด เรียนเทคโนโลยีต้องใช้ไม้บรรทัดคำนวณ แต่ตอนนี้มีเครื่องคิดเลขพกพา มีคอมพิวเตอร์ อนาคตมีคนวัยทำงาน คนสูงวัยมากขึ้น ขณะที่คนวัยเรียนลดลง ซึ่งถ้าจัดการศึกษาเพื่อคนวัยเรียน อนาคตจะไม่มีใครมาเรียนหนังสือ

ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่า 12 ปี แย่กว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เราจะขึ้นไปข้างบนไม่ได้ เพราะคนการศึกษาสูงมีน้อย และถ้าลงไปข้างล่างก็ไม่ได้ เพราะแรงงานค่าแรงสูง ซึ่งโจทย์การศึกษาต้องทำการศึกษาที่ไม่ใช่มุ่งเน้นวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องให้การศึกษา 12 ปี บวกกับการเรียนสายอาชีพ หรือได้เรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และได้ค่าตอบแทนสูงกว่าคนเรียนการศึกษาจบขั้นพื้นฐาน 12 ปีอย่างเดียว รวมถึงการศึกษาต้องทำให้คนมีความเอื้อเฟื้อ คิดถึงซึ่งกันและกัน การศึกษาอย่าไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเน้นเรื่องสังคมด้วย

"ปัญหาความท้าทายของการศึกษาขณะนี้ คือ จะทำการศึกษาอย่างไร ที่ทำให้คนไทยมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้คนสูงวัยอายุยืน และมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งการศึกษาในยุคการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัย อาจารย์ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนคนในวัยทำงานได้ เพราะคนวัยทำงานมีประสบการณ์การทำงานจริงแต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับเปิดตำราสอน นอกจากนั้น การศึกษาไม่เคยสอนเด็กเรื่องเนื้อหาเพื่อใช้ แต่เป็นการสอนเผื่อใช้ ขณะนี้ครูสอนคนทุกคนด้วยเรื่องเดียวกัน วิธีเดียวกัน ซึ่งตอนนี้สอนแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนเรียนต้องการเรียนรู้ต่างกัน ดังนั้น ต้องมีระบบการศึกษาให้คนได้เรียนเมื่อไหร่ อย่างไร ตอบสนองความต้องการของแต่ละคน และการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตการทำงาน จะกำหนดด้วยผู้เรียนและตลาด ไม่ได้ถูกกำหนดของรัฐอีกแล้ว" ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

สำนักข่าวไทย ยังรายงานด้วยว่า ดร.กฤษณพงศ์ ระบุอีกว่า “การศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงาน ผู้ที่จบการศึกษา 6,9,12 ปี ก็ยังคงได้ค่าจ้างแรงงานเท่ากัน 10 ปีที่ผ่านมากว่า 70% ของนักเรียนพื้นฐาน พบนักเรียน10 ล้านคน ออกมาทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับการเรียนหนังสือ 12 ปี มีวุฒิ ปวช.ได้ค่าแรงสูงกว่าเรียน 12 ปี นอกจากนี้ กว่า 67% ของแรงงานไทยมีวุฒิการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำ กว่า 10% มีการศึกษามัธยมต้น 10 %มีการศึกษามัธยมปลาย (รวม ปวช.) 14% มีการศึกษาอุดมศึกษา (รวม ปวส.) ดังนั้นคุณภาพการศึกษาของไทยจะพิจารณาเฉพาะวุฒิการศึกษาไม่ได้” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ด้าน นายนคร ตังคะภิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องหรือ sQip กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ พุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือของทุกฝ่ายเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการจัดการโรงเรียนของแต่ละแห่งที่ชัดเจนจากทุกฝ่าย เกือบ 2 ปีการศึกษา สกว. กสศ. และสพฐ. ได้จับมือกันร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและใช้ดำเนินการในโรงเรียนขยายโอกาสพื้นที่ยากลำบาก 197 แห่ง 14 จังหวัด ทั่วประเทศไทย มีครูร่วมโครงการมากกว่า 3,500 คน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนราว 49,086 คน ทำให้ 197 โรงเรียน เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงจริงสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสำคัญของระบบรับรองคุณภาพระดับนานาชาติคือ Student engagement หรือ นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนรู้

ขณะที่ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุน กสศ.กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 กสศ. สกว.และสพฐ. พร้อมเดินหน้าขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 280 แห่งรวม 17 จังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพโรงเรียนและครู และนําไปสู่การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ (Accreditation System) ที่เหมาะสมสําหรับบริบทโรงเรียนขนาดกลางที่มีจํานวนนักเรียน 200-500 คน ต่อโรงเรียน ในพื้นที่ยากลําบากของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ กสศ.เตรียมได้นำเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่สามารถวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เราได้พัฒนาร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD สำเร็จแล้วมาช่วยสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาต้นแบบกลุ่มนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมของการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนในชนบท ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย" ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: