สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และชาวบ้านในพื้นที่เกาะลิบง ร่วมกันหาแนวทางอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลแหล่งใหญ่ของประเทศไทย ด้วยการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2562 ว่านายสุเทพ ขันชัย หัวหน้าทีมพิทักษ์ดุหยงและหัวหน้าโครงการวิจัยแนวทางการอนุรักษ์พะยูนโดยชุมชนลิบง กล่าวว่าทีมวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์พะยูนของประเทศอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์พะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายของของประเทศไทยร่วมกัน เนื่องจากเกาะลิบงเป็นพื้นที่ที่มีพะยูนมากที่สุดของไทยประมาณ 180 ตัว และมีแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูนขนาดใหญ่ จำเป็นต้องรักษา ควบคู่กับการต่อยอดความรู้จากการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์มาขับเคลื่อนการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ด้วยการวางแนวทางเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนและลดอัตราการตายให้ได้มากที่สุด ซึ่งประชาชนในพื้นที่เองต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เดินหน้าโครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ด้วยการนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ทำการบินสำรวจเพื่อเฝ้าดูแลการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันช่วยป้องกันแหล่งหญ้าทะเลและสูงพะยูนด้วย ซึ่ง ในอดีตที่ผ่านมาเกาะลิบงเคยมีพะยูนมากสุดประมาณ 400 ถึง 600 ตัว แต่จำนวนพะยูนกลับลดลงอย่างรวดเร็วจนน่ากังวลอย่างมาก
ขณะที่นางสาวขนิษฐา จุลบล นักวิจัยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง สกสว. กล่าวว่า สกสว. ได้เดินหน้ากระบวนการวิจัยในโครงการการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์หญ้าทะเล จังหวัดตรัง เพื่อให้เกาะลิบงยังคงมีหญ้าทะเลจำนวนมากแหล่งใหญ่ที่สุดในทะเลอันดามันเพื่อช่วยให้เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงพะยูนต่อไป ซึ่งการทำงานวิจัยกับชาวบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายแต่จำเป็นต้องทำให้ได้เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริงในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ เกาะลิบงจะมีการจัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะถือเป็นกิจกรรมใหญ่หลังจากมาเรียมได้ตายลง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ