ต้นเดือน พ.ย. 2562 โรคใบร่วงยางพาราในภาคใต้ตอนล่างซึ่งกินพื้นที่กว่า 300,000 ไร่แล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2414 ครั้ง

ต้นเดือน พ.ย. 2562 โรคใบร่วงยางพาราในภาคใต้ตอนล่างซึ่งกินพื้นที่กว่า 300,000 ไร่แล้ว

ต้นเดือน พ.ย. 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งด่วน เร่งควบคุมการระบาดโรคใบร่วงยางพาราในภาคใต้ตอนล่างซึ่งกินพื้นที่กว่า 300,000 ไร่แล้ว กยท. จับมือสถาบันวิจัยยางเตรียมใช้อากาศยานไร้คนขับ ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราเพื่อจึงต้องเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดในพื้นที่ปลูกยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ที่มาภาพประกอบ: ไทยรัฐออนไลน์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 ว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่าโรคใบร่วงในยางพาราซึ่งพบที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และตรังรวมพื้นที่กว่า 300,000 ไร่แล้ว จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่เคยเกิดในไทยมาก่อน โดยพบครั้งแรกที่อินโดนีเซีย แล้วลุกลามมายังมาเลเซีย เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. แพร่กระจายโดยลมและฝนจึงยากต่อการป้องกันและควบคุม ขณะนี้ทางภาคใต้มีสภาพอากาศฝนตกชุกและร้อนชื้นซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราจึงต้องเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่ปลูกยาง 14 จังหวัดภาคใต้

ขณะนี้เร่งให้สำรวจความเสียหายเนื่องจากโรคใบร่วงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลงร้อยละ 30-50 เจ้าหน้าที่ต้องออกไปให้คำแนะนำการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องแก่เกษตรกร โดยภายในเดือนนี้กยท. ต้องสรุปยอดการลดลงของผลผลิตยางจากโรคใบไหม้มารายงานด้วย

ด้านนายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่ปลูกยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ขณะนี้ได้แนะนำให้เกษตรกรใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราได้แก่ Thiophanate Methyl พ่นลงพื้นดินบริเวณที่พบเชื้อ หรือใช้สาร Benomyl, Hexaconazole, Thiophanate Methyl, Triadimefon และ Difenoconazole พ่นบริเวณทรงพุ่มยาง ขณะเดียวกันกำลังทดลองประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดเชื้อราของสารอื่นๆ เพิ่มเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกยางของไทยมาก่อน อีกทั้งแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยบำรุงดินเพื่อให้ต้นยางพาราสมบูรณ์ แข็งแรง

ขณะนี้สถาบันวิจัยยางและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขออนุญาตฝ่ายความมั่นคงในการใช้อากาศยานไร้คนขับฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราเนื่องจากต้นยางสูง 5 – 7 เมตร รวมทั้งพื้นที่ระบาดเป็นวงกว้าง วิธีการฉีดพ่นที่ครอบคลุมมากที่สุดคือ การฉีดพ่นทางอากาศ นอกจากพื้นที่ที่พบการระบาดแล้ว ยังจำเป็นต้องฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราในพื้นที่โดยรอบที่มีความเสี่ยงติดเชื้อด้วย หากสปอร์เชื้อราถูกลมพัดพามาจะเกิดโรคในพื้นที่ใหม่ได้

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า ได้จัดทำคำแนะนำการป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ พร้อมกำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอออกสำรวจพื้นที่การระบาดพร้อมรายงานข้อมูลให้ทุกวันพุธ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเกี่ยวกับศัตรูพืชและแนะนำการป้องกันการระบาดของโรค ตามคำแนะนำของ กยท. และกรมวิชาการเกษตรด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: