นักเลงปืนเผยข้อมูลช่องทางลัดขั้นตอน แค่จ่ายใต้โต๊ะ 5,000 – 20,000 บาท เป็น “ค่ากระดาษ” แลกใบอนุญาตครอบครองปืนถูกกฎหมายได้ง่ายไม่ต้องรอ ขณะสนามยิงปืนกลายเป็นแหล่งปล่อยปืนสวัสดิการราคาถูกจากข้าราชการใช้สิทธิ์ซื้อถูกมาขายแพง หรือแม้กระทั่ง ปืนเถื่อน ซื้อขายเอิกเกริก ระบุ 1 คน ครอบครองได้หลายกระบอก เพราะกฎหมายเอื้อให้เป็นตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยชี้ คนไทยมีปืนถูกกฎหมาย 6 ล้านกว่ากระบอก ไม่รวมปืนเถื่อน อีก 5 แสนกว่า หรือ ใน 10 คนมีคนพกปืน 1 คน ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ปัญหาคดีทางอาชญากรรมที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง กำลังกลายเป็นปัญหาสังคมสำคัญปัญหาหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หลายคดีมีสาเหตุเพียงเล็กน้อยแต่การก่อคดีของผู้ต้องหากลับรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อาวุธปืนเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด จนทำให้เกิดคำถามในสังคมว่า เหตุใดคนไทยจึงสามารถมีปืนไว้ก่อเหตุ หรือแม้กระทั่งพกไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า กว่าบุคคลคนหนึ่งจะสามารถครอบครองปืนสัก 1 กระบอกได้ ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เนื่องจากมีกฎหมายที่เข้มงวดคอยตรวจสอบในทุกขั้นตอน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อลองสืบค้นเข้าไปดูข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับจำนวนการครอบครองอาวุธปืนของคนไทย ก็ยิ่งทำให้ตกใจมากขึ้นเมื่อข้อมูลระบุว่า ในปี พ.ศ.2555 มีตัวเลขของผู้ขึ้นทะเบียนอาวุธปืนถูกต้องตามกฏหมายในประเทศไทยรวมทั้งสิ้นสูงถึงจำนวน 6,221,180 กระบอก แบ่งเป็น อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก และอาวุธปืนยาว จำนวน 2,476,303 กระบอก หรือประมาณเฉลี่ย ทุกๆ 10 คน จะพบคนมีปืน 1 คน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงปืนที่ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500,000 กระบอก ยิ่งตอกย้ำคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทยว่า แท้จริงแล้วยังคงเข้มงวดและยุ่งยากจริงเหมือนในอดีตหรือไม่
ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีกฎหมายว่าด้วยการครอบครองอาวุธปืน ที่มีรายละเอียดชี้ชัดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 (พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ) ระบุไว้ว่า การจะเป็นเจ้าของอาวุธปืนหนึ่งกระบอก สิ่งแรกที่จำเป็นต้องมีคือใบอนุญาตให้ซื้อปืน หรือ ใบ ป.3 โดยยื่นคำร้องขออนุญาต ซื้อต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ปกครอง นายอำเภอ พร้อมเอกสารหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และใบรับรองความประพฤติ ที่ผ่านการรับรองจากกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
จากนั้นผู้ขอจะต้องนำใบ ป.3 ไปแสดงเพื่อซื้อปืนกับร้านที่ได้รับอนุญาตจัดจำหน่ายอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทางร้านดำเนินการตัดโอนอาวุธปืนออกจากการครอบครองของร้าน ออกเป็นใบคู่ปืน และนำไปขึ้นใบทะเบียนปืนที่ระบุชื่อผู้ครอบครอง หรือ ใบ ป.4 เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนทั้งหมด ผู้ซื้อก็จะได้เป็นเจ้าของปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
ถือเป็นขั้นตอนตามปกติที่ผู้ต้องการมีปืนจะต้องปฏิบัติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาและการดำเนินการพอสมควรกว่าจะเป็นเจ้าของอาวุธร้ายแรงชนิดนี้
จ่ายหมื่นบาทแลกใบอนุญาต
เพราะคำถามที่เกิดขึ้นดังกล่าว TCIJ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายปืนในปัจจุบัน โดยได้พบกับนายเอและนายบีเป็นพลเรือนที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และยินดีให้ข้อมูล โดยทั้งคู่อธิบายถึงวิธีการครอบครองอาวุธปืนว่า ปัจจุบันขั้นตอนการซื้ออาวุธปืนไม่ได้ยุ่งยากเหมือนที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ อีกต่อไปแล้ว เพราะในความเป็นจริง ผู้ที่อยากจะมีปืนเป็นของตัวเอง เพียงแค่มีเงินและเส้นสายในระบบราชการก็สามารถมีใบอนุญาตซื้อและครอบครองอาวุธปืนได้อย่างง่ายดาย โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของตนเองให้ฟัง
นายเอ เล่าว่า ด้วยความที่ครอบครัวของเขาสนิทสนมกับบุคคลในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตเพื่อซื้อและครอบครองอาวุธปืน เมื่อต้องการจะครอบครองปืน เขาสามารถที่จะมอบของที่ระลึกเป็นสินน้ำใจตอบแทน เพื่อขอให้บุคคลที่สามารถอำนวยความสะดวกเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตซื้อและมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองให้ โดยเรียกของที่ระลึก หรือสินน้ำใจนั้นว่า “ค่ากระดาษ” โดยนายเอ ระบุว่า หากไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว อัตราสินน้ำใจ ‘ค่ากระดาษ’ จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-20,000 บาท ตามแต่จะถูกร้องขอ
“5,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก ส่วนใหญ่เขาจ่ายกันเป็นหมื่น เพราะเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ถ้าเขาไม่ให้ เราก็มีปืนอย่างถูกกฏหมายไม่ได้ เว้นแต่เสียจะไปหาปืนเถื่อน ซึ่งก็เสี่ยงมากหากถูกตรวจพบ” นายเอระบุ ซึ่งหากพิจารณาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ระบุว่า ในการขอใบอนุญาตจะมีค่าธรรมเนียมตามจริงอยู่ที่ 1-10 บาท เท่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของปืนที่ต้องการซื้อ
ขณะที่กรณีของนายบี ระบุว่า ในส่วนของตนต่างกับนายเอ ตรงที่ใช้บริการร้านจำหน่ายอาวุธปืนที่มีบริการดำเนินการวิ่งเต้นขอใบอนุญาตซื้อและมีอาวุธไว้ในครอบครอง โดยจ่ายเงินเพิ่มอีกประมาณ 20,000 บาท
“ร้านปืนส่วนใหญ่เขาจะให้เราเลือกเลยว่า จะให้เขาเดินเรื่องใบอนุญาตให้ด้วยหรือไม่ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่ทำเรื่องขออนุญาตเอง จะใช้เวลารอนานกว่า 6 เดือน ยิ่งบางคนที่ไม่มีเส้นสายในวงราชการอาจรอนานเป็นปี แต่หากให้ร้านที่จำหน่ายอาวุธปืนเดินเรื่องให้ จะใช้เวลาอย่างมากไม่เกิน 2 เดือน”
เป็นการให้ข้อมูลจากบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงจากการซื้อปืนในยุคปัจจุบัน ที่แม้จะแตกต่างกันตรงวิธีการแต่ที่เหมือนกันคือ จะต้องมีการจ่ายเงินพิเศษในการดำเนินเรื่องกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในอัตรา 5,000-20,000 บาท หรือที่ในวงการรู้จักกันว่า “ค่ากระดาษ”นั่นเอง
กฎหมายเอื้อพลเรือนครองปืนตามรัฐพิจารณา
นอกจากนี้ในประเด็นของ จำนวนการครอบครองอาวุธปืนของประชาชน หรือ พลเรือน นั้น TCIJ ได้สอบถามไปที่กลุ่มงานอาวุธปืน (วังไชยา) กรมการปกครอง ก็ได้รับคำตอบว่า แม้ตามกฎหมายจะจำกัดการถือครองอาวุธปืนพลเรือน โดยให้ปืนสั้น 1 กระบอก และปืนยาว 1 กระบอก แต่ในทางปฏิบัติ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ กรณีบางคนที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองกว่าสิบกระบอก อาจมีไว้เพื่อการสะสม เจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาต หรือหากเป็นนักกีฬายิงปืน มีบัตรสมาชิกสนามยิงปืนมายืนยัน ก็จะได้รับการอนุญาตให้ถือครองมากกว่า 1 กระบอกได้เช่นกัน
ซึ่งในประเด็นของจำนวนการครอบครองอาวุธปืนนี้ นายเอ ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า บุคคลหนึ่งสามารถมีอาวุธปืนได้มากกว่า 1 กระบอก โดย วิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันก็คือ การสมัครเป็นสมาชิกสนามยิงปืน เพื่อให้ได้สิทธิในการครอบครองปืนหลายกระบอก นอกจากนี้การสมัครเป็นสมาชิกสนามยิงปืนยังสามารถใช้เป็นข้ออ้างว่าเป็นการพกปืนเพื่อการกีฬา ในกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกถามในการพกปืนติดตัวเวลาเดินทาง อีกด้วย
ประโยชน์ของสนามยิงปืนอีกประการหนึ่ง ที่นอกจากจะใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการเพิ่มจำนวนปืนในการครอบครอง และ ป้องกันตำรวจแล้ว สนามยิงปืน ยังเป็นแหล่งค้าปืนราชการอีกด้วย เนื่องจากสนามยิงปืนถือเป็นที่แรกในการฝึกเหนี่ยวไกปืนอย่างถูกกฎหมาย สนามยิงปืนจึงถูกใช้เป็นที่รวมตัวกันของสิงห์แม่นปืนเจนสนามและผู้เริ่มต้น ยังเป็นที่รู้กันดีในเหล่านักค้าปืน และผู้มองปืนราคาต่ำกว่าท้องตลาด ไปจนถึงปืนเถื่อนไม่มีทะเบียนอีกด้วย
แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ปืนราคาถูกที่พบในท้องตลาดคือ ปืนสวัสดิการ ซึ่งหน่วยงานราชการจัดไว้ให้กับข้าราชการ เช่น ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ครู ฯลฯ ที่ใช้สิทธิ์การซื้ออาวุธปืนในราคาสวัสดิการ ซึ่งถูกลงเกือบครึ่งหนึ่ง แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้กับพลเรือนในราคาที่สูงกว่าเล็กน้อย เช่น ปืนยี่ห้อกล็อก (Glock) รุ่นต่าง ๆ ราคาประมาณ 80,000 -100,000 บาท ขณะที่ราคาสวัสดิการอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 60,000 บาท แล้วแต่รุ่น
หลังจากตกลงราคาจนเป็นที่พอใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เจ้าของปืนจะ ‘โอนลอย’ ให้กับเจ้าของรายใหม่ กล่าวคือ โอนตัวอาวุธปืนให้กับผู้ซื้อแต่ใบอนุญาตซื้อและพกพายังคงเป็นชื่อผู้ขาย จนกว่าจะครบกำหนดโอนจริงได้ ในระยะเวลา 5 ปี
ขณะที่ปืนเถือนหรือปืนไม่มีทะเบียนหาซื้อไม่ได้ง่ายนักในสนามยิงปืน แต่จะอาศัยการบอกต่อและรับรองผ่านคนในวงการปืน ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าประเทศทางชายแดน ลักลอบเข้ามาในหลายวิธี เช่น ใช้คนขนมาแบบกองทัพมดผ่านเส้นทางตามป่าเขาติดชายแดน หรือลักลอบขนมาทางเรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ชนิดของปืนส่วนใหญ่เป็นปืนที่เหลือตกค้างจากการทำสงครามหรือทหารประเทศเพื่อนบ้านเอามาขายให้กับพ่อค้าอาวุธในไทย
นายเอ ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลกับ TCIJ กล่าวปิดท้ายว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจจะทำให้ผู้ต้องการครอบครองปืนต้องอาศัยช่องทางพิเศษ จากความยากจนกลายเป็นง่าย นำมาสู่การมีผู้ครอบครองปืนจำนวนมากนั้น น่าจะอยู่ที่เรื่องของความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายทำให้เป็นช่องทางให้มีผู้เสนอเป็นผู้ดำเนินการให้เพื่อความสะดวก โดยยกตัวอย่างตนเองที่ระบุว่า แต่เดิมยังไม่มีความรู้เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับอาวุธปืนมากนัก การศึกษาโดยการอ่าน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ อย่างเดียวไม่ทำให้เข้าใจ อุปสรรคสำคัญคือภาษาทางกฏหมายที่ยากต่อการทำความเข้าใจของพลเรือน ไปจนถึงการไม่ให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตอบข้อสงสัยทางกฎหมาย
พลเรือนติดอาวุธจำนวนมาก จึงเลือกใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เพื่อหาความรู้แลกเปลี่ยนวิธีการตลอดจนความเคลื่อนไหวของวงการปืน เช่น เว็บบอร์ดชมรมปืน ร้านปืน จนนำมาสู่การครอบครองปืนอย่างง่ายดายทั้งแบบถูกต้องตามกฎหมายด้วยช่องทางพิเศษ หรือแม้กระทั่งปืนเถื่อน และนั่นก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้ปืนถูกนำมาใช้ก่ออาชญกรรมอย่างง่ายดายมากขึ้นด้วยนั่นเอง
ทั้งหมดจึงทำให้เห็นได้ว่า กว่าพลเรือนหนึ่งคนจะมีปืนในครอบครองอย่างถูกกฎหมายอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่จำนวนปืนที่ถูกขึ้นทะเบียนกว่าหกล้านกระบอกอาจเป็นภาพสะท้อนระบบการออกใบอนุญาตถือครองอาวุธ ที่เพียงแค่มีเงินและเส้นสายก็ไม่ยากเกินการครอบครอง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ