'โรงงานผลิตพืช' (Plant Factory) เทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ต่างประเทศเริ่มเป็นที่นิยม ทั่วโลกมี 400 แห่ง ญี่ปุ่นมี 200 แห่ง สำหรับไทยเพิ่งได้รับความสนใจและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: elevate (CC0)
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เป็นเทรนด์ของโลกด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่หลายประเทศให้ความสนใจมากขึ้น จากการควบคุมการผลิตได้ด้วยเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นการปลูกพืชในระบบปิด ทำให้ปราศจากโรคและแมลง ปลอดสารเคมี ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้โรงงานผลิตพืชเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่หันมารักสุขภาพ บริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี ผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมสารอาหารต่างๆ เช่น ผักกาดขาวโพแทสเซียมต่ำ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เป็นต้น ตลอดจนสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คาดว่าโรงงานผลิตพืชจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
ในปี 2561 มูลค่ายอดขายของตลาดโรงงานผลิตพืชของโลกอยู่ที่ราว 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีจำนวนโรงงานผลิตพืชทั่วโลกราว 400 แห่ง โดยมีญี่ปุ่น เป็นผู้นำของเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช ด้วยการครองตลาดเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 20.0 ของมูลค่าตลาดโรงงานผลิตพืชทั่วโลก ซึ่งญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตพืช 200 แห่ง ตามมาด้วยไต้หวัน 100 แห่ง จีน 50 แห่ง สหรัฐอเมริกา 25 แห่ง เกาหลี 10 แห่ง และสิงคโปร์ 2 แห่ง
ความสำเร็จโรงงานผลิตพืชของผู้เล่นหลักอย่างญี่ปุ่น น่าจะมาจากประชากรญี่ปุ่นนิยมบริโภคพืชผัก ผลไม้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่ของประเทศมีจำกัด อีกทั้งการขยายตัวของเมือง รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ทำให้การขนส่งพืชผักผลไม้จากนอกเมืองเพื่อมาในเมืองมีโอกาสปนเปื้อนมลพิษต่างๆ ญี่ปุ่นจึงหันมาปลูกผักในเมืองมากขึ้น โดยพืชที่นิยมปลูกคือ ผักกาดหอม ผักโขมญี่ปุ่น มินต์ ใบโหระพา มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งโรงงานผลิตพืชจะใช้แสงไฟเทียม และที่สำคัญคือกว่าร้อยละ 25 ของโรงงานผลิตพืชนี้มีกำไรสูงถึงร้อยละ 50 เพราะการใช้หลอดไฟ LED ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างมาก
แม้โรงงานผลิตพืชจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตพืชรูปแบบใหม่ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย ด้วยพื้นที่ทางการเกษตรที่มีมากกว่า 138 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.0 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้โรงงานผลิตพืชเพิ่งได้รับความสนใจในไทยไม่นานนักและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3 ล้านบาท ผนวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยั’จำกัดในเฉพาะกลุ่มอย่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่ได้ดำเนินการในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ แต่จะเป็นการผลิตเพื่อรองรับการใช้ในหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เช่น การผลิตสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงงานผลิตพืชของไทยอาจไม่เหมาะกับการปลูกพืชเกษตรทั่วไป เนื่องจากไทยผลิตได้จำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น โรงงานผลิตพืชของไทยในที่นี้จึงต้องเน้นไปที่กลุ่มพืชมูลค่าสูง ที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญ เป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ (High-end Product) อย่างกลุ่มพืชสมุนไพร และกลุ่มพืชที่สามารถนำมาสกัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะสอดรับกับการสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมากถึง 5 อุตสาหกรรมคือ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในอีก 3-8 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ไทยจะมีการนำโรงงานผลิตพืชเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรแพร่หลายเพิ่มขึ้น และสามารถทำในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ได้ ตามแนวทางรูปแบบของภาครัฐและเอกชนที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ผนวกกับการที่ภาครัฐมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและสนับสนุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่น่าจะมีความสำเร็จที่ชัดเจนขึ้น ตลอดจนกลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลง ทำให้คาดว่า โรงงาน ผลิตพืชจะเริ่มอยู่ในช่วงแพร่หลาย ตั้งแต่ปี 2565-2569 โดยต้นทุนโรงงานผลิตพืชอาจลดลงราวร้อยละ 20 ต่อปี ไปอยู่ที่ 1.0-2.4 ล้านบาท จากต้นทุนในช่วงระยะเริ่มต้นที่ราว 3 ล้านบาท อันจะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับการคำนวณในรูปเปรียบเทียบการทำงานของโรงงานผลิตพืชและโรงเรือนทั่วไปในปี 2562 (ระยะเริ่มต้น) และปี 2567 (ระยะแพร่หลาย) แสดงให้เห็นว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ในแง่ของผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานต่อพื้นที่อาจไม่เปลี่ยนแปลงคือ โรงงานผลิตพืชจะมีผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานต่อพื้นที่มากกว่าโรงเรือนทั่วไปถึง 10 และ 16 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ในด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วย พบว่าอีก 5 ปีข้างหน้า โรงงานผลิตพืชจะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลง คือ ในปี 2567 โรงงานผลิตพืชจะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าโรงเรือนทั่วไปราว 8.9 เท่า จาก 18.4 เท่าในปี 2562 ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของโรงเรือนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ