11 ปีไทยนำเข้าสารเคมีเกษตร 1.66 ล้านตัน 2.46 แสนล้านบาท เจ็บป่วยเฉลี่ยปีละ 4 พันราย

ทีมข่าว TCIJ: 5 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 33269 ครั้ง

รอบ 11 ปี (2551-2561) ไทยนำเข้า ‘วัตถุอันตรายทางการเกษตร’ ปริมาณรวม 1,663,780 ตัน มูลค่ารวม 246,715 ล้านบาท สปสช.ระบุรอบ 10 เดือน (ต.ค. 2561-ก.ค. 2562) มีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีปราบศัตรูพืชเข้ารักษา 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย ปี 2559-2561 เจ็บป่วยเฉลี่ยปีละกว่า 4 พันกว่าราย ปี 2559-2562 เสียชีวิต 2,193 ราย

จาก เอกสารประกอบการพิจารณา ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษตกค้างเป็นอันตรายแก่เกษตรกรและผู้บริโภค ได้รวบรวมข้อมูลจาก กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าตั้งแต่ปี 2551-2561 ประเทศไทยนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร (สารกำจัดวัชพืช, สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช) ดังนี้ :- ปี 2551 นำเข้า 109,908 ตัน มูลค่า 19,182 ล้านบาท | ปี 2552 นำเข้า 137,594 ตัน มูลค่า 16,816 ล้านบาท | ปี 2553 นำเข้า 117,698 ตัน มูลค่า 17,924 ล้านบาท | ปี 2554 นำเข้า 164,383 ตัน มูลค่า 22,044 ล้านบาท | ปี 2555 นำเข้า 134,377 ตัน มูลค่า 19,357 ล้านบาท | ปี 2556 นำเข้า 172,826 ตัน มูลค่า 24,416 ล้านบาท | ปี 2557 นำเข้า 147,375 ตัน มูลค่า 22,812 ล้านบาท | ปี 2558 นำเข้า 149,546 ตัน มูลค่า 19,326 ล้านบาท | ปี 2559 นำเข้า 160,824 ตัน มูลค่า 20,618 ล้านบาท | ปี 2560 นำเข้า 198,317 ตัน มูลค่า 27,922 ล้านบาท | ปี 2561 นำเข้า 170,932 ตัน มูลค่า 36,298 ล้านบาท | รวมปริมาณนำเข้า 11 ปี (2551-2561) จำนวน 1,663,780 ตัน มูลค่ารวม 246,715 ล้านบาท

แนวโน้มปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาสัดส่วนการนำเข้าปี 2561 พบว่า 'สารกำจัดวัชพืช' มีสัดส่วนสูงสุดประมาณ 3 ใน 4 หรือประมาณร้อยละ 73 รองลงมาคือ 'สารป้องกันและกำจัดโรคพืช' คิดเป็นร้อยละ 12 ตามมาด้วย 'สารกำจัดแมลง' คิดเป็นร้อยละ 11 และสารอื่นๆ อีกร้อยละ 4

ส่วนใหญ่นำเข้าจาก ‘จีน’ เพื่อบรรจุขาย

นอกจากนี้ ในเอกสารประกอบการพิจารณาญัตติด่วนฯ ยังระบุว่าเนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตสารออกฤทธิ์ได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นการนำเข้ามาเพื่อบรรจุขายภายในประเทศหรือมีการผสมสารอื่นๆ แล้วจึงบรรจุขาย จากข้อมูลการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการ ปี 2542-2561 พบว่าประเทศผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศไทยนำเข้ามากที่สุด คือ ประเทศจีน และเมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2561 พบว่าจีนเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเยอรมนี

และจากข้อมูลบริษัทที่นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2555 พบว่า ‘บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด’ นำเข้าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 9.82 ของปริมาณนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด รองลงมาคือ ‘บริษัท เอเลฟองเต้ อโกรเคมิคอล จำกัด’ คิดเป็นร้อยละ 7.71 ตามมาด้วย ‘บริษัท เอราวัณเคมีเกษตร จำกัด’ คิดเป็นร้อยละ 7.56

อนึ่ง จากรายงานภาพรวมอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจ 20210 : การผลิตยาปราบศัตรูพืชและเคมีภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการเกษตร [คำอธิบายประเภทธุรกิจ : การผลิตยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ยาฆ่าเชื้อรา ยาทำลายวัชพืช การผลิตผลิตภัณฑ์กำจัดการงอกและการควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช การผลิตยาฆ่าเชื้อโรค (ที่ใช้ในงานเกษตรกรรมและอื่นๆ) รวมทั้งการผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรอื่นๆ ด้วย] โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูล ณ 3 ต.ค. 2562 พบว่าในปี 2561 บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด มีรายได้เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มการผลิตยาปราบศัตรูพืชและเคมีภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการเกษตร โดยมีรายได้ถึง 5,253,755,943 บาท (ดูเพิ่มเติม จับตา: ภาพรวมอุตสาหกรรมยาปราบศัตรูพืช-เคมีการเกษตรของไทย ปี 2560-2561)

รู้จัก ‘ซินเจนทา ครอป’ ยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบรางวัลเกียรติยศของอุตสาหกรรมไทยให้แก่ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น โรงงานบางปู จ.สมุทรปราการ ในฐานะอุตสาหกรรมดีเด่นแห่งปี 2562 ประเภทการเพิ่มผลผลิต เมื่อเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา | ที่มาภาพ: โพสต์ทูเดย์

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ต.ค. 2562) ระบุว่าบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ที่ตั้ง: 90 อาคารเอ ซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ชั้นที่ 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพ: เลขทะเบียนนิติบุคคล: 0105524002031 จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 26 ม.ค. 2524 ทุนจดทะเบียน 149,000,000.00 บาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน: 20210 การผลิตยาปราบศัตรูพืชและเคมีภัณฑ์อื่นๆเพื่อการเกษตร วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน: นำเข้า ส่งออก ผลิตยากำจัดวัชพืช จำหน่ายส่งเคมีภัณฑ์ รายชื่อคณะกรรมการ: 1.นายสุรศักดิ์ กิจเสรี 2.นายธนัษ อภินิเวศ มูลค่าหุ้นและสัดส่วนการลงทุนจำแนกตามสัญชาติ (ข้อมูลปี 2558-2562) 1. สวิซ จำนวนหุ้น 1,489,999.00 หุ้น มูลค่า 148,999,900.01 บาท คิดเป็นร้อยละ 100.00 2.ดัช จำนวนหุ้น 1.00 มูลค่า 99.99 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.00 ในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,253,755,943 บาท กำไรสุทธิ 201,029,383 บาท

อนึ่งเมื่อเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบรางวัลแห่งเกียรติยศสูงสุด อุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2562 (Prime Minister's Award 2019) ประเภทการเพิ่มผลผลิต ให้แก่ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด โดยมี มร. เกรกอรี่ ดีทัว ผู้อำนวยการสายการผลิตประจำภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก เป็นผู้ขึ้นรับรางวัลนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายจารีต เจริญสุข ผู้จัดการ บริษัท ซินเจนทา โรงงานผลิตบางปู จ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่าบริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติและมีความภูมิใจที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของรัฐบาลที่มอบให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีความคิดริเริ่ม และมีความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ความมุ่งมั่นพัฒนาด้านการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ซินเจนทา ดำเนินการอย่างเป็นเลิศในหลายด้าน ตั้งแต่การควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขภาพอาชีว อนามัย และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ จนถึงส่งมอบสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้า การได้รับรางวัลจากนายกฯ จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จและความมุ่งมั่น ซินเจนทา จะรักษามาตรฐานและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ด้าน น.ส.วัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผอ.ฝ่ายความยั่งยืนธุรกิจ ซินเจนทา ประเทศไทย บริษัทชั้นนำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรเพื่ออาหาร กล่าวว่าซินเจนทา เป็นบริษัทแรกของธุรกิจเกษตรที่มี แผนพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Good Growth Plan) เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดไว้ในวาระของสหประชาชาติปี 2030 (SDGs) ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ระดับสากล มาช่วยพัฒนาเกษตรกรรมทั้งด้านเมล็ดพันธุ์และการอารักขาพืช

ทั้งนี้ ทำควบคู่ไปกับความรับผิดชอบในการดูแลติดตามผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้ทำงานกับหลายภาคส่วน เพื่อช่วยกันนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการรับมือกับอุปสรรคต่างๆ ที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่ มุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจ นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างคนในสังคมกับวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น

ที่มา: เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า | เว็บไซต์ไทยโพสต์

 

 

ต.ค. 2561-ก.ค. 2562 มีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีเกษตรเข้ารักษา 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย

เกษตรกรไทยยังนิยมใช้ยากำจัดศัตรูพืชในการทำการเกษตร โดยมีความเชื่อว่า ‘มีต้นทุนต่ำที่สุด-สะดวกสบายที่สุด’ แต่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าได้ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรด้วยเช่นกัน

เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดเผยว่าจากข้อมูลการเข้ารับบริการในระบบ ‘หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ หรือ ‘กองทุนบัตรทอง ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (1 ต.ค. 2561 - 17 ก.ค. 2562) ได้รายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท

โดยข้อมูลนี้แยกผู้ป่วยตามประเภทของสารเคมีที่ได้รับ ดังนี้  1. ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต (organophosphate and carbamates insecticides) จำนวน 705 ราย เสียชีวิต 58 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท  2. ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา (Herbicides and fungicides) จำนวน 1,337 ราย เสียชีวิต 336 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท และ 3. สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 ราย เสียชีวิต 13 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลโดยแยกรายเขตบริการ 13 เขต พบว่า เขตเชียงใหม่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 506 ราย รองลงมาเขตราชบุรี จำนวน 390 ราย เขตนครสวรรค์ จำนวน 340 ราย และนครราชสีมา จำนวน 338 ราย เป็นต้น

ทั้งนี้ พบว่าข้อมูลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี มีประชาชนจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 ราย เสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท และในปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท ซึ่งหากรวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2562 มีจำนวนถึง 2,193 ราย รวมถึงงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น โดยถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์

นอกจากนี้ ยังมีความสูญเสียจากการเสียโอกาสการทำงานของเกษตรกรที่ต้องเข้ารับการรักษาตัว ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกำลังหลักของครอบครัว และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต ทั้งนี้ สปสช. ยังระบุว่ามีนโยบายสำคัญในการสร้างนำซ่อม ขอสนับสนุนภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจากพิษสารเคมีอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ภาพรวมอุตสาหกรรมยาปราบศัตรูพืช-เคมีการเกษตรของไทย ปี 2560-2561
จับตา: ภาพรวมอุตสาหกรรมยาปราบศัตรูพืช-เคมีการเกษตรของไทย ปี 2559
'โรคเนื้อเน่า' จากสารเคมีเกษตร หนองบัวลำภูจังหวัดเดียว สูงพันกว่าราย
 ไทม์ไลน์ ‘แบน’ หรือ ‘ไม่แบน’ สารเคมี ‘พาราควอต-คอลร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต’
อลหม่านสารพิษ 'พาราควอต' เมื่อ 'สุขภาพ vs ต้นทุนผลผลิตเกษตร'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: