จับตา: การปนเปื้อนจาก 'ยาเหลือใช้' ประสบการณ์จากต่างประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 8484 ครั้ง


มีงานศึกษาที่เผยแพร่ในปี 2005 และ 2011 ระบุว่าทั่วโลกมีการพบการปนเปื้อนของยาในแหล่งน้ำหลากหลายชนิด ด้วยความเข้มข้นระดับต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา และยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น ที่มาภาพประกอบ: WCCO

ข้อมูลจากงานศึกษา 'การพัฒนาแนวทางการจัดการยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากครัวเรือนและชุมชน' โดย ผาไท จุลสุข สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558 ได้ระบุว่า 'ยา' หรือ 'เภสัชภัณฑ์' ที่ใช้ในปัจจุบัน สามารถปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อมได้ 3 เส้นทางหลัก ๆ คือ 1.สถานประกอบการหรือโรงงานที่มีการผลิตสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยา ทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมผ่านระบบกำจัดน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม เกิดการปนเปื้อนของยาประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมากและในปริมาณสูง 2.การปศุสัตว์หรือการเลี้ยงสัตว์ ที่มีการใช้ยาในการรักษาโรคในสัตว์ โดยการปนเปื้อนเกิดขึ้นได้จากการขับถ่ายของเสีย ทั้งปัสสาวะและอุจจาระของสัตว์ที่ได้รับยารักษาโรคดังกล่าว สิ่งขับถ่ายจะถูกปล่อยลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย จากของฟาร์มหรือสถานที่ที่เลี้ยงสัตว์เข้าสู่สิ่งแวดล้อม และ 3.ภาคชุมชน ทั้งโรงพยาบาลและครัวเรือน โดยโรงพยาบาลเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนของยารักษาโรคผ่านระบบบัดน้ำเสียโรงพยาบาล ส่วนครัวเรือนเกิดจากพฤติกรรมของคนที่มีการใช้ยาเพื่อการรักษาโรค โดยยาที่หาซื้อมารับประทานเมื่อหมดอายุหรือเหลือใช้หรือไม่ใช้แล้ว จะถูกนำมาทิ้งในถังขยะหรือทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งจากเส้นทางดังกล่าวท่าให้ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้

สำหรับประเภทของ ยาประเภทที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (EPPP) ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ [Antibiotics (Erythromycin and Oxytetracycline)], ยาคลายเครียด ลดภาวะซึมเศร้า (Antidepressants), ยารักษาโรคเบาหวาน [A diabetes drug (Metformin)], ยาแก้ปวด ระงับการอักเสบ [Anti-inflammatory and analgesics (Ibuprofen and Diclofenac)], ยารักษาความดันโลหิตสูง (Beta-blockers), ยาเม็ดคุมกำเนิด [Oral contraceptives pills (17a-ethinylestradiol)], ฮอร์โมนทดแทน [Hormone replacement therapies (17b-estradiol)], ยาฆ่าพยาธิในสัตว์ [Veterinary anti-parasite drug (Ivermectin)] และยาต้านเซลล์มะเร็ง (Anti-cancer medicine) 

งานศึกษาชิ้นนี้ยังได้ระบุถึงการปนเปื้อนจากยาเหลือใช้ กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ ไว้ว่าในระดับสากลของการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเห็นชอบตาม Strategic Approach to International Chemical Management (SAICM) ปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) ซึ่งให้ความสำคัญ และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การปนเปื้อนยา โดยเฉพาะสารมลพิษประเภทยาที่มีฤทธิ์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Persistent Pharmaceutical Pollutants (EPPP) ในแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สัตว์น้ำและคน

โดย SAICM ขอให้ประเทศสมาชิกร่วมกำหนดมาตรการและจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการสารเคมีประเภทยา EPPP ร่วมกัน นอกจากนี้มีงานศึกษาพบว่ามีสารประกอบประเภทยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ เป็นต้น ในน้ำดื่มน้ำบริโภค และยังไม่สามารถกำจัดยาประเภทดังกล่าวออกไปจากน้ำดื่มสำหรับประชาชนได้ ถึงแม้ว่าจะมีในปริมาณน้อย แต่เมื่อประชาชนบริโภคน้ำเป็นประจำทุกวันจะเกิดการสะสมในร่างกายระยะยาว และอาจทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าน้ำดื่มในประเทศแคนาดา และเยอรมัน ตรวจพบยาคุมกำเนิด ยาลดอาการปวดปลายประสาท ยาแก้ปวด ลดไข้ และยาแก้อาการชัก ส่วนประเทศอังกฤษ ตรวจพบยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท และเคมีบำบัดมะเร็งในน้ำดื่มเช่นกัน รวมทั้งอีกหลายประเทศได้แก่ ประเทศอิตาลี พบยาปฏิชีวนะที่ใช้ในภาคปศุสัตว์ในน้ำดื่ม นอกจากนี้ในประเทศอินเดีย ยังตรวจพบยาต้านเชื้อราในร่างกาย ยารักษาโรคซึมเศร้า และยาแก้แพ้ในน้ำดื่ม สอดคล้องกับประเทศสวีเดนที่พบยาแก้ปวด ยารักษาโรคความดัน และยาแก้อักเสบในน้ำดื่ม อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ โดยเบื้องต้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้มีมาตรการการจัดการยาเพื่อสุขภาพ และกรอบแนวทางการกำจัดยาที่ปลอดภัยเพื่อให้ทุกประเทศสามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการยาที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพได้

มีงานศึกษาที่เผยแพร่ในปี 2005 และ 2011 ระบุว่าทั่วโลกมีการพบการปนเปื้อนของยาในแหล่งน้ำหลากหลายชนิด ด้วยความเข้มข้นระดับต่าง ๆ โดยสามารถจำแนกประเภทยาที่พบตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ในแต่ละประเทศได้ดังนี้

แคนาดา เคยตรวจพบ

- ยาคุมกำเนิดในปลา (ยา 17 alpha-ethinylestradiol) ในทะเลสาบ
- ยาแก้ชัก ลดปวดปลายประสาท (Carbamazepine) ในน้ำดื่ม

เยอรมัน เคยตรวจพบ

- ยาแก้ปวด ลดไข้ (Diclofenac, Phenazone และ Ibuprofen) ในน้ำดื่ม

สหราชอาณาจักร เคยตรวจพบ

- ยาลดเครียด กล่อมประสาท (Diazepam) ในน้ำดื่ม
- ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็ง (Bleomycin) ในน้ำดื่ม

อิตาลี เคยตรวจพบ

- ยาปฏิชีวนะใช้ในงานปศุสัตว์ (Tylosin) ในน้ำดื่ม

อินเดีย เคยตรวจพบ

- ยาแก้แพ้ (Antihistaminic) ในน้ำดื่ม
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ในน้ำดื่ม
- ยาต้านเชื้อรา (Antimycotic) ในน้ำดื่ม
- ยารักษาอาการซึมเศร้า ในน้ำดื่ม

สวีเดน เคยตรวจพบ

- ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาแก้ปวดชนิดเสพติดคล้ายมอร์ฟีน ตกค้างในเนื้อปลาที่อยู่ในระบบน้ำเสีย
- ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant) ในน้ำดื่ม
- ยาแก้ปวด (Analgesic) ในน้ำดื่ม
- ยารักษาโรคความดันและหัวใจ (Beta Blocker) ในน้ำดื่ม
- ยาแก้อักเสบ (Anti-Inflammatory) ในน้ำดื่ม

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: