พุทธแบบชวา: หมู่บ้านที่เข้มแข็งโดยไม่ต้องพึ่งพระสงฆ์

เจษฎา บัวบาล: 6 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 14144 ครั้ง


ในขณะที่พุทธเถรวาทไทยวิ่งหาพระสงฆ์เพื่อจำพรรษา รับกฐิน หรือสวดในงานพิธีต่างๆ พระสงฆ์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของการขับเคลื่อนศาสนา ได้มีชุมชนชาวพุทธในอินโดนีเซียที่รวมตัวกันเองแบบฆราวาส จัดกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิ แสดงธรรมเทศนา อุทิศบุญให้ผู้ล่วงลับและสรรพสัตว์ได้ทุกคืนโดยไม่ต้องใช้พระสงฆ์

บทความนี้พาสำรวจหมู่บ้านชาวพุทธ Krecek ในชวากลาง ซึ่งเป็นพุทธในอุดมคติของชาวพุทธในอินโดนีเซีย เพื่อชักชวนให้มองว่า (1) พื้นที่ของชุมชนซึ่งอยู่บนภูเขาห่างไกลจากเมือง (2) พิธีกรรมและความเชื่อแบบชวาเดิมซึ่งเข้มแข็งกว่าทุกศาสนา และ (3) ศาสนาพุทธที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้รัฐบาลซูฮาร์โต้ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนนี้เป็นพุทธเถรวาทที่มีรูปแบบต่างจากที่อื่น

ภาพที่ 1 : จะมีการจัดสวนและมีพระพุทธรูป/เจดีย์บรมพุทโธไว้หน้าบ้านแต่ละบ้าน (เอื้อเฟื้อรูปโดย Ryan Nalla)

อินโดนีเซีย ไม่ใช่ประเทศอิสลาม

อินโดนีเซียเป็นรัฐโลกวิสัย ที่ไม่ประกาศให้ศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ แม้จะมีความพยายามของกลุ่มมุสลิมหลายครั้ง แต่รัฐบาลยังรักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้ ศาสนาพุทธเป็นหนึ่งในศาสนาทั้ง 6 ที่รัฐให้การรับรองซึ่งประกอบด้วย อิสลาม โปรเตสแตนท์ คาทอลิก ฮินดู พุทธ และขงจื้อ มีการประมาณว่า ชาวพุทธอาจอยู่ที่ราว 1,700,000 คน ซึ่งคิดเป็น 1% ของ ประชากรทั้งหมด (Platzdasch, 2014, p. 4)

ในแง่ประวัติศาสตร์ เราถูกบอกให้เชื่อว่า ศาสนาพุทธได้เจริญอย่างมากยุคอาณาจักรศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 12) และได้เสื่อมลงในยุคมัชปาหิต (ศตวรรษที่ 14) เพราะกษัตริย์ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและบังคับ (ถึงขั้นฆ่า) คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2550) นี่เป็นการกล่าวที่คลาดเคลื่อนมาก เป็นการตัดประวัติศาสตร์เป็นยุคจนชัดเจนและมองข้ามความหลากหลายของศาสนา เพราะอิสลามเองได้เข้ามาและเติบโตก่อนหน้านั้น พบหลักฐานหลุมฝังศพของสตรีขาวมุสลิมซึ่งเป็นบุตรของ Maimun ซึ่งมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 (ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2553, น. 34-35) เป็นต้น

กล่าวคือ อิสลามและศาสนาอื่นๆ ได้ดำรงอยู่ร่วมกันมานาน มีการทำสงครามแย่งการค้ากันเป็นเรื่องปกติ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ อินโดฯ ไม่ได้เป็นอิสลามในแบบตะวันออกกลาง แต่เป็นอิสลามแบบชวา ซึ่งคนจำนวนมากไม่ละหมาด ไม่คลุมผม (ไม่ต้องพูดถึงขั้นจะบังคับให้คนอื่นมานับถืออิสลาม) ยังบูชาผีและเชื่อเรื่องเร้นลับเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน) หากกล่าวตามสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ไม่ผิดนัก ว่าอาเซียนจะรับเอาศาสนา (ใดก็ตาม) ตราบเท่าที่ศาสนานั้นไม่ทำลายประเพณีเดิมของตน นั่นคือ แม้จะรับศาสนาพุทธ แต่ก็มองว่า การตกปลา ฆ่าไก่ไม่ใช่เรื่องบาป เช่นเดียวกับการรับอิสลามของคนอินโดฯ ที่มองว่าการแสดงดังดุด (Dangdut) ที่มีผู้หญิงร้องเพลง แต่งตัวยั่วยวนโดยมีผู้ชายให้รางวัลและจับต้องสัมผัสเธอไม่ใช่เรื่องผิด 

พื้นที่บนเขา ทฤษฎีแสงเทียน

จะเห็นได้ว่า ทั้งแง่กฏหมายและจารีตท้องถิ่น อินโดนีเซียไม่ใช่รัฐอิสลามในแบบที่เราเข้าใจ และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ทุกศาสนายังดำรงอยู่ในอินโดฯ ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเข้มข้นของการทำให้เป็นอิสลาม (Islamization) และการทำให้เป็นคริสต์ของมิชชันนารี่ (Christianization) ก็มีผลต่อเพิ่มและลดจำนวนศาสนิกของแต่ละศาสนา Krecek เป็นหมู่บ้านที่มีประชากรราว 300 คน เป็นหมู่บ้านชาวพุทธ โดยมีมุสลิมเพียง 1 คนเท่านั้น หมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาในตำบล Kaloran อำเภอ Temanggung จังหวัดชวากลาง ซึ่งห่างจากเมืองไปราว 20 กม. ผู้คนดำรงชีพด้วยการปลูกกาแฟ ข้าวโพด ยาเส้น และผักผลไม้ชนิดต่างๆ

การเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมือง ช่วยให้การเข้าถึงของอิหม่ามและบาทหลวงเกิดขึ้นได้ยากกว่าปกติ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หมู่บ้านนี้ยึดประเพณีชวาไว้ได้มั่นคงกว่าในเมือง ซึ่งถูกอำนาจรัฐและองค์กรศาสนาเข้าควบคุมได้มากกว่า เปรียบเหมือนแสงสว่างของเทียนไข ที่อำนาจจะอ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อห่างไกลออกไป ทั้งนี้ คนในหมู่บ้านก็มิได้ตัดขาดจากที่อื่นๆ เพราะทุกบ้านมีมอเตอร์ไซด์สำหรับเข้าไปซื้อของในเมือง เด็กในหมู่บ้าน ออกไปเรียนข้างนอก และวันอาทิตย์ซึ่งหยุดทำงาน ชายจำนวนมากไปตกปลาที่เมือง Semarang ขี่มอเตอร์ไซด์ไปราวชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นโอกาสสังสรรค์กันของผู้ชายจากหมู่บ้านต่างๆ ด้วย

ภาพที่ 2 : ถนนคอนกรีตในหมู่บ้านและป้ายประชาสัมพันธ์ (ถ่ายเมื่อวันที่ 31 กค. 2562 โดยผู้เขียน)

ทั้งนี้ ความเป็นพุทธของหมู่บ้านนี้ไม่ได้ดำรงมาอย่างมั่นคงตั้งแต่มัชปาหิต เป็นเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ที่มีคนนับถือศาสนาอื่นอาศัยอยู่ด้วย (ซึ่งก็ไม่ควรเชื่อด้วยว่า พุทธศาสนาเข้มแข็งอย่างมากในยุคมัชปาหิต จนมองไม่เห็นการเติบโตของศาสนาอื่น) ลุงวัย 60 ปี เป็นมุสลิมมาก่อนและเคยไปประกอบพิธีฮัจจ์ด้วย ครอบครัวของท่านก็เคยนิยามตัวเองว่าเป็นมุสลิม ตัวอย่างนี้อาจช่วยให้เห็นว่า คนชวาจำนวนมากแทบไม่สนใจว่าตนจะต้องนับถือศาสนาอะไร เพราะเขามีประเพณีรวมทั้งจักรวาลวิทยาเดิมที่เข้มแข็งอยู่แล้ว (อาจเรียกว่า ความว่าง kekosongan หรือ พระเจ้า tuhan ก็ได้) กล่าวให้ชัดคือ การนิยามว่านับถือศาสนาใดสำหรับเขาไม่ได้สำคัญเท่ากับความเป็นชวา การเปลี่ยนศาสนาจึงไม่ได้อยู่ที่เห็นว่าศาสนา ก. มีเหตุผลกว่าศาสนา ข. แต่เพราะปัจจัยอย่างอื่น เช่น การค้าและการแต่งงาน เป็นต้น 

ประเพณีชวากลายเป็นพื้นฐานของศาสนา

Genduri เป็นประเพณีที่เก่าแก่อันหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ควรปฏิบัติในฐานะเป็นคนชวา ในพิธี จะมีการสวดมนต์ (ตามความเชื่อของแต่ละศาสนา ในที่นี้จะยกตัวอย่างศาสนาพุทธซึ่งเป็นพื้นที่นี้) อุทิศบุญให้แก่ผู้เสียชีวิตของบ้านนั้นและกินข้าวร่วมกันด้วยการเทอาหารรวมลงบนในกล้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีจะเป็นผู้ชายเท่านั้น ลุงวัย 45 ปี ได้อธิบายว่า การที่ผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้าร่วม น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของศาสนาอิสลาม ที่ผู้หญิงถูกย้ำให้ละหมาดในบ้านมากกว่าไปมัสยิด ซึ่งต้องไม่ลืมว่า Genduri ก็เป็นพิธีกรรมที่สำคัญเช่นเดียวหรือมากกว่าการละหมาด คำอธิบายของลุงน่ารับฟัง ซึ่งผมมองว่า อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ซึ่งมองสตรีว่าไม่บริสุทธิ์ก็อาจมีส่วนเช่นกัน

ภาพที่ 3 : พิธีสวดมนต์เพื่ออวยพรแม่ซึ่งกำลังอุ้มท้อง 7 เดือน (ถ่ายเมื่อวันที่ 26 กค. 2562 โดยผู้เขียน)

พิธีนี้จะจัดเพื่อสวดมนต์อวยพรแม่และเด็กในครรภ์แม่ซึ่งกำลังอุ้มท้อง 7 เดือน จะจัดอีกครั้งเมื่อคลอดได้อย่างปลอดภัย และหากคนในชุมชนตาย ก็จะฝังในวันนั้นตามความเชื่ออิสลาม แต่มีการสวดมนต์เพื่ออุทิศบุญให้ 3 วัน หรือ 7 วันขึ้นอยู่กับฐานะ และมีการทำบุญ 40 วัน ซึ่งมุสลิมเอง (รวมทั้งใน 3 จังหวัดของไทย) ก็ประกอบพิธีนี้ ทั้งที่การทำบุญ 40 วันไม่มีในวิถีอิสลามและคัมภีร์เถรวาท แต่น่าจะเป็นอิทธิพลของวัชรยานที่เชื่อว่า ผู้ตายยังไม่ไปเกิดและมีสิทธิรับบุญเพื่อเปลี่ยนแปลงภพชาติได้ในช่วง 49 วันหลังจากตาย (bardo)

แม้จะเป็นแค่ประเพณี แต่ให้บรรยากาศของความเป็นพิธีกรรมอย่างมาก ตั้งแต่การคัดคนคือ เอาสตรีออกนอกพิธีกรรม พิธีกรรมจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ เริ่มจากการสวดมนต์ร่วมกัน ถัดไปคือการทานอาหารในจานส่วนตัวพร้อมทั้งแจกขนมเพื่อนำกลับบ้าน และเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อ 2 ขั้นตอนนั้นจบลง เด็กหนุ่มซึ่งยังไม่แต่งงานควรลุกออกไปจากพิธี และปล่อยให้ผู้ใหญ่ทำพิธีอุทิศบุญและทานอาหารที่เทรวมกันบนใบตองต่อ ผมรู้สึกว่า ภาพชายที่นั่งสองแถว หันหน้าเข้าหากัน กินอาหารที่เทรวมกัน แทบไม่ต่างกับพราหมณ์หรือพระสงฆ์ที่ทำพิธีแล้วกินข้าวที่เทรวมกันในบาตร เพียงแต่การเทบนใบตองได้ให้ภาพความเป็นชุมชน (communal) ในระดับที่มากกว่า

ภาพที่ 4 : พิธี Genduri ทานข้าวร่วมกัน หลังสวดมนต์ให้แม่และเด็กแรกเกิดที่ปลอดภัย (ถ่ายเมื่อวันที่ 28 กค. 2562 โดยผู้เขียน)

หากเชิญผู้ชายทั้งหมู่บ้าน ค่าอาหารและขนมชนิดต่างๆ รวมทั้งบุหรี่ ที่ใส่ถุงให้แขกนำกลับบ้านคิดเป็นเงินราว 12,000 – 30,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากเป็นพิธีกรรมอื่น เช่น งานวันเกิด สามารถลดจำนวนแขกที่เชิญได้ คือเลือกเชิญราว 10 คน แต่ที่สังเกตคือ พบว่ามักเป็นชายสูงอายุ ซึ่งก็ไม่ต่างกับการเลือกนิมนต์พระเถระ ผมโชคดีตรงที่ได้เห็นพิธีนี้ในวันที่สองของมาอยู่ในหมู่บ้าน (21 กรกฎาคม 2562) เพราะเป็นวันเกิดครบรอบ 57 ปี เจ้าของบ้าน อีกอย่างที่น่าสนใจคือ ไม่มีการฉลองในแบบบันเทิง แต่เป็นพิธี Genduri ล้วนๆ (ไม่ได้หมายความว่า คนชวาจะไม่จัดงานฉลองแบบสมัยใหม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับหมู่บ้านและตัวเจ้าบ้านอีกที) 

พุทธเถรวาทถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

จากตัวอย่างพิธีกรรม Genduri เราไม่สามารถนิยามได้ว่า พุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ก่อนการสร้างรัฐชาติของอินโดฯ (คือ ก่อนทศวรรษ 1950) เป็นพุทธศาสนาแบบใด และคนใน Krecek (รวมทั้งที่อื่นๆ) อาจไม่ได้ต้องการนิยามนั้นด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ เมื่อพุทธศาสนาเติบโตขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พุทธแบบพม่าก็ถูกนำเข้าโดยพระชินรักขิตะ เมื่อปี ค.ศ. 1955 พุทธแบบไทยโดยศูนย์ฝึกอบรมพระธรรมทูตได้เข้าไปเผยแผ่เมื่อปี 1969 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลพยายามสลายความเป็นจีนให้เข้ากับชวา พุทธศาสนาในรูปแบบจีน (รวมทั้งโรงเรียนและภาษาจีน) ถูกสั่งห้าม จึงเป็นโอกาสให้เถรวาทได้เติบโตภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเผด็จการ (Jesada Buaban, 2019, p. 140)

พระราชวราจารย์ (วิญญ์ วิชฺชาโน) และพระสงฆ์อินโดนีเซียร่วมกันแปลหนังสือสวดมนต์ที่เป็นภาษา บาลีและคำแปลอินโดนีเซียขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1985 โดยมีชื่อว่า Paritta Suci (พระปริตรอันศักดิ์สิทธิ์) หนังสือนี้ได้กลายเป็นที่นิยมของชาวพุทธในอินโดฯ ทั้งเถรวาทและเอกยาน (นิกายของท่านชินรักขิตะ ซึ่งรวมเอา เถรวาท มหายานและวัชรยานเข้าด้วยกัน) คนชวาได้รับเอาพุทธเถรวาทอย่างมากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศาลาที่ทำพิธีกรรมหรือวัดที่สร้างขึ้นใหม่ในชุมชน จึงมักจะมีหนังสือ Paritta Suci อยู่จำนวนมาก และบทสวดที่ใช้กัน รวมทั้งในหมู่บ้าน Krecek เองก็มาจากหนังสือเล่มนั้น กล่าวคือ พิธี Genduri ถูกขับเคลื่อนไปโดยฆราวาสและรูปแบบพิธีกรรมแบบชวา แต่อาศัยบทสวดบาลีแบบเถรวาท

ภาพที่ 5 : แสดงธรรมโดยครูโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ถ่ายเมื่อวันที่ 27 กค. 2562 โดยผู้เขียน)

ภาพที่ 6 : เล่นดนตรีร้องเพลงประกอบพิธีสวดมนต์เพื่ออุทิศบุญให้ผู้ที่เสียชีวิตไปนานแล้ว (ถ่ายเมื่อวันที่ 24 กค. 2562 โดยผู้เขียน)

แต่ก็ไม่ใช่พุทธเถรวาทในแบบไทย หมู่บ้านนี้ไม่ได้ต้องการพระมาอยู่จำพรรษา ไม่ต้องการพระมาสวดศพ หรือขึ้นบ้านใหม่เป็นต้น เพราะเขาสามารถสวดกันเองได้ดังที่กล่าวไปแล้ว วันอังคารจะมีการนั่งสมาธิราว 30 นาที คืนวันพฤหัสบดีซึ่งคนอินโดฯ เชื่อกันว่าเป็นคืนที่วิญญาณจะออกมารับบุญได้ (Malam Jum’at) ก็จะมีพิธีสวดบทธรรมนิยามและอุทิศบุญกับบรรพบุรุษ  และคืนวันเสาร์ จะมีการสวดมนต์ที่ยาว มีการพูดคุยธรรมะ (ไม่ต้องอาราธนาธรรม) โดยผู้มีความรู้ในหมู่บ้าน และเมื่อเสร็จพิธีกรรมที่ศาลา ผู้ชายจะไปสวดมนต์ต่อที่บ้านหลังหนึ่ง โดยแต่ละอาทิตย์จะหมุนเวียนกันไป เพื่ออุทิศบุญให้บรรพบุรุษของบ้านหลังนั้น ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พิธีกรรมมักจะใช้ดนตรีประกอบ และผู้คนร้องเพลงกันราวกับที่ทำในโบสถ์คริสต์ เช่น หากเป็นวันวิสาขะ ก็จะร้องเพลง Hari Wasak แทนการเดินวนพระพุทธรูปหรือศาลาแบบจารีตของเถรวาท

ไม่ได้หมายความว่า หมู่บ้านนี้ไม่ต้อนรับพระ หากจะมีพระมาขอพัก ชาวบ้านก็ยินดีทำอาหารถวาย แต่พระจำนวนน้อยมากที่จะมาพักที่นี่ ส่วนหนึ่งเพราะพระในอินโดฯ มีจำนวนน้อย แต่ปัจจัยสำคัญคือ เพราะเขาทำกิจกรรมกันได้อย่างเข้มแข็งโดยไม่ต้องอาศัยพระในแบบไทย ทั้งนี้ มีความพยายามของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดฯ (Sangha Theravada Indonesia: STI) ในการครอบงำหมู่บ้านเช่นกัน ด้วยการให้ความช่วยเหลือในหลายด้าน เช่น สร้างศาลา (วัด) ให้คนทำพิธี สร้างศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัย (Paud) และมีการติดโพสเตอร์เจ้าคณะจังหวัดของชวากลางไว้ ซึ่งตำแหน่งนี้ในรัฐโลกวิสัยเป็นการแต่งตั้งกันเองโดยคณะสงฆ์ มีวาระ 4 ปี โดยจะหมุนเวียนกันปกครอง

ผมได้คุยกับลุงคนหนึ่งในสวนกาแฟ ลุงเล่าว่า ชาวบ้านไม่ได้สนใจตำแหน่งนั้น ท่านเองก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์รูปใดมีอำนาจในเขตนี้ แต่ก็ไม่มีผลกับพวกเรา ลุงเล่าต่อว่า มีองค์กรพุทธหลายที่ พยายามยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะเห็นว่าที่นี่เข้มแข็ง ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีต้อนรับ แต่หากวันหนึ่ง อยากจะมายึดที่นี่ ทำให้เป็นพุทธในแบบตัวเอง สอนว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ถูก ซึ่งถ้าขัดกับประเพณีที่เราทำกันมา ชาวบ้านที่นี่ก็คงไม่ต้อนรับพวกเขา   

สิ่งนี้ชวนให้คิดว่า พุทธศาสนาในแบบที่ฆราวาสเข้มแข็งได้เอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาธิปไตยเข้มแข็งด้วยหรือไม่ เพราะประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่มองว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน (เป็นฆราวาสก็สมาทานศีล อุทิศบุญให้ผู้ตาย อวยพรวันเกิดผู้อื่นและทำสมาธิเป็นต้นได้) ซึ่งต่างจากไทยที่มองว่าสถานะและบุญของคนมีไม่เท่ากัน หรือต่อให้ไม่เชื่อเรื่องนี้ กรณีของหมู่บ้าน Krecek ช่วยเตือนให้ชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์ได้ระลึกว่า การเผยแผ่ศาสนา เราควรทำให้เขาพึ่งตัวเองได้ หรือต้องยึดกับพระสงฆ์ตลอดไปในฐานะเป็นศูนย์กลางของศาสนา

ภาพที่ 7 : สถานที่พักผ่อนบริเวณน้ำตก Curuk ออกแบบให้เป็นที่ท่องเที่ยวและทำสมาธิ (ถ่ายเมื่อวันที่ 30 กค. 2562 โดยผู้เขียน)

การเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนี้ ให้ความรู้สึกราวกะว่าเรามาปฏิบัติธรรม อากาศหนาวราว 22 องศาในตอนกลางวัน และราว 18 องศาในตอนกลางคืน สามารถมาพักกับบ้านไหนก็ได้ อาจช่วยค่าอาหารเขาเล็กน้อย ช่วงกลางวัน อาจไปช่วยเก็บกาแฟ ข้าวโพด รดน้ำผักบ้างหากปรารถนา หรือพักผ่อนข้างน้ำตก Curuk ที่ต้องเดินขึ้นเขาไปราว 500 ม. และช่วงกลางคืนก็เป็นเวลาของการปฏิบัติธรรม

 

เดินทางด้วยรถบัสจาก บขส. Yogyakarta - Temanggung ราคา 120 บาท และนั่งรถสองแถวสีน้ำเงินจากตัวเมือง Temanggung – Kaloran ราคา 12 บาท จากนั้นนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้างจาก Kaloran – หมู่บ้าน Krecek ราคา 60 บาท   

 

อ้างอิง

Jesada Buaban. (2019). Thai Buddhism for Indonesian Elites. Journal of Social Science MBU, 2(1), 132-147.

Platzdasch, B.,(Ed.). (2014). Religious diversity in Muslim-majority states in Southeast Asia: Area of toleration and conflict. Singapore: ISEAS.  

ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. (2550). ศาสนากับสังคมการเมืองในอินโดนีเซีย. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2550 หน้า 6.

ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2553). การทำอิสลามให้เป็นชวา. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภายใต้ชุดโครงการ “ความสัมพันธ์ไทยกับโลกอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: