ครม.ไฟเขียวงบประมาณปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 1536 ครั้ง

ครม.ไฟเขียวงบประมาณปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท

ครม. เห็นชอบงบประมาณปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณปี 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.7 ยืนยันอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง ที่มาภาพประกอบ: Nation TV

6 ส.ค. 2562 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณปี 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 6.7 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ คิดเป็นร้อยละ 74.7 เป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังร้อยละ 2 ประมาณ 62,709 ล้านบาท และร่ายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ต้องสูงกว่าร้อยละ 20 จึงกำหนดไว้ที่ร้อยละ 20.5 เป็นเงิน 655,000 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณ เป็นเงิน 89,170.4 ล้านบาท ด้านรายได้สุทธิ 2.731 ล้านล้านบาท รายได้เพิ่มจากงบประมาณปี 2562 จำนวน 181,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 7.1 อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณยังคงเป็นงบแบบขาดดุล 469,000 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีงบ 2562 จำนวน 19,000 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

นางนฤมล กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2563 จัดทำภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ไม่ต้องกังวล เพราะงบขาดดุลทั้งหมดรัฐบาลได้ให้เป็นงบลงทุนเป็นสำคัญ สำหรับความเข้าใจที่ยังไม่ชัดเจนหรือมีการสื่อสารกันจนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น บางสื่อก็ลงข่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากชี้แจงว่าการจัดทำงบประมาณยังคงอยู่ในกรอบหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 42 ของจีดีพี ซึ่งขณะนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดทำตัวเลขคาดการณ์สัดส่วนหนี้สาธารณะไปข้างหน้านั้น น่าจะคำนึงถึงการลงทุนของรัฐบาลในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่น่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ตัวเลขคาดการณ์จะมีการประเมินใหม่ต่อไป

"ที่ประชุม ครม.ไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายในกี่ปีจากนี้ไป แต่ได้ฝากให้กระทรวงการคลังไปศึกษาว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในอนาคตข้างหน้า" นางนฤมล กล่าว

นอกจากนี้ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ยังมีแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เข้ามาช่วยเสริมหาเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ อย่างกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ดังนั้น การกู้เงินจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหลายแหล่งเงินทุนของรัฐบาล หากจะถามว่าหนี้ต่างประเทศมีความเสี่ยงมากหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าภาระหนี้ของประเทศในภาพรวมมีหนี้ต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 3 ของหนี้ของประเทศท้ังหมด อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้น ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยระยะสั้นจะกระทบกับภาระการคลังไม่มาก ขอให้คลายความกังวล อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะดูแลเรื่องนี้อย่างใก้ลชิด

นอกจากนี้ วันนี้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้เสนอแผนงบบูรณาการ ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว โดยนำมาชี้แจงแนวปฎิบัติให้คณะรัฐมนตรีได้เข้าใจถึงความจำเป็นต้องมีงบบูรณาการ เพราะเดิมงบประมาณดูแลแยกกันรายกระทรวง แต่นโยบายที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจำเป็นต้องนำงบประมาณมาบูรณาการร่วมกันรวม 23 แผนงาน พร้อมแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนได้ดูแลต่อไป เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูแล 7 แผนงาน นายวิษณุ เครืองาม ดูแล 5 แผนงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูแล 4 แผนงาน นายอนุทิน ชาญวีรกุล และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดูแลคนละ 3 แผนงาน โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าการมีงบบูรณาการไม่ได้มีเจตนาสร้างอุปสรรคในการใช้งบประมาณ แต่อยากให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การบูรณาตั้งแต่ขั้นตอนงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันให้เกิดผลประโยชน์แก่ประชาชนให้ทั่วถึงมากที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: