สพฐ. เตรียมเสนอตั้ง 'คณะทำงานทบทวนหลักสูตร' ดึงผู้เชี่ยวชาญคนนอกเข้ามามีส่วนร่วม

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4126 ครั้ง

สพฐ. เตรียมเสนอตั้ง 'คณะทำงานทบทวนหลักสูตร' ดึงผู้เชี่ยวชาญคนนอกเข้ามามีส่วนร่วม

สพฐ. เตรียมเสนอตั้ง 'คณะทำงานทบทวนหลักสูตร' ดึงผู้เชี่ยวชาญคนนอกเข้ามามีส่วนร่วม ชี้เพื่อให้ทันกับโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว“พีระ” เผยต่อไปการประเมินเด็ก ไม่เน้นความรู้อย่างเดียว แต่ต้องเน้นสมรรถนะด้วย ทักษะนอกห้องเรียน ย้ำการนำไปปฏิบัติการวัดผลประเมินผลที่จะต้องไปด้วยกัน ที่มาภาพประกอบ: gotoknow.org/kruora_wan

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2562 ว่านายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่าตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ว่า จะต้องมีทบทวนหลักสูตรที่ใช้อยู่ในขณะนี้พัฒนาต่อยอดให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไปนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมที่จะเสนอรายชื่อคณะทำงานที่เข้ามาดูแลเรื่องการปรับหลักสูตรโดยเฉพาะให้ รมว.ศธ.เป็นผู้ลงนามเห็นชอบ ทั้งนี้กรรมการจะมีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย

นอกจากนี้การปรับหลักสูตร สพฐ.ได้มีการเตรียมการในเรื่องต่างๆ ไปบ้างแล้วในหลายเรื่อง อย่างการสร้างเครื่องมือวัดผลที่อิงสมรรถนะ คือ ต่อจากนี้การประเมินจะไม่เน้นเรื่องความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นในเรื่องของสมรรถนะด้วย โดยที่จะดูเรื่องการปฏิบัติต่างๆ ที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ ทักษะ ความนิยมที่ได้ศึกษามา เช่น การเพาะเห็ด เด็กจะต้องรู้ว่าเห็ดมีกี่ประเภท แต่ละชนิดจะเจริญเติบโตได้อย่างไร ปลูกอย่างไร กินอาหารชนิดไหน ต้องกำหนดอุณหภูมิเท่าไร ดูแลรักษาอย่างไร เป็นต้น ซึ่งการเรียนการสอนก็จะต้องปรับไปในทิศทางที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะด้วย เพราะนอกจากเด็กจะมีสมรรถนะแล้ว การจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้จะทำให้เด็กมีค่านิยมที่ดี มีวินัย ความขยัน ความใส่ใจและความใฝ่รู้ใฝ่เรียน

“ที่ผ่านมาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดสมรรถนะไว้อยู่แล้ว 5 ด้าน คือ 1.ความสามารถในการสื่อสาร 2.ความสามารถในการคิด 3.ความสามารถในการแก้ปัญหา 4.ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และ 5.ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี แต่ต่อจากนี้ สพฐ.จะนำมาเน้นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เวลาเด็กจะเรียนรู้เรื่องอะไรจะต้องมีการฝึกปฏิบัติจะมีความเชี่ยวชาญ และมีการเสริมค่านิยม คุณลักษณะที่ดีให้เกิดเป็นสมรรถนะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีการปรับหลักสูตรแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การนำไปปฏิบัติ การวัดผลประเมินผลที่จะต้องไปด้วยกัน”รองเลขาฯ กพฐ.กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: