เปิดแฟ้ม 'โครงการวังหีบ' ปี 2561 ครม.อนุมัติ-ภาคประชาชนคัดค้าน

ทีมข่าว TCIJ: 6 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 13135 ครั้ง

ประมวลความคืบหน้า 'โครงการวังหีบ' อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช ในรอบปี 2561หลังมติ ครม. ให้เดินหน้าโครงการ ชาวบ้าน-ภาคประชาชนยังยืนยันคัดค้าน 'ปราโมทย์ ไม้กลัด' อดีตอธิบดีกรมชลประทานชี้เป็นการชูประเด็นโครงการพระราชดำริแต่ไม่ฟังเสียงประชาชน โครงการเหล่านี้เก่าแล้วต้องนำไปศึกษาให้สอดคล้อง 'ภูมิสังคม ภูมิประเทศ สังคมผู้คน และสิ่งแวดล้อม'

ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุถึงความเป็นมาของ 'โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช' ว่าเมื่อปี 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำกะลูแป ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งได้ทรงรับสั่งให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปิดกั้นคลองวังหีบ และอ่างเก็บน้ำสาขาด้วย ที่บริเวณบ้านนาหลวงเสน และบ้านนาประดิษฐ์ ตลอดจนฝายทดน้ำต่าง ๆ ในเขต อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตามที่ราษฎรได้กราบบังคมทูลพระราชทาน และกรมชลประทานได้มอบหมายให้กองวางโครงการ (ปัจจุบัน คือ สำนักบริหารโครงการ) ดำเนินการศึกษาวางโครงการต่อไป [1]

ต่อมาภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วง ธ.ค. 2559 –ม.ค. 2560 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยโครงการวังหีบนี้จะตั้งอยู่ที่บ้านสระแก้ว หมู่ที่ 1 และบ้านคอกช้าง หมู่ที่ 5 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง หัวงานเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 71.00 เมตร ยาว 350.00 เมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บน้ำปกติ 20.10 ล้านลูกบาศก์เมตร อาคารประกอบ ได้แก่ อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม อาคารท่อส่งน้ำดิบ ถนนบริเวณโครงการ และระบบส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ด้านเกษตรกรรม 13,014 ไร่ การวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจที่อัตราคิดร้อยละ 8 มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 8.22 โดยครอบคลุม 24 หมู่บ้าน ใน 4 ตำบล ของ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ นาหลวงเสน หนองหงส์ ควนกรด นาไม้ไผ่ และพื้นที่ได้รับประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้แก่ การจัดสรรน้ำรักษาระบบนิเวศปีละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร การอุปโภคบริโภคปีละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร การส่งน้ำดิบผลิตประปาเฉลี่ยปีละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรให้แก่เขตพื้นที่บริการจำหน่ายน้ำจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองทุ่งสง องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำใหญ่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหงส์ องค์การบริหารส่วนตำบลชะมาย องค์การบริหารส่วนตำบลควนกรด และเทศบาลตำบลนาบอน [2]

‘ครม.ประยุทธ์’ อนุมัติ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดังนี้

  1. อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ดำเนินโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 2,377.644 ล้านบาท และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สำหรับงบประมาณดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงและทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการตามโครงการต่อไป
  2. อนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2528 และ 12 ธ.ค.2532 กรณีการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) สามารถเข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป
  3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) เสนออย่างเคร่งครัด [3]

(คลิกอ่านรายละเอียดของ ‘ไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวโครงการวังหีบรอบปี 2561’ ทั้งหมดได้ที่นี่)

ชาวบ้านยื่นหนังสือนายกฯ ขอระงับ 3 โครงการใหญ่ ก่อนเข้า ครม. 1 วัน

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2561 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ คลองสังข์ เหมืองตะกั่ว ในพื้นที่ 2 จังหวัดของภาคใต้คือ นครศรีธรรมราชและพัทลุง ได้รวมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งยื่นหนังสือให้กับนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรี  ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ระงับ 3 โครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ 1. โครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 2. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช และ 3. โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับโครงการ และที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ การรับฟังความคิดเห็น รวมถึงไม่ได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเลย การดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 โครงการมีวัตถุประสงค์โครงการที่ไม่สอดคลองกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมและไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงการก่อสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ที่ชาวบ้านเคยเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกะทูน อ่างเก็บน้ำดินแดน และต้องอพยพย้ายมาที่คลองสังข์

สิ่งที่ชาวบ้านคัดค้าน มีดังนี้ 1) การดำเนินงานที่ผ่านมาไม่มีส่วนร่วม เช่น กรณีเขื่อนวังหีบ มีการเสนอให้จัดหาน้ำตั้งแต่ปี 2523 เพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำนา แต่ปัจจุบันไม่มีนาแล้ว กรณีเขื่อนคลองสังข์ ปี 2519 มีชาวบ้านถวายฎีกา ขอพระราชทานอยากได้น้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ แต่เหตุการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนหมดแล้ว ส่วนเขื่อนเหมืองตะกั่ว มีประธานสภาจังหวัดนำเสนอ ปี 2533  2) พื้นที่วังหีบและเหมืองตะกั่ว บริเวณที่จะดำเนินการโครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และมีน้ำตกสวยงามซึ่งถือว่าชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ส่วนที่คลองสังข์มีพื้นที่โพรงน้ำใต้ดิน ยังไม่มีการสำรวจให้ชัดเจนว่าเมื่อมีโครงการมีผลต่อโพรงน้ำใต้ดินอย่างไร 3) ในขั้นตอนการมีส่วนร่วม ในช่วงที่มีการศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ได้รับกระทบไม่มีโอกาสเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นและไม่ได้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควรจะเป็น แต่ไปเอากลุ่มนอกพื้นที่หรือกลุ่มอื่นๆ มาแทน และ 4) เป็นที่ทราบว่าชุมชนไม่อยากจะย้ายไปไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะไม่มีพื้นที่ทำกินอื่นที่จะอุดมสมบูรณ์เหมือนที่อยู่ปัจจุบัน [4]

นักวิชาการหวั่น โครงการเขื่อนวังหีบบานปลาย

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ.2561 นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ออกมาระบุว่า โครงการนี้ชาวบ้านคัดค้าน แต่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กลับผ่านความเห็นชอบ ในกระบวนการทำ EIA ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าร่วม แต่คนที่อื่นเข้าร่วมก็มีมติเสนอให้มีการสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านต้องยื่นหนังสือถึงทุกหน่วยงาน จนมายื่นกับนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้ลงพื้นที่โดยนายวิวัฒน์ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อศึกษาทางเทคนิคว่าเขื่อนนี้สร้างมาคุ้มค่ากับวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะชาวบ้านยืนยันว่าคลองวังหีบไม่ผ่านกลางเมืองทุ่งสง ดังนั้นที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงไม่น่าจะคุ้ม เพราะสามารถกักเก็บน้ำ 20 ล้านลูกบาตรเมตร แต่ต้องใช้งบก่อสร้างถึง 2,600 ล้านบาท และพบว่างบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่สำคัญคือโครงการนี้จะส่งกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวบ้านและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ [5]

ต่อมาในปลายเดือน พ.ย.2561 ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและเลขานุการคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Sitang Pilailar ว่า ได้ทำหนังสือถึงพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลการผลักดันโครงการดังกล่าว หนังสือระบุว่า คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาความขัดแย้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้การสั่งการของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ครอบคลุม 3 โครงการ ได้แก่ โครงการวังหีบ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว

“ดิฉันได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมาระยะเวลาหนึ่ง และได้นำเรียนความก้าวหน้าและข้อเสนอแนะของคณะทำงานไปยังรัฐมนตรีช่วยฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยพยายามผลักดันการใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงการ ทั้งยังอ้างคำว่า ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ โดยขาดความเข้าใจในเจตนารมณ์ของโครงการ ขาดความเข้าใจในบริบทสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดความเข้าใจในหลักวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และขาดการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งล้วนแต่จะนำมาสู่ความล้มเหลวในการดำเนินโครงการและแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และในระดับลุ่มน้ำ” ในหนังสือที่ ดร.สิตางศุ์ ทำถึงพลเอกฉัตรชัยระบุ

ในหนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “ความกังวลอีกประการหนึ่งคือการขับเคลื่อนโครงการฯ ในลักษณะที่ดำเนินการอยู่นี้ อาจเป็นการขยายความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อมั่นว่า ฯพณฯ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งควรสอดคล้องกับบริบททางภูมิสังคมในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของประชาชนและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง” [6]

ปราโมทย์ ไม้กลัด วิจารณ์ชูโครงการพระราชดำริแต่ไม่ฟังเสียงใคร

เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2561 ในรายการวิทยุของมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.อนุมัติโครงการเขื่อนวังหีบว่า การชูประเด็นโครงการพระราชดำริแล้วไม่ฟังเสียงใดๆ ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐเป็นความเข้าใจผิด จริงๆ แล้วโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้เก่าแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2520 เศษๆ โครงการตามแนวคิดนี้ต้องนำไปศึกษาให้สอดคล้องโดยเฉพาะกับภูมิสังคม คือ ศึกษาภูมิประเทศ สังคม ผู้คน และสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนวังหีบไม่ได้กระทบต่อปริมาณน้ำใน อ.ทุ่งสง เพราะสายน้ำไม่ได้ไหลไปด้านนั้น น้ำไหลไปคนละทิศ แต่ผู้สนับสนุนโครงการกลับบอกว่าป้องกันอุทกภัย จากข้อมูลที่มีการศึกษาพบว่า เขื่อนมีความจุน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ไม่มีผลเรื่องการป้องกันอุทกภัย มูลค่าการลงทุน 2,300 กว่าล้านบาท สันเขื่อนมีความสูง 70 เมตร เท่ากับว่าน้ำ 1 ล้านลบ.ม. ต้องลงทุนเป็นเงินสูงถึง 200 กว่าล้านบาท

“ผมไม่เคยเจอ ไม่เคยทำ มันมโหฬารทางด้านเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลก็คลุมเครือ เป็นการปั้นตัวเลขที่ระบุว่าช่วยพื้นที่เพาะปลูกกว่าหมื่นไร่ จริงๆ แล้วพื้นที่ย่านนั้นไม่ใช่นา แต่เป็นพื้นที่สวนยาง ที่สำคัญคือท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ผู้คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการบอกกล่าว ซึ่ง ร.9 รับสั่งว่าจะทำอะไรต้องให้คนในพื้นที่ตกลงด้วย แบบนี้บกพร่อง ซึ่งกรมชลประทานใช้การประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่รับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ คนในพื้นที่รู้เรื่องน้อย ครม.นำเอาเรื่องนี้เข้าไปที่ประชุมอย่างไรผมไม่ทราบ ผมประชุมวันพุธ แต่มีมติครม.ตั้งแต่วันอังคาร เป็นปัญหาที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ต้องเป็นประชาพิจารณ์ นี่เป็นลักษณะของการประชาสัมพันธ์ว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านได้อย่างไร ผู้บริหารจังหวัดบอกว่าเป็นโครงการพระราชดำริ แบบนี้ไม่ถูกต้อง” อดีตอธิบดีกรมชลประทานระบุ [7]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] โครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช (สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4/1/2562)
[2] กอ.รมน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำโครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ร.9) จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10/1/2561)
[3] ขออนุมัติดำเนินโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราชและขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ (ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธ.ค. 2561)
[4] จี้ “บิ๊กตู่” เลิกสร้าง “3 เขื่อนใหญ่” ชาวนครฯ-พัทลุงบุกทั้งที่ทำเนียบและ ก.เกษตรฯ (ผู้จัดการออนไลน์, 17/12/2561)
[5] แกนนำ ต้านเขื่อนวังหีบ ถูกขู่อุ้มเหตุ กลุ่มอิทธิพลหวั่นเสียผลประโยชน์ (มติชนออนไลน์, 28/2/2561)
[6] นักวิชาการหวั่น ‘โครงการเขื่อนวังหีบ’ บานปลาย (มติชนออนไลน์, 25/11/2561)
[7] ชุมชนวังหีบตึงเครียด-หวั่นบานปลาย ชาวบ้าน-รัฐ เผชิญหน้า (สยามรัฐออนไลน์, 22/12/2561)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายละเอียด 'โครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช'
ไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวโครงการวังหีบรอบปี 2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: