ชีวิตคนข่าวยุคดิจิทัล: เมื่อวงการสื่อถูก Disrupt นักข่าวก็ถูก Disrupt

อรวรรณ จิตรรัมย์ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | สื่อมวลชนอิสระ | 6 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 6927 ครั้ง

พบปัจจุบัน สำนักข่าวต่างเรียกร้องการอยู่รอด ผู้รับสื่อเรียกร้องข่าวที่ดีมีคุณภาพ แล้วเบื้องหลังของคนทำข่าวล่ะ? เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีพอหรือยัง? 'เมื่อวงการสื่อถูก Disrupt นักข่าวก็ถูก Disrupt' ชีวิตนักข่าวยุคใหม่ แข่งกัน ‘ทำงานด้วยความเร็ว-งานหนัก-สวัสดิการแย่-เคว้งคว้างไร้หลักประกัน’ แต่ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ถูกบังคับให้ยอมรับ 'ความไม่เป็นธรรม' แม้จะทำ 'คอนเทนต์เกี่ยวกับความเป็นธรรม' ก็ตาม ที่มาภาพประกอบ: news.syr.edu

“อ่านข่าวจากมือถือ 5 นาที อาจมีค่าเท่ากับดูข่าว ‘ทีวี’ ทั้งวัน”

ประโยคข้างต้นคงไม่ใช่คำกล่าวอ้างเกินจริงนัก หากเราจะพูดถึงสถานการณ์ ‘ข่าว’ ในปัจจุบัน ยุคแห่งข้อมูลมหาศาลที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว โลกที่เปิดกว้างด้วยอินเตอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถดูข่าวไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เวลาใดก็ได้ เลือกข่าวที่จะดูก็ได้โดยไม่ต้องรอถึงช่วงเวลาข่าวของทีวี หรือรออ่านข่าวที่เกิดขึ้นวันนี้ยันพรุ่งนี้เช้าจากหนังสือพิมพ์ เราสามารถเลื่อนดูได้จากหน้าจอเล็กๆ ในมือถือ ความก้าวไกลของเทคโนโลยีส่งผลให้ทิศทางของวงการสื่อเปลี่ยนไป

แพลตฟอร์มแบบใหม่ เขย่าการรับสื่อแบบเก่า

พื้นที่บนโลกออนไลน์ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก ย้อนไปไม่กี่ปีก่อนสื่อไทยดูจะตื่นเต้นกับการมีฟรีทีวีหลากหลายช่องมากขึ้น ต่างจากอดีตที่ตัวเลือกไม่มาก เราเรียกว่าการเปลี่ยนจากดูทีวีแบบ ‘อนาล็อก’ เป็น ทีวี ‘ดิจิทัล’ หลายสำนักข่าวกระโดดจากการการทำหนังสือพิมพ์ลงมาเล่นในพื้นที่หน้าจอ ทีวีหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย จากเดิม 6 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง หลายสื่อยอมทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อหวังว่าทีวีดิจิทัลคือคำตอบ ...แต่ท้ายสุดต้องพบความผิดหวัง เมื่อผลประการที่ได้กลับขาดทุนต่อเนื่อง

ข้อมูลที่รวบรวมโดย Positioningmag.com พบว่าช่วง 5 ที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะขาดทุน โดยช่องที่ยังมีอัตราขาดทุนสูง คือ 'พีพีทีวี' ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากการลงทุนคอนเทนต์พรีเมี่ยม ทั้งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฟอร์แมทคอนเทนต์ต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 พีพีทีวี ขาดทุนระดับพันล้านบาท มาต่อเนื่อง 5 ปี ปี 2560 รายได้ 317 ล้านบาท ขาดทุน 2,028 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 495 ล้านบาท ขาดทุน 1,837 ล้านบาท | ไทยรัฐทีวี ก็เช่นกันช่วง 5 ปีนี้ ขาดทุนเกือบพันล้านบาทต่อปี ปี 2560 รายได้ 740 ล้านบาท ขาดทุน 927 ล้านบาท ส่วนปี 2561 รายได้ 1,099 ล้านบาท ขาดทุน 554 ล้านบาท | อมรินทร์ทีวี ที่เผชิญปัญหาขาดทุนตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ ดึงทุนใหญ่ 'ไทยเบฟ' เข้ามาร่วมถือหุ้น 47% ด้วยเม็ดเงินลงทุน 850 ล้านบาท ช่วงปลายปี 2559 เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย แม้ภาพรวมในเครืออมรินทร์จะมีกำไรในปี 2561 แต่ช่องทีวีดิจิทัล ยังคงมีตัวเลขขาดทุน แต่ปรับตัวดีขึ้นมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดย ปี 2560 รายได้ 525 ล้านบาท  ขาดทุน 345 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 964 ล้านบาท ขาดทุน 32 ล้านบาท

ช่อง ONE 31 ภายใต้ บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ปี 2561 รายได้ 2,033 ล้านบาท ขาดทุน 9.3 ล้านบาท | GMM25 ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ปี 2561 รายได้ 1,714 ล้านบาท ขาดทุน 413 ล้านบาท | ช่อง True4U ปี 2560 รายได้ 794 ล้านบาท ขาดทุน 328 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 831 ล้านบาท ขาดทุน 317  ล้านบาท | TNN ปี 2560 รายได้ 395 ล้านบาท ขาดทุน 125 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 841 ล้านบาท ขาดทุน 43 ล้านบาท | เนชั่นทีวี ซึ่งขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2557 รายงานรายได้ ปี 2561 อยู่ที่ 185 ล้านบาท ขาดทุน 8.2 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขขาดทุนต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ ปี 2560 รายได้ 260 ล้านบาท ขาดทุน 727 ล้านบาท | NEW18 ประสบปัญหาขาดทุนตลอด 5 ปีเช่นกัน ขณะที่รายได้ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ปี 2560 รายได้ 124 ล้านบาท ขาดทุน 461 ล้านบาท ส่วนปี 2561 รายได้ 117 ล้านบาท ขาดทุน 401 ล้านบาท

สื่อใหญ่ที่เรตติ้งสูงสุดติด 1 ใน 3 มาตลอดอย่างช่อง 3 ก็ยังไม่พ้นการขาดทุน ผลรวมประกอบการกำไรลดลงเรื่อยๆ จนในปี 2561 ขาดทุนถึง 330.2 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นปีแรกที่กลุ่มธุรกิจช่อง 3 ขาดทุน

ในช่วงนับตั้งแต่ 2557 ที่เริ่มมีทีวีดิจิทัล หลายช่องขาดทุนต่อเนื่องจนส่งผลค่อยทยอยขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลตามๆ กัน แม้จะมีนโยบาลจากรัฐที่ค่อยอุ้มทุนสื่อเหล่านี้แล้วก็ตาม ในปัจจุบันจึงเหลือเพียง 15 ช่อง จากเดิม 24 ช่องที่ยังคงกัดฟันสู้ต่อ

ไม่เพียงแค่ทีวีดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการดูข่าวของคนในปัจจุบัน สื่อสิ่งพิมพ์เองก็ทยอยปิดตัวตามๆ กัน มีสื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวจำนวนมาก เช่น เปรียว, lemonade, candy, VOLUME, IMAGE, KC WEEKLY, C-KiDs!, COSMOPOLITAN, บางกอกรายสัปดาห์, โพสต์ทูเดย์, M2F, seventeen, สกุลไทย, Student Weekly , WHO, I LIKE, WHO,ขวัญเรือน, ดิฉัน,WRITER, The NATION เป็นต้น

อย่างไรก็ตามทั้งสื่อทีวีดิจิทัลสื่อสิ่งพิมพ์หลายที่ไม่ได้จนหนทางด้านนี้ไปเสียทีเดียว หลายสื่อได้ปรับตัวไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แทน บางที่ย้ายมาเต็มตัว เช่น Voice TV บางที่เลือกจะยังคงแพลตฟอร์มเดิมไว้แต่เพิ่มหนทางการเผยแพร่ทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย เช่น ไทยรัฐ มติชน A day ช่อง 3 7 Thai PBS และสำนักอื่นๆ อีกมากมาย แต่คำถามต่อไปคือการย้ายแพลตฟอร์มแต่ถ้ารูปแบบข่าวที่นำเสนอยังคงเดิม จะเป็นทางรอดที่ดีหรือไม่?

“อยากเป็นคนแรกที่รู้ อยากเป็นคนแรกที่เผยแพร่ เมื่อสื่อทำแบบนี้ ผู้เสพสื่อเองก็รู้สึกว่า อยากเป็นคนแรกที่รู้ และอยากเป็นคนแรกที่เผยแพร่ต่อ”

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ benarnews.org

 

สื่อออนไลน์ ความเร็วต้องมาก่อน?

'ยื้อแย่งกันทำข่าว' สภาพที่คนในวงการมักจะเห็นจนชินตาในสนามข่าว โดยเฉพาะประเด็นข่าวบันเทิงที่เป็นที่สนใจของสังคม ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ที่ไม่ต้องรอเวลาออกอากาศอย่างเช่นสื่อแบบทีวีหรือสิ่งพิมพ์ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อออนไลน์ต้องเน้นความไวมาก่อน 'นนทรัฐ ไผ่เจริญ' ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ benarnews.org ได้แสดงความเห็นไว้

“คนทำสื่อโดยทั่วๆ ไป คำนึงถึงความรวดเร็วพอๆ กับความถูกต้องครับ เพียงแค่ความรวดเร็วในการกลั่นกรองข้อมูลให้ถูกต้องอาจมีขั้นตอนสั้นกว่าสมัยเป็นสื่อออฟไลน์เพราะไม่มีเงื่อนเวลาในการเผยแพร่ สื่อออนไลน์อาจออกข่าวได้ทันทีที่ได้ข่าว ขณะที่หนังสือพิมพ์ต้องรอเข้าโรงพิมพ์ และออกวันละเล่ม หรือเต็มที่ก็กรอบเช้า กรอบบ่าย โทรทัศน์อาจจะเป็นข่าวเที่ยง ข่าวค่ำ วิทยุอาจจะเป็นข่าวต้นชั่วโมง ซึ่งไอ้การออกข่าวได้ทันที ทุกเวลา ทำให้เกิดนิสัยแบบว่าอยากเป็นคนแรกที่รู้ อยากเป็นคนแรกที่เผยแพร่และเมื่อสื่อเริ่มทำแบบนี้ ผู้เสพสื่อเองก็รู้สึกว่าอยากเป็นคนแรกที่รู้ และอยากเป็นคนแรกที่เผยแพร่ต่อ”

นอกจากนี้เขายังให้ทัศนะไว้ว่าการที่สื่อต้องเอาใจทั้ง ‘ผู้บริโภคและผู้สนับสนุน’ อาจจะส่งผลต่อความผิดพลาดของข้อมูล หรือการไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกด้วย

“ผมคิดว่า นักการตลาดหรือนักโฆษณาจ่ายเงินซื้อโฆษณากับสื่อออนไลน์ ก็ต้องการให้สื่อที่ตัวเองสนับสนุนมีความรวดเร็วด้วยเช่นกัน เพื่อความอยู่รอด สื่อต้องเอาใจทั้งผู้บริโภคและผู้สนับสนุน ดังนั้นยุคปัจจุบัน จึงต้องเร็ว อย่างไรก็ดีความผิดพลาดของข้อมูล หรือการไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกก็อาจจะมีปัจจัยภายนอกองค์กรสื่อ เช่น แหล่งข่าวเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนั้นดีพอ ยังไม่ได้รับรายงาน มีข้อมูลอยู่น้อยเกินไปแต่ต้องให้ข้อมูลแล้วเพราะสาธารณะอยากรู้ ทำให้อาจมีความผิดพลาด เมื่อเวลาผ่านไปเขาเข้าใจมากขึ้น มีข้อมูลใหม่ รู้ความผิดพลาดของตัวเอง ก็อาจให้ข้อมูลใหม่ เลยทำให้สื่อที่ออกในระลอกแรกกลายเป็นสื่อที่ทำงานผิดพลาด แต่บางที การออกข่าวเร็วๆ ก็เป็นกลยุทธ์ในการทำให้แหล่งข่าวที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ยอมชี้แจง หรืออธิบายได้” นนทรัฐ ระบุ

"การเขียนใหม่ทั้งหมด เรียกร้องเวลา พละกำลัง และความสงสัย ซึ่งต้องออกไปหาประเด็นและเริ่มทุกอย่างเอง งานแบบนี้ไม่ใช่งานที่สามารถทำได้ทุกวัน เพราะบางครั้งประเด็นไม่ได้มีให้ทุกวัน และเราไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ทุกวันไม่หยุดหย่อน เพราะครอบครัวก็ต้องดูแล พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงดู ลูกก็ต้องเล่นด้วยครับ"

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ benarnews.org

 

ข่าวแบบ Copy​ Paste วิธียอดฮิตของสื่อยุคปัจจุบัน?

ด้วยสภาวะการแข่งขันสูงและอาจจะรวมถึงการลดงบประมาณในกองบรรณาธิการข่าวของสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน ประกอบกับการใช้สื่อออนไลน์ในการรายงานและนำเสนอข่าว สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ปรากฏการณ์ ‘การนำเนื้อหาข่าวจากสำนักข่าวอื่นมาใช้ในงานของตน’ (ทั้งอ้างอิงและไม่อ้างอิง) จึงแพร่หลายในวงการข่าวมากขึ้น

“พูดในฐานะคนที่เคยทำทั้งก็อปปี้ทั้งก้อน ข้อมูลเดิมแต่เขียนใหม่ ข้อมูลเดิมบวกข้อมูลใหม่แล้วมาเขียนใหม่ ข้อมูลก้อนเดิมทั้งก้อน บวกข้อมูลใหม่ หรือเขียนใหม่ทั้งก้อน มีประเด็นใหม่ การเอาข้อมูลนั้นมาทั้งก้อนได้ความรวดเร็ว ถ้ามองว่าข่าวที่ออกเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ การช่วยเผยแพร่ต่อก็น่าจะสร้างประโยชน์เช่นกัน ..การเขียนใหม่ทั้งหมด เรียกร้องเวลา พละกำลัง และความสงสัย ซึ่งต้องออกไปหาประเด็นและเริ่มทุกอย่างเอง งานแบบนี้ไม่ใช่งานที่สามารถทำได้ทุกวัน เพราะบางครั้งประเด็นไม่ได้มีให้ทุกวัน นักข่าวไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ทุกวันไม่หยุดหย่อน เพราะครอบครัวก็ต้องดูแล พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงดู ลูกก็ต้องเล่นด้วยครับ” นนทรัฐ ระบุ

ในขณะที่วิธีการนี้เริ่มเป็นที่นิยมของสื่อออนไลน์มากขึ้น นนทรัฐ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศก็ได้เน้นย้ำว่า จะต้องให้เครดิตและอ้างอิงต้นทางที่เรานำข้อมูลมาใช้เสมอด้วย

“บางครั้งเหตุผลที่สำนักข่าวก็อปปี้และวางก็เพราะข่าวนั้นเป็นข่าวที่หลายสำนักรู้พร้อมกัน เช่น ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ อภิสิทธิ์ลาออกจาก ส.ส. ซึ่งรู้พร้อมกัน ข้อมูลเดียวกัน นักข่าวอาจจะเลือกเอาข้อมูลของสำนักที่เร็วที่สุดมาเผยแพร่ต่อก็ได้ การรีไรท์ใหม่หรือเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด อาจจะไม่ได้มีประโยชนอะไรมาก เป็นต้น สื่อออนไลน์เอง ความสม่ำเสมออาจจะต้องมี เช่น ข่าวอาจจะต้องมีให้คนอ่านทุกชั่วโมง ทุกวันในขณะที่คนทำงานมีน้อย การเอาพละกำลังของสำนักข่าวอื่นๆมาใช้ เพื่อรักษาคนอ่านของสำนักข่าวไว้ ก็อปปี้มาทั้งอันให้คนอ่านเรามีได้อ่านก็อาจจะจำเป็นแต่ความสำคัญคือสำนักข่าวต้องให้เครดิตผู้ที่เราเอาข้อมูลของเขามาใช้ด้วย” นนทรัฐ เน้นย้ำ

"ที่ทำงานที่นี่ โอที ไม่ได้ แต่ได้โบนัสปลายปี เราสมัครเข้ามาด้วยอุดมการณ์ อยากทำงานที่ดี ยอมได้เงินน้อย คิดว่าทำงานเขียน แต่พอเข้ามาจริงเราต้องทำงานอื่นไปด้วย เคยโต้เถียงกลับเจ้านายประเด็นนี้ เพราะเราไม่อยากถูกเอาเปรียบ เขาตอบกลับว่าทุกคนต้องทำงานหลายอย่าง สุดท้ายเราต้องอยู่ในสภาวะจำยอม"

‘เอ’ พนักงานประจำสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก

 

สื่อยุค Disrupt คนทำข่าวก็ถูก Disrupt

เทคโนโลยีที่นำมาสู่การเปลี่ยนแพลตฟอร์มของสื่อ หลายสำนักข่าวที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบหนัก การเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความจำเป็นในการลดขนาดองค์กรเพื่อความอยู่รอด หลายที่เลือกจะจ้างคนทำข่าวในสัญญาฟรีแลนซ์ มากขึ้น หรือถ้ายังจ้างแบบพนักงานประจำก็จะต้องแบกรับเงื่อนไขที่หนักกว่าอดีต นักข่าวต้องทำงานหนักขึ้นและทำหลายหน้าที่มากขึ้น

‘เอ’ พนักงานประจำสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก เธอได้รับมอบหมายให้เขียนข่าวเน้นความรู้เชิงลึกอย่างต่ำ 6 ชิ้นต่อเดือน นอกจากเขียนข่าวแล้วยังต้องเป็นกองบรรณาธิการพิสูจน์อักษรให้คอลัมนิสต์หลายชิ้นต่อเดือน ทำงานวีดีโอ ดูแลเพจ และงานหลังบ้านอื่นๆ

“เราสตาร์ทงานด้วยเงินเดือน 18,000 บาท แต่เราได้เงินขึ้นน้อยมากซึ่งเราก็เศร้า ในรุ่นเราที่จบมาพร้องกันบางคนทำเอเจนซี่ เงินเดือน 23,00-25,000 บาท แต่เราได้แค่ 18,000 บาท แต่ก็พยายามลบความคิดนี้ให้เร็วเพราะเราไม่อยากเสียใจ ไม่อยากเครียดแล้ว งานเราเครียดพอแล้ว เราเลยคิดว่าจะทำด้วยเงินเดือนเท่านี้เท่าที่ไหว และตอนนี้เรายังไหว ทั้งนี้ทั้งนั้นพอทำงานไปจริงๆ เรากลับพอว่าใช้ไม่พอและเราต้องแบ่งเงินให้พ่อแม่ด้วยเพราะท่านก็อายุเยอะแล้ว เราต้องสู้ความรู้สึกนี้ตลอดเวลา เป็นแบบนี้เลยต้องรับทำงานฟรีแลนซ์เสริม ทำอะไรก็ได้เพื่อให้มันมีเงินที่พอ” เอ ระบุ

“ที่ทำงานที่นี่ โอที ไม่ได้ แต่ได้โบนัสปลายปี เราสมัครเข้ามาด้วยอุดมการณ์ อยากทำงานที่ดี ยอมได้เงินน้อย คิดว่าทำงานเขียน แต่พอเข้ามาจริงเราต้องทำงานอื่นไปด้วย เคยโต้เถียงกลับเจ้านายประเด็นนี้ เพราะเราไม่อยากถูกเอาเปรียบ เขาตอบกลับว่า ทุกคนต้องทำงานหลายอย่าง สุดท้ายเราต้องอยู่ในสภาวะจำยอม ….งานเราไม่ต้องเข้างานก็ยังได้ได้ แต่เอาเข้าจริงมันคือการทำงานตลอดเวลา ต้องพกคอมพิวเตอร์ไปทุกที จะนอนมันก็ต้องอยู่ข้างหมอนตลอด อาจดูเหมือนทำที่ไหนก็ได้แต่นั่นคือการเราไม่ได้หยุด วันหยุดก็ไม่ได้หยุด” เสียงสะท้อนชีวิตหลังข่าวจากเอ

ทั้งนี้ในการบรรยาย 'แรงงานและอาชีพในเศรษฐกิจดิจิทัล' โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ค่าย TCIJ School 6 เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ได้ระบุถึงรูปแบบการทำงานและจ้างงานของคนทำสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างมากในยุคปัจจุบันไว้ว่าเป็นผลกระทบจากองค์กรสื่อถูก disrupt สื่อเก่าหลายแห่งปรับตัวไม่ทันจนต้องปิดตัวลง ที่อยู่รอดก็ต้องปรับตัว-ปรับองค์กรสู่แพลตฟอร์มแบบใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น

"ในยุคที่เทคโนโลยี disrupt ทุกสิ่ง มีเดียเองก็ถูก disrupt หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อแบบเก่า จำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทันต้องปิดตัวลงไป สิ่งนี้มันเกิดเร็วมาก คุณดูตอนประมูลทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการแห่ไปประมูลเสนอค่าตอบแทนให้รัฐมหาศาล แต่เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ทุกคนย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็เจ๊งเลย ทีนี้พอทุกคนรู้ตัวว่าต้องย้ายแพลตฟอร์มมันก็เลยทำให้มีความต้องการคอนเทนต์ออนไลน์มาก แล้วก็มีผู้ผลิตที่เป็นฟรีแลนซ์อย่างพวกเราที่พร้อมจะกระโจนลงไปในสนาม ผลิตงานป้อนให้แพลตฟอร์ม ซึ่งเราก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของเรา แต่บางทีก็ลืมนึกไปว่าเมื่อมีคนส่งงานเข้ามาเยอะ ตัวเลือกมันก็เยอะ โอกาสของเรามันก็อาจจะน้อยลงตามไป หรือว่าค่าตอบแทนของเรามันก็อาจจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งหากคิดต้นทุนให้ดีมันก็อาจจะไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เราต้องจ่ายจริงๆ ในการผลิตงานหนึ่งชิ้น ในรูปแบบการจ้างงานแบบเดิม สมมติเราเป็นนักข่าวอย่างน้อย ปัจจัยการผลิต สาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่เราใช้ในการทำงานมันก็เป็นของนายจ้าง เรามีหลักประกันทางสังคม ความสัมพันธ์การจ้างงาน สภาพการทำงาน มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย คุณแบกรับต้นทุนเองทั้งหมด" อรรคณัฐ ระบุ

ทั้งนี้การจ้างงานฟรีแลนซ์เหมาจ่าย (เช่นให้การทำรายการทีวีด้วยนักข่าวตัวคนเดียวทำทุกกระบวนการทั้งลงพื้นที่ ดำเนินรายการเอง ถ่ายวีดีโอเอง ตัดต่อเอง) เป็นอีกทางเลือกขององค์กรสื่อที่ไม่ต้องมีภาระผูกพันในการจ้างงานมากนัก ถือเป็นรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่กำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในวงการสื่อไทย

"อันนี้ (การจ้างงานฟรีแลนซ์เหมาจ่าย) มันก็จะทำให้เราเห็นถึงปัญหาของรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มการจ้างงานในอนาคตเกือบทุกอุตสาหกรรม นายจ้างพยายามจะ breakdown กระบวนการทำงานให้ย่อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็เลือกที่จะทำสัญญาจ้างแบบที่ไม่ต้องมีภาระผูกพันสำหรับนายจ้าง แล้วก็เอาเรื่องของการแข่งขันมาเป็นข้ออ้างว่าโอเค เนื่องจากว่ามันมีการแข่งขันสูง ธุรกิจไปไม่ได้ ถ้าไม่ทำแบบนี้” อรรคณัฐ ระบุ

"มันเหมือนกับว่าหลายองค์กรสื่อยังใช้ภาพความมีเกียรติของนักข่าวในอดีต หลอกล่อให้คนก้าวเข้ามาเป็นนักข่าว แต่พอเขาทำงานให้ก็ใช้งานเขาหนัก สวัสดิการและค่าตอบแทนเลวร้ายมากๆ ไม่ให้เกียรติเขาเหมือนเขาเป็นแค่เครื่องจักรทำเงินให้องค์กร พอองค์กรทำเงินไม่ได้ก็เลิกจ้างเขาเป็นพวกแรกๆ อีก"

'บี' อดีตผู้สื่อข่าวออนไลน์ที่ผันตัวมาเป็น NGO

 

เมื่อ 'ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว' เปิดโครงการ 'ชายสี่ช่วยคนสื่อ' ช่วยคนวงการสื่อที่ถูกเลิกจ้าง

ที่มาภาพประกอบ: เส้นทางเศรษฐี

เมื่อเดือน ก.ค. 2562 ที่ผ่านมาชายสี่บะหมี่เกี๊ยว เปิดตัวโครงการ “ชายสี่ช่วยคนสื่อ” เป็นครั้งแรกในงาน Smart SME EXPO 2019 ด้วยการให้ยืมรถเข็นฟรี สามารถกู้กับทาง SCB ได้ถึง 70% ยกเว้นค่าธรรมเนียบแฟรนไชส์แรกเข้า 1 ปี และให้ทดลองขายสูงสุดถึง 4 เดือน จำกัดเพียง 44 คัน ในงาน Smart SME EXPO 2019 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. 2562 ณ ฮอลล์ 7-8 อิมแพ็คเมืองทองธานี

ปิติ จงรักษ์ระวีวรรณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด กล่าวถึงโครงการชายสี่ช่วยคนสื่อว่าชายสี่บะหมี่เกี๊ยวประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือได้รับแรงสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์และโปรโมตชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเป็นอย่างดีเสมอมา แต่ภาวะการณ์ปัจจุบันพี่น้องสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ จากกรณีทีวีดิจิตอลแห่คืนใบอนุญาตกับ กสทช. ส่งผลให้คนสื่อจำนวนมากถูกเลิกจ้าง

จากเหตุการณ์นี้ชายสี่จึงคิดโครงการเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสื่อขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “ชายสี่ช่วยคนสื่อ” โดยจะเปิดตัวครั้งแรกในงาน Smart SME EXPO 2019 โดยมีรายละเอียดในการสนับสนุนสื่อมวลชน คือ ให้ยืมรถเข็นฟรี สามารถกู้กับ SCB ได้ถึง 70% จากราคาแฟรนไชส์ 80,000 บาทสามารถกู้ได้ถึง 50,000 บาท อีกทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า 1 ปี โดยให้ทดลองขายสูงสุด 4 เดือน จำกัดจำนวน 44 คันในงาน Smart SME EXPO 2019

ที่มา: บางกอกทูเดย์, 4/7/2562

 

'ดาราข่าว' ใช่ว่าจะเป็นได้ง่ายๆ - ความมีเกียรติของวิชาอาชีพ ยังดึงดูดคนหนุ่มสาวได้เสมอ

บี อดีตผู้สื่อข่าวออนไลน์ประสบการณ์กว่า 10 ปี ก่อนผันตัวไปเป็นพนักงานบริษัทผลิตรายการให้ทีวีดิจิทัลในยุคที่มีการแย่งตัวนักข่าวเมื่อปี 2557 แต่กลับทำงานได้ไม่กี่วันเพราะเห็นสภาพงานที่หนัก แล้วจึงเปลี่ยนสายงานมาเป็น NGO แทน ระบุว่าในยุคก่อนผู้สื่อข่าวมีความมั่นคงมากกว่านี้ และต้นสังกัดต่างๆ ก็สนับสนุนการทำงานข่าวภาคสนามอย่างเต็มที่

"รุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เล่าว่าเมื่อก่อนนักข่าวรายได้ดี มั่นคง ต้นสังกัดสนับสนุนทุกอย่าง และเป็นอาชีพที่มีเกียรติ พี่แกเป็นคนรุ่นพฤษภา 2535 คนที่เป็นนักข่าวยุคแกบางคนก็ไต่เต้าไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการ เป็นนักกิจกรรมก็มี"

บี ซึ่งเริ่มต้นเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ในเว็บยุค 2.0 ที่ยังไม่ใช่ยุคโซเชียลมีเดียแบบในปัจจุบันเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นว่าในยุคของเขาเมื่อปลายทศวรรษ 2540 เว็บข่าวออนไลน์ยังมีไม่มาก ไม่มีการแข่งขันกันสูงเท่าไร สื่อหลักที่เป็นสำนักข่าวที่มีทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารรายสัปดาห์เป็นฐานข่าวก็ยังใช้นักข่าวกลุ่มเดียวกัน จนมาช่วงหลังๆ ที่เทรนด์ 'แข่งกันเร็ว' เกิดขึ้น มีการแยกกองบรรณาธิการข่าวออนไลน์โดยเฉพาะ เริ่มมีการบังคับให้นักข่าวเขียน Weblog และพอมาถึงยุคโซเชียลมีเดียก็เริ่มให้นักข่าวรายงานข่าวผ่าน Twitter และ Facebook ผ่านทั้งช่องทางขององค์กรและช่องทางสื่อของตนเอง เหมือนเป็นกระบวนการ 'สร้างดาราข่าว' ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันโมเดลดาราข่าวนี้แทบจะใช้ทุกที่ ทุกตำแหน่งในองค์กรสื่อ ตั้งแต่บรรณาธิการ คนอ่านข่าวหน้าจอ จนถึงนักข่าวภาคสนาม แต่ก็มีไม่กี่คนที่จะประสบความสำเร็จจริงๆ

"ในด้านหนึ่งการทำให้นักข่าวเป็นดารามันสร้างมูลค่าให้ทั้งตัวนักข่าวเองรวมถึงองค์กร แต่ว่าพวกเขาต้องทำงานหนักขึ้น พวกที่เป็นดาราข่าวเขาทำงานหนักจริงต้นทุนการเป็นดาราข่าวคือคุณต้องทุ่มให้มันทั้ง 24 ชั่วโมง ทวีตกับโพสต์เฟสบุ๊คตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน มุ่งหวังยอดแชร์ยอดไลค์ไหนจะทำงานหลักอีก ถ้าไม่ทำก็แข่งขันกับที่อื่นหรือคนอื่นไม่ได้ ต้องดึงดูดผู้อ่านในโซเชียล ... แต่ในภาพรวมแล้วคนที่ประสบความสำเร็จจากโมเดลนี้มีไม่กี่คนแทบจะนับคนได้ และอย่าลืมคนเบื้องหลังทีมงานเขาจะไปที่อื่นโอกาสก็ไม่เหมือนตัวดาราข่าว"

บี ระบุว่าในช่วงที่องค์กรสื่อสนับสนุนก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ช่วงหลังพอฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตกเราจะเห็นว่ามันส่งผลกระทบต่อสื่อไทยเป็นวงกว้าง มีแต่การเลิกจ้างกับลดสวัสดิการแต่นักข่าวยังทำงานหนักเหมือนเดิม บางทีอาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะแต่ละองค์กรจะลดงบประมาณโต๊ะข่าวลง ทั้งลดคนทำงานและเงินสนับสนุนต่างๆ เพื่อประคององค์กรให้แข่งกับที่อื่นได้

"ยุคก่อนนักข่าวแค่ลงพื้นที่รายงานผ่านโทรศัพท์เข้าโต๊ะข่าวได้ หรือมีช่างภาพ มีคนขับรถให้ มีคนตัดต่อ มีคนทำภาพประกอบให้ มายุคนี้นักข่าวต้องทำเกือบทุกอย่าง เห็นว่าบางแห่งให้นักข่าวฟรีแลนซ์ทำหมดเลยตั้งแต่ขับมอเตอร์ไซค์ไปทำข่าวเอง ถ่ายภาพถ่ายวีดีโอ ทำกราฟิก ตัดต่อเองหมด"

บี ยังระบุว่าปัจจุบันเราจะเห็นประกาศรับสมัครนักข่าวทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ ที่มีการระบุคุณสมบัติของนักข่าวไว้สูงมาก ต้องทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ค่าตอบแทนต่ำมาก หนำซ้ำยังมีการเรียกร้องความอดทนในการทำงานสูงมาก ไม่สอดคล้องกับการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนทุกภาคส่วนในสังคมในขณะนี้ แต่ก็ยังมีหลายต่อหลายคนที่ก้าวเข้าสู่วงการนักข่าว แม้พวกเขาจะไม่ได้มีชีวิตยากลำบากอะไร หลายต่อหลายคนจบปริญญาโทมาด้วยซ้ำ แต่ 'วิชาชีพนักข่าว' มันยังมีความศักดิ์สิทธิ์ดึงดูให้คนหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ได้อยู่

"มันเหมือนกับว่าหลายองค์กรสื่อยังใช้ภาพความมีเกียรติของนักข่าวในอดีต หลอกล่อให้คนก้าวเข้ามาเป็นนักข่าว แต่พอเขาทำงานให้ก็ใช้งานเขาหนัก สวัสดิการและค่าตอบแทนเลวร้ายมากๆ ไม่ให้เกียรติเขาเหมือนเขาเป็นแค่เครื่องจักรทำเงินให้องค์กร พอองค์กรทำเงินไม่ได้ก็เลิกจ้างเขาเป็นพวกแรกๆ อีก" บี ทิ้งท้าย

“เราทำงานให้เขาอย่างหนัก เราทำประเด็นที่เรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิ์ต่างๆ เพื่อคนมากมาย แต่สิทธิ์ตัวเองกลับไม่มี เหมือนเขาไม่เห็นเราเป็นคน”

‘บิโบ’ นักข่าวสถานีทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง

 

กล้ำกลืนฝืนทน นักข่าวยุคใหม่ ถูกบังคับให้ยอมรับ 'ความไม่เป็นธรรม' แม้จะทำ 'คอนเทนต์เกี่ยวกับความเป็นธรรม' ก็ตาม

ไม่ต่างจาก ‘บิโบ’ นักข่าวสถานีทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง ที่ต้องรับหน้าที่หลายอย่าง เธอต้องเป็นนักข่าวแบบ all in one คือ หาประเด็น เขียน content ถ่ายวิดีโอ สัมภาษณ์แหล่งข่าว และตัดต่อ ทำงานตั้งแต่ pre-production จนถึง post-production ให้จบในคนๆ เดียว

“เข้ามาทำงานตอนแรกๆ ยอมรับว่ายากมาก คือเราเรียนจบมาแบบเน้นแต่งานเขียน แต่พอมาทำงานจริง เรากลับต้องเป็นทุกอย่าง ประเด็นก็ต้องได้ คุณภาพก็ต้องมี มันเหนื่อยนะ เหนื่อยมากๆ ด้วย มันต้องปรับตัวหลายอย่าง เค้าเรียกร้องความสามารถจากเรามาก แต่นี่ทำงานมา 2 ปี เงินเดือนยังไม่ถึง 20,000 บาทด้วยซ้ำ”

“เราทำงานแบบสัญญา ‘ฟรีแลนซ์’ นะ แต่มีวงเล็บต่อท้ายว่า ‘ประจำ’ เค้าให้เห็นผลว่าที่ต้องเป็นสัญญาแบบนี้เพราะจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรจากการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อ แต่ความหมายของ ‘ฟรีแลนซ์ประจำ’ คือเราต้องเข้างานทุกวันเหมือนพนักงานประจำ วันหยุดถ้ามีข่าวก็ต้องไปทำ แต่เราไม่ได้เบี้ยเลี้ยง ไม่มีโอที ไม่มีสวัสดิการ เงินบางเดือนก็ออกช้า ซึ่งบางครั้งค่าใช้จ่ายมันไม่รอด้วยไง ค่าห้องต้องจ่าย ค่าโทรศัพท์ก็มี ค่าโน่นนี่เต็มไปหมดที่มันรอไม่ได้ แต่ที่ทำให้เราเจ็บจนลืมไม่ลงคือ มีวันหนึ่งเราปวดท้องมากเลยเดินไปห้องพยาบาลขององค์กร จริงๆ ก็หวังแค่ให้หมอประจำเขาตรวจเบื้องต้นและให้คำแนะนำ แต่พอไปถึงหมอบอกตรวจให้ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่คนของเขา ไม่ใช่พนักงานที่นี่ โอโห มันจุก”

บิโบนิ่งสักครู่ก่อนกล่าวทิ้งท้าย “เราทำงานให้เขาอย่างหนัก เราทำประเด็นที่เรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิ์ต่างๆ เพื่อคนมากมาย แต่สิทธิ์ตัวเองกลับไม่มี เหมือนเขาไม่เห็นเราเป็นคน”

สุดท้ายแล้วสำนักข่าวหลายที่เรียกร้องการอยู่รอด คนดูหลายคนเรียกร้องข่าวที่ดี ข่าวที่มีคุณภาพ แล้วเบื้องหลังของคนทำข่าวล่ะ? เขาได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีพอหรือยัง?

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: