กองทุนน้ำมันฯ แบกภาระชดเชยก๊าซหุงต้ม (LPG) แล้วกว่า 6,130 ล้านบาท หลังราคาตลาดโลกขยับสูงต่อเนื่อง

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3496 ครั้ง

กองทุนน้ำมันฯ แบกภาระชดเชยก๊าซหุงต้ม (LPG) แล้วกว่า 6,130 ล้านบาท หลังราคาตลาดโลกขยับสูงต่อเนื่อง

จากที่ราคา LPG โลกไตรมาส 2 ยังทรงตัวระดับสูง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องใช้เงินชดเชยแล้วกว่า 6,130 ล้านบาท ใกล้แตะระดับกรอบที่ กบง.อนุมัติไว้ที่ 7,000 ล้านบาท เผยปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ มีภาระชดเชย LPG แล้ว 2.90 บาท/กก., แก๊สโซฮอล์ E20 ชดเชย 0.78 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ E85 ชดเชย 6.38 บาทต่อลิตร, ดีเซล B20 ชดเชย 4.50 บาทต่อลิตร ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562 ว่านายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่าสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 นี้ (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการใช้ LPG ยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น แต่คาดว่ายังไม่ปรับสูงขึ้นไปกว่าระดับปัจจุบันมากนัก

โดยล่าสุดราคา LPG ตลาดโลก เดือน มี.ค.2562 อยู่ประมาณกว่า 500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐยังจำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนส่วนต่างราคา LPG ภาคครัวเรือน ที่รัฐมีนโยบายตรึงราคาก๊าซฯ ถังขนาด 15 กิโลกรัม ไว้ที่ 363 บาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นเดือนมี.ค. 2562 โดยที่ผ่านมา ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนไปแล้วประมาณ 6,130 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพน. แจ้งสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562 ว่า ฐานะกองทุนสุทธิ อยู่ที่ 32,143 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 38,273 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ อยู่ที่ 6,130 ล้านบาท

ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้ใช้กลไกบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 2 เม.ย.2562 โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 2.6035 บาทต่อกิโลกรัม, แก๊สโซฮอล์ E20 ชดเชย 0.78 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ E85 ชดเชย 6.38 บาทต่อลิตร, ดีเซล B20 ชดเชย 4.50 บาทต่อลิตร ขณะที่มีการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในส่วนของน้ำมันเบนซิน 95 ที่ 8.08 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ชนิดละ 2.12 บาทต่อลิตร และดีเซลปกติ (B7) อยู่ที่ 0.20 บาทต่อลิตร

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติอนุมัติกรอบวงเงินอุดหนุนราคา LPG ครัวเรือน ไว้ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันฯ ภายใต้วงเงิน 7,000 ล้านบาท และหากไม่เพียงพอ สนพ.จะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กบง.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่าสถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลก เดือน เม.ย.2562 อยู่ที่ 525 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ล่าสุด ต้นเดือน เม.ย. 2562 ต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้าไปอุดหนุนเพิ่ม รวมอุดหนุนอยู่ที่ประมาณ 2.90 บาทต่อกิโลกรัม หรือใช้เงินอุดหนุนราคา LPG ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท จึงมั่นใจว่ากรอบวงเงินที่ กบง. เคยอนุมัติไว้ อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท จะเพียงพอ เนื่องจากคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน พ.ค. ของทุกปี ราคา LPG ตลาดโลกจะเข้าสู่ช่วงขาลง แต่หากไม่เป็นไปอย่างที่ประมาณการไว้ ก็คงต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: