ไทยมีคนพิการ 3.7 ล้าน ไม่ได้จดทะเบียนเกินครึ่ง-เด็กวัยเรียนขาดโอกาสศึกษา

ทีมข่าว TCIJ: 7 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 16680 ครั้ง

ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟ พบไทยมีคนพิการประมาณ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรประเทศ แต่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการมากกว่าครึ่ง กว่า 1 ใน 5 ต้องการความช่วยเหลือ-สวัสดิการจากรัฐแต่ยังไม่ได้รับ ความช่วยเหลือที่ต้องการมากที่สุดคือ 'ผู้ช่วยคนพิการ-กู้ยืมเงินประกอบอาชีพ-ส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ-ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย-การให้คำแนะนำปรึกษา' งานวิจัยศึกษาข้อมูลเด็กพิการแรกเกิดถึง 14 ปี 93,129 คน พบว่าเด็กพิการวัยเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

ผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย แถลงผล 'การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560' โดยนายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจความพิการเป็นประจำทุก 5 ปี ได้สำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2545  2550 และ 2555 สำหรับการสำรวจปี 2560 นี้เป็นครั้งที่ 4  เก็บรวบรวมข้อมูลเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2560 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 109,000 ครัวเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชากรพิการ (คือ ผู้ที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ หรือมีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา อย่างน้อย 1 ประเภท) ได้แก่ ข้อมูลภาวะสุขภาพ สวัสดิการ การใช้เครื่องช่วย การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งข้อมูลผู้ดูแลของประชากรพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเอง

ทั้งนี้ การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 เป็นครั้งแรกที่ใช้ชุดคำถามความพิการของเด็กอายุ 2-17 ปี (Child Functioning Module: CFM) ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มวอชิงตัน / (Washington Group: WG) และองค์การยูนิเซฟ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะความพิการที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และใช้ชุดคำถามความพิการของกลุ่มวอชิงตัน สำหรับผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปอีกด้วย นอกจากนี้การสำรวจฯ ยังระบุความพิการจากลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา โดยสอบถามข้อมูลของประชากรทุกกลุ่มอายุตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นไป ซึ่งสะท้อนภาพรวมของผู้พิการครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลสถิติผู้พิการที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนนโยบายสำหรับผู้พิการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ไทยมีคนพิการ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรประเทศ

ผลการสำรวจความพิการครั้งนี้ พบว่าประเทศไทยมีประชากรพิการประมาณ 3.7 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรทั่วประเทศ โดยพบผู้หญิงมีร้อยละของผู้พิการสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย (ร้อยละ 5.7 และ 5.2 ตามลำดับ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 20.6  นอกจากนี้ยังพบว่า นอกเขตเทศบาลมีร้อยละประชากรพิการมากกว่าในเขตเทศบาล (ร้อยละ 6.2 และ 4.5 ตามลำดับ)  โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรพิการสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 7.0 และ 6.5 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาตามลักษณะความพิการ พบว่า เป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 4.1  หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 4.2  สำหรับประชากรที่มีทั้งสองลักษณะ คือมีความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง มีร้อยละ 2.8 (1.9 ล้านคน)

คนพิการไม่ได้จดทะเบียนมีมากกว่าครึ่ง กว่า 1 ใน 5 ต้องการความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้รับ

ผลการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟ สะท้อนให้เห็นว่าคนพิการยังได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐบาลไม่ครบถ้วนเพียงพอ ในเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การจดทะเบียนคนพิการ และอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับผู้พิการ ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

จากการสำรวจการเข้าถึงความช่วยเหลือหรือสวัสดิการของรัฐและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าประชากรพิการเกือบทุกคนได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ (ร้อยละ 98.5) ประชากรพิการได้จดทะเบียนคนพิการร้อยละ 44.4  ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการร้อยละ 43.8  และมีเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ ซึ่งอาจจะอยู่ในระหว่างดำเนินการหรือยังไม่ได้ยื่นขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการ 

ประชากรพิการที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการมีมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55.6) ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการจดทะเบียน (รวมทั้งที่ไม่คิดว่าตนเองพิการ) หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่จดทะเบียนได้ซึ่งมีค่อนข้างมากถึงร้อยละ 48.0 และมีอีกเพียงเล็กน้อยร้อยละ 7.6 ที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการ เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียน ไม่มีคนพาไป และเดินทางไม่สะดวก เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีประชากรพิการอีกร้อยละ 15.1 มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยแต่ไม่มี  และผู้พิการ 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.2) ต้องการความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐแต่ยังไม่ได้รับ ซึ่งความช่วยเหลือที่มีความต้องการมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และการให้คำแนะนำปรึกษา

สำหรับประชากรพิการวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) เพียงร้อยละ 40.6 ที่มีงานทำ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของประชากรพิการอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนน้อยมาก คือ ผู้พิการที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีเพียงร้อยละ 5.8 และ 9.2 ตามลำดับ

ผลการสำรวจข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชากรพิการยังได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐบาลไม่ครบถ้วนเพียงพอในเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การจดทะเบียนคนพิการ และอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับผู้พิการ ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนช่วยเหลือผู้พิการในเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เด็กพิการวัยเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้ทำงานเพื่อดูแล

ปัจจุบันพบว่าเด็กพิการบางส่วนไม่ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะเด็กพิการทางสติปัญญาตั้งแต่กำเนิดจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 คน ไม่ได้รับการศึกษา และยิ่งมีความพิการทางด้านร่างกายร่วมด้วยจะมีจำนวนถึง 2 ใน 3 คน ไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายการศึกษาดังกล่าวไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ที่มาภาพประกอบ: Education for Exceptional Child

ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟ ยังพบว่าเด็กพิการวัยเรียนอายุ 5-17 ปี มีถึงร้อยละ 37.8 ที่ปัจจุบันไม่ได้เรียน (รวมเด็กที่ไม่เคยเรียนหรือเคยเรียนแต่ปัจจุบันไม่ได้เรียน) ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เนื่องจากป่วยหรือพิการจนกระทั่งไม่สามารถเรียนได้  รองลงมา คือ จบการศึกษาแล้ว และมีปัญหาทางความประพฤติ เป็นต้น

นอกจากนี้ในงานศึกษาเรื่อง สถานการณ์ ปัจจัยส่วนบุคคลและครัวเรือนที่มีความสัมพันธ์ กับความพิการของเด็ก โดย รักมณี บุตรชน, สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล, ศุภวรรธน์ เพิ่มผลสุข, Saudamini Vishwanath Dabak และ ยศ ตีระวัฒนานนท์ ที่เผยแพร่ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2562 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2558 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยศึกษาเฉพาะข้อมูลรายบุคคลของเด็กและครัวเรือนเด็กแรกเกิดถึง 14 ปี พบว่าในปี 2558 มีเด็กแรกเกิดถึง 14 ปี เป็นคนพิการจำนวน 93,129 คน คิดเป็นร้อยละ 0.87 ของกลุ่มอายุดังกล่าว

เมื่อพิจารณาด้านการศึกษาของเด็กพิการอายุระหว่าง 5-14 ปี พบว่าเด็กพิการวัยเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะเด็กพิการแต่กำเนิดที่มีความพิการซ้ำซ้อนทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545 และ 2550 ที่พบว่าเด็กที่มีความพิการอย่างน้อย 1 อย่างมีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญของการศึกษาในคนพิการ ดังจะเห็นได้จากการออกนโยบายการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ ซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ทั้งการจัดการเรียนการสอนร่วมในโรงเรียนทั่วไปหรือการจัดการเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กพิการโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ายังมีเด็กพิการบางส่วนไม่ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะเด็กพิการทางสติปัญญาตั้งแต่กำเนิดจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 คนไม่ได้รับการศึกษา และยิ่งมีความพิการทางด้านร่างกายร่วมด้วยจะมีจำนวนถึง 2 ใน 3 คนไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายการศึกษาดังกล่าวไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทางสำหรับเด็กพิเศษ หรือโรงเรียนห่างไกลไม่สะดวกในการเดินทาง การเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไปอาจทำให้เด็กพิการถูกล้อเลียน ถูกรังแก หรือในบางรายอาจป่วยหรือพิการจนไม่สามารถเรียนได้ แม้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 จะระบุว่า "คนพิการสามารถเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" แต่ยังพบว่าเด็กพิการบางส่วนไม่มีทุนทรัพย์เรียน

ทั้งนี้ ผลจากการที่เด็กพิการวัยเรียนเข้าไม่ถึงการศึกษาที่เพียงพอจะทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตในสังคม จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้เด็กที่มีความพิการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า เด็กพิการวัยเรียนจำนวน 1 ใน 10 คนที่กำลังเรียนในระบบการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 10.5 และ 15.6 ตามลำดับ) และ/หรือไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ได้โดยตนเอง (ร้อยละ 37.9 และ 78.9 ตามลำดับ) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแก่เด็กพิการควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันและปรับปรุงเพื่อให้ตอบสนองต่อผู้เรียนมากขึ้น

ในงานศึกษานี้ยังพบว่า ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานบริษัทมีความชุกน้อยกว่าครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คิดเป็นร้อยละ 51 และ 41 ตามลำดับ ซึ่งการที่ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนไม่ได้ประกอบอาชีพมีความชุกของความพิการของเด็กอายุแรกเกิดถึง 14 ปี สูงกว่าครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนประกอบอาชีพ อาจเป็นเพราะความจำเป็นในการหยุดงานเพื่อดูแลเด็กในการปกครองของตนเอง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ปี 2552-2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: