Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt

ทีมข่าว TCIJ: 7 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 11398 ครั้ง

‘วิทยุกระจายเสียง’ ในไทยได้รับความนิยมลดลงตามกาลเวลา แม้ครั้งหนึ่งเคยกระเตื้องขึ้นเพราะนโยบาย ‘วิทยุชุมชน’ ก่อนฝ่ายมีอำนาจควบคุมเข้ม เพราะถูกนำไปใช้ทางการเมือง ยุค digital disrupt คนฟังยิ่งน้อยลง รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาลดลงมาก หลายสถานีดังประสบภาวะขาดทุน ส่วน 'วิทยุออนไลน์-พอดคาสต์' คาดยังเติบโตได้ 

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

คนไทยฟัง 'วิทยุกระจายเสียง' น้อยลง

จากการสำรวจในปี 2559 พบว่าทั่วประเทศมีเครื่องรับวิทยุรวม 16,430,167 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องรับวิทยุในรถยนต์มากที่สุด 8,322,536 เครื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจอัตราการฟังวิทยุของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ปี 2532 2537 2546 และ 2551 พบว่ามีผู้ฟังวิทยุลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2532 ประชากรร้อยละ 56.7 ของประเทศรับฟังวิทยุเป็นประจำ จากนั้นลดลงมาเรื่อยๆ ในปี 2537 เหลือร้อยละ 43.9 ปี 2546 เหลือร้อยละ 42.8 และในปี 2551 ผู้รับฟังวิทยุเป็นประจำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31.1 [1] 

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการวิทยุกระจายเสียง กสทช. ทำการสำรวจในช่วงปี 2559 พบว่ามีประชากรที่ฟังวิทยุทั้งหมดประมาณ 27,669,724 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ที่รับฟังวิทยุจำแนกตามความถี่ในการรับฟัง พบว่าส่วนใหญ่รับฟังวิทยุ 1-3 ครั้งต่อเดือน มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.40 ของผู้ที่รับฟังวิทยุทั้งหมด รองมาคือการรับฟังวิทยุในช่วง 1-2 วันต่อสัปดาห์เป็นสัดส่วนร้อยละ 19.26 ทั้งนี้ทั่วประเทศมีเครื่องรับวิทยุรวม 16,430,167 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องรับวิทยุในรถยนต์มากที่สุดที่ 8,322,536 เครื่อง ตามมาด้วยเครื่องรับวิทยุในบ้าน 7,500,567 เครื่อง และเครื่องรับวิทยุที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ 607,064 เครื่อง [2] 

นอกจากนี้ ข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง (เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือน มี.ค. 2562 พบว่ามีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปรับฟังวิทยุประมาณ 10,262,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากเดือน ก.พ. 2562 ประมาณ 77,000 คน [3] 

ประเภทของ ‘วิทยุกระจายเสียง’ ไทยในปัจจุบัน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แบ่งการประกอบกิจการกระจายเสียงในไทยในปัจจุบัน ออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1. สถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลัก หรือผู้ประกอบกิจการรายเก่า เป็นผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการก่อน พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 บังคับใช้ ซึ่งในปัจจุบันกิจการกระจายเสียงในประเทศไทยเป็นบริการกระจายเสียงในระบบอะนาล็อกทั้งหมด และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงคลื่นหลักคือ (1) ช่วงคลื่นความถี่สูงมากแบนด์สอง (VHF Band II) ตั้งแต่ 87 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ถึง 108 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ด้วยความกว้างของช่องสัญญาณที่ 0.25 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ต่อช่องสัญญาณสำหรับการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม. (FM) (2) ช่วงคลื่นความถี่ในย่านความถี่กลาง (Medium Frequency: MF) ตั้งแต่ 526.5 กิโลเฮิรตซ์ (KHz) ถึง 1,606.5 กิโลเฮิรตซ์ (KHz) ด้วยความกว้างของช่องสัญญาณที่ 9 กิโลเฮิรตซ์ (KHz) ต่อช่องสัญญาณ สำหรับการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอ.เอ็ม. (AM)

สถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในประเทศไทยที่มีการใช้งานในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 506 สถานี  แบ่งเป็น (1) สถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ FM จำนวนทั้งสิ้น 313 สถานี มีหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าของสถานี คือ กองทัพไทยเป็นเจ้าของ 89 สถานี, กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของ 88 สถานี, อสมท. เป็นเจ้าของ 60 สถานี, กรมตำรวจเป็นเจ้าของ 37 สถานี และอีก 39 สถานีที่อยู่ภายใต้หน่วยงานอื่นๆ (2) สถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ AM จำนวนทั้งสิ้น 193 สถานี มีหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าของสถานี ได้แก่ กองทัพไทยเป็นเจ้าของ 112 สถานี, กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของ 57 สถานี และหน่วยงานอื่นอีก 24 สถานี ทั้งนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงหลักเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านตำแหน่งที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจาย เสียง กำลังส่งออกอากาศสูงสุดของสถานีวิทยุกระจายเสียง และเงื่อนไขอื่นๆ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบ FM เพื่อให้มีความเหมาะสมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และป้องกันการรบกวน

และ 2. ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (หรือที่เราเรียกติดปากว่า 'วิทยุชุมชน') เป็นสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่สามารถออกอากาศได้ตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 โดยปัจจุบัน (ณ เดือน ม.ค.2561) มีจำนวนทั้งสิ้น 4,177 สถานีทั่วประเทศไทย แบ่งผู้ประกอบกิจการวิทยุออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภททางธุรกิจ 3,240 สถานี ประเภทบริการสาธารณะ 741 สถานี และประเภทบริการชุมชน 196 สถานี [4]

ย้อนดู ‘วิทยุชุมชน’ช่วงกระแสสูง ก่อนถูกควบคุมเข้ม เพราะถูกนำไปใช้ทางการเมือง

ครั้งหนึ่งวิทยุชุมชนถูกกลุ่มการเมืองใช้เป็นช่องทางสื่อสารหลัก เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าไปใช้สื่อสาธารณะที่มีอยู่ได้ จึงจัดตั้งวิทยุขึ้นมาเอง เพื่อสื่อสารความเข้าใจในอุดมการณ์ทางการเมืองของตน | ที่มาภาพ: @TV24Official

แม้ผู้รับฟังวิทยุกระจายเสียงในไทยจะลดลงเรื่อยๆ เพราะหันไปรับสื่อผ่านช่องทางอื่นๆที่ทันสมัยตามยุคสมัย แต่ครั้งหนึ่งเคยเกิดปรากฎการณ์การตื่นตัวในการรับฟังวิทยุขึ้น คือในช่วงการเกิดขึ้นและการแพร่กระจายของ 'วิทยุชมชน'

ข้อมูลจากหนังสือ '1 ทศวรรษ วิทยุชุมชนไทย' ระบุว่าจากกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย หลังเกิดเหตุการณ์ พ.ค. 2535 และนำมาสู่การเกิดมาตรา 40 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะ หมายถึงการที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้คลื่นความถี่ ได้นำไปสู่การเกิดวิทยุชุมชนเมื่อปี 2544 หลังจากนั้นก็เกิดวิทยุชมชนขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ

ตั้งแต่ช่วงปี 2549 เป็นต้นมา สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม นำมาสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของกลุ่มการ เมืองและประชาชนอย่างชัดเจน มีการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่ไม่เป็นกลาง เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถนำเสนอความคิดของตนผ่านสื่อสาธารณะที่มีอยู่ได้ จึงหันมาใช้วิทยุชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือถ่ายทอดอุดมการณ์ความเชื่อของตน บางครั้งก็ถึงขั้นปลุกระดม ในช่วงเวลานั้นจึงมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ใครก็สามารถตั้งวิทยุชุมชนได้เพราะไม่ต้องขออนุญาต แม้แต่วัด โรงเรียน วิทยาลัยต่างๆ หรือแม้แต่หน่วยงานด้านความมั่นคง ก็มีวิทยุชุมชนเป็นของตนเอง

ต่อมาในปี 2551 เกิด พ.ร.บ. ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งได้แบ่งประเภทการของการประกอบการเป็น 3 ประเภท คือ การประกอบการประเภทบริการสาธารณะ การประกอบการประเภทบริการธุรกิจ และการประกอบการประเภทชุมชน ทำให้สถานะภาพของวิทยุชุมชนมีความชัดเจนขึ้น ว่าเป็นผู้ประกอบการประเภทชุมชนโดยมีกฎหมายรองรับ

2552 ได้มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน ซึ่งมีวิทยุขนาดเล็กทั้งหมดมาขึ้นทะเบียน (ทดลองออกอากาศ) จำนวน 6,629 สถานี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ระบุว่ามีสถานีวิทยุขนาดเล็กที่ยังไม่เข้าสู่การลงทะเบียนมากกว่า 1,080 สถานี ในปี 2553 เกิด พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งยังยืนยันที่จะให้กำหนดการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับภาคประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 20 เหมือนเดิม ต่อมาในปี 2554 ได้เกิดองค์กรอิสระด้านการสื่อสาร คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อมาในปี 2555 กสทช. จัดให้มีการมาขึ้นทะเบียน (ทดลองออกอากาศ) ครั้งที่ 3 โดยมีวิทยุขนาดเล็ก มาขอสิทธิ์ทดลองออกอากาศต่อ 6,000 กว่าสถานี และไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนอีก ประมาณ 700 สถานี และในปี 2555 กสทช. ได้ผ่านหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งสาระสำคัญคือการแบ่งผู้ประกอบการวิทยุขนาดเล็กเป็น 3 ประเภท คือ ผู้ประกอบการประเภทสาธารณะ ผู้ประกอบการประเภทธุรกิจ และผู้ประกอบการประเภทชุมชน โดยผู้ที่สามารถมาขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงได้นั้น ต้องเคยผ่านการทดลองออกอากาศมาก่อนเท่านั้น (เคยขึ้นทะเบียนมา) [5]

การปราบปรามและปิดกั้นวิทยุชุมชนเริ่มเห็นได้ชัดหลังการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยรายงานเรื่อง 'การแทรกแซงวิทยุชุมชนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศไทย ความเห็นต่างคืออาชญากรรม' ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ที่เผยแพร่เมื่อปลายปี 2553 ระบุว่าภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด สถานีวิทยุชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องปิดตัวลงมากกว่า 47 สถานี และมีผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนถูกออกหมายจับและดำเนินคดีรวม 49 รายและมีสถานีที่ถูกขึ้นบัญชีดำอีก 84 แห่ง

“สถานีวิทยุชุมชนทุกแห่งที่ถูกปิด ปรากฏรายชื่อในกระบวนการตรวจสอบเนื้อหาของหน่วยงานรัฐ ก่อนจะมีการบุกเข้าตรวจค้น จับกุม ยึด อุปกรณ์การกระจายเสียง และดำเนินคดีในข้อหาว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องส่งวิทยุคมนาคมและการตั้งสถานี และถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้กระบวนการออกใบ อนุญาตวิทยุชุมชนและได้รับการคุ้มครองสิทธิการกระจายเสียงจาก กทช. แต่มาตรการดังกล่าวกลับไม่สามารถยกมาอ้างเพื่อคุ้มครองสิทธิให้รอดพ้นจาก การจับกุมและการเข้าปิดสถานีได้”

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. 2553 รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ได้ส่งสัญญาณให้องค์กรอิสระเข้ามาจัดการกับความเห็นต่างที่กระจายอยู่ตามวิทยุชุมชน ดังเช่นกรณีที่คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภายใต้ กทช. ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตและกำกับดูแลวิทยุชุมชนเป็นการชั่วคราว ได้เตือนไปยังสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 6,000 แห่ง เพื่อไม่ให้นำเสนอเนื้อหาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขการได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ คือ ไม่ดำเนินการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกลับขอความร่วมมือไปยังสถานีวิทยุชุมชนในบางจังหวัดให้รับสัญญาณถ่ายทอดรายการและข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐ โดยระบุว่าเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใน สถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดออกหนังสือขอความร่วมมือโดยตรงถึงผู้รับผิดชอบสถานี [6]

หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ก็ยังมีการทยอยปิดวิทยุชุมชนของกลุ่มการเมืองต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ | ที่มาภาพ: @TV24Official

ล่วงเลยมาถึงการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 พบว่ายังมีการทยอยปิดวิทยุชุมชนของกลุ่มการเมืองต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงต้นของการทำรัฐประหาร ได้มีประกาศฉบับต่างๆ ออกมาเช่น  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 4/2557 ขอให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทุกช่อง งดรายการประจำของสถานี และถ่ายทอดรายการจากสถานีวิทยุกองทัพบก เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล จำนวน 14 ช่อง และระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 มีรายงานจากเกือบทุกพื้นที่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าตรวจค้นถ่ายรูป และยึดอุปกรณ์ออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่น และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางแห่งมีการขอสำเนาบัตรประชาชนและตรวจดีเอ็นเอของผู้เกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง เช่น วิทยุชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม วิทยุชุมชนในประเด็นศาสนา การกระทำลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เย็นวันที่ 22 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องเรื่อยมา สื่อบางแห่งถูกทหารเข้าตรวจสอบอยู่เป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าได้หยุดออกอากาศแล้วจริงๆ

หลังประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 สื่อวิทยุชุมชน และเคเบิลท้องถิ่น ที่เคยได้รับการผ่อนผันให้ออกอากาศ โดย กสทช. ต้องปิดตัวลงทั้งหมดทันที สื่อที่ต้องการดำเนินกิจการต่อต้องยื่นเรื่องขออนุญาตกลับมาออกอากาศใหม่ โดยต้องลงชื่อในข้อตกลง (MOU) ว่าจะไม่นำเสนอเนื้อหาในประเด็นที่ขัดแย้งกับ คสช. สื่อหลายแห่งได้รับอนุญาตและกลับมาออกอากาศได้แล้วในปัจจุบัน สื่อหลายแห่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศได้ สื่อหลายแห่งเลือกที่จะไม่ขออนุญาตกลับมาออกอากาศ เพราะไม่ต้องการออกอากาศในบรรยากาศเช่นนี้ วิทยุชุมชนหลายแห่งไม่มีกำลังแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการขออนุญาตซึ่งตกประมาณ 50,000 บาทต่อแห่ง ทำให้ปัจจุบันสื่อระดับท้องถิ่นมีจำนวนลดลงมาก ในปี 2557 มีการประเมินว่าจากวิทยุขนาดเล็กที่ออกอากาศอยู่ก่อนประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 กว่า 7,000 แห่ง กลับมายื่นขออนุญาตออกอากาศใหม่ประมาณ 5,300 แห่ง และได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศใหม่เพียงประมาณ 3,300 แห่งเท่านั้น [7]

ปี 2561 วิทยุชุมชนภาคใต้ปิดตัวลงกว่า 50% เหตุ กสทช.ปรับกฎคุมเข้มโฆษณา

ในรายงานพิเศษของสื่อประชาชาติธุรกิจเมื่อช่วงปี 2561 พบว่าสถานีวิทยุชุมชนภาคในภาคใต้ต้องปิดตัวลงกว่าร้อยละ 50 หลัง กสทช. ปรับมาตรฐานการจัดตั้งสถานีใหม่รวมทั้งการคุมเข้มโฆษณา

แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้บริหารสถานีวิทยุชุมชนในภาคใต้ระบุว่า สถานีวิทยุชุมชนขยายตัวเติบโตมากในช่วงปี 2550-2555 โดยมีการลงทุนกันตั้งแต่ระดับ 500,000 บาท ถึง 1 ล้านบาทต่อสถานี ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์สถานี และระบบห้องส่ง แต่ตอนนี้ได้ยุติการออกอากาศไปประมาณครึ่งต่อครึ่งแล้ว เช่น จ.พัทลุง ที่ผ่านมามีถึง 30 สถานี แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 15 สถานี เมื่อไม่มีรายได้จากค่าโฆษณา ทำให้ไม่มีเงินไปจ่ายค่าเช่าเวลา ขณะที่สถานีวิทยุชุมชนของทางราชการ สถาบันการศึกษา ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้การปิดตัวลงของสถานีวิทยุชุมชนส่งผลให้ผู้ประกอบการสถานีวิทยุหลักมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เนื่องจากโฆษณาที่เคยสนับสนุนสถานีวิทยุชุมชนได้ย้ายเข้ามาสู่สถานีหลัก โดยโฆษณาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินค้าการเกษตร กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกันสถานีวิทยุหลักยังคงรักษาฐานกลุ่มผู้รับฟังไว้ได้ ยกตัวอย่าง สถานีวิทยุที่ จ.พัทลุง ยังมีผู้ฟังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60-70 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัย 50 ปีขึ้น และบางรายการได้กลุ่มผู้ฟังส่วนหนึ่งจากหอกระจายข่าว

ส่วนผู้อำนวยการ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เมโทร หาดใหญ่ เรดิโอ เจ้าของสถานีวิทยุมหานครหาดใหญ่ เรดิโอ เอฟเอ็ม 91.50 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บอกกับประชาชาติธุรกิจว่า ภาพรวมสถานีวิทยุหาดใหญ่ สงขลา ทั้งสถานีวิทยุหลัก และวิทยุชุมชน ขณะนี้เหลือประมาณ 20 สถานี จากเดิมที่มีอยู่หลายสถานี ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งภาพรวมทางเศรษฐกิจ ขาดบุคลากร และบางสถานีอาจจะไม่สามารถทำตามมาตรฐานของ กสทช. [8]

ปี 2557-2561 ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาสื่อวิทยุลดลง

ระหว่างปี 2557-2561 เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมวิทยุกระจายเสียงหายไปราว 823 ล้านบาท ถึงแม้ว่าปี 2561 ที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 7.28 หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 4,802 ล้านบาท โดยในปี 2557 มีเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมวิทยุกระจายเสียงมูลค่า 5,625 ล้านบาท | ปี 2558 มูลค่า 5,675 ล้านบาท | ปี 2559 มูลค่า 5,262 ล้านบาท | ปี 2560 มูลค่า 4,476 ล้านบาท | ปี 2561 มีเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมวิทยุกระจายเสียงมูลค่า 4,802 ล้านบาท | ส่วน 6 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 2,176 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 3.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561 ที่มีมูลค่า 2,258 ล้านบาท [9] [10]

นอกจากนี้ จากการรวบรวมผลประกอบการของบริษัทวิทยุต่างๆ โดย longtunman.com พบว่าช่วงหลายปีมานี้สถานีวิทยุชื่อดังหลายแห่งประสบกับปัญหาขาดทุน ตัวอย่างเช่น สถานี Virgin Hitz คลื่นความถี่ 95.5 เมกะเฮิรตซ์ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2545 ปัจจุบันบริหารโดยบริษัท ยูแอนด์ไอ คอร์โปเรชั่น จำกัด และมีบริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด ในเครือช่อง 3 เป็นผู้ขายเวลาโฆษณา และให้คำปรึกษาด้านการพัฒนารายการ มีผลการดำเนินงานดังนี้ | ปี 2557 ยู แอนด์ ไอ รายได้ 62 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท | บีอีซี-เทโร เรดิโอ รายได้ 294 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท | ปี 2558 ยู แอนด์ ไอ รายได้ 60 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท บีอีซี-เทโร เรดิโอ รายได้ 294 ล้านบาท ขาดทุน 50 ล้านบาท | ปี 2559 ยู แอนด์ ไอ รายได้ 63 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท บีอีซี-เทโร เรดิโอ รายได้ 221 ล้านบาท ขาดทุน 51 ล้านบาท

สถานี Seed FM คลื่นความถี่ 97.5 เมกะเฮิรตซ์ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2548 เคยบริหารโดย บริษัท ซี้ด เอ็มคอต จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของ MCOT ช่อง 9 แต่ปัจจุบันคลื่นได้ปิดตัวลงไปแล้ว หลังขาดทุนจนเจอปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ MCOT ยกเลิกสัญญา และนำคลื่นไปบริหารเอง | ปี 2557 รายได้ 103 ล้านบาท ขาดทุน 33 ล้านบาท | ปี 2558 รายได้ 85 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท | ปี 2559 รายได้ 43 ล้านบาท ขาดทุน 48 ล้านบาท [11]

ส่วน อสมท. ซึ่งมีรายได้หลักจากเครือข่ายวิทยุทั่วประเทศ พบว่าผลประกอบการประจำปี 2561 รายได้ยังลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน (นับจากปี 2556 เป็นต้นมา) โดยในปี 2561 อสมท. ขาดทุน 378 ล้านบาท ก่อนหน้านั้นในปี 2560 ขาดทุนถึง 2,543 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาเฉพาะตัวเลขรายได้ของธุรกิจวิทยุ ของ อสมท. จะเห็นว่าลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2556 ที่ทำได้ 957 ล้านบาท ลงมาเหลือ 741 ล้านบาทในปี 2561 โดยปัจจุบัน อสมท. มีคลื่นวิทยุในมือ 6 คลื่นที่เป็นส่วนกลางคือ ลูกทุ่งมหานคร FM 95MHz, MET 107MHz, FM 100.5MHz, คลื่นความคิด FM 96.5MHz, Active Radio FM 99MHz, Mellow 97.5 MHz โดยมีสัดส่วนรายได้ 73.7% มาจากวิทยุส่วนกลาง, 25.8% จากส่วนภูมิภาค ซึ่งมีรายได้ลดลง และ 0.4% จากรายได้ภาครัฐและการจัดกิจกรรม [12]

'วิทยุออนไลน์-พอดคาสต์' ในไทย ยังเติบโตได้

ข้อมูลจากบริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ระบุว่าบริการวิทยุกระจายเสียงที่ส่งผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เรียกว่าบริการวิทยุออนไลน์ (Online Radio) หรือบริการอินเทอร์เน็ตเรดิโอ (Internet Radio) สามารถออกอากาศสื่อเนื้อหาในรูปแบบรายการสดเหมือนกับการรับฟังผ่านช่องทางวิทยุกระจายเสียง ทำให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงมีทางเลือกทางด้านเทคโนโลยีในการให้บริการเพิ่มขึ้น นอกจากการรับส่งสัญญาณผ่านระบบคลื่นความถี่ ในปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการรายเก่าออกอากาศรายการวิทยุของตนผ่านทั้งช่องทางวิทยุกระจายเสียง และวิทยุออนไลน์ โดยสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางการรับฟังวิทยุกระจายเสียงที่มีช่วงเวลาการรับฟังสูงตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น.-00.00 น. เมื่อเปรียบเทียบกับการรับฟังวิทยุกระจายเสียงจากวิทยุติดรถยนต์ที่มีการใช้งานสูงเฉพาะเวลาช่วงเช้า (ช่วง 06.00 น.-08.00 น.) และการรับฟังผ่านคอมพิวเตอร์ที่มีการใช้งานสูงในช่วงเวลา 10.00 น. -12.00 น. และ 19.00 น.-21.00 น. เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระยะ เวลาของการรับฟังวิทยุกระจายเสียงแบบเดิม อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าและมีแนวโน้มการเติบโตที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรับฟังผ่านอินเทอร์เน็ต [13]

ส่วน 'พอดคาสต์' (Podcasts) หรือ รายการเผยแพร่เสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การเข้าสู่ธุรกิจพอดคาสต์ทำได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับการใช้สื่อกระแสหลักอย่างอื่น เช่น การเช่าเวลาสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ในขณะที่การเผยแพร่เนื้อหาผ่านพอดคาสต์ ก็สร้างความสะดวกแก่ผู้ชมหรือผู้ฟังมากกว่า การออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุตามเวลาที่กำหนด [14]

ข้อมูลที่รวบรวมโดย BLT Bangkok เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2562 พบว่าในประเทศไทยเริ่มมีผู้ให้บริการพอดคาสต์ เพิ่มมากขึ้นแล้ว จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าพอดคาสต์ในไทยนั้นมีมากกว่า 60 ช่อง ซึ่งคาดว่ามีกว่า 200 รายการ โดยแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมสำหรับคนฟังพอดคาสต์ในไทย เช่น Apple Podcasts, Anchor, Spotify, Overcast, Soundcloud และ Castbox เป็นต้น ส่วนรูปแบบรายการส่วนใหญ่จะเป็นการสนทนาระหว่างผู้จัดด้วยกันเอง มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42.31 รองลงมาคือรายการสัมภาษณ์ร้อยละ 22.12 จัดรายการเดี่ยวร้อยละ 12.50 และรายการบรรยายร้อยละ 9.62

BLT Bangkok วิเคราะห์ว่าจากสถิติการเติบโตที่ว่านี้ ทำให้พอดคาสต์เป็นแพลตฟอร์มที่น่าจับตามอง เพราะถ้าดูจากอัตราการเติบโตของทั่วโลก และจำนวนรายการที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีในอนาคตของตลาดนี้ ซึ่งนับเป็นสื่ออีกช่องทางหนึ่งที่วงการโฆษณาเริ่มเห็นถึงความสำคัญ ขณะเดียวกันผู้ฟังหน้าใหม่ก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เห็นได้จากหลากหลายรายการได้พัฒนาไปไกลมาก ทั้งในแง่ของคุณภาพเสียงและเนื้อหาจนสร้างฐานแฟนคลับเพิ่มมากขึ้น [15]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] อัตราการฟังวิทยุของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป จำแนกตามกลุ่มอายุ พ.ศ. 2532 2537 2546 และ 2551 (อัตราการฟังวิทยุ-ชมโทรทัศน์, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 ต.ค. 2562)
[2] รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยตัวชี้วัดและการสำรวจการเข้าถึงบริการโทรทัศน์และบริการกระจายเสียง [บริษัท เออีซี แอดไวซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, นำเสนอต่อ กสทช., มี.ค. 2560]
[3] สภาพตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (เดือนมีนาคม 2562), กสทช.
[4] รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียงและรายงานประเมินผลกระทบต่อแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง (บริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด, นำเสนอต่อ กสทช., 23 ก.พ. 2561)
[5] 1 ทศวรรษ วิทยุชุมชนไทย (สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ, ธ.ค. 2555)
[6] รายงาน: สำรวจสถานการณ์หลังปิดวิทยุชุมชนเสื้อแดง (ระลอกแรก) (มุทิตา เชื้อชั่ง, สำนักข่าวประชาไท, 29 เม.ย. 2554)
[7] สรุปสถานการณ์ปี 2557 5/5 : เก็บตกเหตุการณ์ก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ การปิดวิทยุชุมชน และอื่นๆ (iLaw, 17 ก.ค. 2558)
[8] วิทยุชุมชนใต้เดี้ยงปิดตัวลง 50% พิษ กสทช. ปรับกฎคุมเข้มโฆษณา (ประชาชาติธุรกิจ, 13 เม.ย. 2561)
[9] กดปุ่ม หมุนคลื่น เจาะที่มาทำไม “วิทยุ” ถึงไม่ตาย (Positioning, 1 ก.ค. 2562)
[10] โฆษณาครึ่งปี 62 มูลค่า 5 หมื่นล้านยังติดลบ 2% เผย “ยูนิลีเวอร์” ลดงบ (ผู้จัดการออนไลน์, 16 ก.ค. 2562)
[11] ธุรกิจวิทยุ ยังกำไรอยู่ไหม? (longtunman.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5 พ.ย. 2562)
[12] อสมท. กำลังกลายเป็นบริษัทวิทยุ รายได้ใกล้แซงทีวีแล้ว (Isriya Paireepairit, BrandInside, 28 ก.พ. 2562)
[13] รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียงและรายงานประเมินผลกระทบต่อแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง (บริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด, นำเสนอต่อ กสทช., 23 ก.พ. 2561)
[14] ทักษิณ ชินวัตร : ถอดรหัสเกมรุกพ็อดคาสท์ ขยายฐานรากหญ้าสู่หนุ่มสาวในเมือง? (BBC Thai, 15 ม.ค. 2562)
[15] ตลาดพอดคาสต์ติดชาร์ตถูกใจกลุ่มมิลเลนเนียลคนรุ่นใหม่ (BLT Bangkok, 20 ก.ย. 2562)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: