นโยบายเขตเศรษฐกิจชายแดนขายฝัน 'ชาวบ้านสบกก' สะอื้น

นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 8 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5090 ครั้ง


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บทบาทของรัฐในการมองชายแดนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อเชื่อมต่อกับภูมิภาคกลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่สาม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลก จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อจัดการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ให้มีการขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน โดยพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย ถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกแห่งหนึ่งจากหลาย ๆ แห่งในประเทศไทยเช่นกัน

ชุมชนบ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ชายแดนหนึ่งที่รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาต่าง ๆใน โดยมีโครงการสร้างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ที่ได้ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2554 และโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการคือ โครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ชาวบ้านยังคงรอการตอบรับจากภาครัฐอยู่ในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน

โครงการของรัฐในพื้นที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ที่มาภาพ: Place Map

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 สร้างขึ้นตามนโยบายของรัฐในการปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลาง หรือประตูการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงติดชายแดนไทย-ลาว ท่าเรือดังกล่าวก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554 วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย ลาว พม่า และจีนตอนใต้ ตามข้อตกลงเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงตอนบน หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงแสน ชาวบ้านในหมู่บ้านสบกก เป็นหนึ่งในชุมชนที่อาจจะต้องถูกทางการเวนคืนที่ดินทั้งหมดกว่า 100 หลังคาเรือน

จากการบอกเล่าของชาวบ้านว่า "ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนเก็บผักกิน ปัจจุบันถนนตัดผ่าน คนข้างนอกก็เข้าทำมาหากิน"

สามารถอธิบายได้ว่า จากการที่รัฐมีโครงการสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 นั้น ชาวบ้านไม่ได้รู้เรื่องที่รัฐจะเข้ามาทำท่าเรือ ซึ่งรัฐเองเข้ามาทำประชาวิจารณ์น้อยครั้ง รวมทั้งเวลาที่รัฐเข้ามาคุยกับชาวบ้าน บอกแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยที่ไม่ได้บอกถึงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งสุดท้ายแล้วมีการเวนคืนที่ดินทำกินจากชาวบ้านไปกว่า 200 ไร่ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น

จากนั้นก็มีโครงการพัฒนาเกิดขึ้นมากมาย โดยที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นถือเป็นโครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งที่รัฐกำลังดำเนินการ แต่ถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านสบกก โดยที่รัฐส่งนายทุนเข้ามาปั่นราคาที่ดินให้แพงขึ้น ขณะนี้ราคาอยู่ที่ไร่ละประมาณ 500,000 บาทแล้ว ถ้าปล่อยให้มีการเก็งกำไร เชื่อว่าไม่สามารถสร้างความมั่นคงแก่เชียงแสนได้ ที่ดินใน ตำบลบ้านแซว ส่วนมากเป็นพื้นที่การทำเกษตรของชาวบ้าน มีแค่บางส่วนเท่านั้นที่มีโฉนดที่ดิน ชาวบ้านสบกกมีพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินประมาณครัวเรือนละ 5-6 ไร่ ซึ่งจากข้อมูลของ จังหวัดเชียงราย ได้ระบุถึงแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ว่า เน้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำเมืองต้นผึ้งกับแขวงบ่อแก้วของประเทศลาว โดย อ.เชียงแสน เป็นท่าเรือสู่จีนตะวันตก และการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ

เสียงสะท้อนที่สวนทางกันระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่สอง

จากภาครัฐ : คาดหวังว่าจะให้ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทย กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อส่งเสริมการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศจีน พม่า ลาว และไทย รวมทั้งการขนส่งต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการลงทุน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้การก่อสร้างพัฒนาท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 เป็นการสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบริการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการขยายตัวในอนาคตด้วยการบริการในแบบท่าเรือพาณิชย์สากล โดยการให้บริการที่มีมาตรฐานสากล สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัด

ที่มาภาพ: Wave Riders Club

จากชาวบ้านสบกก : คาดหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ามาของท่าเรือแห่งนี้ เช่น ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำมาหากินและค้าขายได้ แต่กลับกลายว่าท่าเรือเป็นเขตควบคุมศุลกากร ซึ่งมีการจัดระเบียบพื้นที่ภายในและควบคุมการเข้า-ออก อีกทั้งหลังจากสร้างท่าเรือเสร็จ ทางน้ำก็เปลี่ยนไป หมู่บ้านนี้ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่ต่ำสุดของเชียงแสน โดยช่วงที่ฝนตกหนักน้ำจะท่วมบางพื้นที่ในหมู่บ้าน แต่พอมีท่าเรือ น้ำไม่เคยท่วมอีก อาจมีน้ำท่วมบ้างในบางครั้งแต่น้ำท่วมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ที่มาภาพ: Thai News

เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้เดินทางมาที่ ต.สันทราย จ.เชียงราย เพื่อชี้แจงในเรื่องการเวนคืนที่ดิน (เป็นที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ที่รัฐต้องการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนเข้าร่วมฟังคำชี้แจงจากผู้ว่าฯ แต่ก็มีการคัดค้านจากผู้นำชุมชน เนื่องจากคิดว่าการเยียวยาจากภาครัฐไม่คุ้มเท่าที่ควร โดยรัฐจะให้ไร่ละ 280,000 บาท ซึ่งผู้นำชุมชนคิดว่าถ้าเวนคืนที่อีกชาวบ้านก็ไม่มีพื้นที่ทำกินแล้ว (ชาวบ้านต้องการมากกว่า 400,000 บาท) ส่งผลให้รัฐต้องรับเรื่องกลับไปพิจารณา และมีแนวโน้มว่าจะกลับมาเสนอราคาอีก

โดยผู้นำชุมชนบ้านสบกกได้ไปหาข้อมูลในเรื่องราคาพื้นที่ที่มีการเวนคืนในราคาประมาณ 1,000,000 บาท ผู้นำชุมชนมีการนัดประชุมกับชาวบ้านเพื่อตกลงหารือเรื่องราคาการเวนที่ ได้ข้อตกลงในราคา 800,000 บาท แต่เมื่อนำไปเสนอต่อรัฐ รัฐกลับขอลดเหลือเพียงแค่ 400,000 บาท ซึ่งชาวบ้านก็ตอบตกลงไป แต่รัฐก็ได้เงียบหายไปในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นด้านผู้นำชุมชนเคยสอบถามทางหอการค้าว่า ถ้าหากมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจริง อยากให้รัฐช่วยสร้างงานให้ชาวบ้านไปทำงานที่นั่น ทางหอการค้าเองก็ได้รับปากตกลงไว้ แต่เรื่องก็เงียบไป

ผลกระทบการสร้างท่าเรือต่อชาวบ้าน

เสียงจากชาวบ้านบ้านสบกก ต่อการเกิดขึ้นของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ได้รับผลกระทบในหลายด้าน กล่าวคือ บริเวณที่มีการสร้างท่าเรือเป็นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทำให้ปลาไข่ไม่เป็นเวลา อีกทั้งยังส่งผลกระทบเรื่องขยะ รวมถึงคราบน้ำมันจากการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเรือที่ลอยตามน้ำมา จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน “ที่ตรงท่าเรือเป็นที่ที่ปลาวางไข่ พอท่าเรือเปิดก็มีปัญหาคราบน้ำมันจากเรือออกมา ปลาเลยไม่มีที่วางไข่  ทำให้จำนวนปลาจากเมื่อก่อนมันลดลง บางชนิดก็หายไปเลย แล้วแรงงานภายในท่าเรือเขาก็เอาจากที่ตรงสาย หรือเป็นแรงงานจากนอกหมู่บ้าน ”

สามารถอธิบายได้ว่า ผลกระทบจากการสร้างท่าเรอแห่งที่ 2 นี้ไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างท่าเรือแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และปลาจำนวนมากที่ใช้แม่น้ำโขงในการวางไข่ อีกทั้งยังส่งผลถึงระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำอีกด้วย ซึ่งชาวบ้านเคยเจรจากับผู้จัดการของเรือที่ปล่อยน้ำมันลงแม่น้ำโขง ทางผู้จัดการตอบกลับว่าจะแก้ปัญหาส่วนนี้ให้ และขอร้องกับทางชาวบ้านว่าอย่าร้องเรียนเลย เหตุเพราะตนนั้นเพิ่งย้ายมาประจำการใหม่

บางครั้งเราอาจจะคิดว่าพื้นที่ชนบทเป็นภาพที่ห่างไกลจากทุนนิยม แต่ดูเหมือนว่าจากกรณีนี้จะสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ชนบทต่างหากที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากระบบทุนนิยมที่เข้ามาแทบจะทุกหย่อมหญ้าของประเทศ โดยมีกลไกสำคัญในการขยายตัวคือ “รัฐ” นั่นเอง ที่คอยเกื้อหนุนส่งเสริมโดยผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ หากมองจากมุมมองของรัฐกับการสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจจะมองได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ สอดคล้องกับความเป็นสากล ยกระดับสู่นานาชาติได้ และนั่นคือผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อทำการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ

แต่ในทางกลับกัน หากมองจากมุมมองของชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินอาศัยแต่ดั้งเดิมมานาน พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และบางพื้นที่เป็นพื้นที่ของชุมชนในการทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ยกตัวอย่าง หาดทรายที่โผล่พ้นจากน้ำโขงมาในช่วงหน้าแล้ง บริเวณนี้จะกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเหล่าชาวบ้านในการทำกิจกรรมร่วมกัน ชาวบ้านก็ต่างหวงแหนพื้นที่นี้ผ่านการตั้งกฎเอาไว้ว่าจะไม่หยิบหินหรือทรายบริเวณนี้ออกไป แต่เมื่อเกิดการขุดเอาทรายบริเวณนี้ไปก่อสร้างเป็นท่าเรือพาณิชย์ สิ่งที่หายไปจากพื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่ทรายเท่านั้น แต่สิ่งที่หายไปพร้อมๆกับทรายนั่นคือความเป็นชุมชน วัฒนธรรมชุมชนบางอย่างที่ชาวบ้านเคยทำร่วมกันก็หายไปเช่นกัน

การสร้างท่าเรือพาณิชย์ที่ 2 ยังส่งผลกระทบจากการที่เรือขนส่งสินค้าขาดความรับผิดชอบปล่อยของเสียออกจากเรือ อีกทั้งมีคราบน้ำมัน และอาจทำให้ปลาหลายสายพันธุ์ที่เคยมีในแม่น้ำโขงนั้นหายไป ซึ่งพื้นที่ที่มีการสร้างท่าเรือนั้นอยู่บนปากแม่น้ำกกเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อมีการสร้างท่าเรือต้องมีการขุดลอกแม่น้ำเพื่อให้เรือเดินทางได้สะดวก เรื่องคราบน้ำมันที่ลอยมากับน้ำรวมถึงขยะต่างๆทำให้ผู้นำชุมชนไปคุยกับเจ้าของกิจการ เรื่องการถ่ายน้ำมันเครื่องลงน้ำคำตอบคือเจ้าของกิจการตกลงและขอให้อย่าฟ้องตัวเอง

จะเห็นได้ว่ามุมมองจากสองด้านคือด้านของรัฐกับด้านของชาวบ้านนั้นไม่ได้ลงรอยกันเลย การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย แต่ชาวบ้านก็มีสิทธิ์ที่จะรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเองเช่นกัน หากรัฐต้องการให้เกิดการพัฒนาจริงๆ ก็ต้องทำให้รอบคอบกว่าที่ผ่านมา กล่าวคือการพัฒนาให้รอบด้านที่มากไปกว่าด้านเศรษฐกิจ นั่นคือการพัฒนาด้านสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

 

ที่มาข้อมูล

โครงการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์. (2561) . แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://rs.mfu.ac.th/obels/?p=822. (วันที่ค้นข้อมูล 8 พฤศจิกายน 2561)

ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์. (2561) . เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ความหวังว่าฟ้าจะแจ่ม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.posttoday.com/aec/column/563206. (วันที่ค้นข้อมูล 8 พฤศจิกายน 2561)

ธีรภัท ชัยพิพัฒน์, ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านสบกก ที่มาจากโครงการโดยรัฐขนาด ใหญ่กรณีศึกษา: การสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย,ลำปาง : วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ,2558

ประพันธ์ สุขทะใจ. (2560) . รัฐยอมถอยให้เอกชนหาที่ดินตั้งเขตศก.พิเศษเชียงราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.naewna.com/local/363439?fbclid=IwAR2nq. (วันที่ค้นข้อมูล 8 พฤศจิกายน 2561)

Transbordernews. (2559) . ชาวบ้านมึนถูกเวนคืนที่ดินสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่รู้ตัว เผยราคาที่ดินถูกปั่นสูงลิ่ว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://transbordernews.in.th/home/?p=11519. (วันที่ค้นข้อมูล พฤศจิกายน 2561)


 

เขียนโดย

นางสาว ขวัญจิรา หงษ์ทอง
นาย นิธิบดินทร์ เป็งแก้ว
นางสาว รวิสรา สุภาษี
นางสาว อติกานต์ จัตตุเทพ

นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: