'กสทช.-สตช.' เอาจริงปราบปรามเว็บถ่ายทอดบอลพรีเมียร์ลีกส์เถื่อน หลังอังกฤษร้องเรียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 1962 ครั้ง

'กสทช.-สตช.' เอาจริงปราบปรามเว็บถ่ายทอดบอลพรีเมียร์ลีกส์เถื่อน หลังอังกฤษร้องเรียน

กสทช. จับมือ สตช. ปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่จะเริ่มถ่ายทอดในคืนวันที่ 9 ส.ค. 2562 นี้ หลังผู้แทนจากสถานเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย และผู้แทนจาก The Football Association Premier League Limited (FAPL) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับทางสำนักงาน กสทช. ที่มาภาพประกอบ: Mirror

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ว่านายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าตามที่ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย และผู้แทนจาก The Football Association Premier League Limited หรือ FAPL (พรีเมียร์ ลีก) ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับทางสำนักงาน กสทช. เพื่อให้มีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ที่จะมีการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกขึ้น วันนี้ (6 ส.ค. 2562) สำนักงาน กสทช. จึงได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ผู้แทนจากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย หรือ ISP และผู้แทนจากทั้ง 2 หน่วยงานที่ทำหนังสือร้องเรียนเข้ามา เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ของการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ผ่านทางช่องทางออนไลน์ในประเทศไทย

สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งขั้นตอนของการดำเนินการในการปราบปรามการการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ดังนี้ 1.ให้ผู้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ในประเทศไทย หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ เข้ามาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งประจำที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ทางออนไลน์ (COPTICS) ที่ตั้งอยู่ ณ สำนักงาน กสทช. ถนนพหลโยธิน ซอย 8 กรุงเทพมหานคร 2.เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว และส่งเรื่องมาให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการส่งเรื่องไปให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (ISP) เพื่อทำการปิดกั้นเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป การดำเนินการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 2 วันในการดำเนินการ 3.สำหรับเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัส หรือ https:// ที่มีการเผยแพร่อยู่บนสื่อออนไลน์ อาทิ เฟสบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ เป็นต้น หากไม่สามารถระงับเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ สำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถานทูตของประเทศที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการระงับเนื้อหาที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป

จากนั้น ได้นำผู้แทนจากสถานเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย และผู้แทนจาก FAPL เยี่ยมชมศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ทางออนไลน์ (COPTICS) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นที่พอใจของทั้ง 2 หน่วยงาน และหลังจากนี้ สตช. จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำที่ศูนย์ COPTICS ในการที่จะรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์

นายฐากร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้เร่งให้มีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้ถูกยกระดับ และหลุดออกจากกลุ่มประเทศที่ต้องเฝ้าระวังในด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้เป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: