เปิดแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่กระทรวงคมนาคมเสนอทิ้งทวนก่อนการแต่งตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2 พบจะลดพนักงานเหลือ 8,259 คน จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 13,599 คน เหลือแต่คนขับและพนักงานสำนักงาน ยกเลิกตำแหน่ง ‘พนักงานเก็บค่าโดยสาร’ หรือ ‘กระเป๋ารถเมล์’ ที่ปัจจุบันมี 5,000 กว่าคน ให้เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด วงเงิน 6,004 ล้านบาท หันไปใช้ระบบ E-Ticket ทุกคัน ด้าน 'สหภาพแรงงาน' คัดค้านการปลดพนักงานทุกตำแหน่งหรือเลิกจ้างตามแผนฟื้นฟู โดยจะต้องให้พนักงานเข้าโครงการด้วยความสมัครใจและค่อยเป็นค่อยไป - ล่าสุด รมว.คมนาคม คนใหม่ 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' สั่งทบทวนแผนฟื้นฟูฯ ภายใน 1 เดือน ก่อนให้ ก.คมนาคม พิจารณาอีกครั้ง ที่มาภาพประกอบ: waychen_c (CC BY-NC-ND 2.0)
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ขสมก. ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้สิน ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารองค์กรที่ยั่งยืนและลดภาระกับภาครัฐ สำหรับการดำเนินการตามกลยุทธ์และแนวทางต่างๆ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ ให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. เร่งรัดจัดทำรายละเอียดและดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ให้กระทรวงคมนาคม ขสมก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น (1) การดำเนินงานในแต่ละโครงการต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับการจัดหารถโดยสารใหม่ ขสมก.ควรปรับปรุงรายงานผลการศึกษา ความเหมาะสมการดำเนินโครงการ โดยศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ตามข้อเสนอทบทวนการจัดหารถโดยสารให้ครบทุกประเภท และเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณารายละเอียดและความเหมาะสม โดย ขสมก. อาจจะพิจารณาแบ่งการดำเนินการจัดหาเป็นระยะให้เหมาะสมกับเส้นทางที่มีความชัดเจนแล้วว่า จะได้รับการจัดสรรจากกรมการขนส่งทางบก และ (2) กระทรวงคมนาคม ขสมก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการจัดทำแผนการบริหารหนี้ (ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารหนี้ของ ขสมก. ในระยะยาว และเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เป็นต้น ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย [1]
เปิดแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่ ก.คมนาคมเสนอทิ้งทวนก่อนการแต่งตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2
จากหนังสือเรื่อง ขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ของกระทรวงคมนาคม 31 พ.ค. 2562 ลงนามโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น [2] และ แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 30 พ.ค. 2561 [3] ได้ระบุว่ากระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจาก ขสมก. เรื่องขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่คณะกรรมการ ขสมก. ได้พิจารณาเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 โดยระบุถึงสภาพปัญหาของ ขสมก. ไว้ 5 ประเด็นดังนี้
1.สถานะทางการเงิน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูง การเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ประสบผลการขาดทุนมาโดยตลอด ประกอบกับผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการค้างชำระค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก จึงขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องกู้เงินมาบริหารจัดการ ส่งผลให้มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561 มีหนี้สะสม จำนวน 112,273.098 ล้านบาท
2.สภาพและจำนวนรถโดยสาร สภาพรถส่วนใหญ่ชำรุด ทรุดโทรมและค่าซ่อมบำรุงรักษาอยู่ในอัตราสูง สาเหตุจากรถมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ปัจจุบันจำนวนรถที่ให้บริการมีจำนวน 2,645 คัน เนื่องจากมีรถโดยสารที่ปลดประจำการและยังไม่สามารถหาทดแทนได้ จึงมีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างทั่วถึง
3.โครงสร้างองค์กร ปัจจุบัน ขสมก. เป็นองค์กรขนาดใหญ่มีพนักงานทั้งหมด ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561 จำนวน 13,599 คน จำแนกเป็นพนักงานขับรถ 5,509 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,532 คน พนักงานสำนักงาน 2,530 คน และพนักงานสำนักงานที่ว่าจ้าง (Outsource) 28 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อรถ 1 คัน ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน 5.14 คน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศหรือธุรกิจเดินรถอื่นๆ
4.ต้นทุนการดำเนินงานสูง ปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกต่อเนื่อง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และดอกเบี้ยจ่าย สรุปได้ดังนี้ (1) ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ประกอบด้วย เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ โดยเงินเดือนพนักงานจะปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี (2) ค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากผลการศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าจากการเดินรถโดยสารขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ โดยบริษัท พีทีที เอเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด ได้ประมาณการราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเดินรถโดยสารพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี (3) ค่าซ่อมบำรุงรักษารถโดยสาร ปรับตามสภาพอายุการใช้งานของรถโดยสาร (4) ดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ขสมก. มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในแต่ละปี ทำให้เป็นภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี
5.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ให้ ขสมก. นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจาก ขสมก. ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมาก ทั้งนี้ในช่วงปี 2538-ปัจจุบัน ขสมก.ไม่ได้รับอนุญาตให้รับพนักงานตำแหน่งอื่น ยกเว้น พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร
โดยแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กระทรวงคมนาคม เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ตามแผนจะลดพนักงาน 5 พันกว่าคน คงเหลือเพียง 8,259 คน
ในแผนฟื้นฟู ขสมก. การปรับโครงสร้างองค์กรจะไม่มีตำแหน่ง ‘พนักงานเก็บค่าโดยสาร’ หรือ ‘กระเป๋ารถเมล์’ อีกแล้ว โดย ขสมก. จะใช้การจัดเก็บค่าโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) แทน ที่มาภาพประกอบ: PPTV Online
ในหนังสือเรื่อง ขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ของกระทรวงคมนาคม 31 พ.ค. 2562 ได้ระบุถึงจำนวนบุคลากร ของ ขสมก. ณ วันที่ 31 ส.ค. 2561 จำนวน 13,599 คน จำแนกเป็นพนักงานขับรถ 5,509 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,532 คน พนักงานสำนักงาน 2,530 คน และพนักงานสำนักงานที่ว่าจ้าง (Outsource) 28 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อรถ 1 คัน ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน 5.14 คน (1:5.14)
ตามแผนฟื้นฟูตั้งเป้าปรับโครงสร้างใหม่ จะมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 8,259 คน (เท่ากับว่าจะมีการลดพนักงานลงถึง 5,340 คน จาก 13,599 คน) แบ่งเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 6,300 คน พนักงานสำนักงาน 1,947 คน พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญที่เป็นสัญญาจ้าง (Outsource) 12 จะเห็นว่าในการปรับโครงสร้างจะไม่มีตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารแล้ว โดยจะให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานสนับสนุนอื่นๆ จำนวน 5,051 คน เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดทั้งนี้ในแผนฟื้นฟูกำหนดให้ ขสมก. มีรถประจำการ 3,000 คัน จะทำให้สัดส่วนพนักงานต่อรถ 1 คัน เหลือ 1: 2.75
โดยการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามแผนฟื้นฟูนี้ จะสอดรับกับการจัดเก็บค่าโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานสนับสนุนอื่นๆ จึงกำหนดให้มีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้พนักงานทุกตำแหน่งด้วยความสมัครใจ กำหนดให้พนักงานเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดนี้รวมทั้งสิ้น 5,051 คน วงเงิน 6,004 ล้านบาท กรณีพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่ประสงค์จะเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ขสมก. จะปรับเปลี่ยนหน้าที่ตามความเหมาะสม คือ การฝึกหัดขับรถโดยสาร และการปรับเปลี่ยนไปเป็นพนักงานสำนักงาน
สหภาพแรงงานฯ เสนอ 12 แนวทางแก้ไขปัญหา ขสมก.
ต่อมาในเดือน ก.ค. 2562 หลังมีรัฐบาลใหม่ นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สหภาพแรงงาน ขสมก.) เปิดเผยว่าทางสหภาพแรงงานฯ ได้ขอเข้าพบนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.เพื่อแสดงความยินดี และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์การและพนักงาน โดยให้เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการแผนฟื้นฟูไปแล้ว 12 ข้อ
โดยหนังสือที่ส่งถึงผู้อำนวยการองค์การ ขสมก. ของสหภาพแรงงานฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาองค์การ โดยให้เร่งรีบดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการ แผนฟื้นฟูไปแล้ว ดังต่อไปนี้
1. ให้องค์การเร่งรีบดำเนินการจัดทำ TOR จัดการรถใหม่จำนวน 3,000 คัน เพื่อทดแทนรถเก่าที่หมดอายุการใช้งาน 2. กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขและคุณสมบัติสำหรับพนักงานที่จะเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยให้สหภาพแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ 3. ให้กรมการขนส่งทางบกออกใบอนุญาตให้ ขสมก. ในเส้นทางเดินรถจำนวน 87 เส้นทางที่องค์การเดินรถเพียงรายเดียว และเส้นทาง 33 เส้นทางที่องค์การได้ร่วมเจรจากับฝ่ายรถเอกชนจำนวน 25 เส้นทางที่ ขสมก. ขอเดินรถในเส้นทางดังกล่าวตามแผนปฏิรูปเส้นทางที่มติคณะรัฐมนตรีให้ ขสมก. เดินรถ 137 เส้นทาง
คัดค้านการปลดพนักงานทุกตำแหน่ง ยันต้องเข้าโครงการด้วยความสมัครใจ
4. ให้องค์การบรรจุอัตรากำลังลงในโครงสร้างเดิมไปก่อนจนกว่าระบบต่างๆ จะเชื่อมต่อและสามารถใช้งานได้ และแก้ไขปัญหาระบบ GPS ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ 5. ให้องค์การเร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องของบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ที่ฟ้องร้องกับองค์การ 6. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหารถตู้ผิดกฎหมายและให้ติดตามหนี้สินของรถร่วมที่ค้างชำระก่อนที่จะโอนรถร่วมหมวดต่างๆ ไปขึ้นกับกรมการขนส่งทางบก 7. คัดค้านการปลดพนักงานทุกตำแหน่งหรือเลิกจ้างตามแผนฟื้นฟู โดยจะต้องให้พนักงานเข้าโครงการด้วยความสมัครใจและค่อยเป็นค่อยไป
8. ให้พนักงานขับรถ, พนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานในตำแหน่งอื่นๆ ที่ป่วยเป็นโรคสืบเนื่องจากการทำงานซึ่งสภาพร่างกายไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เดิมได้ ให้เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อจะได้นำเงินก้อนสุดท้ายไปรักษาตนเอง 9. ให้องค์การฯ จัดหาสวัสดิการห้องน้ำต้นทาง ปลายทาง และน้ำดื่ม ให้กับพนักงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้าง ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำของรัฐวิสาหกิจ 10. ให้องค์การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนของพนักงานทุกตำแหน่ง เพื่อมิให้องค์การเกิดความเสียหาย
11. ให้องค์การถือปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจ ข้อ 4 ว่าด้วยการจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานเกินเวลาปกติและค่าทำงานในวันหยุดให้กับพนักงานทุกตำแหน่งในเขตการเดินรถที่ 1-8 โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้พนักงานไปฟ้องร้องที่ศาลแรงงานฯ และเกิดความเสียหายต่อองค์การอย่างในอดีตที่ผ่านมา (เมื่อมาทำงานเกิน 8 ชม. และวันหยุดหรือวันนักขัตฤกษ์องค์การจะต้องจ่ายตามกฎหมายกำหนด) และ 12. ให้สหภาพแรงงานฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมบอร์ด โดยเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุมบอร์ดทุกครั้ง นโยบายใดหรือคำสั่งใดที่จะส่งผลกระทบต่อพนักงาน และการประชุมของฝ่ายบริหารแต่ละครั้งให้ สหภาพแรงงานฯ เข้าไปเป็นกรรมการ
เผยรายได้ ขสมก. เพิ่มวันละล้าน หลังขึ้นค่าโดยสารใหม่
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 2562 ว่าภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติให้ ขสมก. ปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่นั้นพบว่าสามารถเพิ่มรายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์กรราว 10% จากเดิมมีรายได้วันละ 10-11ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้ 11-12 ล้านบาท คิดเป็นอัตรารายได้เพิ่มขึ้นวันละ 1 ล้านบาท หรือเดือนละ 30 ล้านบาท
สำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่จะใช้ระบบเทคโนโลยีมาแทนคนนั้น พนักงานที่โดนผลกระทบส่วนใหญ่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานห้องขายตั๋ว เนื่องจาก ขสมก.จะพัฒนาระบบรถเมล์ไร้เงินสด กล่าวคือในอนาคตจะมีกล่องหยอดเหรียญ (Cash box) ติดตั้งบนรถเมล์ และจะมีการใช้บัตรโดยสารแบบ E-Ticket จึงไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถเมล์อีกต่อไป คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะลดต้นทุนพนักงาน ทั้งเงินเดือนและสวัสดิการได้ปีละ 39-40% หรือราว 1,500-2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีต้นทุนพนักงานประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท
สำหรับแผนการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วม หรือ บัตรแมงมุม กับรถไฟฟ้านั้น นายสุระชัย ระบุว่าขอพิจารณาแนวทางพัฒนา 1 เดือนว่าจะใช้ระบบ 4.0 ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชลแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือจะใช้ระบบเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC ของธนาคารกรุงไทย ดังนั้นจึงยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเชื่อมต่อตั๋วร่วมได้ภายในปี 2562 นี้ตามเป้าหมายกระทรวงคมนาคมหรือไม่ [4]
'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' สั่งทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ภายใน 1 เดือน ก่อนนำเสนอ ก.คมนาคม พิจารณาอีกครั้ง
ความเคลื่อนไหวเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเร่งรัดแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจด้านการขนส่งในสังกัดกระทรวงคมนาคม หลังจากได้สั่งทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ไปแล้ว โดยให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนแผนจัดหารถ 3,000 คัน และแผนบริหารหนี้ภายใน 1 เดือน ก่อนนำมาเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเรื่องฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจนั้น กระทรวงคมนาคมต้องการฟื้นฟู ขสมก. ให้เห็นผลและเป็นต้นแบบของการฟื้นฟู รัฐวิสาหกิจอื่นๆ [5]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] ขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (มติคณะรัฐมนตรี, 25 มิ.ย. 2562)
[2] หนังสือเรื่อง ขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (กระทรวงคมนาคม, 31 พ.ค. 2562)
[3] แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, 30 พ.ค. 2561)
[4] 'ผอ.ขสมก.' เผยรายได้เพิ่มวันละล้าน หลังขึ้นค่ารถเมล์ใหม่ (กรุงเทพธุรกิจ, 13 ก.ค. 2562)
[5] คมนาคม ประกาศลุยฟื้นฟูกิจการ ขสมก.เป็นต้นแบบ รฟท.-การบินไทย (สำนักข่าวไทย, 7 ก.ย. 2562)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ตามแผนฟื้นฟู ขสมก.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ