ส่องระบบทุนรัฐบาล: จะทำอย่างไร? เมื่อนักเรียนทุนไปไม่ถึงสุดฝั่งในระบบราชการ

นักเรียนคนหนึ่ง TCIJ School รุ่นที่ 6 | 8 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 16310 ครั้ง

ในแต่ละปีจะมีผู้ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศราวๆ สองพันคน พบว่ามีนักเรียนทุนอยู่ไม่น้อยที่ตัดสินใจไม่กลับมาใช้ทุน และอีกจำนวนหนึ่งที่พอทำงานจนครบกำหนดตามสัญญาแล้วก็ย้ายเข้าสู้บริษัทเอกชนทันที ซึ่งอาจดูจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นักเมื่อมองว่ากลุ่มคนที่ใช้ทรัพยากรของรัฐซึ่งมาจากภาษีของประชาชนไปใช้ในการพัฒนาตนเอง แต่กลับไม่สามารถพาตนเองไปจนสุดฝั่งในระบบราชการได้ | ที่มาภาพประกอบ: Wokandapix (Pixabay License)

เมื่อภาษีที่เสียไป ถูกนำไปใช้โดยที่ไม่ได้สร้างประโยชน์กลับมาให้เรา ก็คงสร้างความปั่นป่วนใจให้กับเราอยู่ไม่น้อย อย่างกรณีของทันตแพทย์หญิง ดลฤดี จำลองราษฎร์ ที่เคยถูกกระแสสังคมออนไลน์จู่โจมเรื่องการหนีทุนเมื่อราวสามปีที่แล้ว [อ่านเพิ่มเติม: ย้อนรอย "ทพญ.ดลฤดี" เรื่องราวของคนหนีชดใช้ทุนรัฐบาล 24 ล้าน (โพสต์ทูเดย์, 20 ก.ย. 2560)] ที่แม้กระทั่งนักเรียนทุนด้วยกันเอง ก็ยังออกมาแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเธอ อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสถามนักเรียนทุนเหล่านี้ว่า ถ้าทำงานชดใช้ทุนครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะยังอยากทำงานให้ราชการต่อไปหรือไม่? ก็คงน่าคิดอยู่ไม่น้อยว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จะออกมาในทิศทางไหนกัน

ในแต่ละปี จะมีผู้ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ราวๆ สองพันคน [ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ณ เดือน พ.ค. 2562 อยู่ที่ 2,739 คน] เมื่อพวกเขาเหล่านี้จบการศึกษาแล้วก็จะถูกส่งตัวกลับไปยังหน่วยงานราชการต้นสังกัดที่ได้ทำเรื่องขอตำแหน่งไว้ก่อนหน้า กระบวนการนี้เป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาบุคคลากรของระบบราชการไทย

ในอีกด้านหนึ่ง พบว่ามีนักเรียนทุนอยู่ไม่น้อยที่ตัดสินใจไม่กลับมาใช้ทุน และอีกจำนวนหนึ่งที่พอทำงานจนครบกำหนดตามสัญญาแล้วก็ย้ายเข้าสู้บริษัทเอกชนทันที ซึ่งอาจดูจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นักเมื่อมองว่ากลุ่มคนที่ใช้ทรัพยากรของรัฐซึ่งมาจากภาษีของประชาชนไปใช้ในการพัฒนาตนเอง แต่กลับไม่สามารถพาตนเองไปจนสุดฝั่งในระบบราชการได้

แต่การมองเช่นนี้ก็อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป จะเป็นไปได้หรือไม่ที่นักเรียนทุนเหล่านี้คิดว่าเขาจะมีประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าอยู่ในระบบราชการและหน่วยงานของรัฐ จึงตัดสินใจเช่นนั้น เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เราลองมาฟังความเห็นลึกๆ จากนักเรียนทุนรัฐบาลบางส่วนกันดู

ส่งพัสดุผิด

มีบุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งมาถึงหน้าบ้านของคุณ เพื่อรับบริจาคของไปให้แก่เด็กกำพร้าในทวีปแอฟริกา คุณจึงรีบเดินเข้าไปในบ้านเพื่อหยิบรถของเล่นคันเก่าที่ลูกชายเลิกเล่นไปเมื่อ 5 ปีก่อน มาให้แก่บุรุษไปรษณีย์ผู้นั้น พร้อมกับความตื่นเต้นในใจ ที่กำลังจะได้เห็นภาพเด็กๆ เหล่านั้นได้เล่นรถของเล่นอย่างสนุกสนาน หากแต่บุรุษไปรษณีย์ผู้นั้นเกิดนึกขึ้นได้ว่า จริงๆ แล้วตนพูดผิดไป ตนไม่ได้กำลังจะเอาของไปส่งบ้านเด็กกำพร้า แต่กลับเป็นบ้านพักคนชราต่างหาก! คุณก็คงรู้สึกเสียดายไม่น้อย ทั้งต่อคนชราผู้รับที่ไม่รู้จะเล่นรถของเล่นนั้นอย่างไร และเด็กที่อดเล่นของเล่น หนำซ้ำ สิ่งของนั้น ก็หมดคุณค่าของตัวเองลงไปอีก

เหตุการณ์สมมตินี้ อาจใช้เปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตัวแทนนักเรียนทุนกลุ่มหนึ่งได้เป็นอย่างดี

A (นามสมมติ) ข้าราชการที่ได้รับทุนบุคคลทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2558 ปัจจุบันสังกัดหน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยประสบการณ์ส่วนตัวว่า ส่วนงานต้นสังกัดที่ตนได้มาบรรจุ ไม่ตรงกับที่สำนักงาน ก.พ. ประกาศไว้

“เหตุผลหนึ่งที่เลือกสมัครทุนนี้เพราะนอกจากจะได้เรียนในสาขาที่สนใจแล้ว ก็จะได้กลับมาอยู่ในส่วนงานที่เรามองว่าตรงกับความถนัดของเราด้วย แต่พอวันแรกที่ไปถึงต้นสังกัด กลับถูกให้ไปอยู่ในอีกส่วนงานหนึ่งแทน”

นอกจากนี้ A ได้เล่าว่าส่วนงานที่ได้บรรจุเข้ามานั้น ดูเหมือนจะถูกใช้เป็น 'จุดพัก' ให้กับนักเรียนทุนคนอื่นๆ ที่กลับมาจากต่างประเทศอยู่เสมอมา ทั้งๆ ที่งานภารกิจหลักของส่วนงานนี้เป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาใดๆ ชองเด็กทุนซักเท่าไหร่

กรณีที่คล้ายกัน ก็ยังเกิดขึ้นกับนักเรียนทุนรัฐบาลอีกคน (ซึ่งต่อไปจะขอแทนด้วย B) ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็สร้างปัญหาที่ไม่ต่างกัน เธอได้เล่าว่า

“ตอนแรกได้โควตาที่สังกัดแห่งหนึ่ง แต่พอถึงวันที่จะลงไปทำงาน ก็ได้รับแจ้งว่าที่สังกัดนั้นไม่มีตำแหน่งที่ว่านั้นอยู่”

แน่นอนว่าความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ในกรณีที่ยกขึ้นมานี้อาจเป็นการประสานงานผิดพลาดระหว่างหน่วยงาน แต่ความผิดพลาดที่ว่านี้ อาจเกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับ

ประการแรก กระบวนการคัดกรองต้นสังกัดที่ขอทุนที่ดีตั้งแต่แรก กล่าวคือ ผู้ให้ทุนจะต้องมั่นใจว่าโควตาทุนการศึกษาที่ต้นสังกัดใดๆ ขอมาเป็นความจำเป็นต่อส่วนงานนั้นจริงๆ หากคำขอโควตาทุนจากต้นสังกัดไม่สามารถแสดงให้เห็นความจำเป็นได้อย่างที่ว่ามานี้แล้ว ก็อาจมีความเสี่ยงที่ส่วนงานนั้นจะไม่ได้ต้องการนักเรียนทุนอย่างแท้จริง หรืออาจจะต้องการแค่เพียง ‘บุคลากรคนใดคนหนึ่ง’ เท่านั้น หากส่วนงานใดที่สามารถแสดงความจำเป็นมาได้อย่างชัดเจนจริงๆ ก็ย่อมเป็นไปได้ว่าส่วนงานนั้นจะให้ความสำคัญกับวิถีทางที่จะนำพานักเรียนทุนมุ่งตรงมาหาตัวเอง

เหตุผลที่ต้องไป

ทุกวันนี้ ตลาดทรัพยากรบุคคลมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เกือบทุกหน่วยงานคงรู้สึกปวดหัวไม่น้อยที่นอกจากจะต้องพยายามรักษาคนเก่งๆ ไว้กับองค์กร แล้วยังต้องคอยเพิ่มแรงดึงดูดให้บุคคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาหาอีกด้วย ไม่ต่างกันกับส่วนราชการที่อาศัยกลไกการให้ทุนรัฐบาลเป็นแม่เหล็กตัวหลักในการดึงดูดหัวกะทิของประเทศเข้ามาหาเช่นกัน ซึ่งก็นับว่าเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย

แต่ความสำเร็จที่ว่า อาจจะใช้ไม่ได้กับความสามารถในการรักษาหัวกะทิเหล่านั้นไว้ จากข้อมูลของ ‘โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ (พสวท.) ซึ่งแสดงสถิตินักเรียนทุน พสวท. ตั้งแต่ปี 2527 – 2543 จะพบว่ามีนักเรียนทุนมากถึงร้อยละ 19.5 ที่ลาออกหรือพ้นสภาพไป ซึ่งแม้จะมองว่าการเปลี่ยนงานใหม่เป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับสังคมยุคใหม่นี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การลาออกของอดีตผู้รับทุนนั้นมีเรื่องของภาษีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว เราคาดหวังว่าภาษีที่เปลี่ยนรูปไปเป็นทุนศึกษาต่อนี้ ควรจะหมดหน้าที่ของมันไปพร้อมกับวันครบกำหนดที่ระบุในสัญญาข้อผูกมัดของผู้รับทุนจริงๆ อย่างนั้นหรือ? จริงๆแล้ว เราควรจะคาดหวังว่าภาษีก้อนนั้นจะช่วยส่งให้นักเรียนทุนได้เติบโตไปจนสุดทางแล้วสร้างผลตอบแทนต่อประเทศได้อย่างเต็มที่มากกว่าหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้เป็นการมุ่งประเด็นไปที่การส่งเสริมให้นักเรียนทุนมีความรับผิดชอบต่อประเทศมากขึ้น แต่เป็นการชวนให้มองถึงปัญหาที่เป็นเหตุผลในการลาออกของนักเรียนทุนมากกว่า

แน่นอนว่าการจะหาเหตุผลของการลาออกไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบัน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้า ค่าตอบแทน ความไม่สะดวกในการเดินทาง ต่างก็สามารถใช้อธิบายเพื่อทำให้การลาออกนั้นมีความหมาย แต่หากเรากำลังมองหาเหตุผลที่เป็นตัวการให้ปัญหายังคงถูกส่งทอดอย่างต่อเนื่องมานานจนถึงทุกวันนี้ คงไม่พ้นที่จะยกเรื่องของ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ขึ้นมาพิจารณา

สิ่งหนึ่งอดีตนักเรียนทุนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันก็คือ ทุกคนมักจะได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของตนเอง  ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากบทบาทของการเป็นภาครัฐที่ทำให้งานมักจะเกี่ยวข้องกับหลายๆ ด้านอยู่เสมอ จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใดๆ ก็ตามไม่สามารถเลือกทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบได้ แต่พบว่ามีบางกรณีที่นักเรียนทุนมักจะถูกมองว่าเป็น ‘บุคคลสารพัดประโยชน์’ ของหน่วยงาน ดังเช่นกรณีของ B

“ทุกคนในที่ทำงานมักจะคิดว่าเราทำได้ทุกอย่าง เพราะเราเป็นเด็กทุน"”

ทุกหน่วยงานย่อมต้องการบุคลากรที่ทำงานได้ดีในหลายๆด้าน และเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่พนักงานใดๆ จะหมั่นฝึกฝนทักษะ และออกไปลองทำเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะย่อมเป็นผลดีต่อทั้งตัวองค์กรและตัวนักเรียนเอง แต่หากการได้มาซึ่ง บุคลากรสารพัดประโยชน์นั้น ทำให้งานจากทุกๆ ฝ่าย ถูกแบ่งเบามารวมตัวกันที่คนๆ เดียว อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อองค์กรนัก ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารในยุคปัจจุบัน ที่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อลูกน้อง และการสร้างบรรยากาศให้พนักงานทุกคนรู้สึกเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ผู้บริหารในหน่วยงานต้นสังกัดใดๆ ที่มีนักเรียนทุนบรรจุเข้ามา ต้องพยายามสร้างบรรยากาศที่ว่านี้ให้เกิดขึ้น นักเรียนทุนไม่ควรถูกมองว่าเป็นคนที่เข้ามาเพื่อทำให้งานน้อยลง มีคนช่วยแบ่งเบาภาระ แต่ควรจะเป็นการมองว่า จะใช้ความรู้ความสามารถของเด็กทุนอย่างไรเพื่อให้องค์กรทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การเข้าใจแรงจูงใจในการทำงานของนักเรียนทุน ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเมื่อต้องการให้นักเรียนทุนไม่หนีออกไป

กรุณาให้คะแนนความพึงพอใจก่อนตัดสาย (สัมพันธ์)

ความเห็นจากลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่บริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกไม่อาจมองข้าม เพราะมันช่วยให้บริษัทได้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ของเขามีข้อบกพร่องอย่างไร เกิดจากตัวสินค้า หรือการนำไปใช้งานที่ไม่ตรงจุดประสงค์ ดังนั้น การมีระบบติดตามความเห็นของลูกค้าเช่นนี้ จึงช่วยให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ในทำนองเดียวกัน การติดตามและประเมินผลผู้รับทุนหลังจากสำเร็จการศึกษา ก็เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ระบบทุนรัฐบาลมีความสมบูรณ์มากขึ้น

แต่จากการได้พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ตรง กลับพบว่ามีความน่ากังวลในเรื่องนี้อยู่

นาย A ได้เปิดเผยว่า ตนไม่เคยได้รับการติดตามประเมินผลจากผู้ให้ทุนเลยตั้งแต่ได้มาบรรจุที่ต้นสังกัด

“พอผู้ให้ทุนส่งมอบเราให้ต้นสังกัด ผู้ให้ทุนก็บอกว่าหน้าที่ของเขาจะหมดลงตรงนี้นะ ต้นสังกัดใหม่จะรับผิดชอบเราแทน”

ส่วนกรณีของ B ระบุว่ามีการติดตามมาเป็นระยะๆ (ซึ่งอาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นการปรับปรุงของภาครัฐเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแบบกรณีของ A) แต่เรื่องราวก็มักไม่ง่ายอย่างที่คิด

“ระบบติดตามของผู้ให้ทุนก็มีนะ เขาจะให้เราทำแบบรายงานส่งกลับไปทุกๆ หกเดือน แต่ว่าก็เขียนปัญหาลงไปไม่ได้มากนัก เพราะสุดท้ายต้องให้หัวหน้าตัวเองเซ็นลงนามก่อน”

เมื่อขาดการติดตามและประเมินผลเช่นนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าผู้ให้ทุนจะทราบได้อย่างไรว่าทุนที่มอบให้นักเรียนทุนไปใช้ศึกษาเล่าเรียนนั้น ถูกนำไปต่อยอดและสร้างผลประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของทุนจริงๆ หรือหากมีวิธีวัดผลอื่นๆ ที่ทำให้ได้พบว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้ให้ทุนจะทราบได้อย่างไรว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหานั้น?

นอกจากนี้ ผู้ให้ทุนยังต้องไม่ลืมอีกด้วยว่า การติดตามต้นสังกัดก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน แม้บางครั้งนักเรียนทุนจะพบปัญหาในระหว่างการชดใช้ทุนอย่างมาก แต่ก็ย่อมจะมีทั้งปัญหาที่สำคัญจริงๆ และที่ไม่ได้สลักสำคัญแต่อย่างใดต่อภาพรวมประโยชน์สูงสุด ซึ่งผู้ที่จะทราบได้ดีกว่าใครนั้น ก็คงไม่พ้นต้นสังกัดผู้เห็นคุณค่าการมีของนักเรียนทุนในหน่วยงานนั่นเอง ดังนั้น ผู้ให้ทุนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมประสานระหว่างนักเรียนทุนและต้นสังกัด หากสามารถเข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคของแต่ละฝ่ายและสามารถหาจุดลงตัวของทั้งสองฝ่ายได้แล้ว การเดินหน้าไปสู่จุดมุ่งหมายขององค์กรก็คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป

สัญญาต้องเป็นสัญญา?

สิ่งที่ทำให้สัญญาเป็นเครื่องมือในการเจรจาที่สำคัญอย่างหนึ่งมาตลอด ก็เพราะสัญญาสามารถให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายที่มาเจรจากัน หากไม่มีฝ่ายใดที่ละเลยข้อปฏิบัติที่ได้ตกลงไว้ร่วมกันแล้ว ผลประโยชน์ก็ย่อมเกิดแก่ทั้งสองฝ่ายตามวัตถุประสงค์ของสัญญา เช่นเดียวกับนักเรียนทุนที่ซื่อสัตย์ต่อสัญญา ก็ย่อมจะได้โอกาสไปเรียนในสาขาที่ฝัน พร้อมการรับประกันว่าจะมีอาชีพที่มั่นคงมารออยู่ตรงหน้า อย่างไรก็ตาม หากสัญญาฉบับหนึ่ง ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่บริบทรอบข้างได้เปลี่ยนไปแล้ว สัญญานั้นยังจะให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายได้จริงหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม หากสัญญาฉบับเดียว ถูกนำไปใช้กับคู่สัญญาที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกันออกไป สัญญานั้นก็อาจจะไม่ได้สร้างความเป็นธรรมอย่างสมบูรณ์ตามหน้าที่ของมัน

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะขออธิบายผ่านกรณีของอดีตผู้ได้รับทุนการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปัจจุบันอายุ 35-40 ปี สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย (ซึ่งต่อไปจะแทนด้วย C) ได้ยกกรณีของตัวเองมาเล่าให้ฟังถึงการเป็นผู้ได้รับทุนที่ต้องกลับมาใช้ทุนในสถานะ 'พนักงานมหาวิทยาลัย' ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการกลับมาใช้ทุนในสถานะข้าราชการ โดยเฉพาะในเรื่องของการประเมินผลงานของผู้ใช้ทุน กล่าวคือ ในทางปฏิบัติแล้ว โอกาสที่มหาวิทยาลัยจะประเมินให้นาย C ไม่ผ่านนั้นมีสูงกว่าโอกาสที่ส่วนราชการใดๆ จะทำเช่นนั้น เนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อให้ตนนั้นได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อที่จะผ่านการประเมินจากมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าอนาคตของ C ย่อมมีความมั่นคงน้อยกว่า นักเรียนทุนที่ได้กลับมาเป็นข้าราชการพลเรือน

จากกรณีดังกล่าว บางส่วนอาจเสนอทางออกว่า ทำไมจึงไม่ทำเรื่องขอย้ายออกจากมหาวิทยาลัยไปชดใช้ทุนต่อที่ส่วนราชการอื่นแทน? ซึ่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี หากแต่ว่า C ไม่คิดว่าจะง่ายเช่นนั้น

“แม้ทุกวันนี้ จะมีประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณากรณีนักเรียนทุนขอย้ายหน่วยชดใช้ทุนออกมาแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ หากไม่มีนโยบายใดๆ มาช่วยส่งเสริม” C กล่าว

ปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐในประเทศที่ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อจำนวนมาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะช่วยให้เกิดความหลากหลายของชนิดทุนมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่าทุนเหล่านี้ก็ล้วนมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อพัฒนาบุคลากรไปพัฒนาประเทศ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ทุนทั้งหลายเหล่านี้เกิดความทับซ้อนกันเองในแง่ของการใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุน หน่วยงานให้ทุนควรกำหนดภารกิจของทุนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และต้องมีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานผู้ให้ทุนกันให้มากขึ้น

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการกำลังคนของประเทศไทย ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการบริหารกองทุน หรือ Superboard ทุนการศึกษาเพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานผู้ให้ทุนหลัก รวบรวมความต้องการของภาคอุตสาหกรรม กำหนดภารกิจของทุนการศึกษา และจัดสรรเงินทุนในภาพรวมให้ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นของระเบียบข้อบังคับให้มากขึ้น การพิจารณานโยบายเรื่องการเคลื่อนย้ายระหว่างหน่วยงาน หรือการเปิดโอกาสให้มีการหมุนเวียนงาน (Talent Mobility) จะช่วยให้ความทับซ้อนของทุนลดลง และยังทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าหน่วยงานเหล่านี้ กำลังอยู่วิ่งบนถนนสายหลักสายเดียวกัน

ข้อเสนอที่น่าสนใจอีกประการของ ดร.เสาวรัจ ที่ถูกกล่าวไว้ในงานศึกษา คือการให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารทุนการศึกษามากขึ้น ในยุคที่รัฐบาลได้พยายามปฏิรูปประเทศด้วยเครื่องมือที่เรียกกันว่า 'ประชารัฐ' ก็คงเป็นเรื่องแปลกหากจะมองว่านักเรียนทุนรัฐบาลเป็นสมบัติของภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่ภาษีนั้นมาจากทั้งภาคประชาชน และภาคเอกชนเช่นกัน คงปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่า ภาคเอกชนหลายแห่ง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่าส่วนราชการ ทั้งด้านองค์ความรู้ต่างๆ และความเข้าใจในปัญหาของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ขณะที่ภาครัฐอาจเหมาะสมกับบทบาทผู้สนับสนุนข้อมูลระดับประเทศและทุนช่วยเหลือให้กับภาคธุรกิจมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้นโยบายทุนการศึกษาถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ (Demand Driven) มากยิ่งขึ้น การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดสรรทุนและวางแผนการใช้ประโยชน์จากทุนการศึกษา ก็อาจทำให้การใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุนสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น  

แต่เรื่องดีๆ กำลังจะเกิดขึ้น

แม้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในระบบทุนรัฐบาลมากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงผู้สัมภาษณ์ที่เห็นปัญหาเหล่านี้เท่านั้น หากได้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐที่ผ่านมาต่อเรื่องนี้ ก็จะพบว่า รัฐบาลได้รับทราบแล้วว่า กรอบแนวคิดเดิมของระบบทุนรัฐบาลที่ใช้อยู่ เริ่มไม่ตอบโจทย์ความท้าทายในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การมีรูปแบบทุนที่ไม่หลากหลาย เงื่อนไขทุนที่ไม่จูงใจ ให้ความสำคัญกับเนื้อหาของสัญญามากกว่าการใช้ประโยชน์ การจัดสรรทุนเพื่อสนองความต้องการด้านจำนวนบุคลากรมากกว่าด้านคุณภาพของบุคลากร ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ นาๆ เช่น เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจทุนรัฐบาลน้อยลงเรื่อยๆ สละสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น การโอนย้าย/ลาออกของผู้สำเร็จการทำงานใช้ทุนที่เพิ่มขึ้น

เพื่อตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ ภาครัฐก็มีการปรับตัวอยู่เรื่อยมา เช่น การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชดใช้ทุนให้ยืดหยุ่นขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ก็ทำให้สัดส่วนผู้รับทุนที่กระทำผิดสัญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 – 2559 เหลือเพียง 1 รายเท่านั้น ขณะที่ในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2551 มีจำนวน 22 ราย

นอกจากนี้ หากได้เข้าไปสำรวจในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ก็จะพบว่าตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เริ่มวางแนวทางการปฏิรูปทุนรัฐบาลเพื่อตอบสนองต่ออนาคตที่อาจเป็นปัญหา โดยครอบคลุมตั้งแต่ กระบวนการสรรหา กระบวนการจัดสรรทุน การดูแลและการรักษาไว้ใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น การเน้นหาคนที่มีจิตสาธารณะมากกว่าหาคนที่อยากเรียนต่อ การให้รับราชการก่อนส่งไปศึกษา การให้ความสำคัญกับการติดตามใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุนมากขึ้น การพัฒนากลไกติดตามการใช้ประโยชน์จากผู้รับทุนให้มีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การเตรียมพร้อมเส้นทางพัฒนาอาชีพให้ผู้ชดใช้ทุน การสร้างเครือข่ายนักเรียนทุน และการเปิดโอกาสให้ฝึกงานหลังสำเร็จการศึกษาเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติก็คือความท้าทายหนึ่งของภาครัฐเสมอมา เพราะการได้ชื่อว่าเป็นการปฏิรูปแล้ว ย่อมไม่ง่ายเลยที่จะไม่มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นระหว่างทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรณีการปฏิรูปนั้นไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนพอ อย่างไรก็ตาม การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติก็คือความท้าทายหนึ่งของภาครัฐเสมอมา เพราะการได้ชื่อว่าเป็นการปฏิรูปแล้ว ย่อมไม่ง่ายเลยที่จะไม่มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นระหว่างทาง ซึ่ง ดร.เสาวรัจ มีความเห็นว่า "ภาครัฐจะต้องมีระบบติดตามและประเมินผลที่ชัดเจนและต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ การกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศไว้กว้างเกินไป ทำให้เกิดความยากในการพิจารณาว่าจะจัดสรรทุนการศึกษาอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ" ดังนั้นแล้ว หากภาครัฐต้องการให้การปฏิรูประบบทุนรัฐบาลครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ภาครัฐก็ควรจะถามตัวเองให้มั่นใจอีกครั้งว่า เป้าหมายที่กำหนดไว้มีความชัดเจนมากพอหรือยัง และ เป้าหมายที่ว่านั้น มาจากโจทย์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน “วันนี้” หรือ ประเทศไทย “เมื่อวาน"

ผลตอบแทนจากการลงทุน

ทุกวันนี้ตลาดแรงงานมีปริมาณการเคลื่อนย้ายสูงมาก จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2561 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคน Gen Y (20-37 ปี) ใน กทม. มีแนวโน้มทำงานเฉลี่ย 2 ปี 5 เดือน แล้วก็จะเปลี่ยนไปทำงานใหม่ ซึ่งเหตุผลของการเปลี่ยนงานส่วนใหญ่ ก็คือ การต้องการค่าตอบแทน/สวัสดิการเพิ่มขึ้น ต้องการทำงานในบริษัทที่มั่นคงมากกว่า ต้องการความก้าวหน้าที่ชัดเจน และต้องการทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

ด้วยการผูกอนาคตของประเทศไว้กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้ว นี่เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบทุนรัฐบาลที่ต้องเผชิญกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ภาครัฐอาจจะกำสูญเสียพลขับเคลื่อนหลักออกไปเรื่อยๆ จนทำให้ประเทศหยุดชะงักลง นี่จึงไม่ใช่เพียงเรื่องที่เราจะมองว่าเป็นแค่ปัญหาของภาครัฐฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากมองดูเผินๆ แล้ว อาจพบว่าการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นจนจบนั้น ดูเหมือนจะสร้างประโยชน์ให้แก่ตัวแก่นักเรียนทุนเพียงกลุ่มเดียว แต่หากลองถอยหลังเพื่อให้สามารถมองเห็นภาพที่กว้างขึ้นอีกซักหน่อย ก็อาจจะพบว่านักเรียนทุนเหล่านี้ ก็คือกลุ่มคนที่จะนำเงินที่เราลงทุนไปในภาษี ไปสร้างผลตอบแทนมาให้เรา และคอยเลี้ยงดูเราในอนาคตนั่นเอง การมีส่วนร่วมต่อนโยบายด้านการปฏิรูปทุนการศึกษาจากสาธารณชนอย่างเรา จึงไม่ได้มีความหมายต่อเพียงระดับปัจเจกชนแต่อย่างใด

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: