รัฐญี่ปุ่นกับการจัดการร่างกายพลเมืองในสมัยปฏิรูปเมจิ

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์: 9 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 5490 ครั้ง


ที่มาภาพ: Mashable 

บทความของ Nakayama Izumi เรื่อง Gender, Health, and the Problem of "Precocious Puberty" in Meiji Japan. อธิบายว่ายุคปฏิรูปเมจิ (The Meiji Restoration) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่าร่างกายของพลเมืองญี่ปุ่นที่นั้นเล็กและส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐานชาวยุโรปที่ถือเป็น “มาตรฐาน” ของชาติที่พัฒนาแล้ว การที่รัฐญี่ปุ่นเริ่มมองว่าร่างกายของพลเมืองที่สัดส่วนไม่เป็นไปตามมาตรฐานเป็นผลมาจากผลกระทบของการล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียของจักรวรรดินิยมต่างๆ การถูกสหรัฐอเมริกาบังคับให้เปิดประเทศในช่วงก่อนหน้า และการทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในแง่นี้ญี่ปุ่นจึงต้องการพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกับอารยประเทศในทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านร่างกาย เพราะถือว่าร่างกายพลเมืองก็คือความแข็งแกร่งของชาติ

ดังนั้นในช่วงทศวรรษ 1890 จึงเกิดการเก็บสถิติเด็กญี่ปุ่นตั้งแต่ส่วนสูง น้ำหนัก รอบอก ฯลฯ ตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่น ก่อนจะนำไปเปรียบเทียบกับเด็กจากชาติตะวันตกหลายเชื้อชาติเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมร่างกายของเด็กญี่ปุ่นจึงมีขนาดน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยสถิติชี้ว่าเด็กชาวญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงมีลักษณะของภาวะเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนวัย หรือ precocious puberty ทำให้ร่างกายของเด็กญี่ปุ่นเจริญเติบโตเป็นวัยรุ่นเร็วกว่าเด็กชาติตะวันตก การเริ่มโตก่อนทำให้ร่างกายหยุดพัฒนาก่อนเช่นกัน ส่งผลให้สมองและความคิดพัฒนาไปไม่เต็มที่ ผลคือชาวญี่ปุ่นมีลักษณะของความเป็นเด็ก (child like) แม้ว่าจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็ตาม ขณะที่เด็กชาติตะวันตกที่มีพัฒนาการเป็นไปตามแบบแผนที่ควรจะเป็น จะไม่มีปัญหาและเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งการอธิบายแบบนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักวิชาการตะวันตกสาย Darwinist ที่เชื่อในพัฒนาการของมนุษยชาติทั่วโลกที่มีมนุษย์ผิวขาวชาวยุโรปอยู่บนยอดสุดของลำดับชั้น

เมื่อเห็นว่าภาวะเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนวัยเป็นปัญหา นักวิชาการญี่ปุ่นจึงเน้นไปที่การควบคุมไม่ให้เด็กเผชิญกับภาวะดังกล่าวหรือชะลอให้ช้าที่สุด ในกรณีของเด็กหญิง เมื่อมีประจำเดือนจะถือว่าเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ทำให้ครูต้องคอยเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ดูแลร่างกาย ตลอดจนเก็บข้อมูลการมาของรอบเดือนให้กับเด็กนักเรียน เพราะถือว่าสุขภาพของผู้หญิงสำคัญต่อการผลิตเด็กๆออกมาเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

ที่มาภาพ: Mashable 

สำหรับผู้ชายที่ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปสู่วัยเจริญพันธุ์บ่งชี้ได้ยากกว่าผู้หญิง ทำให้การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง (masturbation) เป็นเครื่องยืนยันการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เด็กชายจะต้องอาบน้ำเย็นทุกเช้าและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์ทางเพศ นอกจากนี้พ่อแม่จะต้องเป็นผู้ดูแลและคอยสอดส่องลูกชายตั้งแต่เป็นเด็กทารก เพราะเชื่อว่าเด็กทารกมักจะเล่นอวัยวะเพศตัวเองโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ติดนิสัยและอาจนำไปสู่การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก่อนวัยอันควรตามมาได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายหยุดพัฒนา

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังส่งเสริมการมีบุคลิกที่เหมาะสม โดยเชื่อว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ชนชั้นล่างต้องเดินก้มหน้า ค้อมตัวเคารพชนชั้นสูงตลอดเวลาส่งผลด้านลบอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ต่างกับการเดินอย่างผึ่งผายของชาวตะวันตก เช่นเดียวกับท่านั่งกับพื้นที่ทำให้ขาไม่ได้เหยียดออกอย่างสมบูรณ์เหมือนกับการนั่งบนเก้าอี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายของชาวญี่ปุ่นพัฒนาไปอย่างไม่สมบูรณ์ ทั้งหมดส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ไม่ใช่เรื่องของความมีอารยะแบบตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการผลของการพัฒนาทางร่างกายเช่นกัน

ความคิดเรื่องการพัฒนาส่วนสูงและร่างกายของพลเมืองญี่ปุ่นดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทุกโรงเรียนของรัฐจะต้องมีการเก็บสถิติจากการวัดส่วนสูง น้ำหนัก รอบอก ความยาวแขน ตลอดจนการมาของประจำเดือนของนักเรียนหญิงและการตอกย้ำความคิดเรื่องการสำเร็จความใคร่สำหรับผู้ชายเป็นเรื่องอันตราย ทั้งหมดเป็นไปเพื่อชะลอภาวะเจริญพันธุ์ไม่ให้มีก่อนวัยที่ควรจะเป็น

อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในยุคเมจิปฏิรูปร่างกายพลเมืองอย่างจริงจัง มีการจัดแข่งขันหาเด็กนักเรียนที่มีส่วนสูงเกินค่าเฉลี่ยของชาติ และต่อมายังมีการเพิ่มเติมการวัดความสูงนั่ง (sitting height) อีกด้วยที่เพิ่งจะยุติไปเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา และจนถึงปัจจุบัน แพทย์จำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่า การทะเลาะกันของพ่อแม่และปัญหาภายในครอบครัว ส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก เด็กจึงควรถูกเลี้ยงดูในบรรยากาศที่เป็นมิตร กินอิ่ม นอนหลับ อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์ แน่นอนว่าการหย่าร้างของพ่อแม่จะกระทบกับความไม่สมบูรณ์ของเด็กเช่นกัน

กล่าวโดยรวม การเผชิญกับภัยคุกคามจากชาติตะวันตกช่วงยุคปฏิรูปเมจิ ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เพียงเปลี่ยนแปลงประเทศให้พร้อมกับโลกใหม่ แต่ร่างกายของพลเมืองยังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่รัฐพยายามจะเข้าไปควบคุม ในกรณีของเด็กที่ถือเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต จึงต้องมีการจัดระเบียบร่างกายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์ของชาติที่สามารถทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ญี่ปุ่นพยายามใช้ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่และการเก็บสถิติอย่างละเอียดเข้ามาช่วยในเรื่องพัฒนาการของเด็ก ด้วยความเชื่อว่าร่างกายของชนชาติญี่ปุ่นสามารถ "เปลี่ยน" ให้เป็นร่างกายที่สมบูรณ์และสูงใหญ่แบบชาวตะวันตกได้ หากมีการจัดการที่ดีและมีความอารยะเท่าเทียมกัน ร่างกายในมุมมองแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องของพันธุกรรมหรือยีน แต่เป็นเรื่องของความมีอารยะและการพัฒนา

อีกประเด็นที่ที่น่าสนใจจากบทความชิ้นนี้ คือ การมุ่งเน้นที่การป้องกันการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองของเด็กชาย แสดงให้เห็นการปฏิเสธว่าเพศหญิงก็สามารถมีอารมณ์ทางเพศได้ เช่นเดียวกับการสอดส่องเรื่องประจำเดือนของเด็กหญิง ก็ทำให้เห็นทัศนคติของรัฐต่อเพศหญิง ที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเพียงผู้ผลิตทารกให้กับชาติเท่านั้น

รัฐกับเพศ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ และร่างกายของพลเมือง ก็ไม่ได้เป็นร่างกายที่ปราศจากการบงการของรัฐแต่อย่างใด


 

 


ที่มา
Izumi, Nakayama. Gender, Health, and the Problem of "Precocious Puberty" in Meiji Japan.ใน Gender Health and History in Modern East Asia. Angela Ki Che Leung and Izumi Nakayama. Eds. Hong Kong: Hong Kong University Press, 2017: 37-60.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: