สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดล็อกใบเหลือง IUU ประมงไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3860 ครั้ง

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดล็อกใบเหลือง IUU ประมงไทย

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดล็อกใบเหลือง IUU ประมงไทย การันตีความพยายาม 4 ปี ในการยกระดับประมงไทยสู่สากล ตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือน เม.ย.2558 ที่มาภาพประกอบ: trffeedmill.com

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ได้ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของไทย หรือไอยูยู ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หลังไทยสอบผ่านการปฏิรูปเพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และยังกล่าวภายหลังพบหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีว่า การต่อสู้การทำ ประมงผิดกฎหมายเป็นภารกิจแรกเริ่มของอียู ซึ่งในขณะนี้รู้สึกตื่นเต้นที่อียูได้มีหุ้นส่วนใหม่ที่ให้คำมั่นร่วมจัดการปัญหานี้จริงจัง โดยก่อนหน้านี้อียูแจกใบเหลืองไทย ฐานล้มเหลวแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แต่ด้วยการหารือกับอียู และการออกกฎหมายเกี่ยวข้องและดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ทำให้อียูถอนคืนใบเหลืองของไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศไทยได้รับปลดใบเหลือง หรือ ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำประมงผิดกฎหมายแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลือง เมื่อเดือน เม.ย.2558 ซึ่งประเทศไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทั้งการออกกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย

“ประเทศไทยได้แสดงความรับผิดชอบและบทบาท ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับมาตรฐานสากล ส่งผลให้อียูปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับอียูเพื่อส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค และจากนี้ไปรัฐบาลไทยยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู เพราะเห็นความจำเป็นในการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่เพียงเฉพาะประเทศ แต่รวมถึงทรัพยากรของโลกด้วย ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยูไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2.การบริหารจัดการประมง 3.การบริหารจัดการกองเรือ 4.การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยการดำเนินการระยะต่อไป ทั้งอียูและไทย เห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยูฟรี ได้โดยสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในระดับอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูร่วมกัน

ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่ 1. การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรป เรื่องการต่อต้านการทำประมงไอยูยู 2.การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู หรือ ASEAN IUU Task Force เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สามารถร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกันได้โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

“โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยูเพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูในระดับภูมิภาคด้วย โดยไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN IUU Workshop ในช่วงเดือน เม.ย.2562 เพื่อผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Task Force”

สำหรับประเด็นที่ 3 คือ การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู หรือ IUU-free Thailand ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู และนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อนำไปสู่ IUU-freeThailand ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: