ชมรมสื่อบ้านนอก สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีภายใต้ฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำชุดข้อมูล 'ดัชนีสื่อบ้านนอก' (บ้านนอก Index) พบเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้แรงงานทั้งในและนอกภาคการเกษตรเติบโตต่ำกว่ามาก จนประสบปัญหาหนี้สินสูงขึ้นทุกปี อันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น
เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าชมรมสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท (ชมรมสื่อบ้านนอก) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของสื่อมวลชนหลายแขนง ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ตามแนวพระราชดาริฯ ได้จัดทำชุดข้อมูล ”ดัชนีสื่อบ้านนอก” (บ้านนอก Index) โดยวิเคราะห์ข้อมูลในด้านรายได้และหนี้สิน เปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการรวบรวมฐานข้อมูลภาครัฐในแหล่งสำคัญต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ มาทำการวิเคราะห์ผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2561
นักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมงานกับชมรมสื่อบ้านนอก ระบุว่าภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาของรายได้ประชาชาติ (GDP) ประมาณร้อยละ 17 นั้น รายได้รวมของประชากรเติบโตเพียงร้อยละ 6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเงินในกระเป๋าของประชากร โดยเฉพาะภาคแรงงานและภาคเกษตรไม่ได้เติบโตสูงขึ้นมากตามดัชนีทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายจากการบริโภคเติบโตอยู่ร้อยละ 4.5 ซึ่งเมื่อรายได้ไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ยอดคงค้างหนี้สินย้อนหลัง 4 ปี พบว่ามีหนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 ซึ่งโตเร็วกว่า GDP และรายได้ในแต่ละปี
ขณะที่ 1 ใน 3 ของครัวเรือนในประเทศไทยที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่าร้อยละ 46 อยู่ในภาคเกษตรกรรม มีรายได้ต่ำกว่ารายได้รวมของประชากรทั้งประเทศ ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 แต่ภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยเติบโตเพียงร้อยละ 5 โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวมีรายได้ที่ผันผวนมากในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาตกลงไปกว่าร้อยละ 50 เพิ่งจะพลิกฟื้นกลับมาในช่วงปี 2560 ที่สามารถพลิกฟื้นเติมโตขึ้นมาร้อยละ 59 ส่วนเกษตรกรที่ปลูกยางพารา มีรายได้ลดลงถึงร้อยละ 24 ในส่วนของเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
ทางด้านแรงงานนอกภาคการเกษตรที่มีประมาณร้อยละ 68 มีรายได้ที่สูงกว่าภาคเกษตรกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ภาคค้าปลีก-ค้าส่ง มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ภาคบริการที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ภาคแรงงานก่อสร้างมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 สะท้อนให้เห็นว่าประชากรในภาคเกษตรที่มีอยู่ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้จากการทำงานทั้งปียังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และมีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น อันจะเป็นภาระที่นโยบายภาครัฐควรหันมาแก้ไขปัญหาในระดับฐานรากอย่างยั่งยืนมากกว่าการใช้นโยบายประชานิยมที่เปรียบเสมือนไฟไหม้ฟาง และลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจากการกระจายรายได้ระหว่างคนในสังคมเมืองและชนบทอย่างทันท่วงที เพื่อไม่เป็นปัญหาทางสังคมและเป็นเงื่อนไขเรียกร้องทางการเมืองกันไม่สิ้นสุด
หมายเหตุ : 1. อ้างอิงข้อมูลจากระเบียบวิจัยการจัดทาข้อมูลสำมะโนการเกษตร ปี พ.ศ. 2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556
2. สำมะโนเกษตรกรจัดทำทุก 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
3.การจัดเก็บรายได้ครัวเรือนเกษตรกรมีลักษณะเป็นช่วงรายได้ ซึ่งการวิเคราะห์เชิงลึกจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยอื่นๆ มากกว่านี้
4.อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5. อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
6.อ้างอิงข้อมูลรายได้แรงงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย
7.อ้างอิงข้อมูลรายได้เกษตรจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และรายได้รวมมาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของรายได้แรงงานกับรายได้ภาคเกษตร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ