ศูนย์วิจัยควอนตัม มช. ทุ่มงบ 100 ล้านบาท ระดม 'นักวิจัย-วิศวกรรม-วิศวกร' 20 อัตรา ภายในปี 2562 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3187 ครั้ง

ศูนย์วิจัยควอนตัม มช. ทุ่มงบ 100 ล้านบาท ระดม 'นักวิจัย-วิศวกรรม-วิศวกร' 20 อัตรา ภายในปี 2562 นี้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านควอนตัม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุ่มงบ 100 ล้านบาท ระดมนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร นักเทคโนโลยีควอนตัม 20 อัตราภายในปี 2562 นี้ หวังสร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศไทยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน และการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ที่มาภาพ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เว็บไซต์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2562 ว่านายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านควอนตัม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอ “โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ที่โลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากในอนาคตจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ อย่างรถยนต์ต้องควบคุมด้วยเทคโนโลยีไม่ใช่น้ำมันอีกต่อไป ทำให้ประเทศไทย ต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาในชีวิตอย่างเต็มตัว จำเป็นต้องมีสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศควอนตัมที่สมบูรณ์ ภายใต้เครือข่ายของนักวิจัย นักเทคโนโลยีและการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านการประสานงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศ และการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีควอนตัม นำประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมระดับสูง ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือว่ามีความสมบูรณ์และความพร้อมเป็นที่รวบรวมบุคลากรที่เก่งด้านฟิสิกส์จำนวนมาก มีขีดความสามารถเชิงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ควอนตัมที่โดดเด่น พัฒนาเทคโนโลยีการทดลองและอุปกรณ์วิจัยมากมายเป็นของตนเอง และมีความสามารถถ่ายโอนเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ห้องวิจัยเกิดใหม่ทั่วประเทศ จึงจะทุ่มงบประมาณ 100 ล้านบาทเดินแผนงานด้านกำลังนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร และนักเทคโนโลยีควอนตัม 17-20 อัตรา มาทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศ

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่าปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยจะต้องแกนนำหลักในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ที่คุณภาพและได้มาตรฐานของโลก ทั้งในด้านของการพัฒนาคน การสร้างบัณฑิตคุณภาพ พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 เรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา ร่วมกันผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ Smart Farming, Active Citizen, Zero-Waste และ AI for All ส่งเสริม พัฒนานวัตกรรมชุมชน, นวัตกรรมเชิงธุรกิจ และนวัตกรรมสังคม รวมถึงการปลดล็อก แนวคิดการดำเนินงานในรูปแบบเดิม ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลกและตอบโจทย์ประเทศ

สำหรับเทคโนโลยีควอนตัม เป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ที่โลกกำลังให้ความสนใจ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาในชีวิตของเราอย่างเต็มตัว ต้องมี สถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศควอนตัมที่สมบูรณ์ ภายใต้เครือข่ายของนักวิจัย นักเทคโนโลยี และการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านการประสานงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศ ทั้งในแง่ความรู้ฐานราก ในแง่การตื่นตัวและโอกาสของทุนสมองรุ่นใหม่ และ ในแง่ศักยภาพของการพึ่งพาตนเองในด้านวิจัยและพัฒนา อันจะนำไปสู่เป้าประสงค์หลัก คือ การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมระดับสูง

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย มีจำนวนนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งรวมถึงนักเรียนทุนโอลิมปิกฟิสิกส์ที่ได้รับการฝึกทักษะด้านเทคโนโลยีควอนตัมในต่างประเทศได้กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยแล้วกว่า 16 คน นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยหลังปริญญาเอกและนักวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศอีกจำนวนกว่า 21 คน ทั้งนี้ หากนับรวมนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกภายในประเทศด้วย ตัวเลขนักวิจัยควอนตัมในประเทศไทยจะเกินกว่า 50 คน จำนวนนี้ถือว่าเพียงพอที่จะเป็นบ่อเกิดของกระบวนการรังสรรค์นวัตกรรมฐานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือว่ามีความสมบูรณ์และความพร้อม เป็นที่รวบรวมบุคลากรที่เก่งด้านฟิสิกส์เป็นจำนวนมาก มีขีดความสามารถเชิงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ควอนตัมที่โดดเด่น อีกทั้งยังได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีการทดลองและอุปกรณ์วิจัยมากมายเป็นของตนเอง มีความสามารถในการถ่ายโอนเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ห้องวิจัยเกิดใหม่ทั่วประเทศ

ด้าน ผศ.ดร.วรานนท์ อนุกูล หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัมและอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน รวมไปจนถึงการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ตลอดจนธุรกิจบ่มเพาะอันอาจจะเกิดขึ้นจากต้นแบบนวัตกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมควอนตัมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเตรียมพร้อมการสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ด้วยงบการลงทุนเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวน 100 ล้านบาท ผนวกกับแผนงานด้านกำลังนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร และนักเทคโนโลยีควอนตัม จำนวนมากถึง 17-20 อัตรา จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้ทันที และที่สำคัญเทคโนโลยีควอนตัม ได้ส่งเสริมและสร้างแพลตฟอร์มการทำงานให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม มาระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนให้เทคโนโลยีควอนตัมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างงาน เป็นต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: