กฎหมายทำแท้งไทยไม่ผ่านกับดักศีลธรรม ผู้ให้บริการ-สังคมยังมองเป็น 'บาป'

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | กองบรรณาธิการ The101.world | 9 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 19499 ครั้ง

ในแต่ละปีมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ 300,000 ราย ต่อปี โดยผู้หญิง 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการทำแท้ง เหตุไฉน? การยุติการตั้งครรภ์ถูกฎหมายจึงยังมีหญิงสาวจำนวนมากไม่ได้รับความปลอดภัย ที่มาภาพ: Change.org 

ในแต่ละปีมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธ์ของสตรี [1] ระบุว่าประเทศไทยมีสถิติการทำแท้ง 300,000 ราย ต่อปี โดยผู้หญิง 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการทำแท้ง ตัวเลขดังกล่าวอาจฟังดูไม่มากนัก หากแต่ในประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งโดยถูกกฎหมายได้ เหตุไฉน ? การยุติการตั้งครรภ์ถูกฎหมายจึงยังมีหญิงสาวจำนวนมากไม่ได้รับความปลอดภัย

ทำแท้งได้ตามกฎหมาย ?

เมื่อพิจารณากฎหมายและเอกสารของกระทรวงสาธารณสุขจะพบว่า การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ทำได้ และทำได้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีการส่งเสียงดังอย่างชัดเจนต่อหน้าสาธารณะ แต่กลับฉายเด่นอยู่ตามเอกสารทางกฎหมาย และแวดวงการแพทย์ที่สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ระบุให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดค้ำยันอยู่ ทำให้ภาวะการณ์โดยรวมดูเหมือนไม่ถึงกับเปิดไฟเขียวให้การทำแท้งเสียทีเดียว

กล่าวคือมีลู่ทาง มีถ้อยคำอนุญาตที่ชัดเจนถูกระบุในกฎหมาย แต่ประชาชนต้องไปค้นพบเอาเอง

กฎหมายอาญามาตรา 301-302 ระบุให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดทางอาญา มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

แต่ก็มีประมวลกฎหมายอาญา 305 ที่ยกเว้นความผิดให้การยุติการตั้งครรภ์ และมีข้อบังคับแพทยสภา ที่อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากครรภ์นั้นเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

  1. การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพของมารดา (สุขภาพ ในที่นี้หมายถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตามความหมายของแพทยสภา)
  2. ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง
  3. การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการข่มขืน เกิดจากการล่อลวงบังคับ ข่มขู่ และการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้ว่าเด็กจะสมยอม และอนุญาตให้ทำโดยแพทย์ในคลินิกได้ กรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากอายุครรภ์มากกว่านี้ ต้องทำโดยแพทย์และภายในโรงพยาบาล

นอกจากนั้น พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มาตรา 5 [1]ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง  มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้  รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์  ไปจนถึงได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว 

ตามมาด้วยกฎกระทรวง[2] ที่กำหนดประเภทของสถานบริการและการดำเนินการของสถานบริการโดยมีสาระว่า สถานบริการทุกแห่งต้องให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ด้านอนามัยเจริญพันธ์ ตามพ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

สถานบริการต้องให้คำปรึกษาโดยรักษาความลับ และไม่โน้มน้าวในให้วัยรุ่นตัดสินใจตามความต้องการของผู้ให้คำปรึกษา โดยสถานบริการสาธารณะสุขมี 2 ประเภท คือ สถานบริการที่มีบริการอนามัยการเจริญพันธ์ และ สถานบริการที่ไม่มีบริการอนามัยการเจริญพันธ์ สถานบริการที่มีบริการอนามัยการเจริญพันธ์ จะต้องจัดให้มีการบริการพื้นฐานประกอบไปด้วย การคุมกำเนิด การทดสอบการตั้งครรภ์ การดูแลภาวะแท้งบุตร การรับฝากครรภ์ การดูแลหลังคลอด การตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรักษาและให้คำแนะนำผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และ ‘การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์’

ดังนั้น วัยรุ่นจึงสามารถตัดสินใจรับบริการอนามัยการเจริญพันธ์ทั้งหมดที่ว่ามาได้ด้วยตัวเอง ยกเว้นการยุติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยวัยรุ่นสามารถให้คำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทางวาจาได้

อีกความเคลื่อนไหวในวงการแพทย์ต่อกรณียุติการตั้งครรภ์คือ ทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์ที่ทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่อยู่ในความดูแลของคณะแพทย์และพยาบาล นั่นคือ วิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ในอายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์ ยายุติการตั้งครรภ์ มีชื่อว่า ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) และไมโซพรอสทอล(misoprostol)  ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล ซึ่งสูตรของยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาหลักขององค์การอนามัย (World Health Organization - WHO) สามารถใช้ในอายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์ได้อย่างปลอดภัย สำหรับประเทศไทย ยานี้ได้ขึ้นทะเบียนยาสูตร MeFi-Miso  เมื่อเดือนธันวาคม 2557 และเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา MeFi-Miso ก็ได้ขึ้นบัญชียาหลัก[3] กลายเป็นยาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยอยู่ในการติดตามการใช้ยาจากหน่วยงานการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หรือคลินิกที่ให้บริการ แต่จะไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยา

หากพิจารณาเพียงแค่หลักฐานเหล่านี้ การทำแท้งในประเทศไทยอาจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เลวทีเดียว แต่ในความเป็นจริง นอกจากการทำแท้งจะถูกระบุเป็นความผิดทางอาญาแล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมที่ทำให้สถานการณ์การทำแท้งไม่อยู่ในระดับไฟเขียวได้เสียที

อยากปลอดภัยแล้วทำไมพลาด – ไม่กลัวบาปกรรมหรือ ?

แม้กฎหมายและข้อบังคับกระทรวงจะรับรองสิทธิเอาไว้ แต่เมื่อถือขั้นตอนปฎิบัติ สิทธิและความปลอดภัยในร่างกายผู้หญิงยังคงผูกติดอยู่กับสถานบริการและบุคลากรทางการแพทย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกันกับเสียงต่อต้านในสังคมที่คอยฉุดรั้งให้ผู้หญิงทำตามบทบาทที่สังคมมอบให้ หญิงสาวหลายคนจึงมิสิทธ์เป็นผู้ได้รับอันตราย หรือเป็น 300 จาก 100,000 รายอยู่ตลอดเวลา

หลายเสียงจากสังคมที่ต่อต้านการทำแท้งมักพุ่งเป้าไปที่ความผิดพลาดในการคุมกำเนิด เช่นว่า ‘ทำไมไม่คุมตั้งแต่แรกล่ะ ทำไมปล่อยให้ท้อง’

สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง หน่วยงานที่รณรงค์และให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงในเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย ทั้งยังเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการยุติการตั้งครรภ์ ได้เปิดเผยประสบการณ์การทำงานรับสายให้คำปรึกษาหญิงท้องไม่พร้อม และผู้ต้องการทำแท้งเพื่อสะท้อนวิธีคิดของสังคม เปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของผู้หญิง

 

ที่มาภาพ: Thai PBS

โดยสุพีชากล่าวถึงกรณี ‘พลาด’ ว่า การคุมกำเนิดต่างๆ มีข้อผิดพลาดอยู่เสมอ คนอาจเข้าใจว่าการคุมกำเนิดคุมได้ 100% แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่  “อย่างถุงยางในห้องปฏิบัติการอาจจะ error น้อย ประสิทธิภาพในการป้องกันสูง แต่ human error เยอะมาก จริงๆ ดังนั้นถึงแม้ว่าคุณคุมแล้ว คุณก็ยังจะพลาดได้” 

นอกจากความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ประสบการณ์การรับสายให้คำปรึกษาหลายต่อหลายครั้งของเธอยังสะท้อนให้เห็นว่า ความเข้าใจผิดในเรื่องเพศ หรือค่านิยมทางเพศก็เป็นปัจจัยที่ผลักให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมเช่นกัน 

 “มันมีอะไรหลายอย่าง ง่ายๆ ที่คนเข้าใจผิด อย่างวิธีโบราณแบบหลั่งนอกคือไม่ท้อง ไม่เสร็จแล้วไม่ท้อง แค่ถูไถมันไม่ท้อง พี่แปลกใจมากเลยที่รับโทรศัพท์ทุกวันแล้วยังมีการเข้าใจผิดทำนองนี้อยู่ การสอนเกี่ยวกับเพศศึกษาเรายังน้อยเกินไป อันนี้คือสิ่งที่คนพูดแล้วพูดอีก แต่ว่าการปฏิบัติมันไปไม่ถึงไหน นอกจากเรื่องความรู้ก็ยังมีเรื่องบทบาททางเพศ ผู้หญิงมักเชื่อผู้ชาย ผู้ชายบอกว่าเป็นหมัน ก็เชื่อ บางคนคิดว่าตัวเองมีความรู้น้อยกว่าเขาเลยเชื่อสิ่งที่เขาบอก” 

สุพีชายังชี้ว่า ท่าทีของผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์เองก็มีผลต่อความปลอดภัยของผู้หญิง สุพีชาเล่าว่าผู้หญิงคนหนึ่งโทรมาปรึกษา เธอกังวลว่าจะท้องเลยอยากตรวจกับหมอ พอไปตรวจที่โรงพยาบาล นางพยาบาลพูดส่งเสียงว่า ‘นี่ลูกสาวบ้านใครเนี่ยมาตรวจว่าท้อง’ เหตุการณ์และท่าทีของบุคลากรเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงหลายคนกลัวและไม่วางใจต่อสถานพยาบาล บางครั้งอาจถึงกับเลือกไปทำแท้งเถื่อน หรือทำแท้งไม่ปลอดภัย

“ขนาดขั้นตอนแค่ตรวจครรภ์ ยังต้องถูกประจานขนาดนี้เลย แล้วทำแท้งล่ะ” สุพีชาตั้งคำถาม

อีกประเด็นที่ถูกยกมาเป็นเหตุผลเพื่อคัดค้านการทำแท้งของผู้หญิงนั้นคือเรื่อง ‘บาป’ สุพีชาเล่าว่านอกจากคนในสังคมหรือสื่อแล้ว บุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังใช้เหตุผลเหล่านี้เพื่อปฏิเสธการให้บริการ หรือโน้มน้าวให้ผู้หญิงอุ้มครรภ์ต่อไป

“หมอที่ไม่ทำเขาก็บอกว่าไม่อยากมือเปื้อนเลือด จริงๆ หมอก็มือเปื้อนเลือดอยู่แล้วทุกวัน (หัวเราะ) หมอรู้สึกว่าบาป เขาก็มีสิทธิที่จะคิดในแบบของเขานะ แต่ผู้หญิงที่อยากจะทำแท้งก็มีสิทธิทำเหมือนกัน ผู้หญิงก็มีสิทธิทุกประการที่จะทำอะไรกับชีวิตเขาก็ได้ การที่หมอจะเลือกปฏิบัติอะไรมันก็มีผลต่อชีวิตจิตใจเขาใช่ไหม” 

“อยากให้หมอเห็นชีวิตของผู้หญิงสำคัญ สำคัญเท่าๆ กับตัวอ่อนในนั้น เพราะถึงที่สุดแล้วหมอก็เป็นคนอื่น หมอเป็นใครที่จะมาบอกว่าเอาไว้เหอะ แค่ลูกคนเดียวน่าจะเลี้ยงได้”

“ถ้าหากหมอคิดว่าบาป หรือคิดว่าแค่ไม่ทำก็สบายแล้ว รอดจากบาปแล้ว แต่ผู้หญิงคนนั้นล่ะ จะเป็นยังไง หรือถ้าหมอคิดถึงเด็ก มันก็มีเด็กที่ถูกฝังดิน ถูกโยนลงมาจากตึก ถูกเอาไปทิ้งถังขยะ หรือเด็กที่โตขึ้นมาพ่อแม่ไม่ดูแล หมอได้คิดถึงเด็กแบบนั้นไหม” 

สุพีชายังแสดงความเห็นว่า หลายครั้งเมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องการทำแท้ง ในสถานการณ์เหล่านี้บทบาททั้งหมดตกอยู่กับผู้หญิง โดยที่ไม่ค่อยมีใครเพ่งเล็งว่า แล้วเพศชายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อยู่ที่ไหน และมีบทบาทอะไรกับเรื่องเหล่านี้บ้าง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการยุติการตั้งครรภ์แล้ว สังคมก็มักจะผลักบาปให้ผู้หญิงรับเพียงฝ่ายเดียวอีกด้วย

“ผู้ชายไม่เคยอยู่ในซีน ในขณะที่ผู้หญิงไปทำแท้ง ผู้หญิงรู้สึกผิดบาปมาก ผู้ชายเหล่านั้นที่เคยมีแฟนหรือมีแฟนมาแล้ว 5 คน เขาเคยคิดไหมว่าไอ้ที่เลิกกับกูไปแล้วมันไปทำแท้งป่าววะ แล้วกูบาปมากไหม”

“ผู้หญิงที่โทรมาปรึกษาบางคนก็ไม่ได้อยากคุยกับเราว่าการทำแท้งคืออะไร ทำยังไง แต่บางคนอยากปรึกษาเกี่ยวกับความรู้สึกว่าเขาเป็นแม่ คนนี้เป็นลูก เขารู้สึกแย่มาก ไม่อยากทำร้ายเขา ไม่อยากทำให้เจ็บ ทั้งที่เขาเห็นว่าตัวเองมีเหตุผลนานาประการเลยที่จะทำแท้ง บางคนก็บอกว่าคนรอบตัวในชีวิตห้ามไม่ให้ไปทำ เพราะว่าคนทำแท้งจะทำอะไรก็ไม่ขึ้น ลูกจะโกรธแค้นมาก จะมาเอาคืน” 

“ในขณะที่เวลาผู้ชายโทรมาปรึกษาเขาจะบอกว่าเดือดร้อน เครียด แต่ไม่ใช่เศร้าเสียใจ กำลังทำร้ายลูก กำลังจะฆ่า คือโทนมันไม่ค่อยออกแบบนั้น ปลอดภัยไหม ราคาเท่าไร เสร็จเลยไหม ต้องไปด้วยไหม ไม่ค่อยมีผู้ชายที่จะมาถามถึงอารมณ์ความรู้สึก ความผิดบาปแบบที่ผู้หญิงถาม”

ในช่วงสุดท้ายของบทสนทนา สุพีชายังชวนตั้งคำถามว่า ‘บาปนี่มันบาปของใครบ้าง’

“ถ้าคุณมาเจาะแต่บาปของผู้หญิงมันง่ายมากเลยที่จะบอกว่าอย่าไปทำ แต่พอเริ่มเป็นบาปของผู้ชายเนี่ย มันก็จะมีคนอีกตั้งเยอะที่ต้องคิดเรื่องนี้ ถ้ามันเป็นบาปของสังคมเราก็ต้องกลับมาคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้มันเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น” 

“ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์จะบอกว่าเลี้ยงไปเขาก็ไม่มีคุณภาพ คือเขาเลือกที่จะบาปอันนี้แทนที่จะบาปอีกอย่าง ถ้าบาปมันเจาะไปที่ตัวของผู้หญิงเอง เราต้องให้สิทธิเขาเลือกนะว่าบาปอะไร เขาจะเลือกว่าเขาไม่บาปก็ยังได้”

กรณีศึกษาการยุติการตั้งครรภ์ในต่างประเทศ

ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลสูง มีกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ทำแท้ง เว้นแต่ในกรณีที่เป็นอันตรายต่อมารดา การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารกคล้ายกับกฎหมายอาญาของประเทศไทย เมื่อพิจารณาอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปแลนด์จะพบว่ามีสูงมาก จากการสำรวจเมื่อต้นปี 2016[1] พบว่ามีผู้หญิงที่เข้าถึงการทำแท้งถูกกฎหมายเพียง 1,055 คน ในขณะที่ปริมาณการทำแท้งเถื่อนอยู่ที่ 150,000

ในขณะที่บางประเทศที่มีเปิดกว้างด้านการทำแท้ง เช่น เนเธอร์แลนด์ กลับมีอัตราการทำแท้งต่ำที่สุดในโลกเพียง 9.7 ต่อจำนวนผู้หญิง 1,000 คน [2]ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมุ่งให้การศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดเป็นสำคัญ และให้สิทธิบนร่างกายต่อเจ้าของร่างกายเป็นสำคัญ

ที่มาภาพ: New York Times

ขณะเดียวกันในอีกมุมโลก โลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาก็เกิดเหตุการณ์ผันผวนต่อแนวคิดเรื่องการทำแท้ง ณ รัฐ แอละแบมา (Alabama) สภาสูงประจำรัฐ มีมติ 25 ต่อ 6 ผ่านกฎหมายรัฐบัญญัติห้ามทำแท้งทุกกรณี [1] เป็นกฎหมายต่อต้านการทำแท้งที่มีความเด็ดขาดที่สุดฉบับแรกในสหรัฐ ไม่เว้นแม้แต่กรณีที่เหยื่อตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน และผู้ร่วมสายเลือด ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีความทุพพลภาพ โดยที่ เคย์ ไอวีย์ ผู้ว่าการรัฐแอละแบมา พรรครีพับลิกัน กล่าวก่อนลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งว่า กฎหมายนี้เป็นจุดยืนของชาวแอละแบมาที่เชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า และทุกชีวิตเป็นของขวัญอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า

ขณะเดียวกัน ในรัฐที่ต่อต้านการทำแท้งอย่างรัฐมิสซิสซิปปี เคนทักกี มิสซูรี จอร์เจีย โอไฮโอ แอละแบมา และลุยเซียนา ผู้กำหนดนโยบายซึ่งเป็น ‘ผู้ชาย’ ก็มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน กล่าวคือยึดคุณค่าของการเกิดและชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์เป็นสำคัญ เข่น วาลารี ฮอดจ์ส ส.ส. พรรครีพับลิกันรัฐลุยเซียนา กล่าวว่า "ฉันเชื่อว่าสิทธิในการมีชีวิต อยู่เหนือสิทธิอื่นใดที่เรามี" เขายังยืนยันว่าสิทธิในการมีชีวิตของทารก สำคัญกว่าสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิง

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นชนวนให้เกิดการเรียกร้องและคัดค้านจากภาคประชาชน อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ ย้ำจุดยืนและเหตุผลที่การทำแท้งควรถูกกฎหมายไว้ว่า การเลือกว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่เป็นสิทธิในร่างกายขั้นพื้นฐานของผู้หญิง และการทำแท้งที่ถูกกฎหมายย่อมปลอดภัยกว่าการทำแท้งเถื่อน นอกจากนี้ยังมีกระแสความเห็นที่ว่าผู้ชายไม่ควรเป็นผู้ออกกฎหมายเกี่ยวกับร่างกายผู้หญิงอีกด้วย

ที่มาภาพ: CBS News

ในบรรยากาศร้อนระอุระหว่างเพศหญิงและชายผู้ผ่านร่างกฎหมายนี้ เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงใบหน้าของผู้ทำแท้ง คือเมื่อผู้หญิงหลายคนออกมาโพสต์ถึงประสบการณ์แย่ๆ ที่พวกเธอต้องเผชิญเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัยเพราะรัฐไม่รับรองในแฮชแท็ก #youknowme [2] ผู้ริเริ่มคือพิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่ชื่อ บีซี ฟิลิปส์ โดยที่ฟิลิปส์เริ่มต้นด้วยข้อความที่ว่า "มีผู้หญิง 1 ใน 4 เคยทำแท้งมาก่อน คนจำนวนมากคิดว่าพวกเขาไม่รู้จักคนที่เคยทำแท้ง แต่ #youknowme" แฮชแท็กนี้ถูกใช้จำนวนมาก เพื่อเผยให้เห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่เกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบจากเรื่องเหล่านี้

จากสถานการณ์ในประเทศไทย หรือเหตุการณ์ที่แตกต่างกันจากทั่วทุกมุมโลก สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ วาระเรื่องการยุติการตั้งครรภ์คือโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถลบ หรือทำเหมือนว่าไม่มีอยู่ได้ ทั้งนี้แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศโลกเสรี แนวทางปฏิบัติต่อประเด็นนี้ก็ยังแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือในทางสังคม สิทธิในร่างกายและความปลอดภัยของผู้หญิงควรเป็นประเด็นที่ได้รับพื้นที่และได้ยินเสียงของผู้หญิงเสมอ หากกฎหมายอนุญาต เสียงของผู้หญิงอาจชัดเจนกว่านี้ แม้หากกฎหมายห้าม เราก็ยังมีโอกาสได้ยินว่าผู้หญิงเหล่านี้โต้แย้งอย่างไรผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการเดินขบวน และหากโชคดีเราอาจได้ยินเสียงผู้หญิงเจ้าของปัญหาเด่นชัดทั้งสองด้าน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะตัดสินใจเดินหน้าอย่างไร

 

อ้างอิง

[1] https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48275795

[2] https://www.nytimes.com/2019/05/15/style/busy-philipps-abortion-youknowme.html

[1] https://foreignpolicy.com/2019/01/08/poland-is-trying-to-make-abortion-dangerous-illegal-and-impossible/

[2] https://www.cbs.nl/en-gb/news/2011/08/annual-number-of-abortions-stable-over-the-past-decade

[1] http://rh.anamai.moph.go.th/main.php?filename=act&fbclid=IwAR3bQJvq4peyDzbMm60xQH5JnYA6qxusvJ5ZSKsM8dFsqflhELhDohU-C_w

[2] http://rh.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=277&filename=index&fbclid=IwAR1DQmdKGGkaj0HeE2-77Qu7CuckJy7KnopI218OyLOj_-96rrbZj5fk2I0

[3] https://www.rsathai.org/contents/13515

[1] http://www.womenhealth.or.th/home-facts-aboriton.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: