พื้นที่สีเทา

ยศธร ไตรยศ / Realframe: 29 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4841 ครั้ง


ไม่กี่วันก่อนขึ้นปีใหม่ ผมเก็บข้าวของ ร่ำลามิตรสหาย ส่งมอบห้องพักที่เช่าไว้เป็นเวลาสามเดือน เป็นช่วงเวลาพอดีกับที่ใช้ทำงานในโปรเจกต์ถ่ายภาพที่ผมสนใจ นี่คือโปรเจกต์ภาพถ่ายที่ผมเฝ้ารอ ประเด็นที่ท้าทายและค่อนข้างทับซ้อน ออกจะเปราะบางด้วยซ้ำ เมื่อมองผ่านสายตาของคนนอก  รวมไปจนถึงพื้นที่ทำงานที่ส่วนใหญ่ถูกจำแนกจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐว่าแผ่นดินบริเวณนั้นคือพื้นที่สีแดง

หลังจากที่ภาพของบรรยากาศการเดินทางไปฉลองปีใหม่ทางสื่อช่องทางต่างๆ เริ่มซาลง ข่าวความรุนแรงระลอกใหม่ในของสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกยกขึ้นมาแทนที่ พร้อมกันกับการถกเถียงและวิวาทะในโลกโซเชียล ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นใต้เนื้อหาข่าวที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นเดือดดาล ด้วยเหตุแห่งความหวงแหนผืนแผ่นดินบริเวณนั้น แผ่นดินที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เรียกกันในนาม “ปาตานี” (Patani)

เพื่อความชัดเจน งานเขียนชิ้นนี้ไม่น่าจะจัดอยู่ในประเภทของบทความ จากการขาดคุณสมบัติหลายอย่างที่บทความพึงจะมี  ซึ่งโดยความตั้งใจแล้วผมเองในฐานะช่างภาพเพียงแต่ต้องการบอกเล่าประสบการณ์บางอย่างจากการทำงานในพื้นที่ซึ่งว่ากันว่าเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง ขณะเดียวกันก็เปราะบางอยู่ในตัว

ก่อนหน้านี้ประสบการณ์ของผมกับปัตตานีอาจพอมีอยู่บ้างในลักษณะที่เป็นทางการ เช่นเข้าร่วมอบรม วงเสวนา หรือทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย  นอนค้างไม่กี่คืนแล้วก็กลับ แต่นั่นก็เพียงพอจะทำให้ความกังวลบางอย่างพอจะเบาบางลงไปได้ 

ทุกเช้าแบเลาะห์ เพื่อนผู้ทำหน้าที่นำทางในฐานะเจ้าบ้านจะขับรถมารับผมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางตามแผนงานที่เราว่างกันไว้  “ผมขับรถมากับพี่แล้วสบายใจ” เป็นคำกล่าวที่แบเลาะห์มักบอกกับผมบ่อยๆ เขาให้เหตุผลว่าการมีคนนอกที่ไม่ใช่มุสลิมนั่งมาในรถด้วยทำให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย ลดโอกาสที่จะถูกเรียกซักถามหรือตรวจค้นลงไปได้มากจาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปรกติที่แบขับรถไปไหนมาไหนคนเดียว บ่อยครั้งเขามักแวะรับรุ่นน้องคนสนิทนั่งรถมาเป็นเพื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการขับรถกลับบ้านที่อยู่ต่างอำเภอเพียงคนเดียว “ไม่ได้ทำผิดจะกลัวทำไม” คำนี้ใช้ไม่ได้กับแถวนี้ แบพูดแบบติดตลก

ไม่นับรวมด่านตรวจในตัวเมืองปัตตานีที่ตั้งห่างกันแทบจะทุกๆ 500 เมตรโดยประมาณแล้ว ห่างออกไปนอกเมือง ระยะทางระหว่างแต่ละด่านตรวจถือว่าไม่มากนัก แต่ก็มากเพียงพอที่จะสร้างความรู้สึกบางอย่างให้กับผู้สัญจรผ่านเส้นทางในสามจังหวัด  ในมุมของผู้มาเยือนอาจให้ความรู้สึกปลอดภัยสบายใจเสมือนได้รับการคุ้มคลองตลอดเส้นทาง มันต่างออกไปในมุมของชาวบ้านโดยเฉพาะชาวมุสลิม พวกเขาต่างรู้สึกตรงกันว่าถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ มุสลิมแทบทุกคนที่ผมรู้จักต่างมีเรื่องตื่นเต้นมาเล่าสู่กันฟังขณะขับรถผ่านด่านความมั่นคงจนกลายเป็นความปรกติของหัวข้อสนทนาในหมู่พวกเรา  สำหรับผมแล้ว แม้จะกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่บ้างในช่วงแรก แต่กลับไม่เคยรู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้นเลยเมื่อผ่านด่านความมั่นคง ตรงกันข้ามกับเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนบางอย่างทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ความรู้สึกว่ามีคนจ้องจับผิดทำให้กลไกการป้องกันตัวทำงานโดยไม่จำเป็น...ใครบางคนบอกกับผม “ไม่เคยมีคนร้ายถูกจับได้ขณะผ่านด่าน”

 

ครั้งหนึ่งผมขอให้แบเลาะห์จอดรถเพื่อแวะถ่ายภาพบริเวณริมชายหาดที่สวยและเงียบสงบซึ่งเรามักขับรถผ่านเป็นประจำ แบกับรุ่นน้องรออยู่ในรถเช่นเดียวกันกับทุกครั้งที่ผมแวะถ่ายรูประหว่างทาง หลังจากถ่ายภาพอยู่ริมทะเลสัก 10 นาที ผมรับโทรศัพท์จากแบเลาะห์ขอให้กลับมาที่รถด่วนเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่มาขอข้อมูล บรรยากาศเริ่มคลี่คลายลงเมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งคาดว่าเป็นหัวหน้าทีมเห็นผมซึ่งน่าจะมองออกได้ไม่ยากว่าเป็นคนนอกพื้นที่ เขากล่าวทักทายและอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องซักถามข้อมูลต่างๆ โดยที่ผมแทบไม่ได้เอ่ยปากถามอะไร  รวมถึงรับทราบว่าผมมาถ่ายภาพจากคำบาอกเล่าของแบเลาะห์มาก่อนแล้ว “พี่เขาจะเชิญผมไปกินกาแฟที่ค่าย”  แบเลาะห์กระซิบเบาๆ ด้วยน้ำเสียงเป็นกังวล

ผมหันกลับไปบอกกับเจ้าหน้าที่คนนั้นว่าผมจำเป็นต้องให้แบเลาะห์ขับรถพาลงพื้นที่เพื่อทำงานภาพถ่ายซึ่งต้องแข่งกับเวลา พร้อมกับสบโอกาสเปิดภาพในกล้องที่เพิ่งถ่ายมาและอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการลงมาถ่ายภาพให้เข้าฟัง แน่นอนว่าอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่ในสถานการณ์นั้นมันเพียงพอให้พวกเราได้ไปต่อ “เลยจากตรงนี้ไปกิโลนึงสวยครับพี่ วันก่อนเวียร์ ที่เป็นดารายังมาถ่ายรายการเลย” หนึ่งเจ้าหน้าที่สวมแว่นดำสะพายปืนยาวกล่าวแนะนำ ผมสอบถามเพิ่มเติมพร้อมกล่าวขอบคุณและพยายามปลีกตัวออกมาเพื่อไปทำงานต่อ “คราวหน้าเข้ามากินกาแฟกัน อยากขอคุยด้วยหน่อย” หัวหน้าชุดหันมาย้ำกับแบเลาะห์พร้อมขอเบอร์ติดต่อเอาไว้

“ถ้าพี่ไม่มาด้วยป่านนี้ผมเข้าไปอยู่ในค่ายแล้ว” แบเลาะห์บอกกับผมซ้ำๆ มือของเขายังคงสั่นเช่นเดียวกับหัวใจที่เต้นแรง บทสนทนาบนรถยังคงวนอยู่ในเหตุการณ์นั้นไปอีกหลายชั่วโมง ไม่น่าแปลกใจเมื่อพบว่าเขาเคยมีอดีตจากการ “เข้าค่าย” มาแล้วถึงสามครั้ง 

 

ตลอดช่วงเวลาทำงานมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอยู่เรื่อย บางเหตุการณ์หนักถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต ขณะที่บางเหตุการณ์เป็นการสร้างสถานการณ์เพียงเพื่อแสดงสัญญะบางอย่างบนหน้าสื่อ ชีวิตยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับในพื้นที่อื่น ร้านอาหารเต็มไปด้วยลูกค้าขาประจำและขาจร ตลาดนัดที่เต็มไปด้วยผู้คนมีให้เห็นอยู่ทุกอำเภอ  ร้านกาแฟร้านน้ำชา ยังคงเป็นศูนย์รวมของวงเสวนาเช่นเดียวกับในพื้นที่อื่น ก่อนบ่ายของวันศุกร์ชายหนุ่มเบียดเสียดกันละหมาดในมัสยิด ชาวพุทธยังคงออกมาตักบาตรในตอนเช้า ขณะที่แผงพระเครื่องก็คึกคักด้วยบรรดาเซียนพระราวกับตลาดพระท่าพระจันทร์ในกรุงเทพฯ  ภาพของสนามแข่งนกเขาปะปนไปด้วยชาวพุทธและมุสลิมถือเป็นเรื่องปรกติ

บางเหตุการณ์เกิดกลางดึก แต่เช้ามาผู้คนก็ยังไปตลาด ส่งลูกที่โรงเรียน บางเหตุเกิดในย่านการค้า วันต่อมาร้านค้าต่างๆ ก็เปิดกันตามปรกติ เดิมทีผมเคยเข้าใจว่าเป็นความเคยชิน แต่จากที่ลงไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กันจึงพบว่ามันไม่ใช่ ข้อสรุปส่วนใหญ่ที่ได้รับคือภาวะจำยอม ด้วยเหตุผลในข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของพื้นที่สามจังหวัดที่ทางเลือกในการประกอบอาชีพมีอยู่ไม่มากนัก ซึ่งหากไม่ใช่การค้าขาย ก็ไม่พ้นเกษตรกรรมหรือทำประมงขนาดเล็ก มีส่วนน้อยที่ผันตัวเองเป็นนายทุนหรือประกอบกิจการขนาดใหญ่ สภาวะดังกล่าวส่งผลให้พวกเขาต้องออกมาขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ด้วยตัวเอง ทั้งในฐานะผู้ประกอบการและผู้บริโภคในรูปแบบของการใช้ชีวิตให้เป็นปรกติเช่นเดียวกับผู้คนในพื้นที่อื่นๆ

 

ทุกเย็นหลังเสร็จจากการทำงานถ้าไม่ค่ำจนเกินไปนักผมมักชวนแบเลาะห์ขับรถเลียบชายฝั่งทะเลระหว่างเส้นทางกลับที่พักอยู่เสมอ ทะเลที่นี่สวยงามเงียบสงบให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวขณะที่ตั้งอยู่ในพื้นของส่วนรวม น้ำทะเลอาจไม่ใช่สีฟ้าครามแต่ก็ใสสะอาดในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของทะเลฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเลียบชายทะเลปะนาเระไปจนถึงไม้แก่น คือเส้นทางที่ผมเลือกใช้ประจำระหว่างการทำงานในพื้นที่นี้ 

ระหว่างระยะเวลานัดหมายบางวัน เราสนุกกับการขับไปยังถนนเส้นเล็กๆ ที่ตัดผ่านหมู่บ้านต่างๆ ลัดเลาะจากตำบลหนึ่งไปสู่อีกตำบล จากหมู่บ้านไทยพุทธสู่หมู่บ้านชาวมลายูสลับกันไปเรื่อยๆ  ภาพของวิถีชีวิตตลอดสองข้างทางคือความปรกติธรรมดาที่แฝงไปด้วยความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แนวรั้วที่กั้นสลับไปมาบนถนนเป็นเสมือนเส้นแบ่งพรมแดนของทั้งสองวัฒนธรรม ชัดเจนว่านี่อาจไม่ใช่การอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมแบบที่ใครต่อใครฝันให้เป็นแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดข้ามผ่านไปมาระหว่างกันไม่ได้  บางที่เชื่อมถึงกันด้วยตลาด บางที่ก็เป็นสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ทำหน้าที่เสมือนพื้นที่ส่วนกลางของทั้งสองวัฒนธรรม 

ผมเริ่มต้นจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยและไม่แน่ใจนักว่าในฐานะที่ไม่ใช่คนมุสลิม จะได้รับการตอบรับแบบไหนในพื้นที่ตรงนั้น พื้นที่ซึ่งใครบางคนเรียกมันว่าสีแดง วาทกรรมผู้ก่อความไม่สงบหรือโจรใต้ส่งผลอยู่บ้างแต่ไม่ใช่กับผม กลับเป็นคนรอบๆ  ตัวที่เป็นห่วงและคอยเตือนให้ระวังตัวโดยตลอด ความกังวลในใจผมคลี่คลายไปตามลำดับ พร้อมๆ กับเสียงทักท้วงจากคนรอบข้าง มันเป็นไปตามธรรมชาติเมื่อข้อสงสัยต่างๆ ถูกคลี่คลายลงพร้อมๆ กับการเอาตัวและหัวใจลงไปสัมผัส และให้เวลากับสิ่งที่ทำอยู่อย่างเต็มที่  บางคำถามได้รับคำตอบโดยไม่มีการอธิบาย ผู้เป็นเจ้าบ้านเพียงแค่ปล่อยให้ความจริงที่อยู่รอบข้างทำงานไปอย่างเรียบง่าย แค่เพียงผู้มาเยือนก้าวข้ามเส้นบางๆ แห่งวาทกรรมที่แบ่งเขาและเราออกจากความเป็นคน

 

พื้นที่สีแดงไม่มีอยู่จริง มันเป็นสีเทาๆ พอๆ กับที่อื่น สีเทาที่เป็นส่วนผสมของขาวและดำ นั่นคือสีที่น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องได้ดีที่สุดแล้ว....คือข้อสรุปจากการทำงานชิ้นนี้

 

ผมจัดการปรับไฟล์ภาพตลอดระยะเวลาของการทำงาน3เดือนในปัตตานีโดยปรับมันให้เป็นสีเทา....

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: