แบ่งโควต้าผลิตไฟโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ กฟผ.ได้ 2,000 เอกชนได้ 725 เมกะวัตต์

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 3134 ครั้ง

แบ่งโควต้าผลิตไฟโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ กฟผ.ได้ 2,000 เอกชนได้ 725 เมกะวัตต์

รัฐมนตรีพลังงาน เผยแบ่งโควต้าผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเอง 2,000 เมกะวัตต์ และเปิดรับซื้อจากเอกชน 725 เมกะวัตต์ โดยต้องรอให้ กฟผ.เริ่มนำร่องก่อน 45 เมกะวัตต์ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ในขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน (พพ.) เตรียมของบประจำปี 2563 ทำโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนขนาดเล็กคาดมีศักยภาพ 200 เมกะวัตต์ ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562 ว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่บรรจุไว้ในแผน PDP2018 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2562 ที่ผ่านมาว่ากำลังการผลิตที่กำหนดไว้ทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ จะแบ่งเป็นการผลิตจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 725 เมกะวัตต์ จะเปิดให้รับซื้อเป็นการทั่วไป แต่ต้องรอดูผลการนำร่องโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. ก่อน เนื่องจากต้องการให้ราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาขายส่งของ กฟผ.

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กำชับให้ กฟผ.สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลักทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์และทุ่นลอยน้ำ แม้ว่าในประเทศจะมีผู้ผลิตไม่กี่รายเช่นกลุ่ม SCG แต่ก็ไม่ปิดกั้นรายอื่นที่มีศักยภาพจะดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ได้เตรียมของบประมาณประจำปี 2563 เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนขนาดเล็กของ พพ. ที่มีกว่า 20 เขื่อนทั่วประเทศเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ทาง พพ.ได้เคยมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเอาไว้ และพบว่าจะมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200 เมกะวัตต์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: