สื่อเผย 'หนุ่ม-สาวลำพูน' เมินโรงงาน หันทำอาชีพอิสระมากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5034 ครั้ง

สื่อเผย 'หนุ่ม-สาวลำพูน' เมินโรงงาน หันทำอาชีพอิสระมากขึ้น

รายงานพิเศษสื่อ 'เชียงใหม่นิวส์' ระบุอัตราการสมัครงานฝ่ายผลิตของคนหนุ่มสาว (20-25 ปี) ในพื้นที่ จ.ลำพูน ลดลงมาก ส่วนที่ยังทำงานในโรงงานอยู่ส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป พบคนรุ่นใหม่หันทำอาชีพอิสระมากขึ้น ที่มาภาพ: Google Maps

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562 เว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์ รายงานว่าผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล เครือโรงงานดังในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (นิคมอุตสาหกรรมลำพูน) กล่าวว่าอัตราการสมัครงานฝ่ายผลิตของคนหนุ่มสาว (20-25 ปี) ในพื้นที่ลำพูน ลดลงมาก ทั้ง ๆ ที่ มีค่าแรงขั้นต่ำ ค่ากะ เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา พร้อมสวัสดิการเพื่อ สร้างแรงจูงใจค่อนข้างมาก ที่ทำงานกันส่วนใหญ่ขณะนี้จะอายุ 40 ปีขึ้นไป มีภาระทำให้ตัดสินใจ ทำอย่างอื่นค่อนข้างลำบาก แต่ในระบบโรงงานต้องการคนหนุ่มคนสาวเข้ามาเติม

ทั้งนี้ส่งผลให้กระบวนการผลิตบางขั้นตอน ต้องพัฒนานำระบบ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้ แม้จะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงแต่ทราบว่า หลาย ๆ โรงงาน เช่น ในกลุ่มอีเลคทรอนิกส์ ก็หาทางรับมือด้านบุคลากรไว้แล้ว ที่เปิดรับ ส่วนใหญ่จะเป็นระดับหัวหน้างาน, วิศวกร, ผู้ชำนาญเฉพาะด้าน ส่วนแรงงานทั่วๆ ไปตามสายการผลิต อยู่ไม่ค่อยทน เนื่องจากเป็นงานจำเจ ต้องยืนเป็นกะนาน ๆ คนรุ่นหนุ่มสาว เจอสภาพแบบนี้ไม่มีร่ำลา ออกไปเลยก็มี

'เอก' (นามสมมติ) เจ้าของร้านอาหารย่านสันป่าฝ้าย เมืองลำพูน วัย 35 ปี กล่าวว่าเคยอยู่ในระบบโรงงาน จบสารพัดช่าง ค่าจ้าง รายได้รวมกับภรรยาที่พบกัน ในโรงงานก็ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท แต่อยู่ไม่ได้ เนื่องจากสายงานผลิตแรกๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร แต่นานๆ ไป สภาพที่เผชิญ ทั้งกลิ่น สารเคมี ทำให้กังวล โดยกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะมาตรฐานใดก็คือโรงงาน เลยตัดสินใจมาเปิดร้านเหล้า ทำในสิ่งที่ชอบจริงๆ ดีกว่า ช่วงหลังๆ มีร้านเปิดเยอะทำให้รายได้ลดไปบ้าง แต่อยู่ได้เรื่อยๆ

จากการตรวจสอบข้อมูลในนิคมภาคเหนือในเขตส่งออกซึ่งมีเนื้อที่ กว่า 808 ไร่ ผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ภายใต้กระบวนการผลิตและขั้นตอนต่างๆ เช่น ฐานแผ่นวงจรไฟฟ้า ตัวกรองสัญญา ผลึกควอทช์ประกอบตัวไอซี เป็นต้น กระบวนการผลิตและวัตถุดิบถูกปกปิดเป็นความลับ ไม่มีผลวิจัยด้านอาชีวอนามัยว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานในสายงานผลิต

ช่วงปี 2537 กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางยกระดับสุขภาพพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ แต่กลุ่มผู้ประกอบการไม่ยินยอมให้ เข้าตรวจสอบ โดยอ้างว่าคณะทำงานไม่เป็นกลาง ทำงานตามกระแส และมาตรฐานโรงงานแต่ละแห่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานในการขยายพื้นที่เพื่อเปิดนิคมฯ เฟส 2 ยอมรับว่า กลุ่มผู้ลงทุนสนใจน้อย มีโรงงานเดิมไม่กี่แห่งที่สนใจขยายพื้นที่ลงทุนผลิตเพิ่ม แต่ข่าวลือย้ายฐานผลิตจากโรงงานนั้น โรงงานนี้ไปแถบเพื่อนบ้าน ไม่มี ที่เป็นปัญหาคือคนเข้ามาในระบบโรงงานน้อยลง ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาวลำพูนมีพื้นฐานครอบครัวดีมีไร่นาสวน พอที่จะเป็นหลักประกันสินเชื่อลงทุนตามที่ตั้งใจ เด็กรุ่นใหม่ๆ หันไปทำอาชีพอิสระกันมากขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมใหม่ ต้องมีเรื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์เข้ามาในระบบ เป็นการทดแทนแรงงานในขั้นตอนที่เริ่มขาดแคลน ไม่น่าจะเป็นประเด็นว่าโรงงานในเขตนิคมฯ ผู้คนไม่สนใจมาทำงานทุกอย่างปกติ แต่การหาคนมาทำในสายงานผลิตไร้ทักษะจะเริ่มหายาก ส่วนระดับมีความรู้เฉพาะด้านยังขาดแคลนเป็นที่ต้องการ เช่น จักรกลโรงงาน, ควบคุมการผลิตระดับวิศวกร เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: