พัชณีย์ คำหนัก ประธานเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ แปล ‘อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ฉบับที่ 183 ค.ศ.2000’ [Maternity Protection Convention, 2000 (No. 183)] ที่มาภาพประกอบ: IndustriALL
อารัมภบท
การประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ได้มีการประชุมที่กรุงเจนิวาโดยคณะผู้ประศาสน์การของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศและได้ประชุมกันเป็นสมัยที่ 88 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.2000 และ
บันทึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ฉบับแก้ไข) ปี 1952 (พ.ศ.2495) และข้อแนะว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ปี 1952 เพื่อขยายการคุ้มครองส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสตรีทุกคนที่เป็นกำลังแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัยของแม่และเด็กและเพื่อตระหนักถึงความหลากหลายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก รวมทั้งความหลากหลายของสถานประกอบการกับการพัฒนาสิทธิความเป็นมารดาในกฎหมายและแนวปฏิบัติของชาตินั้น
สังเกตว่าบทบัญญัติของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (1948) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (1979) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (1989) ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการ (1995) ประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติต่อแรงงานสตรี (1975) ปฏิญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานและการติดตามผล (1998) เช่นเดียวกับอนุสัญญาและข้อแนะด้านแรงงานระหว่างประเทศนั้น มีเป้าหมายเพื่อประกันความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติต่อแรงงานชายและหญิง โดยเฉพาะอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของแรงงานที่มีต่อครอบครัว ปี 1981 และ
คำนึงถึงสถานการณ์ของแรงงานหญิงและความจำเป็นที่จะให้ความคุ้มครองการตั้งครรภ์ ที่ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐบาลและสังคมด้วยและ
ตัดสินใจที่จะรับเอาข้อเสนอบางประการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (แก้ไข), 1952 และข้อแนะ 1952 ซึ่งอยู่ในรายการที่สี่ของระเบียบวาระการประชุมและ
กำหนดแล้วว่าข้อเสนอเหล่านี้พึงอยู่ในรูปของอนุสัญญาระหว่างประเทศ
ลงมติรับรองวันที่สิบห้าของเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2000 และอนุสัญญาฉบับนี้เรียก อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543)
ขอบเขต
มาตรา 1
ด้วยเป้าหมายของอนุสัญญาฉบับนี้ คำว่า ผู้หญิง ใช้กับบุคคลเพศหญิงโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ และคำว่า เด็ก ใช้กับเด็ก โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ
มาตรา 2
- อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับลูกจ้างหญิงทุกคน รวมถึงผู้หญิงที่ทำงานในรูปแบบไม่ได้มาตรฐาน
- อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ หลังจากประชุมหารือกับตัวแทนองค์การนายจ้างและแรงงานที่เกี่ยวข้อง อาจยกเว้นทั้งหมดหรือบางส่วนของขอบเขตอนุสัญญาฉบับนี้กับงานบางประเภท เมื่อมีการนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดปัญหาพิเศษบางประการ
- ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศที่เป็นไปได้ว่าจะปฏิบัติตามความในวรรคก่อน ในการจัดทำรายงานฉบับแรกให้เป็นไปตามอนุสัญญาฉบับนี้ ภายใต้มาตรา 22 ของธรรมนูญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ต้องระบุประเภทของงานที่ได้รับยกเว้นและเหตุผลของการยกเว้น และในรายงานฉบับตามมา ประเทศสมาชิกพึงต้องแสดงมาตรการที่จะนำอนุสัญญาฉบับนี้ไปใช้ดำเนินการในงานประเภทดังกล่าว
การคุ้มครองสุขภาพ
มาตรา 3
ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศพึงต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ต้องปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของแม่หรือเด็ก หรือประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของแม่หรือเด็ก
สิทธิลาคลอด
มาตรา 4
- ในการออกใบรับรองแพทย์หรือใบรับรองอื่นที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและแนวปฏิบัติของชาติ พึงระบุวันที่คาดว่าจะคลอดบุตร ผู้หญิงที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาฉบับนี้พึงได้รับสิทธิ์ในการลาคลอดไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์
- ระยะเวลาของการลาคลอดจากความข้างต้นควรกำหนดโดยประเทศสมาชิกแต่ละประเทศไว้ในประกาศที่จะต้องออกตามมาหลังจากรับรองอนุสัญญาฉบับนี้
- ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องแจ้งผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หากมีประกาศเพิ่มเติมขยายระยะเวลาการลาคลอด
- เพื่อคำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของแม่และลูก การลาคลอดต้องรวมระยะเวลาหลังคลอดบุตรแบบบังคับเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เว้นแต่รัฐบาลจะตกลงเป็นอย่างอื่นกับองค์การตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างในระดับชาติ
- การลาก่อนคลอดนั้นขยายระยะเวลาได้ ในระหว่างวันกำหนดคลอดบุตรที่สันนิษฐานไว้และวันคลอดจริง โดยไม่ลดระยะเวลาลาหลังคลอดแบบบังคับ
การลาในกรณีที่เจ็บป่วยหรือมีอาการแทรกซ้อน
มาตรา 5
ในการออกใบรับรองแพทย์ การลาพึงให้ลาก่อนหรือหลังครบกำหนดลาคลอดในกรณีที่เจ็บป่วย มีภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร ระยะเวลาสูงสุดของการลาดังกล่าวอาจระบุไว้ในกฎหมายและแนวปฏิบัติของชาตินั้น
ผลประโยชน์
มาตรา 6
- จัดให้มีผลประโยชน์ตัวเงินตามกฎหมายและกฎระเบียบของชาติ หรือในลักษณะอื่นใดที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของชาตินั้น ให้แก่ผู้หญิงที่ลาคลอด ไม่ได้ทำงาน ตามความในมาตรา 4 หรือ 5
- ผลประโยชน์ตัวเงินจะต้องอยู่ในระดับที่ทำให้มั่นใจว่า ผู้หญิงสามารถดูแลรักษาตัวเองและลูกในสภาพที่เหมาะสมต่อสุขภาพอนามัยและมาตรฐานการครองชีพ
- ภายใต้กฎหมายหรือแนวปฏิบัติของชาติ ในกรณีที่ผลประโยชน์ตัวเงินที่จ่ายในระหว่างลาคลอด ตามความในมาตรา 4 ขึ้นอยู่กับรายได้ก่อนหน้า จำนวนเผลประโยชน์ตัวเงินดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของรายได้ก่อนหน้า หรือรายได้ก่อนหน้าเหล่านั้นควรนำมาพิจารณาเพื่อคำนวณผลประโยชน์ดังกล่าว
- ภายใต้กฎหมายหรือแนวปฏิบัติของชาติ ในกรณีที่ใช้วิธีการอื่นคำนวณผลประโยชน์ตัวเงินที่จ่ายในวันลาคลอดตามมาตรา 4 จำนวนของผลประโยชน์ตัวเงินที่ได้ควรใกล้เคียงกับจำนวนเงินตามความในวรรคก่อน
- ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศพึงตรวจสอบให้แน่ใจว่าเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ตัวเงินสามารถทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาฉบับนี้มีความพอใจ
- ในกรณีที่ผู้หญิงมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขในการรับผลประโยชน์ตัวเงินภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของชาตินั้น หรือในลักษณะอื่นใดที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ เธอพึงควรได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอจากกองทุนช่วยเหลือสังคมในระดับค่าเฉลี่ย
- จัดหาสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์แก่สตรีและบุตรตามกฎหมายและกฎระเบียบของชาติ หรือในลักษณะอื่นใดที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของชาตินั้น สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์รวมถึงการฝากครรภ์ การคลอดและการดูแลหลังคลอดเช่นเดียวกับการดูแลรักษายามจำเป็น
- เพื่อปกป้องสถานการณ์ของผู้หญิงในตลาดแรงงาน ผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับการลาที่ระบุไว้ในมาตรา 4 และ 5 ควรถูกจัดสรรผ่านระบบประกันสังคมหรือกองทุนสาธารณะหรือในลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎหมายและแนวปฏิบัติของชาติ นายจ้างไม่ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองโดยตรง หากไม่มีข้อตกลงเป็นการเฉพาะ ยกเว้นในกรณีที่:
(ก) ข้อตกลงดังกล่าวมีไว้สำหรับกฎหมายหรือแนวปฏิบัติของชาติ ซึ่งมีมาก่อนวันรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ โดยที่ประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ
(ข) ต่อมาได้มีการตกลงกันระหว่างรัฐบาล องค์การตัวแทนของนายจ้างและแรงงานในระดับชาติ
มาตรา 7
- ประเทศสมาชิกที่ระบบเศรษฐกิจและระบบประกันสังคมไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอในการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 6 วรรค 3 และ 4 การให้ผลประโยชน์ตัวเงินควรอยู่ในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราที่จ่ายในกรณีเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพชั่วคราวของกฎหมายและกฎระเบียบของชาตินั้น
- ประเทศสมาชิกที่มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในวรรคก่อน ในรายงานฉบับแรกที่ต้องจัดทำตามอนุสัญญาฉบับนี้ ภายใต้มาตรา 22 ของธรรมนูญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ควรอธิบายเหตุผลและระบุอัตราผลประโยชน์ที่ให้แก่ลูกจ้างหญิง และในรายงานฉบับตามมา ประเทศสมาชิกต้องอธิบายถึงมาตรการที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มผลประโยชน์นั้นต่อไป
การคุ้มครองการจ้างงานและการไม่เลือกปฏิบัติ
มาตรา 8
- เป็นเรื่องผิดกฎหมายหากนายจ้างยุติการจ้างงานผู้หญิงในระหว่างตั้งครรภ์หรือลาคลอด ที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 หรือ 5 หรือในช่วงระยะเวลาหลังจากกลับไปทำงานตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของชาติ ยกเว้นแต่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หรือการเกิดของเด็ก รวมถึงผลที่ตามมาหลังคลอดบุตรหรือการให้นมบุตร ส่วนภาระในการพิสูจน์สาเหตุของการเลิกจ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรและผลที่ตามมาหรือการให้นมบุตรต้องเป็นภาระของนายจ้าง
- ผู้หญิงที่ได้รับคุ้มครองสิทธิควรกลับไปทำงานตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่จ่ายในอัตราเดียวกันเมื่อสิ้นสุดการลาคลอด
มาตรา 9
- ประเทศสมาชิกพึงใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าการคลอดบุตรไม่ได้ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน รวมถึงการเข้าถึงการจ้างงาน
- มาตรการที่อ้างไว้ในวรรคก่อนจะต้องมีข้อห้ามมิให้ทดสอบการตั้งครรภ์หรือแสดงหนังสือรับรองการทดสอบดังกล่าวเมื่อผู้หญิงสมัครงาน ยกเว้นในกรณีที่กฎหมายหรือกฎระเบียบของชาติระบุว่าเป็นงานที่:
(ก) ห้ามหรือจำกัดสำหรับสตรีมีครรภ์หรือแม่ลูกอ่อนภายใต้กฎหมายหรือกฎระเบียบของชาติ; หรือ
(ข) ในกรณีที่มีความเสี่ยงหรือมีนัยสำคัญต่อสุขภาพของผู้หญิงและเด็ก
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
มาตรา 10
- ผู้หญิงพึงได้รับสิทธิในการพักหนึ่งครั้งหรือมากกว่าต่อวันหรือลดชั่วโมงการทำงานทุกวันเพื่อให้นมลูก
- อนุญาตให้ลูกจ้างหญิงหยุดพักให้นมบุตร หรือลดชั่วโมงการทำงาน จำนวนชั่วโมง ระยะเวลาพักให้นมบุตร และกระบวนการลดชั่วโมงทำงาน ให้กำหนดโดยกฎหมายและแนวปฏิบัติของชาติ การหยุดพักหรือการลดชั่วโมงการทำงานเหล่านี้ให้นับเป็นเวลาทำงานและจ่ายค่าตอบแทนด้วย
การรายงานเป็นระยะ
มาตรา 11
ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศพึงต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ โดยประชุมหารือกับองค์การตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้าง ความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการลาที่ระบุไว้ในมาตรา 4 หรือการเพิ่มจำนวนหรืออัตราผลประโยชน์ตัวเงินที่ระบุไว้ในมาตรา 6
การดำเนินงาน
มาตรา 12
อนุสัญญาฉบับนี้พึงดำเนินการผ่านการจัดทำกฎหมายหรือกฎระเบียบข้อบังคับ เว้นแต่มีการบังคับใช้แล้วในข้อตกลงร่วม คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ คำตัดสินของศาลหรือในลักษณะอื่นใดที่สอดคล้องแนวปฏิบัติของชาติ
บทบัญญัติสุดท้าย
มาตรา 13
อนุสัญญาฉบับนี้ได้แก้ไขอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ฉบับแก้ไข) ค.ศ.1952
มาตรา 14
การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้อย่างเป็นทางการต้องแจ้งผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศเพื่อจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 15
- อนุสัญญาฉบับนี้จะผูกพันเฉพาะกับสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วกับผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ
- อนุสัญญาจะมีผลบังคับใช้หลัง 12 เดือนนับจากวันที่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ของประเทศสมาชิกสองประเทศได้รับการจดทะเบียนโดยผู้อำนวยการใหญ่
- หลังจากนั้น อนุสัญญาฉบับนี้จะเริ่มบังคับใช้ในประเทศสมาชิกเมื่อพ้น 12 เดือนนับจากวันที่ให้สัตยาบัน
มาตรา16
- ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้อาจบอกเลิกได้ภายหลังระยะเวลาพ้นไปแล้วสิบปีนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรก โดยแจ้งผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศเพื่อจดทะเบียนบอกเลิก การบอกเลิกดังกล่าวจะยังไม่มีผลจนกว่าระยะเวลาจะพ้นไปหนึ่งปีนับจากวันที่จดทะเบียนแจ้งยกเลิก
- ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้และไม่ได้ใช้สิทธิขอยกเลิก ในปีถัดไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสิบปีตามความในวรรคก่อน จะต้องผูกพันไปอีกสิบปี และหลังจากนั้นอาจขอยกเลิกอนุสัญญาฉบับนี้ได้เมื่อครบกำหนดสิบปีตามเงื่อนไขของมาตรานี้
มาตรา 17
- ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศจะแจ้งให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศทราบถึงผลการจดทะเบียนการให้สัตยาบันและการบอกเลิกสัตยาบัน
- เมื่อแจ้งให้ประเทศสมาชิกขององค์การฯ ทราบถึงการจดทะเบียนการให้สัตยาบันครั้งที่สอง ผู้อำนวยการใหญ่พึงแจ้งประเทศสมาชิกขององค์การฯ ให้ทราบถึงวันที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้
มาตรา 18
ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศพึงแจ้งเรื่องการจดทะเบียนกับเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ ให้เป็นไปตามมาตรา 102 ของกฎบัตรสหประชาชาติ โดยให้ทราบถึงรายละเอียดของการให้สัตยาบันและการบอกเลิกตามเงื่อนไขของมาตราก่อนหน้า
มาตรา 19
ในระหว่างนี้ คณะผู้ประศาสน์การ องค์การแรงงานระหว่างประเทศจะนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของอนุสัญญาฉบับนี้ต่อที่ประชุมใหญ่และตรวจสอบความต้องการว่าควรจะให้มีการแก้ไขอนุสัญญาฉบับนี้ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนไว้ในระเบียบวาระการประชุม
มาตรา 20
- ที่ประชุมรับรองอนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่ ที่แก้ไขอนุสัญญาฉบับนี้ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน เว้นแต่อนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่จะจัดให้มี:
(ก) การให้ประเทศสมาชิกรับรองอนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่ จะต้องมีการบอกเลิกอนุสัญญาฉบับนี้โดยทันที แม้จะมีเงื่อนไขระยะเวลาในมาตรา 16 หากและเมื่ออนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้
(ข) นับจากวันที่อนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้ อนุสัญญาฉบับนี้จะยุติลง เพื่อเปิดให้สมาชิกรับรองอนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่
- อนุสัญญาฉบับนี้พึงถูกบังคับใช้ในกรณีใด ๆ ก็ตาม ในแบบและเนื้อหาเดิมที่สมาชิกได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่
มาตรา 21
ตัวบทของอนุสัญญาฉบับนี้ ทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมีผลเท่าเทียมกัน
แปลและเรียบเรียงจาก: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ. C183 - Maternity Protection Convention, 2000 (No.183). สืบค้นจาก https://www.ilo.org/dyn/normlex/en/f?p=NORMLEXPUB:12100:0::NO::P12100_ILO_CODE:C183
หมายเหตุ: ผู้แปลได้ดูแนวทางตัวอย่างการแปลอนุสัญญาฉบับอื่นด้วย หากนำไปใช้โปรดอ้างอิงชื่อผู้แปล เพราะยังไม่มีผู้ใดแปลอย่างเป็นทางการ จากการค้นหาในเว็บไซต์กูเกิ้ล หากพบว่ามีการแปลแล้วก็อ้างอิงแหล่งนั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ