ชวนอ่านบทความ 'งานไม่มั่นคงในทัศนะมาร์คซิสต์' (Precarious work: a Marxist explanation) โดย แมกซ์ ไคลน์ (Max Klein) นักศึกษากลุ่มมาร์คซิสต์แคมบริดจ์ แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ที่มาภาพ: marxiststudent.com
การทำให้งานประจำเป็นงานชั่วคราวนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติอันใดในระบบทุนนิยม เพราะมันเป็นตรรกะของระบบที่อยู่บนพื้นฐานของการแสวงหากำไร งานชั่วคราวหรืองานไม่มั่นคงคือผลพวงของกระบวนการภายในระบบทุนนิยมที่คาร์ล มาร์คซ์อธิบายไว้เมื่อ 150 ปีก่อน
ในงานเศรษฐศาสตร์เล่มแรก “ว่าด้วยทุน” มาร์คซ์อธิบายวิธีการที่นายจ้างทำกำไรจากการขูดรีดแรงงาน ไว้ว่า
“ทุนคือแรงงานที่ตายแล้ว, เปรียบเสมือนผีดิบ, มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดูดเลือดแรงงานที่มีชีวิต ยิ่งทุนเจริญเท่าไร ก็ยิ่งดูดเลือดแรงงานมากขึ้นเท่านั้น เวลาของคนทำงานคือเวลาที่นายทุนใช้พลังแรงงานของคนงาน”
โดยพื้นฐานแล้ว แรงขับเคลื่อนของสังคมทุนนิยมคือ การริบเอามูลค่าที่ผลิตโดยแรงงาน ซึ่งสูงกว่าต้นทุนของค่าจ้างแรงงาน หรือเรียกว่ามูลค่าส่วนเกินในเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ มูลค่าส่วนเกินที่ผลิตโดยแรงงานนี้ที่สุดก็คือแหล่งที่มาของกำไรของนายทุน
ตัวอย่างเช่น The Rideshare Guy บล็อกเกอร์และนักจัดรายการวิทยุออนไลน์ ที่ให้ความรู้แก่คนทำงานในอุตสาหกรรมการขับขี่รถ เขาอธิบายว่า อูเบอร์เอาส่วนแบ่งไป 30% ของค่าโดยสาร/ค่าบริการทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 70% เป็นของคนขับ ซึ่งจะใช้เป็นค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ค่าน้ำมันและค่าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถและเป็นค่าจ้างของคนขับ ซึ่งแปรไปเป็นค่าอาหาร ค่าเช่า เป็นต้น ดังนั้น 30% ของเวลาทำงานของคนขับอูเบอร์ จึงเป็นการทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน หากคนขับรถบางคนทำงานได้ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็เท่ากับทำงานให้บริษัทไป 15 ชั่วโมงโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเลย
ภายใต้ระบบทุนนิยม การต่อสู้ระหว่างทุนกับแรงงานในเรื่องการทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทนนี้ คือกระดูกสันหลังของการต่อสู้ทางชนชั้น เป็นการต่อสู้เรื่องระยะเวลาในการทำงาน ที่มาร์คซ์อธิบายว่าเป็นแก่นแกนของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นแรงงานและนายทุน ดังคำพูดของมาร์คซ์ว่า
“นายทุนมีอำนาจในฐานะผู้ซื้อ (พลังแรงงานหรือความสามารถในการทำงานของคนงาน-ผู้แปล) ที่พยายามขยายชั่วโมงทำงานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกด้านหนึ่ง ลักษณะเฉพาะของสินค้าที่ขายไปมีนัยถึงการจำกัดการใช้พลังแรงงานของผู้ซื้อ [นายทุน] ส่วนกรรมกรอยู่ในฐานะผู้ขาย (พลังแรงงาน-ผู้แปล) ก็ต้องการลดวันทำงานให้เป็นเวลาปกติแน่นอน ตรงนี้จึงมีลักษณะขัดกันของสองฝ่าย ซึ่งต่างเข้ามาอยู่ในกฎของการแลกเปลี่ยน ดังนี้แล้ว ในประวัติศาสตร์ของการผลิตแบบทุนนิยม การกำหนดวันทำงานจึงเป็นผลของการต่อสู้ระหว่างทุน [ชนชั้นนายทุน] กับแรงงาน [ชนชั้นแรงงาน]"
เช่นเดียวกับการขยายวันทำงาน มาร์คซ์สังเกตทุกวิธีการอื่น ๆ ที่นายทุนพยายามที่จะเอามูลค่าส่วนเกินไปจากแรงงานมากที่สุด วิธีการเหล่านั้นรวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อให้ผลผลิตถูกลง นวัตกรรมของการจัดการในสถานที่ทำงานและอื่น ๆ การแสวงหากำไรจึงนำไปสู่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในประเทศอังกฤษ
ยกตัวอย่าง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940, 50 และ 60 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของระบบทุนนิยมที่จ้างงานประจำ แต่สงครามโลกครั้งที่สองได้ทำให้การผลิตและอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างมาก ซึ่งได้มีการนำความสำเร็จนี้ไปปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศแถบยุโรปตะวันตกและลงทุนมหาศาล รวมทั้งขยายสิทธิแรงงานและผลประโยชน์ทางสังคม สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการทำงาน ค่าจ้างและอำนาจต่อรอง รวมทั้งการให้บริการทางสังคมจากภาครัฐมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น คนรวยสามารถให้ประโยชน์แก่ชนชั้นแรงงานตราบเท่าที่กำไรของพวกเขายังคงสูงและเศรษฐกิจเฟื่องฟู (ยุครัฐสวัสดิการ-ผู้แปล)
แต่เนื่องจากตรรกะของระบบทุนนิยมที่มักก่อวิกฤติ ความเจริญหลังสงครามโลกไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดกาลและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ พบว่า ตัวเองไม่สามารถแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในยุค 70 ได้ เป็นผลให้ตรรกะการขูดรีดกลับมา รัฐบาลแทตเชอร์และเรแกนใช้นโยบายลดกฎระเบียบกติกา ลดบริการสังคม ลดภาษีที่เก็บจากคนรวย ทำลายสหภาพแรงงานและอื่น ๆ
ช่วงหลังสงครามโลกถือเป็นความผิดปกติของกลไกในระบบทุนนิยม พอมายุค 70 ก็กลับคืนสู่ภาวะปกติของมัน คือ การหากำไรสูงสุด มีการลดบริการภาครัฐ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจการเงิน ใช้แรงงานราคาถูกในประเทศโลกที่สาม นายทุนสามารถรักษาอัตรากำไรสูงด้วยการลดมาตรฐานการครองชีพของชนชั้นแรงงานอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงต้นปี 2008 ที่เกิดวิกฤตหนี้ นำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น ภายใต้ลัทธิทุนนิยมในปัจจุบัน การลงทุนนวัตกรรมและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถสร้างกำไรให้นายทุนอีกต่อไป แทนที่จะลงทุนพัฒนาพลังการผลิต (แรงงาน) นายจ้างกลับทำให้ชนชั้นแรงงานเป็นผู้แบกรับวิกฤต ด้วยการลดค่าจ้าง ขยายเวลาทำงานและทำงานยืดหยุ่นขึ้น มีชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่อง จ่ายน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำงานทั่วโลกกำลังเผชิญ
การแทนที่งานประจำด้วยงานเหมาช่วง (outsource) สัญญาจ้างชั่วคราว จ้างงานไม่เป็นทางการและสร้างเศรษฐกิจนอกระบบ ทำให้ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น คาดเดาไม่ได้และไม่ประจำ เช่น งานรับจ้างอิสระ งานเหมา (Gig economy) เช่น งานในบริษัท อูเบอร์, Deliveroo, Lyft, Rover, Handy และอื่น ๆ อีกมากมาย งานรับจ้างเป็นครั้งคราวนี้มาพร้อมกับรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคงรูปแบบอื่น ๆ และโฆษณาว่าเป็นงานอิสระ เป็นนายตัวเอง ซึ่งเป็นมายาคติ เพราะในความเป็นจริงเป็นการจ้างงานที่คุกคามคนงาน
ตัวอย่างการขูดรีดแรงงานอย่างรุนแรงในระบบจ้างงานอิสระ คือ คนขับอูเบอร์ หลายคนต้องทำงานหลายชั่วโมงในช่วงเวลาที่ค่าโดยสารสูงขึ้น เพราะกลัวว่าจะไม่เห็นค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นแบบนั้นอีก สืบจากรายงานจาก USA Today เล่าว่า
“เช้าวันหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว นายเจมส์ ลินเซย์ คนขับอูเบอร์ มองเห็นโอกาสที่เขาจะทำเงินได้สูงกว่าค่าจ้างปกติ 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงถึงกว่าสองเท่า คุณโพรโว วัย 48 ปี ผู้อาศัยในยูทาห์เล่าว่า ในวันนั้น อัตราค่าจ้างกระโดดไปถึงชั่วโมงละ 20 ดอลลาร์โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน เขาจึงขับรถนานถึง 20 ชั่วโมงเลยทีเดียว”
บางคนมองว่า นี่คือ เศรษฐกิจแบบ “แบ่งปัน” ของอูเบอร์ และ Airbnb มีลักษณะเหมือนระบบสังคมนิยม คือเป็นโลกที่การผลิตนั้นไม่ได้เป็นของคุณ และจำกัดการใช้งานของผู้อื่นเช่นครอบครัวและเพื่อน แต่ยังสามารถให้บริการชุมชนและทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีการแบ่งปันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ในโลกที่ผลกำไรและการสะสมทุนเป็นมนตราของระบบเศรษฐกิจนี้ สิ่งที่ "แบ่งปัน" นั้นแท้จริงเป็นของเอกชนและนำไปแลกเปลี่ยนในตลาด การผลิตจึงถูกทำให้เป็นสินค้าเพื่อหากำไร
"การแบ่งปัน งานที่ยืดหยุ่น" เป็นปรากฏการณ์ที่ซ่อนความจริงที่ว่า มันคือการแสวงหากำไรให้ได้มากที่สุด ผู้สนับสนุนงานอิสระมองว่าเป็นอุดมการณ์ของการทำงานเสรี แต่ซ่อนความจริงที่ นายทุนและผู้ถือหุ้นไม่ได้สร้างมูลค่าใด ๆ ด้วยตนเอง ในระบบเศรษฐกิจการจ้างงานอิสระ หรือรับงานไปทำเป็นครั้ง ๆ ในทางเทคนิคคนทำงานไม่ใช่พนักงาน ดังนั้น พวกเขาไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม มีเครื่องมือและอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่า สิ่งนี้จะเพิ่มผลกำไรให้บริษัท ทว่าทำให้เศรษฐกิจและชีวิตของคนทำงานแย่ลง แทนที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือและเครื่องมือของพนักงาน ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพทั้งภาคส่วน บริษัทเหล่านี้มัวแต่ค้ากำไรจากความซบเซาของระบบทุนนิยม
การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานอิสระ งานครั้งคราว ไล่เรียงมาพร้อมกันกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่แพร่หลายตั้งแต่ยุค 1970 คือการแปรรูปและการเหมาช่วง เช่น ในระบบสุขภาพแห่งชาติ (NHS) 11% มาจากการลงทุนของเอกชน ผลที่ตามมาคือลูกจ้างจำนวนมากในโรงพยาบาลไม่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐ แต่เป็นลูกจ้างของหน่วยงานภายนอกและบริษัทเอกชนที่กดขี่ขูดรีดพวกเขา งานเหมาช่วงก็เกิดขึ้นในภาคเอกชนเช่นกันโดยมีหลายบริษัทจ้างหน่วยงานภายนอกมาให้บริการบางอย่าง เช่น งานรักษาความปลอดภัยและงานทำความสะอาด คนทำความสะอาดในบริษัทเหมาช่วงมีรายได้น้อยกว่าคนที่เป็นลูกจ้างโดยตรง 7% ยามรักษาความปลอดภัยมีรายได้น้อยกว่า 24%
งานไม่มั่นคงเป็นกระแสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว เช่นอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ชุมชนทางตอนเหนือของอังกฤษหรือใน Rust Belt ในอเมริกาที่ซึ่งผู้มีรายได้เพียงคนเดียวสามารถเลี้ยงครอบครัวด้วยค่าจ้างเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้พวกเขาถูกทำให้ยากจน ปัจจุบัน 70% ของคนยากจนในอังกฤษทำงานเต็มเวลา การตัดสวัสดิการทำให้ผู้คนต้องหันไปหาองค์กรการกุศลเพื่อให้ได้รับปัจจัยยังชีพพื้นฐาน ปริมาณธนาคารอาหารเพิ่มขึ้นจาก 41,000 ในปี 2010 เป็น 1.2 ล้านในปี 2018 เนื่องจากชนชั้นแรงงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเท่าจากการขยายตัวของระบบทุนนิยมไปสู่ประเทศคอมมิวนิสต์ เช่นรัสเซียและจีน
การแข่งขันภายในชนชั้นแรงงานและสหภาพแรงงานที่อ่อนแอนี้เป็นสาเหตุเบื้องหลังของตัวเลขการว่างงานต่ำที่เราเห็นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และสอดคล้องกับผู้คนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ทำงานด้วยค่าแรงที่ต่ำลงเนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1960 ถึง 2012 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่มีคนทำงานหารายได้สองคนกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 60% สืบเนื่องจากการลดลงของค่าจ้างและความอ่อนแอของสหภาพแรงงาน ครอบครัวจึงมีรายได้โดยรวมลดลงแม้จะทำงานทั้งคู่
ตั้งแต่ปี 1970 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2008 เป็นที่ชัดเจนว่า เราอาศัยอยู่ในยุคของความไม่มั่นคง การทำให้งานประจำเป็นงานชั่วคราวเป็นลักษณะพื้นฐานของระบบทุนนิยมที่มาจากการขูดรีดแรงงานเพื่อกำไร นี่คือโฉมหน้าแท้จริงของระบบเน่าๆ ที่เราถูกบังคับให้ทำงานเพื่อทุน
ระบบทุนนิยมที่กลายเป็นระบบไม่มั่นคงในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ก็ไม่มีอะไรใหม่ เช่นที่เกิดขึ้นในปี 1848 (พ.ศ.2391) ในแถลงการณ์คอมมิวนิสต์กล่าวว่า
“การแข่งขันอย่างรุนแรงของชนชั้นนายทุนและวิกฤตการณ์ทางการค้าที่เกิดขึ้นทำให้ค่าจ้างแรงงานผันผวนมากขึ้น การปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้การดำรงชีวิตของคนงานแย่ลงเรื่อย ๆ การปะทะกันระหว่างคนงานและนายทุนทำให้เห็นถึงลักษณะของความขัดแย้งระหว่างสองชนชั้น”
อย่างที่มาร์คซ์อธิบายและอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ งานชั่วคราวคือธาตุแท้ของระบบทุนนิยม ดังนั้น จึงไม่ถูกต้องที่จะบอกว่า แรงงานชั่วคราวเป็นกลุ่มคนที่แยกจากชนชั้นแรงงานที่เหลือ เพราะจริง ๆ พวกเขามีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ต่างกันกับนายจ้างและเจ้าของที่ดิน แม้กระทั่งลักษณะงานดั้งเดิมของพวกชนชั้นกลาง เช่นงานวิชาการและงานพัฒนาเทคโนโลยีก็ยังถูกทำให้เป็นงานชั่วคราวได้ อาจารย์และศาสตราจารย์กว่า 30% ในอังกฤษได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง
สิ่งที่แตกต่างจากชนชั้นแรงงาน คือ คนงานรับจ้างอิสระขาดสิทธิประโยชน์มากมาย เมื่อเทียบกับการจ้างงานแบบดั้งเดิม เช่น ประกันสังคมและเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน พวกเขามีอำนาจต่อรองน้อยลงในการเจรจาสัญญาจ้างกับนายจ้าง เพื่อลดเวลาทำงานหรือเพิ่มค่าจ้าง อย่างที่เราเห็น การแพร่หลายของงานรับจ้างอิสระ งานเหมาชิ้น มีผู้ชนะและผู้แพ้ที่ชัดเจน คือนายทุนได้ประโยชน์อย่างมากจากการ outsource งาน แต่ในทางกลับกัน คนงานรับจ้างอิสระเป็นกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคม
การจัดตั้งและการรวมกลุ่มอาจซับซ้อนขึ้น เมื่อคุณไม่มีนายจ้างที่แน่นอน ก็ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีเพื่อนร่วมงานชัดเจน ฯลฯ ในสถานที่ทำงานแบบดั้งเดิม คุณจะมีเจ้านายในบริษัท คุณมีเพื่อนร่วมงานพอที่จะรวมตัวกันได้ แต่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ การโต้ตอบกับนายจ้างมีเพียงการโต้ตอบผ่านแอปลิเคชั่น คุณอาจทำงานในสถานที่ทำงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน คุณจะโดดเดี่ยวและอยู่ห่างจากเพื่อนร่วมงาน
กระนั้น คุณก็ยังสามารถจัดตั้งได้ เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ เช่น แอปอย่าง WhatsApp ได้ถูกนำมาใช้ประสานการต่อสู้ระหว่างคนงานรับจ้างอิสระ และไม่ว่าในกรณีใด การต่อสู้ดิ้นรนจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อคนงานตกอยู่ในวิกฤต
มีหลายคนที่พยายามที่จะยุติการจ้างงานชั่วคราว ด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เสนอวิธีแก้ปัญหา ด้วยการกลับไปสู่ยุคเฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นคือ การจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น เพิ่มสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มสหภาพแรงงาน เป็นต้น บางคนเสนอรายได้ขั้นพื้นฐาน (universal basic income) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่คุ้มครองคนทำงานเหมาช่วง รับจ้างอิสระ หรือคนว่างงาน ให้สามารถดำรงชีพด้วยปัจจัยขั้นพื้นฐาน
แน่นอนว่า เราต้องสนับสนุนการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ก้าวหน้า ซึ่งจะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนงานไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เราทุกคนควรอยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น
แต่เราต้องคำนึงเสมอว่า การปรับปรุงคุณภาพชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจ้างงานรูปแบบนี้ เพราะการจ้างงานชั่วคราวเป็นกฎของพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ไม่มีวันทวนเข็มนาฬิกาได้
ชนชั้นนายทุนจะพยายามกำหนดค่าแรงต่ำ และขยายเวลาทำงานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจึงไม่ควรให้พวกเขารักษาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไป ผลประโยชน์ของทุนแตกต่างจากเรา ผลประโยชน์ของเขาเป็นปรปักษ์กับเรา ที่ผลักดันให้เราต้องลงท้องถนน แสดงพลังของแรงงานผ่านการต่อสู้รวมหมู่ ตัวอย่างล่าสุด มีการนัดหยุดงานของพนักงานแม็คโดนัลด์ในอังกฤษ การรณรงค์เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกา และการนัดหยุดงานของคนขับ Deliveroo สะท้อนให้เห็นว่า คนทำงานรับจ้างอิสระเริ่มตระหนักถึงความเข้มแข็งของตัวเอง
มีเพียงชนชั้นที่จัดตั้งอย่างเข้มแข็งนี้เท่านั้นที่จะมีโอกาสโค่นล้มระบบชั่วร้ายและต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคมต่อไปได้
ที่มา
http://marxiststudent.com/precarious-work-a-marxist-explanation/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ