Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย

ทีมข่าว TCIJ | 20 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 43581 ครั้ง

สำรวจข้อมูล สถิติ การรับสื่อและการใช้เทคโนโลยีแบบเก่าที่ลดลงของคนไทย พบ ครัวเรือนมี 'โทรทัศน์' น้อยลง รับชมผ่านช่องทางอื่นเพิ่มขึ้น - ฟังวิทยุน้อยลง - ใช้ 'คอมพิวเตอร์' น้อยลง - อ่านมากขึ้น แต่คือการอ่าน 'เนื้อหาออนไลน์' มากที่สุด ไม่ใช่ 'หนังสือพิมพ์-นิตยสาร' - ใช้ 'โทรศัพท์ประจำที่' ลดลง  - ใช้ 'โทรศัพท์เคลื่อนที่' เป็นหลัก - 'ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์' และจำนวน 'สมาร์ทโฟน' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ - ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน - ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด 

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

ครัวเรือนไทยมี 'โทรทัศน์' น้อยลง แต่รับชมผ่านช่องทางอื่นเพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจไตรมาส 4/2561 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จากจำนวนครัวเรือนประมาณ 21.6 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีอุปกรณ์ในการรับชมรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2560-2561 จำนวน  20.6 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.3 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 96.0 ก่อนหน้านี้

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับชมรายการโทรทัศน์ พบว่าส่วนใหญ่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับโทรทัศน์แบบจอแบนมากที่สุด ร้อยละ 62.6 รองลงมาคือเครื่องรับโทรทัศน์แบบจอแก้วหรือจอตู้ปลา ร้อยละ 45.9 โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ร้อยละ 37.7 และคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 9.1 เมื่อพิจารณาโครงข่ายในการรับชมรายการโทรทัศน์ พบว่าส่วนใหญ่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายดาวเทียมมากที่สุด ร้อยละ 60.5 รองลงมาคือโครงข่ายภาคพื้นดิน ร้อยละ 45.2 โครงข่ายเคเบิล ร้อยละ 5.6 และโครงข่ายไอพีทีวี (IPTV) ร้อยละ 0.9 [1]

คนไทยฟัง ‘วิทยุกระจายเสียง’ น้อยลง

ในปี 2532 มีประชากรถึงร้อยละ 56.7 ของประเทศรับฟังวิทยุกระจายเสียง (ระบบ FM และ AM) เป็นประจำ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงลดจำนวนลงเรื่อยๆ

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจอัตราการฟังวิทยุของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ปี 2532 2537 2546 และ 2551 พบว่ามีผู้ฟังวิทยุลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2532 ประชากรร้อยละ 56.7 ของประเทศรับฟังวิทยุเป็นประจำ จากนั้นลดลงมาเรื่อยๆ ในปี 2537 เหลือร้อยละ 43.9 ปี 2546 เหลือร้อยละ 42.8 และในปี 2551 ผู้รับฟังวิทยุเป็นประจำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31.1 [2]

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการวิทยุกระจายเสียง กสทช. ทำการสำรวจในช่วงปี 2559 พบว่ามีประชากรที่ฟังวิทยุทั้งหมดประมาณ 27,669,724 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ที่รับฟังวิทยุจำแนกตามความถี่ในการรับฟัง พบว่าส่วนใหญ่รับฟังวิทยุ 1-3 ครั้งต่อเดือน มากที่สุดเป็นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.40 ของผู้ที่รับฟังวิทยุทั้งหมด รองมาคือการรับฟังวิทยุในช่วง 1-2 วันต่อสัปดาห์เป็นสัดส่วนร้อยละ 19.26 ทั้งนี้ทั่วประเทศมีเครื่องรับวิทยุรวม 16,430,167 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องรับวิทยุในรถยนต์มากที่สุดที่ 8,322,536 เครื่อง ตามมาด้วยเครื่องรับวิทยุในบ้าน 7,500,567 เครื่อง และเครื่องรับวิทยุที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ 607,064 เครื่อง [3]

นอกจากนี้ ข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง (เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือน มี.ค. 2562 พบว่ามีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปรับฟังวิทยุประมาณ 10,262,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากเดือน ก.พ. 2562 ประมาณ 77,000 คน [4]

คนไทยใช้ 'คอมพิวเตอร์' น้อยลง

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2561 พบว่ามีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 17.9 ล้านคน เมื่อพิจารณาแนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2557-2561 พบว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ลดลงจากจำนวน 23.8 ล้านคน เหลือเพียง 17.9 ล้านคน [5]

คนไทยใช้ 'โทรศัพท์ประจำที่' ลดลง

ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2562 พบว่า 'โทรศัพท์สาธารณะ' มีรายได้เฉลี่ยเพียง 24 บาทต่อหมายเลขต่อเดือนเท่านั้น ที่มาภาพประกอบ: Mark Fischer (CC BY-SA 2.0)

ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2562 มีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ หรือ ‘โทรศัพท์พื้นฐาน’ (โทรศัพท์บ้าน สำนักงาน และโทรศัพท์สาธารณะ) ที่เปิดใช้บริการทั้งหมดประมาณ 2.86 ล้านเลขหมาย มีครัวเรือนที่ยังใช้เพียงร้อยละ 13.26 ในด้านค่าใช้จ่าย (ทั้งโทรศัพท์บ้าน สำนักงาน และโทรศัพท์สาธารณะ) พบว่าใช้จ่ายต่อเลขหมายต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 191 บาท  ในไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมาเรื่อยๆ จากไตรมาสที่ 1/2561 เฉลี่ย 268 บาท ไตรมาสที่ 2/2561 เฉลี่ย 213 บาท ไตรมาส 3/2561 เฉลี่ย 196 บาท และไตรมาส 4/2561 เฉลี่ย 193 บาท สำหรับโทรศัพท์สาธารณะนั้นพบว่ามีรายได้ต่อเดือนต่อ 1 ตู้อยู่ที่เพียง 24 บาทเท่านั้นในไตรมาส 1/2562

นอกจากนี้พบว่าไตรมาสที่ 1/2562 จำนวนทราฟฟิกการใช้งานบริการโทรศัพท์ประจำที่ (Fixed Call Termination) มีจำนวนทั้งสิ้น 162.2 ล้านครั้ง แบ่งเป็นการรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile-to-Fixed) 160 ล้านครั้ง และรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ด้วยกันเอง (Fixed-to-Fixed) มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านครั้ง และหากวัดเป็นจำนวนนาที จำนวนทราฟฟิกการใช้งานบริการ Fixed Call Termination มีจำนวนทั้งสิ้น 334.2 ล้านนาที แบ่งเป็นการรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile-to-Fixed) 330 ล้านนาที และรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed-to-Fixed) มีจำนวนทั้งสิ้น 4.2 ล้านนาที [6]

คนไทยใช้ 'โทรศัพท์เคลื่อนที่' เป็นหลัก

ปัจจุบัน (คำนวณจากข้อมูลของ กสทช. ไตรมาส 1/2562) พบว่าคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือโทรหาโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยประมาณ 1,510 ล้านครั้งต่อเดือน ที่มาภาพประกอบ: Bryon Lippincott (CC BY-NC-ND 2.0)

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2561 พบว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 56.7 ล้านคน เมื่อพิจารณาแนวโน้มการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยระหว่างปี 2557-2561 พบว่าผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากจำนวน 48.1 ล้านคน เป็นจำนวน 56.7 ล้านคน [7]

ณ สิ้นปี 2561 ไทยมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบ prepaid (ชำระบริการแบบเติมเงิน) และระบบ postpaid (ชำระบริการรายเดือน) รวมกันจำนวน 91.6 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ที่จำนวน 85 ล้านเลขหมาย ปี 2557 มี 97.1 ล้านเลขหมาย (อนึ่ง ปี 2558 จำนวนผู้ใช้บริการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากข้อบังคับการลงทะเบียน SIM เพื่อยืนยันตัวตนสำหรับผู้ใช้หมายเลขระบบเติมเงิน ส่งผลให้ผู้ใช้บางส่วนยกเลิกการใช้บริการ) [8] [9]

ส่วนรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2562 รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคนคิดเป็นรายเดือน (ARPU) ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อยู่ที่ 234 บาท หากแยกประเภทบริการระบบ prepaid (ชำระบริการแบบเติมเงิน) มีค่ารายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายอยู่ที่ 146 บาท ส่วนระบบ postpaid (ชำระบริการรายเดือน) มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายอยู่ที่ 502 บาท ด้านปริมาณการใช้งาน ไตรมาสที่ 1/2562 จำนวนทราฟฟิกการใช้งานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Call Termination) มีจำนวนทั้งสิ้น 4,654.3 ล้านครั้ง โดยแบ่งเป็นการรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile-to-Mobile) 4,530 ล้านครั้ง และรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed-to-Mobile) มี 124.3 ล้านครั้ง หากวัดเป็นจำนวนนาที จำนวนทราฟฟิกการใช้บริการ Mobile Call Termination มีทั้งสิ้น 8,064.9 ล้านนาที แบ่งเป็นประเภทการรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile-to-Mobile) จำนวน 7,900 ล้านนาที และรับสายจากโครงการข่ายโทรศัพท์ประจำที่ (Fixed-to-Mobile) จำนวน 164.9 ล้านนาที [10]

การ 'ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์' และจำนวน 'สมาร์ทโฟน' จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มีการประเมินว่าจำนวนสมาร์ทโฟนในไทยจะเพิ่มขึ้นเกิน 100 ล้านเครื่องในปี 2563 จาก 65 ล้านเครื่องปี 2560 ที่มาภาพประกอบ: Bryon Lippincott (CC BY-NC-ND 2.0)

ทั้งนี้ พบว่าบริการประเภทข้อมูล (Non-voice/ Data services) มีบทบาทมากขึ้นในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามพฤติกรรมการใช้งานประเภทข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้รายได้ค่าบริการประเภทข้อมูลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60.6 ในปี 2560 จากที่เคยมีเพียงร้อยละ 22.1 ปี 2555 ตรงข้ามกับรายได้จากบริการเสียงที่มีสัดส่วนลดลง ความนิยมใช้งานอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่นี้ ส่งผลให้จำนวนการใช้ 'สมาร์ทโฟน' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน และมีการประเมินว่าจำนวนสมาร์ทโฟนในไทยจะเพิ่มขึ้นเกิน 100 ล้านเครื่องในปี 2563 จาก 65 ล้านเครื่องปี 2560 [11]

ปี 2561 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ต 36 ล้านคน ไตรมาส 1/2562 'อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง' แตะ 9.36 ล้านครัวเรือน

ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2562 มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (แบบประจำที่) จำนวน 9.36 ล้านราย โดยเป็นแบบ Fiber optical ถึง 42.27% ที่มาภาพประกอบ: TOT

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2561 พบว่า ไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 36 ล้านคน เมื่อพิจารณาแนวโน้มการใช้อินเตอร์เน็ตของไทยระหว่างปี 2557-2561 พบว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากจำนวน 21.8 ล้านคน เป็นจำนวน 36 ล้านคน สำหรับสถานที่ใช้อินเตอร์เน็ตพบว่าส่วนใหญ่ใช้ตามสถานที่ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร้อยละ 89.9 รองลงมาคือ ใช้ที่บ้าน/ที่พักอาศัยร้อยละ 67.5 ใช้ที่ทำงาน ร้อยละ 31.2 และใช้ในสถานศึกษาร้อยละ 23 ในด้านอุปกรณ์ในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต พบว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือ ร้อยละ 94.7 ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ร้อยละ 38.8 ใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ร้อยละ 16.6 และใช้แทบเล็ต ร้อยละ 6.9 [12]

นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2561 ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงมีการเติบโตของรายได้กว่าร้อยละ 10 ตามปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในที่อยู่อาศัยที่ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดโดยรวมเติบโตจาก 8.2 ล้านครัวเรือนในปี 2560 เป็นกว่า 9.3 ล้านครัวเรือนในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 43 และข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2562 มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบประจำที่ทั้งสิ้น จำนวน 9.36 ล้านราย โดยสัดส่วนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ประจำที่) แยกตามประเภทของการเชื่อมต่อ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2562 แบ่งเป็นแบบ Fiber optical ร้อยละ 42.27, แบบ xDSL ร้อยละ 39.75, แบบ Cable Broadband ร้อยละ 16.38 และแบบอื่นๆ อีกร้อยละ 1.60

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทุกรายยังคงเน้นขยายความครอบคลุมของบริการ ‘Fiber optical’ มากขึ้น และพยายามหาลูกค้าใหม่ พร้อมรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การออกแพ็กเกจไฟเบอร์ความเร็ว 10 เมกะบิตต่อวินาทีด้วยราคาเริ่มต้นที่ 250 บาท และผู้ให้บริการพยายามเสนอส่วนลดที่จูงใจแก่ลูกค้าเดิม ในกรณีที่ลูกค้ามีความต้องการยกเลิกหรือเปลี่ยนผู้ให้บริการ ด้วยเหตุนี้ ภาพรวมรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคนคิดเป็นรายเดือน (ARPU)ของอุตสาหกรรมจึงลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 580 บาท  [13] [14]

คนไทยอ่านมากขึ้น แต่คือ'เนื้อหาออนไลน์'มากสุด ไม่ใช่'หนังสือพิมพ์-นิตยสาร'

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยคนไทยอ่านสื่อต่างๆ นานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่านสื่อต่างๆ 66 นาที และปี 2556 อ่านสื่อต่างๆ เพียง 37 นาที เมื่อพิจารณาสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 69.2 คือการอ่าน 'สื่อสังคมออนไลน์' ตามมาด้วย 'หนังสือพิมพ์' ร้อยละ 60.5 ส่วน 'วารสาร' และ 'นิตยสาร' นั้นคนไทยอ่านเพียงร้อยละ 40.3 และ 31.1 เท่านั้นตามลำดับ [15]

 

คนไทยบริโภคสื่ออะไรบ้าง ผ่านช่องทางออนไลน์ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจเมื่อปี 2560 พบว่าร้อยละ 94 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวัน สนใจติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยความสนใจมุ่งไปที่ความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจ/ธุรกิจ มาเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 83) รองลงมาคือ กลุ่มข่าวทั่วไปและกลุ่มภาพยนตร์/ ละคร/ ซีรีส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73 และร้อยละ 62 ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและเป็นประโยชน์เชิงธุรกิจ มีแนวโน้มจะถูกติดตาม โดยเฉพาะจากผู้บริโภควัยกลางคน (อายุ 35 ปีขึ้นไป) และผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง (รายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48 ของกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงวัย ความสนใจจะมุ่งไปที่กลุ่มข่าวสารทั่วไปและข่าวคราวด้านบันเทิงมากกว่า

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอ 'เนื้อหา' (Content) เบื้องต้นที่จะไม่ทำให้ผู้ติดตามรับชมข้อมูลข่าวสารเกิดความรู้สึกเบื่อ ปิดหรือเปลี่ยนช่องทางการสื่อสารนั้น หากอยู่ในรูปแบบข้อความ (Text) จะอยู่ที่ 5-10 บรรทัด (ร้อยละ 44 ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รูปแบบของคลิปวิดีโอ (Clip Video) อยู่ที่ประมาณ 1 นาที (ร้อยละ 37) ส่วนรูปภาพพร้อมคำบรรยาย รวมถึงอินโฟกราฟฟิก อยู่ที่ประมาณ 2-4 รูป (ร้อยละ 67) ทั้งนี้เนื้อหาที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข "รวดเร็ว เข้าใจง่าย ได้สาระ" ถูกเลือกติดตามมากที่สุดในสายตาผู้บริโภคยุคฉลาดเลือก ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า ลักษณะของเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกนำเสนอได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว (Real-Time) เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจและอยากติดตามมากที่สุด (ร้อยละ 55) ตามมาด้วย อินโฟกราฟฟิก (Infographic)/รูปภาพที่มีคำอธิบายประกอบสั้นๆ (ร้อยละ 47) และ Content ที่มีสาระประโยชน์ที่สามารถดึงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ (ร้อยละ 45) ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปว่า 'คอนเทนท์' คือแรงดึงดูดที่สำคัญในยุคผู้บริโภคฉลาดเลือก เพราะผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการสื่อสารมวลชน แต่เป็นใครก็ได้ที่สามารถถ่ายทอดและนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกมาและผู้คนในสังคมอยากจะติดตาม จึงไม่น่าแปลกใจว่าในระยะหลัง เราจะได้เห็นผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ ทั้งในรูปแบบขององค์กรและรายบุคคลเปิดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้บริโภครุ่นใหม่ที่บทบาทไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร แต่ยังก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารอีกด้วย (แม้ว่าการผลิตข้อมูลข่าวสารในลักษณะของ Text หรือข้อความ อาจจำเป็นต้องเห็นหน้าตาของผู้ผลิตหรือผู้ที่สื่อสารออกไป แต่หากอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอออกสื่อสังคม คลิปวิดีโอ บทบาท  ความ สำคัญของผู้สื่อสาร สถานภาพ/ตำแหน่งทางสังคม และบุคลิกภาพ ยังมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค) ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสารจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะนอกจากผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาดจะต้องทำงานแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องเผชิญกับผู้เล่นหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น [16]

 

คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน (ส่วนข้อมูลจาก 'Global Digital 2019' ระบุว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน) เมื่อดูการเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตดิจิทัล จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมทางออนไลน์มากกว่าแบบดั้งเดิม ได้แก่ การส่งข้อความ ร้อยละ 94.5 การจองโรงแรมร้อยละ 89.2 การจอง/ซื้อตั๋วโดยสาร ร้อยละ 87.0 การชำระค่าสินค้าและบริการ ร้อยละ 82.8 และการดูหนัง/ฟังเพลง ร้อยละ 78.5 ตามลำดับ [17] [18] 

คนไทยใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจเมื่อปี 2561 ระบุว่ากิจกรรมที่ใช้ส่วนใหญ่ของคนไทยที่ใช้อินเตอร์เน็ตคือ ใช้’โซเชียลมีเดีย’ (Social Media) ร้อยละ 94.1 รองลงมา คือ ใช้ในการดาวน์โหลด รูปภาพ/หนัง/วีดีโอ/เพลง/เกม เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง วิทยุ ร้อยละ 89.3 ใช้ในการอัพโหลดข้อมูล รูปภาพ/ภาพถ่าย วีดีโอ เพลง Software ฯลฯ เพื่อการแบ่งปัน (share) บนเว็บไซต์ ร้อยละ 57 และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ร้อยละ 45.2 ในขณะที่ความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 5-7 วันใน 1 สัปดาห์ ร้อยละ 84.6 รองลงมาใช้ 1-4 วันใน 1 สัปดาห์ ร้อยละ 14.3 [19]

ส่วนข้อมูลจากรายงาน 'Global Digital 2019' โดย We Are Social และ Hootsuite ระบุว่าคนไทย 51 ล้านคน ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ในจำนวนนี้ 49 ล้านคน ใช้โซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคนไทยใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน (นับรวมทุกอุปกรณ์) ใช้เวลาดู Online Streaming หรือ Video On Demand 3 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน และใช้เวลาฟังเพลงแบบ Music Streaming 1 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน Google.com เป็นเว็บไซต์อันดับ 1 ที่คนไทยใช้มากสุด ตามมาด้วย Google.co.th, Facebook.com, YouTube.com นอกจากนี้มี Portal Website ของไทยติดอันดับด้วย คือ Pantip.com และ Sanook.com ส่วนข้อมูลจากการสำรวจของ ETDA เมื่อปี 2561 ระบุว่าคนไทยยังนิยมใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงมากถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ขณะที่การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่ง เช่น YouTube หรือ Line TV มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม.​ 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. ต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 51 นาทีต่อวัน และการอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม.​ 31 นาทีต่อวัน [20] [21]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สรุปผลที่สำคัญการมีอุปกรณ์รับชมรายการโทรทัศน์ในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส 4), สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[2] อัตราการฟังวิทยุของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป จำแนกตามกลุ่มอายุ พ.ศ. 2532 2537 2546 และ 2551 (อัตราการฟังวิทยุ-ชมโทรทัศน์, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 ต.ค. 2562)
[3] รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยตัวชี้วัดและการสำรวจการเข้าถึงบริการโทรทัศน์และบริการกระจายเสียง [บริษัท เออีซี แอดไวซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, นำเสนอต่อ กสทช., มี.ค. 2560]
[4] สภาพตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (เดือนมีนาคม 2562), กสทช.
[5] สรุปผลที่สำคัญการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส 1), สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[6] รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2562, กสทช.
[7] สรุปผลที่สำคัญการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส 1), สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[8] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2562-64 ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (พูลสุข นิลกิจศรานนท์, วิจัยกรุงศรี, พ.ค. 2562)
[9] ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่, กสทช.
[10] รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2562, กสทช.
[11] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2562-64 ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (พูลสุข นิลกิจศรานนท์, วิจัยกรุงศรี, พ.ค. 2562)
[12] สรุปผลที่สำคัญการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส 1), สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[13] รายงานประจำปี 2561 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด
[14] รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2562, กสทช.
[15] ผลสำรวจการอ่านของประชากร 2561, สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมและสำนักงานสถิติแห่งชาติ
[16] ผู้บริโภคยุคใหม่และไลฟ์สไตล์ชนชั้นกลาง กำหนดทิศทาง Content สื่อฯ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 3 พ.ย. 2560)
[17] ETDA เปิดพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 61 คนไทยใช้เน็ตเพิ่ม 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน (ETDA, 25 ก.ค. 2561)
[18] ล้วง Insight การใช้งาน “ดิจิทัล” ทั่วโลก 2019 “คนไทย” ใช้เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน-มือถือมี 99 แอปฯ!! (marketingoops.com, 23 ก.พ. 2562)
[19] สรุปผลที่สำคัญการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส 1), สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[20] ล้วง Insight การใช้งาน “ดิจิทัล” ทั่วโลก 2019 “คนไทย” ใช้เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน-มือถือมี 99 แอปฯ!! (marketingoops.com, 23 ก.พ. 2562)
[21] ETDA เปิดพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 61 คนไทยใช้เน็ตเพิ่ม 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน (ETDA, 25 ก.ค. 2561)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: