บทเรียนสังคมไทยจากเรื่องกัญชา

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 11 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 8357 ครั้ง


หลายเดือนก่อน ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งได้เมสเสจคุยกับผม ถามว่าผมประเมินสถานการณ์เรื่องกัญชาในสังคมไทยอย่างไร

ผมบอกกับท่านตรงๆ ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อปลดล็อคกัญชาในเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายปีนี้

เหตุผลหลักของผมคือ ผมไม่เชื่อว่ารัฐ และกลไกต่างๆ ในสังคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ จะสามารถที่จะดูแลปกป้องประชาชนจากผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการปลดล็อคกัญชาได้

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศนั้นย่อมต้องมีทุกคน โดยเป็นบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐที่จะต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม และคนทุกคนในสังคมต้องอยู่ได้โดยมีความสงบสุข ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

หากเกิดปัญหาหรือสิ่งคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศทั้งโดยตรงโดยอ้อม หรือส่งผลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัย รัฐก็จำเป็นต้องตัดสินใจควบคุม ป้องกัน และแก้ไข โดยยืนพื้นฐานบนหลักการดังกล่าว

จริงๆ ผมตอบผู้ใหญ่ท่านนั้นไปเพียงประโยคแรก และต่อด้วยความเห็นส่วนตัวของผมว่า ณ จุดนี้ สังคมไทยคงยากที่จะต้านทานกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อปลดล็อคกัญชาแล้ว เพราะได้ประกาศเป็นกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ โดยแท้จริงแล้วเป็นการปลดล็อคโดยที่หารู้ไม่ว่าจะเกิดผลกระทบทางลบตามมาอย่างมากมายและยากที่จะจัดการ เช่น การเข้าใจผิดของประชาชนและนำไปใช้ต่างๆ นานาโดยยากที่จะควบคุม จนเกิดผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และกระบวนการดูแลรักษาทางการแพทย์มาตรฐานที่มีอยู่ ยังไม่นับเรื่องการค้าขายกัญชาและผลิตภัณฑ์อย่างผิดกฎหมายที่คาดว่าจะมีมากมาย รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพและสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจราจร ปัญหาจิตเวช อาชญากรรม และการนำไปสู่การเสพติดอื่นๆ ควบคู่กันไป และที่แน่ๆ คือจะมีการเคลื่อนไหวไปสู่เรียกร้องให้เกิดกัญชาเสรีตามมา

ที่กล่าวมาข้างต้นมิได้เอ่ยขึ้นอย่างเลื่อนลอย หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกระบุเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ทั้งจากงานวิจัยติดตามผลจากการประกาศนโยบายปลดล็อคกัญชาของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา อเมริกา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ฯลฯ รวมถึงรายงานขององค์กรต่างประเทศที่ดูแลทั้งด้านวิชาการและนโยบาย อย่าง International Narcotics Control Board (INCB) ซึ่งเป็นกลไกทำงานของสหประชาชาติเรื่องยาเสพติดด้วย

ผมบอกท่านไปว่า "ตอนนี้คงไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว นอกจากหาทางช่วยกันเตือนประชาชนในสังคมไทยให้เตรียมรับมือกับปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายกัญชา"

"ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดในสังคม ที่จะต้องเลี้ยงดูลูกหลานของตนเองให้ดี ดูแลใกล้ชิด สอนให้รู้เท่าทันภัยคุกคามที่มีในสังคม รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ"...ผมบอกท่านไปประมาณนี้ และจบการสนทนากันในวันนั้น

นั่นเป็นการสนทนาประมาณต้นๆ ปีที่ผ่านมา

ผ่านมาครึ่งปีหลังจากประกาศปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย เราเห็นอะไรกันบ้าง?

  1. ปรากฏการณ์"ความเชื่อและงมงายว่ากัญชารักษาได้ทุกโรค" จากอิสระเสรีเหนืออื่นใด ในการป่าวประกาศ ประชาสัมพันธ์ ความ"รู้"แบบลวงๆ โดยที่กลไกอำนวยความยุติธรรมของรัฐไม่สามารถทำอะไรได้ หรืออาจไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี
  2. ปรากฏการณ์"การเติบโตของธุรกิจซื้อขายกัญชาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างผิดกฎหมายผ่านสื่อออนไลน์" ทั้งในไลน์กรุ๊ป เฟซบุ๊ค และอื่นๆ ราคาค่างวดขวดนึงหลายร้อยไปจนถึงพันบาท คิดค่าใช้จ่ายที่คนเต็มใจควักเงินจากกระเป๋า คาดว่าเยอะกว่าค่าใช้จ่่ายรายหัวด้านสุขภาพของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบประกันสังคมเสียด้วยซ้ำ
  3. ปรากฏการณ์"การสร้างระบบการตลาดด้านกัญชา" ทั้งการประยุกต์ใช้แนวคิด Multi-level marketing และระบบขายตรงผ่านตัวแทนในหลากหลายลักษณะ โดยอาศัยการต่อยอดจากการเล่นกับความกลัวโรคร้ายต่างๆ ของคน ควบคู่กับการเล่นกับกิเลสด้านรายได้จากการเป็นตัวแทนขาย ทำให้สมประโยชน์ทั้งคนผลิต คนขาย ตัวแทน และคนซื้อ อย่างครบวงจร
  4. ปรากฏการณ์"ดีครับนาย ได้ครับผม เหมาะสมครับท่าน" นโยบายถูกดันจากเบื้องบน ขาดเหลืออะไร กลไกมดงานในระบบรัฐก็สนองได้หมด ขาดความเชี่ยวชาญด้านกัญชา แต่สามารถเนรมิตให้เกิดขึ้นได้ผ่านการอบรมระยะสั้นตีตราให้พร้อมอย่างไม่น่าเชื่อ
  5. ปรากฏการณ์"โยนบาปให้เหยื่อ" เห็นได้จากจำนวนเหยื่อ ในรูปแบบของผู้ป่วย และผู้ที่ไม่ป่วยแต่หลงเชื่องมงาย ตัดสินใจหาผลิตภัณฑ์มาเอง หรือมีตัวแทนมาเสนอให้ลอง หรืออื่นๆ ใช้แล้วเกิดปัญหาตามมาตามพาดหัวข่าว เช่น ใช้กัญชาแล้วน็อคต้องหามส่งรพ. ด้วยอาการต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สุดท้ายก็โดนโยนบาปจากกลุ่มคลั่งกัญชาว่า ใช้ไม่เป็นเลยเกิดปัญหา แต่ไม่เคยยอมรับผิดว่า ที่มันเกิดปัญหาเช่นนี้ เพราะอะไรกันแน่ เพราะการสื่อสารสาธารณะที่ไม่เหมาะสม? เพราะการเร่งผลักดันโดยที่ไม่คิดหน้าคิดหลังและไม่เตรียมกลไกที่จำเป็นให้พร้อม รวมถึงไม่เตรียมคนในสังคมให้พร้อมก่อนจะผลักดัน?
  6. ปรากฏการณ์"คนทำงานในระบบสุขภาพน้ำตาตก" หลายคนน้ำตาตกเพราะคิดไม่ถึงเลยว่า เฮ้ย...มาตรฐานการแพทย์และการวิจัยที่เราร่ำเรียนตลอดมานั้นมีขั้นตอนต่างๆ มากมายกว่าจะเข็นยาแต่ละตัวออกมาใช้ในระบบการแพทย์ได้ แต่ละตัวใช้เวลาเฉลี่ย 12-15 ปี ลงทุนมากกว่า 800 ล้านเหรียญ มีทั้งขั้นตอนในหลอดทดลองก่อนจะไปถึงสัตว์ทดลอง และค่อยเข้ามาสู่ระยะการทดลองวิจัยในคน ซึ่งมีอีก 4 ระยะ ที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรเยอะมากมาย ก็เพื่อให้แน่ใจใน 2 เรื่องหลักคือ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นยานั้นจะต้องมีสรรพคุณรักษาโรคนั้นๆ ได้จริง และสิ่งที่คิดว่าจะเป็นยานั้นต้องมีความปลอดภัยจริง

แต่ปรากฏว่า ที่ผ่านมากัญชากลับถูกนำมาตีรวนให้สับสน และหาทางลัดเลาะให้นำมาใช้ทันทีในระบบการดูแลรักษาโดยกล่าวอ้างข้อมูลวิจัยที่จับแพะมาชนแกะ

งานวิจัยทั้งหลายของสากลที่ทำกันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ต้องทำการสกัดสารเคมีจากวัตถุดิบให้ได้ สามารถวัดปริมาณได้ ทำให้คงตัวได้ ทำให้บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเจือปน และค่อยนำมาทดสอบในสัตว์และในคนตามที่กล่าวมา จนทราบได้แน่ชัดว่าปริมาณแค่ไหนปลอดภัย ให้ทางการกินการฉีดการหยดจะให้อย่างไร และจะมีสรรพคุณรักษาโรคใดได้จริงบ้าง และเมื่อเทียบกับยามาตรฐานต่างๆ ที่มีอยู่นั้น มันดีกว่า เท่ากัน หรือด้อยกว่า

ในขณะที่การวิจัยการแพทย์แบบพื้นบ้านหรือการแพทย์ทางเลือกนั้น จะใช้ระบบการศึกษาวิจัยที่เป็นคนละแบบกัน และมีความยากลำบากพอสมควรในการพิสูจน์ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสรรพคุณ เนื่องจากหากศึกษาพืช สมุนไพร หรือตำรับยาต่างๆ ว่าจะรักษาโรคได้หรือไม่นั้น พืช สมุนไพร หรือตำรับยาต่างๆ นั้นมักประกอบด้วยสารมากมายหลายอย่าง บางครั้งก็ยากมากที่จะกำหนดปริมาณตายตัว กำนึงของพืชชนิดเดียวกัน ใบนึงของพืชชนิดเดียวกัน ก็มีปริมาณสารต่างๆ แตกต่างกันไปด้วย เราจึงเห็นได้ว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การแพทย์พื้นบ้านหรือการแพทย์ทางเลือกนั้นมักจะมีงานวิจัยที่สามารถพิสูจน์สรรพคุณและความปลอดภัยได้ค่อนข้างจำกัด และยากที่จะฟันธงถึงความเป็นเหตุและผลได้อย่างแม่นยำ

ช่วงที่ผ่านมา กระแสกัญชาในเมืองไทยนั้นจึงสร้างความสับสนให้กับคนในสังคม และส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าวตามมา

บุคลากรทางการแพทย์จึงได้แต่น้ำตาตกที่เห็นการสื่อสารสาธารณะที่มุ่งแต่ผลักดัน แต่ไม่สนใจว่าคนรับนั้นจะเข้าใจอย่างไร

ทั้งๆ ที่การสื่อสารที่ดีนั้น ควรเป็นดังคำที่เราเคยได้ยินว่า "Words that work: It's not what you say, it's what people hear"

นอกจากนี้อีกเหตุผลหลักที่บุคลากรทางการแพทย์ในระบบสุขภาพน้ำตาตกคือ ความสงสารต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวสารกัญชาเหล่านั้น นอกจากเสียตังค์โดยไม่จำเป็น ตกเป็นเหยื่อเหล่าเสือหิวแล้ว ยังต้องเจ็บป่วยไม่สบายจากผลข้างเคียงต่างๆ จากกัญชา และการเสียโอกาสจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ จนทำให้โรคกำเริบหรือเป็นรุนแรงยิ่งขึ้น

จำนวนเหยื่อมีมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประเทศจะต้องจ่ายไปจากปรากฏการณ์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอาล่ะ...แล้วจะทำอย่างไรดี?

สารภาพตรงๆ ว่า ผมเริ่มเห็นทางตันครับ เท่าที่คิดได้คงมีเพียง...

หนึ่ง รัฐต้องยึดหลักการดูแลประชาชนในสังคม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยมั่นคงของประเทศ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิต ไม่ตัดสินใจโดยอิงแต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจถูกปั่นให้เกิดกิเลสแบบได้ไม่คุ้มเสีย

สอง นายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณาคัดเลือกเสนาบดีที่จะมาคุมกระทรวงต่างๆ ให้ดี อย่าให้ใช้เป็นสะพานในการดำเนินการที่ส่งผลเสียต่อประเทศโดยรวม

สาม นายกรัฐมนตรีโปรดทบทวนโครงสร้างหน่วยงาน และคณะกรรมการต่างๆ ทั้งด้านการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข ด้านพาณิชย์ และอื่นๆ โดยตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และพฤติกรรมที่ผ่านมาว่าสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอคติในการดำเนินงานหรือปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

สี่ หน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โปรดยึดมั่นในหลักเกณฑ์มาตรฐาน อย่าหวั่นไหวกับการปั่นสังคมใช้กฎหมู่มาเหนือกฎหมาย

ห้า ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ สมาคมวิชาชีพแพทย์และบุคลากรสาขาสุขภาพต่างๆ ตลอดจนโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศควรพิจารณาประกาศจุดยืนทางวิชาชีพของท่าน ในการนำกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชามาใช้ดูแลรักษา โดยขอให้ยึดมั่นหลักฐานทางวิชาการที่หนักแน่น จนกว่าจะพิสูจน์เรื่องความปลอดภัยและสรรพคุณได้ตามมาตรฐานสากล ย่างก้าวนี้สำคัญยิ่งที่จะช่วยเป็นประทีปส่องทางให้ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์มีหลักยึด

หก โรงพยาบาลต่างๆ โปรดพิจารณาออกประกาศนโยบายของโรงพยาบาล (Hospital policy) ในการใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาในการดูแลรักษา โดยยึดมั่นในหลักวิชาการ เพื่อช่วยปกป้องทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ของท่าน และช่วยป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากระบบประกันสุขภาพ และปัญหาทางกฎหมาย

เจ็ด เรื่องนี้ยากสุดสำหรับทั้งสังคมไทยและสังคมโลก คือ รัฐควรพัฒนากลไกตรวจ ติดตาม กำกับ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่เป็นเท็จ ทั้งนี้ยังไม่มี best practice ใดๆ ที่จะมาต้านทานกระแส Fake information อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำครับ


 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ เฟสบุ๊ก Thira Woratanarat
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: cytis (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: