ดึงงบกองทุนอนุรักษ์ 180 ล้านบาท ตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3649 ครั้ง

ดึงงบกองทุนอนุรักษ์ 180 ล้านบาท ตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม

กระทรวงพลังงาน ดึงงบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน วงเงิน 180 ล้านบาท ตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมเทคโนโลยีใหม่ ที่มีคุณภาพและกักเก็บพลังงานมากกว่าเดิม 5 เท่า โดยร่วมวิจัยและพัฒนากับศูนย์ความเป็นเลิศด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ของ VISTEC ในพื้นที่ EECi ขณะที่กลุ่ม ปตท. สนใจซื้อไลเซนส์เพื่อตั้งโรงงานผลิตสเกลที่ใหญ่ขึ้นในพื้นที่ EEC หวังพัฒนาเทคโนโลยี ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 180 ล้านบาท ให้กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในพื้นที่เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) โดยตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้าได้มากขึ้น คาดว่าการก่อสร้างโรงงานจะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือน หรือภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และขณะนี้ทาง VISTEC ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว

โรงงานต้นแบบแห่งนี้ จะใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เป็นห้องพิเศษปลอดฝุ่นและความชื้น มีกำลังการผลิต 500 ก้อนต่อวัน ซึ่งแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จะนำไปทดสอบในโครงการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น รถยนต์และเรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รวมทั้งใช้ในโครงการโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์ที่คิดค้นวิจัยโดย VISTEC จะสามารถกักเก็บไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยีลิเธียมไอออนที่ใช้ในปัจจุบันสูงถึง 3 – 5 เท่า และคาดหวังว่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้น จะสามารถลดการใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ลงเหลือ 2,000 – 3,000 ก้อนต่อคัน จากปัจจุบันที่รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาใช้อยู่ 8,000 ก้อนต่อคัน ทำให้รถยนต์มีน้ำหนักที่เบาขึ้นสามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลขึ้นกว่าเดิม 400-500 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้าหนึ่งครั้ง เพิ่มเป็น 800 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้าหนึ่งครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน วางเป้าหมายจะลดราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จากขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 20,000 – 25,000 บาท สำหรับแบตเตอรี่กำลังกักเก็บไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ให้เหลือ 10,000 บาท และหากสามารถตั้งโรงงานผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมได้ จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงเหลือ 5,000 บาท ซึ่งการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ของ VISTEC เป็นการพิสูจน์ว่าคนไทยก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้และยังเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศเขตเมืองร้อน และเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทยได้เองภายใน 2-3 ปีจากนี้

ด้าน นายมนตรี สว่างพฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน VISTEC กล่าวว่า ในช่วงแรกโรงงานต้นแบบจะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออนแต่จะปรับปรุงประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่ที่ตลาดคุ้นเคย จากนั้นภายใน 2 ปีจากนี้ จะทำการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีอายุการใช้งานนานขึ้นจากปัจจุบัน 5-6 ปี เป็น 10 ปี เพื่อให้บริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศได้นำไปทดสอบประสิทธิภาพ หากทดสอบจนมั่นใจแล้วก็จะมีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมต่อไป คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 5-10 กิกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ มีบริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) สนใจจะซื้อไลเซนส์การวิจัยเพื่อลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนการพัฒนาเทคโนโลยีลิเธียมซัลเฟอร์ของ VISTEC จะทำให้รถยนต์วิ่งได้ระยะไกลขึ้นถึง 1,000 กิโลเมตร ขณะที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนวิ่งได้ระยะ 400-500 กิโลเมตร และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าถึง 5 เท่า คาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ แบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์จะเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนหากเทคโนโลยีพัฒนาจนทำให้ต้นทุนต่ำลง จะมีผลทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะเทียบเท่าเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาได้

ด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทในกลุ่ม ปตท. ทั้งไทยออยล์, ไออาร์พีซี, พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC มีความสนใจการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ที่เป็นเทคโนโลยีของคนไทย เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาในโครงการต่างๆ ตามแผนงานของแต่ละบริษัท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: