การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าราคาจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ดัดแปลงรวมแบตเตอรี่ จะไม่เกินคันละ 300,000 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการใช้รถยนต์มือสอง เตรียมเปิดรับสมัครคัดเลือกอู่รถยนต์ร่วมโครงการดัดแปลงรถยนต์ EV ภายในต้นปี 2563 หลังจากได้รับมอบรถต้นแบบจาก สวทช. ครบทั้ง 4 คัน ในปลายปี 2562 นี้ ที่มาภาพประกอบ: Picryl
Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ว่านางสาวจิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV Kit & Blueprint Project) ระหว่าง กฟผ. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยในระยะที่ 2 นี้ กฟผ. จะรับมอบรถยนต์ EV ดัดแปลงจาก สวทช. รุ่น Toyota Altis อีก 2 คัน ในเดือนพฤศจิกายน 2562 จากขณะนี้ที่ได้รับมอบมาแล้ว 2 คัน รุ่น Nissan Almera รวมเป็น 4 คัน หลังจากนั้นจะร่วมกันร่างพิมพ์เขียวชุดอุปกรณ์ดัดแปลงรถยนต์ (EV Kit) และเปิดรับสมัครคัดเลือกให้ผู้ประกอบการอู่รถยนต์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิธีการดัดแปลงรถยนต์ให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้าอย่างถูกต้อง คาดว่าร่างพิมพ์เขียวจะแล้วเสร็จและประกาศเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจร่วมดัดแปลงรถยนต์ EV เชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 2563 คาดว่าราคาจำหน่ายของรถยนต์ EV ดัดแปลงจะไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคัน ซึ่งเป็นราคารวมแบตเตอรี่ ทั้งนี้ เชื่อว่ารถยนต์ EV ดัดแปลงจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางหรือผู้ใช้รถยนต์มือสอง โดยไม่ไปแข่งขันกับรถยนต์ใหม่
“ราคารถยนต์ EV ดัดแปลง น่าจะไม่เกินคันละ 2 แสนบาท ไม่รวมแบตเตอรี่ แต่หากรวมแบตเตอรี่ราคาจะไม่เกินคันละ 3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและแบตเตอรี่ที่นำเข้า ขณะนี้ขอรอดูผลการทดสอบรถยนต์ Toyota Altis ที่จะรับมอบมาทั้ง 2 คันก่อน รวมทั้งต้นทุนการผลิตชุดอุปกรณ์ดัดแปลง ต้นทุนค่าแรงและมาร์จิ้นของอู่รถยนต์ และการจัดทำโปรโมชั่นเสริมเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนการหารือกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อจดทะเบียนรถยนต์ EV ดัดแปลง” นางสาวจิราพร กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวจิราพร ยังกล่าวถึงการจัดงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2019 ภายใต้แนวคิด “EGAT Digital Tranformation” เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคดิจิทัล ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมนำเสนอนวัตกรรมพลังงาน 36 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่ผ่านเวทีประกวดระดับชาติ โดยในส่วนของ กฟผ. มีการปรับเปลี่ยนนวัตกรรมต่างๆ ทั้งเรื่อง Digital Power Plant ที่เป็นการพัฒนาระบบโรงไฟฟ้าให้มีสมรรถนะและมีความยืดหยุ่นในระบบสูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาอัตราการเร่งเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในระบบให้เร็วขึ้นจากเดิมที่มีอัตราเร่ง 10-15 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง เป็นให้ได้ 50 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง เป็นต้น ซึงจะรองรับระบบโรงไฟฟ้าที่มีพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น
สำหรับงบประมาณการวิจัยนั้น กฟผ. มีงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจสามารถมีวงเงินสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างน้อยร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิต่อปี หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 จะนำไปใช้ในงานวิจัย และสนับสนันสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน โดย กฟผ. มีแนวทางการให้ทุนดังกล่าวในทุกด้าน อาทิ ด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโรงไฟฟ้า การพัฒนาระบบส่ง และนวัตกรรมต่างๆ ที่มุ่งในเชิงพาณิชย์
ส่วนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า อาทิ ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นระบบที่สามารถประมวลผลและคำนวณแนวทางการสั่งการกลุ่มโรงไฟฟ้าที่กำหนดให้มีกำลังผลิตที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น (Real Time) ช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งกำลังไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ โดยได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ