'กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม-ตำรวจ ปอท.' แถลงปิดล้อมจับกุมเพจเฟซบุ๊กข่าวปลอม 9 คดี หลังปิดตรวจค้น 9 จุดทั่วประเทศ เผยโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตได้ แต่ไม่ควรสร้างความเกลียดชัง หากกระทบผู้อื่นเข้าข่ายหมิ่นประมาท ที่มาภาพประกอบ: Christoph Scholz (CC BY-SA 2.0)
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมานายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวง ดศ. พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี Technology Crime Suppression Division “ปฏิบัติการทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019”
นายพุทธิพงษ์ แถลงว่าปัจจุบันพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารของพี่น้องประชาชน เปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยก่อนมาก ประชาชนใช้เวลาในการเข้าถึงข่าวสารได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ บางคร้ัง ในความรวดเร็วของข่าวสารก็แฝงมาด้วยข่าวปลอมก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
กระทรวงดิจิทัลฯ และ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิด “ปฏิบัติการทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” ดําเนินการปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างข่าวปลอม สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ล่าสุดปิดล้อมตรวจ ค้น 9 จุดทั่วประเทศ มีผลการปฏิบัติ ดังนี้
1. "ข่าวประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษระเบิด 7 จุดในกรุงเทพมหานคร" ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักย่านบางพลัด ผู้ต้องหารับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำการดังกล่าวจริง จริงแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
2. "นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ" จับกุมผู้ต้องหาชาวไนจีเรีย 3 ราย ชาวไทย 2 ราย แอบอ้างเป็นบุคคลอื่นมาติดต่อคู่ค้า มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
3. "หลอกรักออนไลน์ (โรแมนซ์ สแกม)" จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย ใน จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่าความเสียหายกว่าล้านบาท
4. "แอบอ้างข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย" หลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ อาทิ โทรศัพท์ และเสื้อผ้า มูลค่าความเสียหาย 5 ล้านบาท จับกุมผู้ต้องหา 3 คน ในพื้นที่จ.มหาสารคาม และจ.สมุทรสาคร
5. "แอบอ้างเป็นลูกสาวของประธานาธิบดีของประเทศจีน” จับกุมแอดมินเพจเฟซบุ๊ก 1 ราย พร้อมทำการตรวจยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ได้ในบ้านพักพื้นที่อ.บ่อผุด จ.สุราษฎร์ธานี
6. "ข่าวแม่น้ำโขงแห้ง ปลาสูญพันธุ์" จับกุมผู้ต้องหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จในบ้านพัก อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และได้นำตัวมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(2)
7. "หลอกขายผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้า" จับกุมขบวนการต่างชาติ พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก ภายในโกดังเก็บสินค้าในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และอ.พานทอง จ.ชลบุรี มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
8. "แอบอ้างนามสกุลนายกรัฐมนตรี หลอกขายของออนไลน์" จับกุมผู้ต้องหาหลอกขายสินค้าทางออนไลน์ เพื่อหวังให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งกระทำมาแล้วเป็นเวลาสี่เดือน มูลค่าความเสียหายนับแสนบาท
9. "เพจเฟซบุ๊ก รับสมัครนักรบล้มล้างการปกครอง" เจ้าหน้าที่นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าตรวจค้นที่บ้านพักย่านเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ได้พบกับผู้กระทำความผิดเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ และรับว่าได้กระทำจริง จึงได้นำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข่าวปลอมหรือ Fake News แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. กลุ่มโพสต์ข้อความสร้างกระแสเพื่อความสนุกส่วนตัวหรือที่เรียกว่านักเลงคีย์บอร์ด
2.กลุ่มหวังเงิน นำภาพดารา ผู้มีชื่อเสียง โพสต์สร้างกระแส หวังยอดติดตามเพื่อโฆษณา
3.กลุ่มสร้างความเกลียดชังโพสต์ข้อความดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น หรือกลุ่ม Hate Speech
4.กลุ่มหลอกลวง นำเข้าข้อมูลเท็จ หลอกขายสินค้าประชาชนสามารถโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ หากไม่สร้างความเกลียดชัง และไม่เกิดความเสียหายต่อสังคม แต่หากกระทบบุคคลอื่น อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทได้
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ หากไม่สร้างความเกลียดชัง และไม่เกิดความเสียหายต่อสังคม แต่หากกระทบบุคคลอื่น อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ