เร่งเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ให้จบก่อนส่งมอบพื้นที่ เม.ย. 2565

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2365 ครั้ง

เร่งเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ให้จบก่อนส่งมอบพื้นที่ เม.ย. 2565

ปลัดกระทรวงพลังงาน มอบกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เริ่มกระบวนการเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณกับบริษัท เชฟรอนฯ และผู้ถือหุ้นหลัก หลังเชฟรอนฯ ระงับการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการชั่วคราว ระบุผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณได้ยื่นข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ หวังเร่งให้การเจรจาสำเร็จโดยเร็วก่อนครบกำหนดส่งมอบพื้นที่ เม.ย. 2565 ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2562 ว่านายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเริ่มกระบวนการเจรจาค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย กับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และผู้ถือหุ้นหลัก หลังจากก่อนหน้านี้ทาง เชฟรอนฯและผู้ถือหุ้นหลัก ได้ระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการกับกระทรวงพลังงานเอาไว้ก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณ ได้ยื่นข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานต้องการให้การเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันระยะเวลาที่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ในเดือน เม.ย. 2565 และ 2566 โดยหากผลการเจรจาสามารถตกลงกันได้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะต้องรายงานต่อปลัดกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการจ่ายค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมตามขั้นตอน แต่หากผลการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการกันต่อไป

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ระงับการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อมาเริ่มต้นเจรจาการชำระค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย โดยการเจรจาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่แหล่งเอราวัณให้กับผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมรายใหม่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่าบริษัทเชฟรอนของสหรัฐฯ ได้ระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยแล้ว และจะเริ่มต้นเจรจาหาทางออกร่วมกัน ทั้งด้านกฎหมายและแผนดำเนินการรื้อถอนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่เข้าไปดำเนินการต่อโดยจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติหรือความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย

สำหรับกรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ที่เกิดเป็นประเด็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากรัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการออกกฏกระทรวง ให้บริษัทผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของแท่นผลิตหรือสิ่งติดตั้ง ที่รัฐไม่ได้รับโอนและส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรายละเอียดข้อกำหนดที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2515 แต่ฝั่งเอกชนผู้รับสัมปทานมองว่าการออกกฏกระทรวงดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมกับเอกชนและได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

ทั้งนี้ในมุมของเอกชนผู้รับสัมปทาน แสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด เฉพาะในส่วนที่รัฐไม่รับโอนเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ต่อเท่านั้น แต่หากรัฐเลือกที่จะรับโอนแท่นผลิตปิโตรเลียมใดเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อ ผู้รับสัมปทานจะไม่รับผิดชอบภาระในการรื้อถอนแท่นผลิตนั้น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับสัญญาสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่นทางด่วนหรือโรงไฟฟ้าที่เป็นการโอนขาดไปทั้งทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐ

'สนธิรัตน์' ย้ำมีเวลา 18 วัน เจรจาหาข้อยุติเชฟรอนเรื่องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม

Energy News Center ยังรายงานว่านายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานพบปะสื่อมวลชน สายพลังงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 ถึงประเด็นที่ โฆษกเชฟรอน ที่สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ เกี่ยวกับ การระงับการฟ้องอนุญาโตตุลาการ เรื่องค่ารื้อถอนแท่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ว่าถือเป็นใหญ่และเป็นผลงานที่ของกระทรวงพลังงาน ที่นำโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเจรจา โดยมองว่า การที่ข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ จะทำให้ความเชื่อมั่นต่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย และ
เป็นสัญญาณที่ดีต่อการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณที่จะมีความต่อเนื่อง

การเจรจาให้เชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระงับการฟ้องอนุญาโตตุลาการ ได้ ถือว่ากระทรวงพลังงานได้ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง โดยหลังจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมีเวลา 180 วัน พิจารณาข้อเสนอค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังจากผู้รับสัมปทานเดิมยื่นข้อเสนอเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม และหัวหน้าทีมทำงาน เกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ กล่าวว่า กล่าวว่า การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทย เป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ จะมีระยะเวลา 180 วัน หรือประมาณภายในเดือนมี.ค. 2563

โดยหลังจากนั้น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทานให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนอีกครั้ง ภายใน 120 วัน แต่หากขั้นตอนดังกล่าวยังไม่สามารถตกลงกันได้อีก จึงจะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า ในการพิจารณาข้อมูลรอบใหม่จะสามารถตกลงเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้

ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมรับฟังข้อมูล บนพื้นฐานหลักการของกฎหมาย ที่ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม บนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม หลังหมดสัญญากับภาครัฐ ส่วนวงเงินค้ำประกันจะเป็นเท่าไรนั้น จะมากหรือน้อยว่าวงเงินเดิมที่กว่า 1 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ต้องมาคุยกันในรายละเอียดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพิจารณาค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทยนั้น ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าการดำเนินการจะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ให้รายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการหลังหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการส่งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่น และการวางเงินเป็นค่าหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตที่แหล่งเอราวัณมีอยู่กว่า 200 แท่น วงเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนของแหล่งบงกชจะมีอยู่กว่า 100 แท่น คิดเป็นมูลค่าหลักประกัน 3 หมื่นล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: