นักเศรษฐศาสตร์ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาท ต้นทุนสินค้าโดยรวมไม่สูงขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2427 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาท ต้นทุนสินค้าโดยรวมไม่สูงขึ้น

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ม.รังสิต ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาท ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมสูงขึ้น ย้ำไม่ควรเป็นเหตุของการปรับเพิ่มราคาสินค้า ขณะที่ปรับเพิ่มก็ยังไม่ได้เป็นค่าแรงที่เพียงพอต่อมาตรฐานการดำรงชีพ เสนอรัฐบาลมีมาตรการสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อยและมีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็ก

11 ธ.ค. 2562 จากกรณีคณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 10 ระดับ โดยมีการปรับขึ้นประมาณ 5-6 บาท นั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 25562 ถึงประเด็นดังกล่าวว่าไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นจึงไม่ควรเป็นเหตุของการปรับเพิ่มราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจมากนักเพราะปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ไม่ได้เป็นตามนโยบายที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้มีการหาเสียงเอาไว้ที่ 400-425 บาทต่อวันซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีคงได้พิจารณาถึงประเด็นความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจว่าไม่สามารถดำเนินการได้ และควรมีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าจ้างด้วย และควรกำหนดให้มีโครงสร้างเงินเดือนสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปเพื่อเป็นระบบที่ดีที่ทำให้ลูกจ้างเห็นหลักประกันทางด้านค่าจ้าง ส่วนการใช้ระบบค่าจ้างทั่วไปก็ให้จ่ายค่าจ้างตามผลิตภาพและความสามารถในการผลิตและขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงานรวมทั้งปัจจัยต่างๆทางเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เสนอว่าประเทศไทยควรนำระบบค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงมาบังคับใช้ โดยให้มีอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและบริหารต้นทุนด้านแรงงานได้ดีขึ้นอีกด้วยและจ้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน เช่น กำหนดการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงที่ 50 บาทไม่ใช่เอาค่าจ้างขั้นต่ำรายวันมาเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงเพราะจะทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำเกินไป

อนุสรณ์ กล่าวว่า เสนอให้ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และ การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ที่มีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า แรงงานไทยทั้งหมด 39 ล้านคนต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) คนงานในอุตสาหกรรมส่งออกที่มียอดคำสั่งซื้อลดลงหรือหดตัวอย่างชัดเจน รวมทั้ง คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการชะลอของภาคส่งออก รวมทั้งการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า

อนุสรณ์ อ้างถึง งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ ขณะเดียวกันจะมีตำแหน่งงานและโอกาสใหม่ทางธุรกิจเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถชดเชยกับตำแหน่งงานที่หายไปได้ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อภาคยานยนต์ คือ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ รถยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้า 3D Printing วัสดุน้ำหนักเบา และ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง การออกแบบระบบเศรษฐกิจให้มีแบ่งปันกันมากขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม แรงงานอาจจะใช้เวลาทำงานน้อยลงแต่ผลผลิตไม่ได้ลดลง กำไรของภาคธุรกิจไม่ได้ลดลง แรงงานจึงควรมีสวัสดิการและค่าจ้างที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเรามีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้นนั่นเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: