12 ปี จับ ‘พืชกระท่อม’ 131,363 คดี ส.ส.ใต้ตั้งข้อสังเกต ‘จับง่าย-ทำยอดคดี’

ทีมข่าว TCIJ: 11 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 10455 ครั้ง

'เทพไท เสนพงศ์' ส.ส.นครศรีธรรมราช อภิปรายผลงาน ป.ป.ส. ปี 2560 แปลกใจยอดจับกุม 'พืชกระท่อม' สูงเป็นอันดับ 2 รองจาก 'ยาบ้า' ทั้งที่โทษน้อย-ไม่ใช่พืชเสพติดร้ายแรง ตั้งข้อสังเกตว่าหากโรงพักใดต้องการทำยอดคดี วิธีง่ายสุดคือจับชาวบ้านเคี้ยวใบกระท่อม ทั้งที่เป็นวิถีชีวิตของคนภาคใต้ เปิดสถิติย้อนหลัง 12 ปี (2549-2560) พบจับกุมคดีพืชกระท่อมรวม 131,363 คดี ที่มาภาพประกอบ: มติชนออนไลน์

‘ประยุทธ์’ ดับฝัน ‘เทพไท’ เสนอนโยบาย ‘พืชกระท่อม 1 บ้านต่อ 1 ต้น’

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในวาระการรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ.2560 ว่ารู้สึกแปลกใจในยอดจับกุมสูงเป็นอันดับ 2 คือคดีพืชกระท่อม ทั้งที่เป็นคดีที่มีโทษน้อยมาก และไม่ใช่พืชเสพติดที่ร้ายแรง ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากโรงพักใดต้องการทำยอดคดีวิธีที่ง่ายที่สุดคือจับกุมชาวบ้านที่เคี้ยวใบกระท่อม ขณะที่ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9 ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้พบว่ามีรายงานคดีพืชกระท่อมสูง ทั้งที่พืชกระท่อมเป็นวิถีชีวิตของคนภาคใต้ [1]

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในวาระการรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2562 (คลิ๊กชมคลิปการอภิปราย)

ก่อนหน้านี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 นายเทพไท ได้นำปัญหาพืชกระท่อมขึ้นหารือในที่ประชุมสภาฯ โดยขอให้มีการปลดล็อคพืชกระท่อมเป็นพืชสมุนไพร นายเทพไทระบุว่าตนได้ลงพื้นที่ไปสภากาแฟ ที่ร้านโกดำ บ้านป่ายาง ต.ท้ายสำเภา อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช สิ่งที่พบคือวัฒนธรรมของเขา คือนอกจากดื่มกาแฟแล้ว ก็จะกินใบกระท่อมด้วย ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่เขารูดใบมากินกับกาแฟกับน้ำร้อน ซึ่งมีความเชื่อว่าแก้โรคกระเพาะ ความดัน ปวดเมื่อย และตนได้รับการร้องเรียนว่าตอนนี้มีกระแสปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด แต่พืชกระท่อมยังอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับกัญชา

"ชาวบ้านก็ถามผมว่าทำไมไม่ปลดล็อคพืชกระท่อมด้วย ชาวบ้านเขาก็เลยฝากผมให้นำเรื่องใบกระท่อมมาเสนอเป็นนโยบายว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายปลูกกัญชา 6 ต้นต่อบ้าน เขาก็อยากได้ปลูกพืชกระท่อม 1 บ้านต่อ 1 ต้น จึงอยากฝากเป็นนโยบายรัฐบาลชุดนี้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้บริโภคกระท่อมเป็นสมุนไพรรักษาสุขภาพร่างกายด้วย" นายเทพไท ระบุ [2]

แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธที่แนวคิดนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าในขณะนี้เองก็ยังมีปัญหาอยู่พอสมควรในเรื่องของการใช้กัญชาอยู่

"เพราะเห็นมีคนเสนอมาว่าจะเอาใบกระท่อม แต่อย่าเพิ่งไปตรงนั้นเลย วันนี้ก็มีปัญหาอยู่พอสมควรในเรื่องของการใช้กัญชา เพลาๆ ลงมั่ง ทีละเรื่องจะเหมาทีเดียวกันหมด ใบนู้นใบนี้มากันใหญ่ เอาทีละใบได้ไหม ถ้ามันเป็นประโยชน์ วันหน้าก็ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าดีก็ทำ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ [3]

ปี 2560 จับกุมคดียาเสพติด 181,806 คดี ผู้ต้องหา 193,555 คน

ทั้งนี้จาก ‘รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2560’ ซึ่งนำข้อมูลมาจาก ‘ผลการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศปี 2560’ ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ระบุถึงผลการจับกุมยาเสพติดในปี 2560 ในภาพรวมแล้วพบว่ายาเสพติดที่สำคัญ เช่น ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน คีตามีน และพืชกระท่อม มีการตรวจยึดของกลางในปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 'ยาบ้า' มีปริมาณเพิ่มขึ้นและคดีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วน ไอซ์ เฮโรอีน คีตามีน และพืชกระท่อม แม้จะมีของกลางในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ผลการจับกุมและจำนวนคดีลดลง

โดยผลการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศในปี 2560 มีจำนวน 181,806 คดี ผู้ต้องหา 193,555 คน เป็นคดีไม่ทราบผู้กระทำผิด 1,288 คดี จำแนกเป็นคดียาบ้า 132,410 คดี ของกลาง 248,163,639.28 เม็ด ไอซ์ 15,532 คดี ของกลาง 6,184.84 กิโลกรัม  เฮโรอีน 772 คดีของกลาง 646.30 กิโลกรัม โคเคน 58 คดี ของกลาง 41.52 กิโลกรัม กัญชาแห้ง 8,629 คดี ของกลาง 31,701.70กิโลกรัม กัญชาสด 834 คดี ของกลาง 1,224.56 กิโลกรัม พืชกระท่อม 20,560 คดี ของกลาง 94,425.37 กิโลกรัม และคีตามีน 295 คดี ของกลาง 549.90 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติผลการจับกุมโดยภาพรวมในปี 2559 กับปี 2560 พบว่ายาเสพติดที่สำคัญ เช่น ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน คีตามีน และพืชกระท่อม มีการตรวจยึดของกลางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาบ้าเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งจำนวนคดีและปริมาณของกลาง ไอซ์ เฮโรอีน พืชกระท่อม และคีตามีน มีจำนวนคดีลดลง แต่ปริมาณของกลางที่ถูกตรวจยึดเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กัญชาแห้งและโคเคน มีผลการจับกุมลดลงทั้งจำนวนคดีและปริมาณของกลาง

เมื่อพิจารณาการตรวจยึดของกลาง พบว่า ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และกัญชา ในคดีซึ่งมีปริมาณของกลางมากๆ เพิ่มขึ้น ที่พบว่าถูกจับกุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และพื้นที่ภาคกลาง มักเป็นแหล่งที่เก็บพักยาเสพติดระหว่างรอการส่งจำหน่ายในพื้นที่ และส่วนหนึ่งเป็นการลำเลียงผ่านเพื่อส่งไปยังพื้นที่ภาคใต้ รอการส่งออกไปประเทศที่สาม นอกจากนั้นพบว่ายาบ้าและไอซ์ มีการขยายตัวในกลุ่มผู้ค้าและแพร่ระบาดในกลุ่มผู้เสพรายใหม่ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการจับกุมคีตามีนซึ่งเป็นตัวยาเสพติดที่พบการจับกุมเพิ่มขึ้น ในปี 2560 ส่วนใหญ่จะถูกจับกุมและตรวจยึดได้พร้อมยาเสพติดสำคัญอื่นๆ คือ ยาบ้า ไอซ์ และเฮโรอีน

ในปี 2560 มีการจับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญในคดีที่มีการตรวจยึดของกลางโดยเฉพาะตัวยาสำคัญ เช่น ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน ที่มีปริมาณมากๆ แต่ละครั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากการพิจารณาการจับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญภายใต้เงื่อนไขคือปริมาณของกลางยาบ้า 10,000 เม็ดขึ้นไป ไอซ์ หรือเฮโรอีน หรือโคเคน หรือคีตามีน 1 กก. ขึ้นไป และกัญชาแห้ง หรือพืชกระท่อม ตั้งแต่ 100 กก.ขึ้นไป ปริมาณของกลางที่ตรวจยึดได้ของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างมาก นอกจากโคเคนที่มีการจับกุมและตรวจยึดลดลง [4] [5]

สถิติ 12 ปี พบจับคดีพืชกระท่อมทั้งหมด 131,363 คดี ภาคใต้สูงสุด

ข้อมูลจากงานวิจัย โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน โดยนักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ว่าการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิดมีการนำไปผสมกับสารเสพติดอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหามานั้น เริ่มเป็นปัญหามาตั้งแต่ปลายปี 2547 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลคดีการจับกุมตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ที่ยอดคดีเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกปี

TCIJ ได้เรียบเรียงข้อมูลจาก 'โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน, ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธ.ค. 2560' และ 'ผลการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศปี 2560, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)' พบว่าในรอบ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2560 มีสถิติจำนวนคดีการจับกุมพืชกระท่อมรวม 131,363 คดี แยกเป็นแต่ละปีดังนี้ ปี 2549 จำนวน 2,496 คดี ปี 2550 จำนวน 3,702 คดี ปี 2551 จำนวน 3,861 คดี ปี 2552 จำนวน 6,114 คดี ปี 2553 จำนวน 6,879 คดี ปี 2554 จำนวน 6,471 คดี ปี 2555 จำนวน 7,612 คดี ปี 2556 จำนวน 11,019 คดี ปี 2557 จำนวน 16,028 คดี ปี 2558 จำนวน 23,024 คดี ปี 2559 จำนวน 23,597 คดี และปี 2560 จำนวน 20,560 คดี [6] [7]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] “เทพไท” แปลกใจ คดีพืชกระท่อมสูง เหตุจับง่าย โรงพักใช้ทำยอดคดีสร้างผลงาน (เพจพรรคประชาธิปัตย์, 7 ส.ค. 2562)
[2] ฮือฮา! 'เทพไท' ชงนโยบายกลางสภาฯ ปลูกพืชกระท่อม 1 บ้านต่อ 1 ต้นเหมือน 'กัญชา' (แนวหน้า, 11 ก.ค. 2562)
[3] ‘บิ๊กตู่’ ดับฝัน ‘เทพไท’ ไม่ปลดล็อกใบกระท่อม กัญชายังเคลียร์ไม่จบเลย เอาทีละใบ (มติชนออนไลน์, 7 ส.ค. 2562)
[4] รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2560 (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เอกสารแนบระเบียบวาระในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, 24 ก.ค. 2562)
[5] ผลการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศปี 2560 [สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 9 ส.ค. 2562]
[6] โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน (ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส., ธ.ค. 2560)
[7] ผลการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศปี 2560 [สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 9 ส.ค. 2562]

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: กฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม
'พืชกระท่อม' ได้เวลาปลดล็อค? ต่างประเทศเป็นยาควบคุม-แปรรูปขาย
สถิติการจับกุมพืชกระท่อม 'คดี-ผู้ต้องหา-ของกลาง' ปี 2549-2559

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: