ศิลปะแห่งการต่อต้าน : ปลุกความหวัง เล่าความจริง ผ่านกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองภาคประชาชน

จิตสุภา เรืองประเสริฐ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | 11 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5135 ครั้ง

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้รูปแบบกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองของประชาชนมีความหลากหลายมากขึ้น นักกิจกรรมจึงต้องปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ที่ยึดโยงกับศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ควรกระทำ รายงานพิเศษชิ้นนี้ชวนอ่านนานาทัศนะของนักกิจกรรมและนักสื่อสารมวลชนต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ พร้อมชี้แนะแนวทางการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางความคิด

“ควรพลิกตัวทุกๆ สองชั่วโมง” คำแนะนำของแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดแผล ‘กดทับ’

ในทางการเมือง...ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนจะ ‘พลิกตัว’ ลุกขึ้นเรียกร้องสิ่งต่างๆ ในสภาวะที่ถูก ‘กดทับ’ ด้วยกฏหมายริดรอนสิทธิเสรีภาพ

การชุมนุมทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กลายเป็นความผิดทางอาญา เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจทำการรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค. 2557

การเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายยุคหลายสมัย ปัจจุบันชุดความคิดนี้ก็ยังคงอยู่ แต่รูปแบบของการนำเสนอเปลี่ยนไปตามบริบททางวัฒนธรรมและกระแสสังคมโลก หากแต่ในสภาวะการเมืองที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ กลับเอื้อให้ความคิดสร้างสรรค์ทำงานได้อย่างเต็มที่ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการเคลื่อนไหวทางความคิดในรูปแบบของ เพลง งานศิลปะ อารมณ์ขัน รวมไปถึงการให้ความรู้กับประชาชน

อย่างน้อยก็พิสูจน์ถึงการไม่ยอมศิโรราบ..

 

“ผมแค่อยากเป็นกระบอกเสียง”

เดชาธร บำรุงเมือง | Hockhacker

เดชาธร บำรุงเมือง หรือ Hockhacker หนึ่งในแร็ปเปอร์จากกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship (RAD) เจ้าของบทเพลง ‘ประเทศกูมี’ ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 และจนถึงวันนี้ (15 ม.ย.2562) มีผู้เข้าชมประมาณ 66,000,000 ล้านครั้ง

‘ประเทศกูมี’ มาถูกที่ถูกเวลา สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่กำลังตื่นตัวกับการเมือง มี new voters ที่ได้เลือกตั้งครั้งแรกหลายล้านคน พวกเขาเหล่านี้เป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

“เพลงของเราทำหน้าที่เหมือนเป็นไมโครโฟนที่ทำให้ความคิดเราดังขึ้น แล้วคนที่มีแนวคิดเดียวกับเรา ก็ช่วยทำให้เสียงมันดังขึ้น ฟังแล้วมาถกเถียงกันว่าผิด ถูก ตรงไหน เหมือนเป็นการสะกิดให้คนฟังฉุกคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเราก็หวังที่จะเห็นการถกเถียงแบบนี้แหละ”

เขาสนใจและติดตามการเมืองอยุ่เป็นปกติ แต่ไม่เคยร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองมาก่อน และยังย้ำว่ากลุ่ม RAD ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเรียกร้องหรือรวมมวลชน แต่เป้าหมายหลักคือการใช้เพลงส่งผ่านความคิดต่อต้านเผด็จการ สะท้อนสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเพลงแร็ปก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงได้ดี

“การจะรณรงค์อะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมก็ได้ แค่เริ่มต้นทำในสิ่งที่เราสนใจและถนัด สิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่ามันน่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้ แค่เราเริ่มที่จะทำ ยังไม่ต้องคิดถึงความสำเร็จ”

 

“ทำอะไรแบบนี้มันไม่สนุกหรอก เราทำเพราะมองว่ามันจำเป็น”

 

โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา

หนึ่งในแกนนำของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เล่าให้เราฟังว่ามันไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ สำหรับคนที่โดนตั้งข้อหาจากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างการเลือกตั้ง

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกตั้งข้อกล่าวหาถึง 4 คดีด้วยกัน

  • 27 ม.ค. 61 คดี MBK39 บริเวณสกายวอล์กหน้ามาบุญครอง ถูกตั้งข้อหา 39 คน แบ่งเป็นแกนนำ 9 คน
  • 10 ก.พ. 61 คดี RDN50 บริเวณถนนราชดำเนิน โดนตั้งข้อหา 50 คน
  • 24 มี.ค. 61 คดี Army57 บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก
  • 22 พ.ค 61 คดี UN62 บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ

“การรวมมวลชนในลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี นี่คือยุทธวิธีของเผด็จการชุดนี้คือการตั้งข้อหาดำเนินคดีเพื่อสร้างความกลัว เราสามารถเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Judicial Harassment แล้วเวลาคนอื่นเห็นเราโดนคดีเยอะๆ ก็ทำให้ไม่กล้ามาร่วมชุมนุมด้วย”

ด้วยต้นทุนในการเป็นคนมีชื่อเสียง และทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการนำมวลชน ในทุกครั้งของการจัดชุมนุม คุณโบว์ใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีสัดส่วนของวัยกลางคนเข้าร่วมชุมนุมมากกว่าคนรุ่นใหม่

“โบว์มองว่าการที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลอย่างเดียว มันทำได้ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเป็นปกติ แต่ถ้าเราสู้กับอำนาจแบบนี้ ผู้มีอำนาจเขาไม่สนใจฟังเราหรอก เราต้องส่งเสียงของเราออกไปดังๆ”

คุณโบว์ยังฝากถึงคนที่อยากทำรณรงค์ด้วยการรวมมวลชนว่าสิ่งสำคัญต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ต้องอาศัยความเข้าใจในเนื้อหาของข้อเรียกร้อง และศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างรอบคอบ รวมไปถึงการสื่อสารยังไงไม่ให้ถูกฟ้องหมื่นประมาท

“ยิ่งถ้าคนเค้าฟังเรา เราก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ แล้วถ้าเราไม่เข้าใจในหลักการและความรู้ เราก็จะเสี่ยงเองด้วย การรณรงค์ก็คือการสื่อสาร เพราะฉะนั้นก็ดูตัวเองว่าถนัดอะไร แล้วก็เริ่มจากตรงนั้น”

 

ขอแค่ได้ ‘เกียน’

สมบัติ บุญงามอนงค์ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเกียน

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก. ลายจุด ประกาศจุดยืนเป็นผู้นำความบันเทิงเข้าสู่การเมืองไทย กับบทบาทจากพรรคเกียนที่เขาร่วมก่อตั้ง

“ถ้าไม่สนุกผมไม่ทำ” ตลอดระยะเวลาการสัมภาษณ์ สมบัติพูดประโยคนี้กับผู้เขียนอยู่บ่อยครั้งด้วยนำเสียงที่มีชีวิตชีวา ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวทางการเคลื่อนไหวของเขาที่วางอยู่บนพื้นฐานของความสนุกเป็นหลัก แม้ว่าในที่สุดพรรคเกียนไม่ได้ลงในสนามแข่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขาได้สร้างความ ‘จี๊ดจ๊าด’ (คำที่สมบัติใช้) ให้กับการเมืองไทยอยู่ไม่น้อย

“ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง”

สมบัติมั่นใจว่าคนจำนวนมากไม่ยอมรับสิ่งนี้ แม้แต่คนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เพราะรู้สึกว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่เขากลับมองว่าเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน การที่เขาแต่งตัวด้วยชุดคอสเพลย์ อย่างชุดไทย ชุดดับเพลิง หรือแม้แต่การตั้งชื่อพรรค มันคือการสั่นคลอนมายาคติที่คนไทยมีต่อนักการเมือง และการทำพรรคการเมืองเป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่สุดของเขา

“คือจริงๆ ผมไม่อยากจะเป็น สส. ขนาดนั้น แค่อยากมีพื้นที่แสดงออก ถ้าไปพรรคอื่น ใครจะยอมให้ผมทำแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มันส์หรอก พรรคเกียนเป็นหนึ่งใน Eco-system ทางการเมืองไทย  ทุกๆ การเคลื่อนไหว การปรากฎตัวต่อสาธารณะ ได้รับการจัดวาง ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว มีความเป็นศิลปะทางการเมืองระดับหนึ่งเลย”

สมบัติทิ้งท้ายว่าอารมณ์ขันเป็นเครื่องมือที่หล่อเลี้ยงจิตใจเขา ให้ต่อสู้กับการเมืองได้ ใช้อารมณ์ขันเพื่อเยียวยาตัวเอง และเป็นพื้นที่ๆ วิ่งเล่น ล้อเลียนและหัวเราะไปกับการเมืองได้

 

ศิลปะและการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้

ประกิต กอบกิจวัฒนา

ศิลปะรับใช้บริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง ขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้เช่นกัน ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟจากบริษัทโฆษณา มองว่าการรณรงค์ทางการเมืองไม่ต่างอะไรกับการโฆษณา จุดประสงค์คือการหาแนวร่วมที่เห็นตรงกับเรา ในแง่ของเนื้อหาที่สื่อสารออกไปต้องชัดเจนและตรงประเด็น

“คือเวลาเราทำงานครีเอทีฟ งานอาร์ต คือต้องถามกลุ่มเป้าหมายคืออะไร เมสเสจอะไร เค้าฟังเราแล้วเค้าจะทำอะไรต่อ อย่างเพลง ประเทศกูมี ฟังแล้วคนโกรธมั้ย เกลียดรัฐบาลมั้ย” ประกิตกล่าว

“ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่สังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ มันมีการรวมตัวในเชิงออนไลน์ เช่น เวลามีแฮชเแท็ก เป็นพลังของคนอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องรวมตัวแบบกายภาพแบบคนอยากเลือกตั้ง ที่ต้องออกไปยืนหน้าหอศิลป์”

เขามองว่าในวันนี้คนไทยยังโกรธไม่พอ

“การที่จะไปยืนเรียกคน รวมมวลชน มันต้องสัมพันธ์กับความรู้สึกโดยทั่วๆ ไป วันนี้คนไทยยังโกรธไม่พอ อารมณ์ยังอยู่แค่การระบายลงโซเชียล อย่างเพลง ประเทศกูมี เพลงมีพลังในการขับเคลื่อน วัดยังไงว่าสำเร็จ ถ้ารัฐบาลเดือดร้อนแล้วก็คือประสบความสำเร็จ ผู้มีอำนาจต้องหันกลับมาฟังแล้ว”

ศกานต์ กาญจนารมย์

เช่นเดียวกับ ศกานต์ กาญจนารมย์ ที่ให้ความเห็นว่ากิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองในยุค 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีความรุนแรงเท่ากับสมัยก่อน เนื่องด้วยปัจจัยของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ประชาชนมีพื้นที่ระบายความรู้สึก แสดงความคิดเห็นต่างออกมา

“ในงานโฆษณาเราจะไม่พูดถึงสิ่งที่เค้าไม่อยากฟัง เช่นเดียวกับการรณรงค์ คือเราต้องพูดในสิ่งที่คนอยากฟังและโหยหาเรื่องนี้ แต่คำถามกลับคือแล้วคุณรู้ไหมว่าเขาอยากฟังอะไร เพราะฉะนั้นต้องรู้ insight ของคนที่เราจะสื่อสารให้ได้”

เขายอมรับว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นที่รองรับความโกรธของผู้คน ทำให้ที่ผ่านมา เมื่อมีการระดมมวลชนออกไปประท้วง มีจำนวนคนไม่มากเหมือนแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม เขายังสนับสนุนให้ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิ์ เพราะการชุมนุมโดยสันติถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน

 

ความคิดสร้างสรรค์มาพร้อมกับรสนิยม

ยุทธนา บุญอ้อม

ในมุมมองของยุทธนา บุญอ้อม นักสื่อสารมวลชนที่คร่ำหวอดออยู่ในวงการบันเทิงมายาวนาน มองว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถนำมาแก้ปัญหาภาวะที่ไม่ปกติให้ผ่อนคลายลงได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยจุดประกายความคิดคน

“ถามว่าผมชอบบรรยากาศในช่วงห้าปีที่ผ่านมามั้ย โอ้โห! ใครจะชอบวะ มันมีเรื่องผิดปกติเต็มไปหมดเลย แต่ถ้าพูดในฐานะคนทำงานด้านครีเอทีฟ ผมโคตรชอบเลยอ่ะ มันเป็น 5 ปีที่มีนักคิดเกิดขึ้นมากมาย มีการแสดงความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเต็มไปหมดเลย ผมสนุกมากกับเรื่องนี้”

เขาเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ว่าเหมือนการบีบยาสีฟัน ตอนที่มันยังเต็มหลอดอยู่ เราจะบีบยังไงก็ได้ โดยไม่ใช้ความสามารถเฉพาะตัวอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเริ่มหมด นั่นแหละที่เราจะเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์ เอ๊ะ จะม้วน พับ หรือรีด หรือบีบลงไปตรงๆ ยิ่งมีข้อจำกัดเยอะ ความคิดสร้างสรรค์มันจะเกิดขึ้นเอง

ทั้งนี้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะจะมาพร้อมกับคำว่า ‘รสนิยม’ เสมอ เนื้อหาที่สื่อสารออกไปย่อมมีทั้งคนเข้าใจและงงงวย ดังนั้นทุกฝ่ายก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์หมด เพียงแค่ว่าเราหัวเราะกับเรื่องแบบไหนมากกว่ากัน

เขามองภาพรวมของกิจกรรมทางการเมืองว่า ฝ่ายซีเรียสหรือในลักษณะที่รวมมวลชนลงถนน จะเป็นฝ่ายจุดประเด็น เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาและต้องช่วยกันผลักดันแก้ไข เมื่อประเด็นเริ่มชัดขึ้นและเป็นที่สนใจของประชาชน ก็จะมีกลุ่มคนหยิบยกประเด็นนี้ไปต่อยอดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

“ความยากของการรวมมวลชนออกไปประท้วง คือคุณต้องเข้าใจกฏหมายที่ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของการตีความ เช่น กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยจะมีสักกี่คนที่อ่านรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดเนี่ยะ ผมไม่รู้จะไปหาอ่านที่ไหนด้วย คือถ้าไม่รู้จริง มันจะปลุกไม่ขึ้น” 

ในขณะที่การสื่อสารทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งใช้ลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์ขัน เพลง หรือศิลปะ ซึ่งข้อได้เปรียบก็คือบางเพลง ทำให้เราร้องตามได้ หรืออารมณ์ขัน ทำให้ปัญหาที่ซีเรียสให้เบาลงได้ และมันอาจจะเปิดช่องให้แลกเปลี่ยนความเห็นกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการรณรงค์โดยใช้เพลงหรือหรืออารมณ์ขัน อาจทำให้พูดถึงประเด็นซับซ้อนได้ค่อนข้างยาก 

“ถึงแม้ว่า ‘ประเทศกูมี’ จะเป็นเพลงแร็ปที่มีพื้นที่ให้พูดเยอะ แต่ก็พูดเรื่องซับซ้อนไม่ได้อยู่ดี ต้องพูดเรื่องที่เข้าใจง่าย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะพูดหลายประเด็นก็ตาม แต่มันเป็นประเด็นที่เรารู้อยู่แล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดประเด็นใหม่ มันเหมือนสรุปผลเสียของการมีรัฐบาลเผด็จการ”

ในทางกลับกัน ถ้าเทียบกับกลุ่นคนอยากเลือกตั้ง ยุทธนามองว่าสามารถพูดเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่านั้นได้ ด้วยการค่อยๆ สร้างความเข้าใจ ให้ความรู้กับผู้คน ทำให้เห็นปัญหา จนในที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นประเด็นที่ชัดเจน และทำให้คนอื่นต่อยอดประเด็นนั้นในแบบที่มีอารมณ์ขันหรือเข้าใจง่าย

ส่วนอะไรจะเป็นตัวตัดสินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละคน บางกิจกรรมอาจวัดจำนวนคนมาชุมนุม บางกิจกรรมต้องการให้คนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นในกระทู้ แต่ละภารกิจย่อมมีมาตรวัดความสำเร็จที่ต่างกัน

“เราไม่จำเป็นต้องทำภารกิจใหญ่ด้วยกัน แต่ละคนสามารถเลือกรูปแบบของของตัวเองได้ ในสภาวะที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ผมกลับพบว่ามันมีอิสระในการสร้างรูปแบบการสื่อสารของตัวเอง ภารกิจของบางคนมันอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานมาก ในขณะที่ฉันขอให้แฮชแท็กนี้ติดเทรนด์ ฉันก็มีความสุขแล้ว อย่างน้อยก็สร้างความเจ็บแสบให้กับผู้มีอำนาจได้โดยไม่ต้องเรียกคนมาชุมนุมเต็มถนน” 

“นี่คือความสวยงามของข้อจำกัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับผมแล้วมันเจ๋งมาก เดี๋ยวก็จะมีคนคิดอะไรแปลกๆออกมาเรื่อยๆ ผมค่อนข้างมั่นใจ เราจงรอดูได้เลย...” ยุทธนาทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: