Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?

ทีมข่าว TCIJ | 3 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 20429 ครั้ง

ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ 'ดิจิทัล' ผลกระทบหนักสุดตกอยู่ที่กลุ่ม 'สื่อสิ่งพิมพ์ไทย' พบ 'หนังสือพิมพ์' ทยอยเลิกฉบับพิมพ์มุ่งสู่ออนไลน์ ด้าน 'นิตยสาร' ก็ทยอยปิดตัว ปี 2551-2561 เม็ดเงินโฆษณา 'หนังสือพิมพ์-นิตยสาร' ลดลงเรื่อยๆ -  ระหว่างปี 2555-2557 มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ 'หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์' ลดลง - องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ปรับตัวมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ 'ออนไลน์' ไม่สร้างกำไร - ช่วง 6 เดือนหลังปี 2562 'CEO กลุ่มสิ่งพิมพ์' มีความเห็นต้องลดการจ้างงาน รับผลเชิงลบจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

‘หนังสือพิมพ์’เลิกฉบับพิมพ์ มุ่งสู่ออนไลน์ 'นิตยสาร'ทยอยปิดตัว หลังเคยพุ่งสูงสุดในปี 2553

การเกิดขึ้นของ ‘สื่อดิจิทัล’ ส่งผลกระทบต่อสื่อเก่าอย่าง ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ มากที่สุดโดยเฉพาะ ‘หนังสือพิมพ์’ ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทยอยเลิกพิมพ์แล้วมุ่งสู่การนำเสนอเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์แทน จากตัวอย่างเท่าที่รวบรวมได้ เช่น

  • ธ.ค. 2559 หนังสือพิมพ์ 'บ้านเมือง' ยุติการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ โดยฉบับสุดท้ายคือวันที่ 31 ธ.ค. 2559 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว 
  • มี.ค. 2561 หนังสือพิมพ์ 'เชียงใหม่นิวส์' ประกาศเลิกผลิต เลิกพิมพ์ และจัดจำหน่าย โดยฉบับวันที่ 5 มี.ค. 2561 เป็นฉบับสุดท้าย เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'โพสต์ทูเดย์' [สื่อในเครือ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST] ได้ประกาศตัวผ่านทางเว็บไซต์ว่าจะยุติบทบาทบนหน้าหนังสือพิมพ์ในฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 5,897 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'M2F' หนังสือพิมพ์แจกฟรีขนาดแท็บลอยด์ (ค่าย POST เช่นเดียวกับโพสต์ทูเดย์) ก็ประกาศเลิกพิมพ์ในเดือน มี.ค. 2562 ด้วยเช่นกัน เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • พ.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'สยามกีฬา' ได้ควบรวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารของค่ายสยามสปอร์ต ไว้ในฉบับเดียวคือ 'ฟุตบอลสยาม, มวยสยาม และสยามดารา' โดยเนื้อหาบางส่วนของฟุตบอลสยามและมวยสยาม จะนำเสนอผ่านทางออนไลน์
  • มิ.ย. 2562 หนังสือพิมพ์ 'THE NATION' หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ใน 2 ฉบับที่มียอดพิมพ์มากที่สุดของไทยวางแผงฉบับสุดท้ายในวันที่ 28 มิ.ย. 2562 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว) [1] [2] [3] [4] [5]

ส่วน ‘นิตยสาร’ ก็เผชิญสถานการณ์ที่หนักหน่วงเช่นกัน โดยปี 2553 ประเทศไทยมีหัวนิตยสารในตลาด 232 ฉบับ ซึ่งเพิ่ม ขึ้นถึงร้อยละ 20 ในระยะเวลาเพียง 5 ปี แต่กระนั้นกว่าร้อยละ 29 ของนิตยสารเหล่านี้ก็ปิดกิจการลงภายใน 5 ปีด้วยเช่น เดียวกัน  ในปี 2554 มีหัวนิตยสารในตลาดเหลือเพียง 183 ฉบับ จากนั้นในปี 2560 มีนิตยสารปิดตัวนับได้ถึง 54 ฉบับ จากทั้งหมด 129 ฉบับ [6]

จากข้อมูลระหว่างปี 2558 – 2560 เท่าที่รวบรวมได้ ประมาณการว่ามีนิตยสารที่ยกเลิกการพิมพ์ฉบับกระดาษอย่างน้อย 35 แห่ง อาทิ ซุบซิบ, OOPS!, OHO, ZOO, FHM, เปรียว, lemonade, candy, VIVA! FRIDAY, KC WEEKLY, C-KiDs!, VOLUME, IMAGE, COSMOPOLITAN, บางกอกรายสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, seventeen, สกุลไทย, WHO, I LIKE, FLIMAX, ขวัญเรือน, ดิฉัน, madame FIGARO, คู่สร้าง คู่สม, พลอยแกมเพชร, แมรี แคลร์ marie claire, Men’s Health, Women’s Health, THE Hollywood REPORTER Thailand, billboard Thailand, HEALTH & CUISINE, ครัว, Go Genius, WRITER เป็นต้น [7]

ต่อมาในปี 2561 นิตยสาร 'Starpics' ออกวางแผงในฐานะ 'นิตยสารรายเดือน' เป็นฉบับสุดท้ายที่ฉบับที่ 888 เมื่อเดือน เม.ย. 2561, นิตยสารภาษาอังกฤษ 'Student Weekly' วางแผงเป็นฉบับสุดท้ายฉบับวันที่ 30 ก.ย. 2561(เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว), นิตยสาร 'เมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์' วางแผงฉบับสุดท้ายเดือน ธ.ค. 2561 และในปี 2562 นิตยสาร 'Lonely Planet Traveller Thailand' ก็ได้ยุติการตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือน ก.พ. 2562 [8] [9] [10]

2555-2557 มูลค่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 'หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์' ลดลง

งานศึกษาความแตกต่างของอัตราส่วนทางการเงิน จำแนกตามลักษณะเฉพาะของธุรกิจของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ และการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหลักทรัพย์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ที่ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างในหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์จำนวน 21 บริษัท โดยใช้ข้อมูลงบการเงินรายปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 และเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2555 - ธ.ค. 2557 รวม 36 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า หลักทรัพย์ในหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ มีอัตราส่วนสภาพคล่อง อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว อัตรากำไรขั้นต้น อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย อัตราส่วนหมุนเวียนสินทรัพย์ถาวร อัตราส่วนหมุนของสินทรัพย์ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์แล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่า สืบเนื่องการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและทันสมัยของสื่อสังคมโซเซียลมีเดีย ประชาชนมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ทำให้สิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารได้รับความสนใจน้อยลง สังเกตได้จากยอดขายของธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่ลดลง อีกทั้งความแตกต่างของขนาดธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย และอัตราส่วนหมุนเวียนสินทรัพย์ถาวรแตกต่างกัน เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการเรียกเก็บหนี้ที่เป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัท ส่วนประเภทของธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัว และไม่เป็นธุรกิจครอบครัวแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอัตราส่วนหมุนเวียนสินทรัพย์ถาวร เนื่องจากการดำเนินธุรกิจครอบครัวยังมีความชำนาญในการบริหารงานไม่เท่ากับธุรกิจที่มีผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า และลักษณะการประกอบธุรกิจแบบมีใบอนุญาตดิจิทัลทีวี และไม่มีใบอนุญาตดิจิทัลทีวี แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ อย่างมีระดับนัยสำคัญนั้น การประมูลใบอนุญาตดิจิทัลทีวีเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการนำเสนอสื่อข่าวสารในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุน และประชาชนผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจที่มีใบอนุญาตดิจิตอลทีวีมีแนวโน้มในด้านรายได้ที่สูงขึ้น

จากผลการประมูลเมินค่าหลักทรัพย์ พบว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างเดือน ม.ค.2555 - ธ.ค.2557 ให้อัตราตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนร้อยละ 1.1466 ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 0.2154 ต่อเดือน โดยมีหลักทรัพย์จำนวน 13 หลักทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนตามทฤษฎีตัวแบบการกำหนดราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง แสดงว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Undervalued) ดังนั้นตามทฤษฎีผู้ลงทุนควรพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์นี้ และอีก 8 หลักทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนตามทฤษฎีตัวแบบการกำหนดราคาหลักทรัพย์สูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าเกิดขึ้นจริง แสดงว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์มีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น (Overvalued) ดังนั้นตามทฤษฎีผู้ลงทุนไม่ควรพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์นี้ [11]

ปี 2551-2560 เม็ดเงินโฆษณา 'หนังสือพิมพ์-นิตยสาร' ลดลงเรื่อยๆ

ข้อมูลที่ Brandbuffet รวบรวมจาก GroupM เมื่อต้นปี 2561 พบว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รายได้จากการโฆษณาของธุรกิจสื่อในไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งการลดงบโฆษณาของธุรกิจต่างๆ รวมถึงการเติบโตของสื่อออนไลน์และการเปลี่ยน แปลงของพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สื่อหนังสือพิมพ์ ที่ในอดีตเคยรุ่งเรืองเป็นสื่อใหญ่อันดับ 2 รองจากสื่อทีวี พบว่าในช่วงหลังเม็ดเงินโฆษณาหดหายลงอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2551 เม็ดเงินโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 12,841 ล้านบาท | ปี 2552 อยู่ที่ 11,956 ล้านบาท | ปี 2553 อยู่ที่ 16,973 ล้านบาท | ปี 2554 อยู่ที่ 16,462 ล้านบาท | ปี 2555 อยู่ที่ 17,040 ล้านบาท | ปี 2556 อยู่ที่ 17,637 ล้านบาท | ปี 2557 อยู่ที่ 15,617 ล้านบาท | ปี 2558 อยู่ที่ 14,869 ล้านบาท | เมื่อเข้าสู่ปี 2559 เริ่มส่งสัญญาณลดลง การใช้สื่อประเภทนี้น้อยลงไปอยู่ที่ 11,965 ล้านบาท | กระทั่งปี 2560 ตัวเลขเงินโฆษณาหล่นไปอยู่ที่ 8,925 ล้านบาท | ส่วนข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ระบุว่าในปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาของสื่อหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 6,100 ล้านบาท

สื่อนิตยสาร กำลังเผชิญกับความยากลำบากในด้านรายได้โฆษณา อุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยพบว่าสื่อนิตยสารอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตมากที่สุด จากปี 2551 เม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 4,771 ล้านบาท | ปี 2552 อยู่ที่ 4,317 ล้านบาท | ปี 2553 อยู่ที่ 4,999 ล้านบาท | ปี 2554 อยู่ที่ 5,146 ล้านบาท | ปี 2555 อยู่ที่ 4,842 ล้านบาท | ปี 2556 อยู่ที่ 4,721 ล้านบาท | ปี 2557 อยู่ที่ 4,171 ล้านบาท | กระทั่งเข้าสู่ปี 2558 เริ่มส่งสัญญาณวิกฤตเมื่อเม็ดเงินโฆษณาสื่อนิตยสาร ลดลงมาแตะระดับ 3,642 ล้านบาท | ปี 2559 ลดมาอยู่ที่ 2,558 ล้านบาท | กระทั่งเมื่อปี 2560 หดเหลือเพียง 1,600 ล้านบาท | ส่วนข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ระบุว่าในปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาของสื่อนิตยสารเหลือเพียง 1,300 ล้านบาท [12] [13]

‘สื่อสิ่งพิมพ์’ ผ่านจุด 'ต่ำสุด' ในวัฏจักรอุตสาหกรรมมาแล้วช่วง 2560 ?

ในปี 2560 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์วัฏจักรอุตสาหกรรมไทยจำนวน 25 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 23 ปี (2536-2559) พบว่าอุตสาหกรรมไทยโดยเฉลี่ยหนึ่งวัฏจักรจะกินเวลาประมาณ 5 ปี โดยช่วงขาขึ้นจะกินเวลาประมาณ 3 ปี และช่วงขาลงจะกินเวลาประมาณ 2 ปี รวมถึงศึกษาเจาะลึกว่าในปี 2560 แต่ละอุตสาหกรรมตกอยู่ในช่วงวัฏจักรใด เพื่ออธิบายแนวโน้มธุรกิจของอุตสาหกรรม และเสนอแนวทางการนำกลยุทธ์ทางธุรกิจมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัฏจักร โดยได้ผลการศึกษาดังนี้

ธุรกิจ 'สิ่งพิมพ์' นั้น TMB Analytics ประเมินว่าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงต่ำสุด (Trough Stage) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมปศุสัตว์ สินค้าเกษตรแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษและสิ่งพิมพ์ พลังงาน เหมืองแร่ วัฏจักรช่วงนี้ ยอดขายลดลง ต้นทุนสูง เริ่มขาดทุน คู่แข่งหนีหายออกจากธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากตลาดซบเซา ถือเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักร TMB Analytics ชี้ว่าผู้ประกอบการที่ยืนอยู่ในช่วงนี้ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก โดยปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงพัฒนาช่องทางการตลาดให้ทันสมัยเพื่อเตรียมรับกับโอกาสของวัฏจักรขาขึ้นในรอบใหม่ที่กำลังจะมาเยือน [14]

ปรับตัวมากว่า 20 ปีตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

สื่อหนังสือพิมพ์ในไทยปรับตัวสู่ออนไลน์มาตั้งแต่ยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หรือกว่า 20 ปีมาแล้ว ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ผู้จัดการ เมื่อวันอังคารที่ 20 เม.ย. 2542 ที่มาภาพ: web.archive.org

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีการขยายไปยังธุรกิจสื่ออื่นนอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์มานานแล้ว ส่วนใหญ่แล้วมีเป้าหมายในการปรับองค์กรขยับไปสู่ยุคหลอมรวมสื่อ (Convergence) ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล

แม้สื่อต่างๆ จะเริ่มก้าวสู่ออนไลน์ตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แล้ว ตัวอย่างเช่นสื่อในเครือฐานเศรษฐกิจที่มีการรายงานข่าวออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2538 (เป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในเครือชื่อ The Reader แต่ขาดบุคลากรที่มีความชำนาญจึงได้ปิดตัวลง) แต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธุรกิจต่างๆ ทรุดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นลูกค้าโฆษณากลุ่มใหญ่ถึงร้อยละ 40-70 ของหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ธุรกิจโฆษณาและสื่อต่างๆ ทรุดตัวตามไปด้วย ทำให้สื่อต่างๆ ต้องลดต้นทุนค่ากระดาษ การลงมาทำช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังจึงเกิดขึ้นในยุคนี้ [15]

ตัวอย่างกรณีของ 'กลุ่มแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป' (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์เจ้าแรกๆ ที่ปรับตัวสู่ออนไลน์ ทั้งนี้ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 สื่อในเครือผู้จัดการเฟื่องฟูถึงขีดสุด เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อที่เจาะลึกด้านข่าวการจัดการและธุรกิจ ความสำเร็จจากนิตยสารเล่มแรกในเครือ ทำให้เกิดการสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับอื่นๆ ตามมา พร้อมทั้งเกิดการขยายองค์กรโดยลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์เพื่อมุ่งสร้างองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจร ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้นมีการขยายตัวในอัตราสูง ก่อให้เกิดโอกาสการลงทุนอย่างกว้างขวาง จึงได้ขยายตัวไปยังธุรกิจอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ การขยายตัวของกลุ่มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบต่อโครงสร้างองค์กร เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพได้ทันกับการขยายตัว ภายในองค์กรมีปัญหาหลายด้าน อาทิ ด้านเงินทุน ด้านความคิดเห็น ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทจึงได้รับผลกระทบ เกิดภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้บริษัทต้องปรับตัวโดยการลดต้นทุน และลดขนาดองค์กรลง พร้อมกับปิดกิจการบางกิจการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการปิดสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศจากจำนวนประมาณ 30 ฉบับ เหลือสิ่งพิมพ์หลักเพียง 3 ฉบับคือ นิตยสารผู้จัดการ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน พร้อมทั้งลดจำนวนพนักงาน และได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งปรับโครงสร้างองค์กร และเนื้อหาเพื่อฟื้นฟูฐานผู้อ่าน [16]

อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ทำงานในวงการหนังสือพิมพ์มามากกว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 โดยได้อธิบายถึงการปรับตัวของสื่อหนังสือพิมพ์หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ไว้ว่า หนังสือพิมพ์ต้องทำคอนเทนต์ออนไลน์เนื่องจากต้นทุนกระดาษสูง และมีการลดจำนวนหน้าของหนังสือพิมพ์ลง

"ในช่วงต้นยุค 2540 มีเทรนด์การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต ทำให้เครือผู้จัดการฟื้นขึ้นมา เกิดเว็บ 'ผู้จัดการออนไลน์' ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะกระดาษแพง ค่าเงิน 40 บาทต่อดอลลาร์ฯ หนังสือพิมพ์ต่างๆ จากร้อยหน้าเหลือบางเฉียบ พวกที่ยังอยู่ต้องเอาชีวิตรอดก็ต้องวิ่งหาออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้แทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ คือแม้ผู้จัดการออนไลน์จะบูม แต่ไม่ทิ้งหนังสือพิมพ์ ไม่ทิ้งกระดาษ แต่ให้ข้อมูลไปอยู่ในออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่เขียนบนหน้ากระดาษไม่ได้ก็เขียนในออนไลน์แทน เช่น 'ซ้อเจ็ด' ซึ่งเป็นมิติใหม่ของวงการข่าวบันเทิง gossip ในยุคนั้น"

"หลังวิกฤต 2540 ไม่นานธุรกิจสื่อก็ก็เริ่มฟื้นฟูฟื้นสภาพขึ้นมาใหม่ ต้นยุค 2000 (พ.ศ.2543) ออนไลน์เริ่ม take off เดินหน้า ทุกสื่อ ทุก outlet ต้องมีออนไลน์ มีเว็บเพจทุกฉบับ เป็นหน้าด่านให้สื่อกระแสหลักซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นออนไลน์อัพเดทกันรวดเร็ว จนบางฉบับไม่ให้ขึ้นข่าวออนไลน์ก่อนเที่ยงคืน ไม่อยากให้รอบของข้อมูลข่าวสารวิ่งเร็วนัก ตอนนั้นยังไม่ถึงยุค Social Media หนังสือพิมพ์ทุกฉบับทำออนไลน์ควบคู่กัน แต่ยังไม่มีทำออนไลน์อย่างเดียว มีสื่อออนไลน์แบบ stand alone เกิดขึ้นแต่เป็นของภาคประชาชนคือ ประชาธรรม และประชาไท"

แต่การก้าวสู่ออนไลน์มากขึ้นของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 2540-ต้นทศวรรษ 2560 แม้จะเพิ่มขึ้นในด้านเนื้อหา แต่ก็พบว่าเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์อย่างเดียวนั้นไม่สามารถชดเชยเม็ดเงินโฆษณาในฉบับสิ่งพิมพ์ได้ เพราะสื่อออนไลน์กลับมาส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฟรีของคนไทย กลายเป็นดาบสองคมที่ไปสร้างผลลบให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ของธุรกิจหนังสือพิมพ์ในวงกว้างแทน

"ช่วงหลังหนังสือพิมพ์ที่มีสื่อออนไลน์เริ่มอัพเดทถี่ขึ้น จนคนเริ่มคิดว่าน่าทำสื่อออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2540 แต่ก็คิดว่าหนังสือพิมพ์ต้องมีอยู่ต่อไป เพราะติดล็อคในความคิดที่ว่าออนไลน์เป็นแนวหน้าของตัวหนังสือพิมพ์ โฆษณาออนไลน์มีน้อย ไม่ได้เงินมาก คนในวงการโฆษณายังขายออนไลน์ไม่เป็น  20 ปีผ่านไปก็ยังขายไม่เป็น สื่อกระแสหลัก 'Mainstream Media' เกิดปัญหาติดหล่มที่เรียกว่า 'Struck' คนอ่านออนไลน์มาก แต่ไม่สามารถทำให้ออนไลน์ทำรายได้ได้

"เทรนด์มาแล้วแต่รายได้โฆษณาถูกดูดโดยรายอื่น รายเล็กรายน้อยจำนวนมาก สร้างออนไลน์มาก็ไม่สามารถขึ้นมารองรับเม็ดเงินเหล่านั้นได้ ปัจจุบันแบนเนอร์บนเว็บไซต์ข่าวราคาหลักพันบาทก็ซื้อได้แล้ว ถ้าหนังสือพิมพ์โฆษณาเต็มหน้า เช่น ไทยรัฐ ประมาณ 150,000 บาท ในอดีตยอดพิมพ์เป็นล้านฉบับมีคนจองโฆษณาข้ามปี แต่เดี๋ยวนี้ไทยรัฐกลับต้องวิ่งหาโฆษณา ออนไลน์จ่ายหลักพันบาทเข้าถึงคนได้ล้านคน ทำไมต้องไปซื้อโฆษณาสื่อเก่า หรือเฟซบุ๊ค คนเห็นเป็นล้านคน landscape หรือภูมิทัศน์ของ media เปลี่ยนมาก คนทำสื่อ กลับไม่มีปัญญาดูดเงินมาเลี้ยงได้ ข่าวกลับกลายเป็นสิ่งไม่ใช่เรื่องหลัก ทุกวันนี้เขียนอะไรก็ได้ ล่อคนเข้ามา ปล่อยออกไปให้คนมาดู มาคอมเม้นต์ ผิดก็ค่อยแก้ Creditability ความน่าเชื่อถือไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป"

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่ต่อเนื่องในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ออนไลน์ คือ ช่วงแรกนั้นการใช้สื่อออนไลน์เป็นการช่วยแก้ ปัญหากระดาษแพง เป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล แต่วัฒนธรรมการอ่านฟรีทางออนไลน์ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้หลักของธุรกิจหนังสือพิมพ์นั่นก็คือ 'รายได้จากโฆษณา'

"ช่วงเริ่มต้นยุคออนไลน์ใหม่ๆ คนก็ยังนิยมอ่านกระดาษอยู่ ข่าวมีเท่าเดิมปริมาณคนทำงานเท่าเดิมต้นทุนกระดาษ 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด หนังสือพิมพ์จึงเริ่มลดจำนวนพิมพ์ให้น้อยลง ต่อมาพฤติกรรมคนอ่านเริ่มเปลี่ยนไปอ่านออนไลน์ ไม่อยากออกไปซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่าน พอมายุคต้นทศวรรษ 2550 หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ฉบับกระดาษจำนวนน้อยกว่าเดิมมาก นอกเหนือจากกระดาษแพงแล้ว เหตุผลที่พิมพ์น้อยเพราะรายได้ของหนังสือพิมพ์ไม่ได้ขึ้นกับยอดขาย แต่ขึ้นกับโฆษณา แต่กลับเจอปัญหา 'ยิ่งพิมพ์มากยิ่งขาดทุน' ตัวอย่างเช่นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีต้นทุนฉบับละ 19 บาท ราคาขายปลีก 30 บาท แต่เขาไม่ได้ขายราคานั้น ต้องขายเหมาราคาส่ง 9 บาท มันขาดทุนตั้งแต่ต้น ยิ่งในช่วงหลังเทคโนโลยีกลาย เป็นผลร้ายต่อหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์มีอะไรให้อ่านน้อยลง พอ Social Media มาหนังสือพิมพ์ก็ตายเลย หนังสือพิมพ์ต้องลดยอดพิมพ์  ลดจำนวนหน้าลงเพื่อให้อยู่รอด" อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ในวงการมากกว่า 30 ปี รายนี้ระบุ

‘ความขัดแย้งทางการเมือง’ อีกหนึ่งปัญหาที่หนังสือพิมพ์ถูกผลกระทบ

ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2550 ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหนังสือพิมพ์ด้วย ที่มาภาพประกอบ: Maxim B. (CC BY-SA 2.0)

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาการบริหารงานธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะวิกฤติ ศึกษาเปรียบเทียบ 'หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ' และ 'หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ' ในช่วงปี 2550-2552 ที่หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจราย 3 วันทั้ง 2 ฉบับต่างได้รับผลกระทบจากเรื่องการเมือง รวมทั้งการแข่งขันระหว่างสื่อหนังสือพิมพ์ด้วยกันเองและสื่ออื่นๆ ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์ โดยงานศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรธุรกิจสิ่งพิมพ์ในเรื่องรายได้หลัก ได้แก่ อัตราค่าโฆษณาที่ลดลง

สำหรับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจนั้น ช่วงปี 2550-2552 ที่การเมืองภายในประเทศรุนแรง ทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่น ธุรกิจโฆษณาชะลอตัว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้ต้องปรับลดโครงสร้างใหม่ และลดจำนวนพนักงานจากเดิม 480 คน ลงเหลือ 300 คน และไม่มีนโยบายรับพนักงานใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายได้มาก รวมทั้งยังมีการปรับลดทรัพยากรการผลิต และลดเนื้อหาส่วนที่ไม่ได้รับความนิยมเพื่อเหมาะสมกับสถานการณ์ หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาข่าวให้ตอบสนองวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลประกอบการดีขึ้น รวมทั้งปิดสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือจนเหลือแค่หนังสือพิมพ์หลักคือหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเล่มเดียว

นอกจากนี้ พบว่าการลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงนั้นของทั้งฐานเศรษฐกิจและประชาชาติธุรกิจ ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจมากกว่าสื่ออื่น ๆ เนื่องจากเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ เพราะหากการเมืองดี ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นผลให้ธุรกิจสื่อได้รับความนิยม แต่ในทางกลับกันหากการเมืองแย่ เศรษฐกิจแย่ ก็จะยิ่งส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ มีความยากลำบากในการดำเนินงาน ไม่เว้นแม้ แต่หนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจราย 3 วัน ทั้ง 2 ฉบับนี้

ส่วนการปรับตัวสู่ออนไลน์นั้น หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเข้าสู่โลกออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2538 แล้วและทำมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเพิ่งมาริเริ่มจริงจังในช่วงปี 2551 ทั้งนี้ไม่ต้องการเพิ่มบุคลากรเพราะเทคโนโลยีต้องมาพร้อมกับบุคลากรที่มีความชำนาญ ต่อมาสื่อออนไลน์เริ่มเติบโตและขยายวงกว้างขึ้นทำให้ประชาชาติธุรกิจเริ่มที่จะพัฒนาระบบข่าวออนไลน์ โดยเริ่มจากผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติที่เป็นทั้งบรรณาธิการในส่วนของหนังสือพิมพ์และออนไลน์ในคนเดียว เพื่อส่งข้อมูลไปยังเว็บมาสเตอร์ให้จัดสรรข่าวให้น่าอ่านและเป็นประเด็นที่น่าสนใจ [17]

การปรับตัวในยุค Disrupt ระลอกล่าสุดของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทย 'สื่อสิ่งพิมพ์' ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการใช้ Social Media รับข่าวสาร ที่มาภาพประกอบ: Matthew G (CC BY 2.0)

ตั้งแต่ต้นยุค 2010 (พ.ศ. 2553) เป็นต้นมา การเติบโตของ Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Youtube และอื่นๆ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่ออีกครั้ง วงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนตั้งแต่ปี 2556 ที่เม็ดเงินโฆษณาทยอยตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ต้องปรับตัวอีกครั้ง

การศึกษาเรื่อง ‘การปรับตัวของสื่อนิตยสารในทศวรรษที่ 2010-2020’ ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้นำองค์กรและผู้บริหารระดับบรรณาธิการของนิตยสาร 10 คน จากนิตยสารชั้นนำ 5 ฉบับ เมื่อปี 2558 พบว่านิตยสารทั้ง 5 ฉบับมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เช่น เปลี่ยนแปลงจากการพิมพ์นิตยสารอย่างเดียวมาขยายช่องทางเพิ่มขึ้นในยุคที่เป็นดิจิทัล, ปรับฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเพื่อผู้บริโภครุ่นใหม่, มีการขยายช่องทางโดยไปทำรายการทีวี รวมทั้งการรับจัดงานกิจกรรมต่างๆ ทั้งงาน event งาน fair และงาน charity เพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการพยายามปรับตัวจากภายใน โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรแบบนิตยสารที่ไม่เอื้อต่อการเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่คุ้นเคยกับการอัพเดทรายนาทีรายวัน มีการจูงใจให้บุคลากรในองค์กรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานและแบกรับภาระงานที่มากขึ้น ทั้งสื่อนิตยสารฉบับพิมพ์ และนิตยสารแบบออนไลน์ ที่ต้องทำควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังมีการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรประจำ โดยมีการจ้างงานแบบ 'ฟรีแลนซ์' เพิ่มมากขึ้น [18]

ในช่วงวิกฤตนี้ ผู้บริหารธุรกิจสิ่งพิมพ์ ดังเช่น ศิริพร ผลชีวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เคยเปิดเผยไว้กับผู้จัดการออนไลน์เมื่อปี 2559 อันเป็นช่วงที่สถานการณ์ของธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงดิ่งลง ว่านอกเหนือจากจะมีนิตยสารทยอยปิดตัวลงแล้ว ในส่วนที่ยังวางจำหน่ายอยู่นั้นพบว่าปีที่ผ่านมามียอดขายตกลงไปกว่าร้อยละ 30 ในทุกเซ็กเม้นต์ซึ่งเป็นการตกลงในแนวดิ่ง ไม่ใช่ค่อยๆ ตกลง

ความตกต่ำของธุรกิจนิตยสารในขณะนั้นเกิดขึ้นมาจาก 2 ส่วนหลักคือ พฤติกรรมผู้อ่านที่หันมาอ่านผ่านช่องทางมีเดียต่างๆ แทน ทำให้ยอดขายนิตยสารลดลง และสปอนเซอร์โฆษณาลดลง แม้ว่าในความเป็นจริงลูกค้ายังมีเงินใช้จ่ายและลงโฆษณาอยู่ แต่จะเลือกลงโฆษณาในรูปแบบที่ให้คุณค่ามากขึ้นจากเดิมจึงจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อโฆษณา จากพฤติกรรม ผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเสพข่าว ค้นหาข้อมูล รับรู้เรื่องราวต่างๆ รวมถึงการแชร์ผ่านสื่อโซเชียลเป็นหลัก ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความสะดวก รวดเร็ว และการใช้งานง่าย ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังมีสถานะเป็นผู้ผลิตสื่อ รวมถึงเครื่องมือสื่อสารในโลกโซเชียลอย่าง เฟซบุ๊ก, อินตราแกรม และยูทูป ยังก้าวขึ้นมาอีกขั้นในฐานะของสื่ออีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อดึงสายตาและใช้เป็นฐานข้อมูลสถิติอันนำมาซึ่งการหาเม็ดเงินโฆษณาแทนที่สื่อเดิมที่มีอยู่นั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสื่อนิตยสารมากที่สุด โดยเฉพาะการหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เดิมจะมีเฉพาะในนิตยสารเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถอ่านได้ผ่านโลกออนไลน์ จุดอ่อนเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สื่อนิตยสารต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือและปรับให้เป็นจุดแข็งเพื่อก้าวไปพร้อมกันกับโลกโซเชียลในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้กลุ่มรักลูก ต้องปรับตัวจากการมุ่งเน้นคอนเทนต์ในนิตยสารรูปเล่มมาสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจคอมมูนิเคชั่น ในปี 2559 ได้วางตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เป็นหลักผ่านระบบ Eco System สร้างvalue ที่ชัดเจนเชื่อมโยงทุกแพลทฟอร์ม โดยนิตยสารยังคงอยู่และปรับคอนเทนต์นำเสนอต่อยอดไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ [19]

ด้าน ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับผู้จัดการออนไลน์ไว้เมื่อปี 2559 เช่นกันว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจนส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่ลงโฆษณาในสื่อนิตยสารนั้น ใน 1-2 ปีนี้ เครืออัมรินทร์ฯ จึงดำเนินงานภายใต้ 3 กลยุทธ์หลักคือ 1.Omni Media ด้วยการนำเสนอการขายโฆษณาผ่าน 5 ช่องทางหลักคือ ออนไลน์, ออนแอร์, ออนพริ้นท์, ออนกราวด์ และออน พ้อยท์ ออฟ เซลล์ โดยพบว่าปัจจุบันลูกค้าไม่ได้ต้องการลงสื่อโฆษณาเพียงสื่อเดียวเท่านั้น ขณะที่เครืออัมรินทร์ฯ มีสื่อครบวงจร จึงนำเสนอขายโฆษณาเป็นแบบแพ็กเกจและตามความต้องการของลูกค้าโดยพบว่าจำนวนลูกค้ากว่า 50% ของทั้งหมดมีการซื้อสื่อโฆษณามากกว่า 1 แบบ

2.คอนเทนต์ เอเจนซี่ ถือเป็นจุดแข็งที่บริษัทดำเนินงานควบคู่กับการผลิตคอนเทนต์ที่ทำงานใกล้ชิดกับลูกค้ามาโดยตลอด แต่หลังจากนี้จะให้ความสำคัญและเพิ่มบริการนี้แก่ลูกค้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการบริการรับดูแลสื่อออนไลน์ให้ลูกค้า เช่น เฟซบุ๊ก แฟนเพจ หรือเว็บไซต์ เป็นต้น รวมถึงผลิตคอนเทนต์ป้อนให้โดยลูกค้าสามารถนำคอนเทนต์ดังกล่าวเผยแพร่และใช้งานได้ทุกแพลทฟอร์ม ปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจสูงมากในกลุ่มบ้าน ครอบครัว และความงามตามลำดับ และ 3.การสร้างแบรนด์หัวนิตยสารรูปแบบออนไลน์ให้แข็งแกร่งมากขึ้นตามเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทฯยังไปได้ดีอยู่ เช่น กลุ่มบ้านและสวนไม่ได้รับผลกระทบจากโลกออนไลน์เพราะเป็นเซ็กเมนต์ที่มีอยู่น้อยบนออนไลน์ แต่สื่อนิตยสารต้องปรับตัวเพื่อสร้างคอนเทนต์ให้แตกต่างจากโลกออนไลน์ [20]

ส่วน ปกรณ์ พงศ์วราภา ผู้ก่อตั้งบริษัท จีเอ็มมัลติมีเดียกรุ๊ปจำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตสื่อนิตยสารหลากหลายฉบับที่อยู่คู่นักอ่านและสังคมไทยมานานหลายสิบปี ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร’สารคดี’ ฉบับที่ 397 มี.ค. 2561 ไว้ว่า ตอนนี้สถานการณ์ของนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์เอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ช่วงฤดูใบไม้ผลิของวงการนิตยสารผ่านไปแล้ว อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กำลังเจอความเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและรุนแรงทางด้านเทคโนโลยี แต่จะว่าไปทุกอุตสาหกรรมก็เจอแบบเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะธนาคาร ทีวี หรือธุรกิจรีเทล อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อาจจะเห็นชัดกว่า และเริ่มก่อนหน้านั้นจากบริษัทสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศที่ต่างทยอยปรับตัวและปิดตัว ข่าวแบบนี้เราเห็นมาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

ทุกคนเรียกมันว่าเป็นสึนามิ แต่มีคนบอกว่าไม่ใช่ ถ้าเป็นคลื่นยักษ์สึนามิมันกวาดมาระลอกเดียวก็หาย นี่เป็นแผ่นดินไหวมากกว่า ไหวแล้วยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเรื่อยๆ ตอนนี้อาฟเตอร์ช็อกก็ยังอยู่ ในด้านรายได้นิตยสารซึ่งเคยได้มาจากโฆษณาหายไปเกินร้อยละ 50 เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องพิมพ์เยอะ กลุ่มคนอ่านมีเท่าไรพิมพ์เท่านั้น ทำตัวให้พออยู่ได้ อย่าคิดเรื่องกำไร ในบรรดาหนังสือที่จีเอ็มขายอยู่ทั้งหมด 4-5 เล่ม จะดูง่ายๆ ว่าเดือนหนึ่งได้โฆษณาประมาณเท่าไร ถ้าได้เท่านี้ก็พิมพ์จำนวนหน้าเท่าที่เหมาะสม นิตยสารของจีเอ็มหนาไม่เกิน 100 หน้า บางเล่มโฆษณาน้อย เหลือ 80 หน้าด้วยซ้ำ

"คืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นแบบอดีต ว่าเคยหนาเท่านี้ก็ต้องเท่านี้ มันต้องขึ้น ๆ ลง ๆ ตามรายได้ที่เข้ามา ขอให้มีชีวิตแบบนี้ไปก่อน แต่ระหว่างนี้ทุกคนก็ต้องปรับตัว ต้องต่อยอดไปสู่ธุรกิจแบบอื่น ไม่มีใครอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ ได้อีกแล้ว" ปกรณ์ ระบุไว้กับนิตยสารสารคดี  

“เมื่อหลายปีก่อนเคยคุยกันว่าต้องไปแพลตฟอร์มอื่น เช่นไปทำรายการทีวี ผมก็ไปทำรายการสารคดี แต่ก็มาเจอทีวีช่วงขาลง  ตอนเริ่มทำใหม่ ๆ ขายโฆษณากันนาทีละ 4 แสน ตอนนี้ 4 หมื่นยังไม่มีใครซื้อเลย รายการทีวีต้องใช้ทุนหมุนเวียนสูงมาก ต้องทำล่วงหน้าก่อน 3 เดือนกว่าจะเสร็จ นั่นหมายความว่าต้องจ่ายไปหมดแล้ว ค่าจ้างคนทำงาน ค่าดารา ค่าตัดต่อ ค่าผู้กำกับ ใช้เวลาออกอากาศอีก 3 เดือนจบ กว่าจะเก็บเงินได้อีก 2-3 เดือน เพราะต้องรอให้ออกอากาศเสร็จแล้วค่อยวางบิล เหมือนนิตยสารที่ต้องออกก่อนแล้วค่อยวางบิล แต่นิตยสารมีระยะการผลิตเพียงเดือนเดียว ของทีวีนี่ 3 เดือน ออกอากาศอีก 3 เดือน เจอบางเจ้าบอกอีก 3 เดือนค่อยมาเก็บเงิน กลายเป็น 9 เดือน ถ้าไม่มีทุนคุณอยู่ไม่ได้ ตอนนี้ผมเลยรับจ้างผลิตอย่างเดียว อยากจ้างเราผลิตรายการอะไร เดี๋ยวเราเสนอเข้าไปให้”

“ส่วนการทำออนไลน์ GM Live เราเพิ่งได้ทีมงานมาทำจริงๆ เมื่อ 5-6 เดือนก่อน ก่อนหน้านั้นเรายังคิดแบบเดิมว่าให้คนทำสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไปทำออนไลน์ ให้คนขายสิ่งพิมพ์ไปขายออนไลน์ สื่อที่มีอยู่ทุกเล่มทำอย่างนี้มา 2-3 ปี ในที่สุดเราพบว่าศาสตร์ไม่เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาคนสิ่งพิมพ์มาทำออนไลน์ เป็นไปไม่ได้จริงๆ จำเป็นต้องมีทีมใหม่ทั้งหมด จีเอ็มเสียเวลากับตรงนี้ไป 2-3 ปี จนกระทั่งเมื่อ 5-6 เดือนที่แล้วถึงปรับทีมงานเต็มรูปแบบ พบว่าไม่ใช่แล้ว ต้องหาทีมมาทำออนไลน์โดยเฉพาะ ทำให้ตอนนี้ยอดคนเข้ามาดูเว็บไซต์ของเราจากหมื่นต่อเดือนขึ้นมาเป็นหลักล้านแล้ว”

นอกจากนี้ ปกรณ์ยังเคยสัมภาษณ์ไว้กับ’ฐานเศรษฐกิจ’ในปี 2561 ว่าตอนนี้จะมีบริษัทมีเดียอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้  ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนบริษัทมีรายได้ 280 ล้านบาท เป็นสัดส่วนธุรกิจนิตยสารถึงร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณร้อยละ 40-50 คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียงร้อยละ 10-15 ซึ่งหากรวมกับธุรกิจด้านสื่ออื่นๆ อาทิ สื่อทีวี ภาพยนตร์ที่กาลังจะสร้าง ธุรกิจอีเวนต์ คาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 รายได้จะมาจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะบริษัทมองโอกาสทางการตลาด  และการขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงเป็นการต่อยอดจากการทeธุรกิจนิตยสารที่มีคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว [21] [22]

ช่วงเดือน ต.ค. 2560 นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน (MATI) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทมีการปรับโครงสร้างกิจการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิทยาการสมัยใหม่ โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งธุรกิจสื่อและหนังสือพิมพ์ด้วย บริษัทเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามภาวะอุตสาหกรรม และมีการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สื่อในเครือของบริษัทก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของเว็บไซต์ และเว็บเพจในประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อให้โครงสร้างการบริหารและการจัดการต้นทุนของบริษัทมีความกระชับและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บริษัทจึงได้มีการยุบแผนกการพิมพ์ และแผนกขนส่ง โดยมีการโอนกิจการดังกล่าวไปให้กับ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคชั่น (SPORT) เป็นผู้เข้ามารับจ้างผลิตและจัดส่งหนังสือและนิตยสารให้กับบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป

“การปรับโครงสร้างดังกล่าว จะเป็นผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย โดยต้นทุนการผลิตและขนส่งต่อฉบับของ SPORT จะลดลง ขณะที่มีรายได้จากการรับงานเพิ่มขึ้น ส่วนทางมติชนจะสามารถประหยัดต้นทุน และจะทำให้หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด รวมทั้งนิตยสารในเครือ ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรในการขยายตลาดด้านสื่อดิจิทัลให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อดำรงความเป็นผู้นำในตลาดดังกล่าวต่อไป” นายฐากูรระบุ

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานบางส่วน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบมากกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดโครงการและมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหางานใหม่และการฝึกอบรมความรู้วิชาชีพให้พนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ [23]

กรณีศึกษาการปรับตัวของ ‘สยามสปอร์ต’ รุกทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

ช่วงเดือน ก.ย. 2561 Brand Inside ได้รวบรวมและวิเคราะห์การปรับตัวของ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคชั่น (SPORT)  หรือ 'กลุ่มสยามสปอร์ต' ในฐานะสื่อด้านกีฬารายใหญ่ของประเทศ ที่มีทิศทางการปรับตัวที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่รุกตลาดสื่อออนไลน์-ขยายงานอีเวนต์เหมือนบริษัทสื่อรายอื่นๆ แต่สยามสปอร์ตยังหันมาเน้นธุรกิจการขนส่งหนังสือพิมพ์ และเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงพิมพ์อีกด้วย

โดยตั้งแต่ปี 2560 กลุ่มมติชนได้ประกาศยุบแผนกโรงพิมพ์-สายส่ง และใช้วิธีเอาต์ซอร์สให้กลุ่มสยามสปอร์ตเข้ามาทำแทน ถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าให้เห็นว่า สยามสปอร์ตจะเข้ามารับช่วงต่องานด้านสายส่งอย่างจริงจัง ต่อมาปี 2561 สยามสปอร์ตก็ระบุว่าที่ผ่านมารับเป็นตัวแทนจัดส่งให้กับหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน และเครือเนชั่น (คมชัดลึก/เนชั่น) ไปทั่วประเทศนอกจากนี้ สยามสปอร์ตยังเป็นตัวแทนกระจายหนังสือพิมพ์ค่ายอื่นๆ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ เข้าร้าน 7-Eleven ในเขตกรุงเทพฯ อีกด้วย

กลุ่มสยามสปอร์ตมีโรงพิมพ์ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว และที่ผ่านมาก็รับจ้างพิมพ์หนังสือให้กับสำนักพิมพ์อื่นๆ อยู่บ้าง แต่ในการปรับตัวครั้งนี้ กลุ่มสยามสปอร์ตยังตั้งใจขยายธุรกิจด้านการพิมพ์ต่อไปอีก ด้วยการซื้อหุ้นบริษัทสยามพริ้นท์ จำกัด โรงพิมพ์รายใหญ่ย่านรามอินทราด้วยมูลค่า 132 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2560 สยามสปอร์ตอธิบายเหตุผลของการซื้อหุ้นว่า สยามพริ้นท์มีศักยภาพสูง มีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีเพียงไม่กี่เจ้าในไทย และสามารถรองรับความต้องการพิมพ์งานของลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร แผ่นพับ โบรชัวร์ โปสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งต่างไปจากเครื่องพิมพ์ของบริษัทที่รองรับเฉพาะสิ่งพิมพ์เท่านั้น

แผนงานอื่นๆ ของสยามสปอร์ต มีทั้งการขยายไปทำธุรกิจอีเวนต์ผ่านบริษัทลูก คอร์โน แอนด์ แนช เช่น ออโต ซาลอน, มิสทีนไทยแลนด์, สปอร์ต เอ็กซ์โป รวมทั้งยังรับงานราชการจากการจัดลีกฟุตบอเยาวชน ยูธลีก ของการกีฬาแห่งประเทศไทย, รับดำเนินงานทั้งระบบของฟุตบอลคิง เพาเวอร์ ในประเทศ, รับงานการอบรมกีฬาของ สสส., กิจกรรมเข้าแคมป์กีฬาของมูลนิธิไทยคม

ส่วนธุรกิจดิจิทัลก็ยังเดินหน้าต่อกับเว็บไซต์ siamsport.co.th และ siamdara รวมถึงช่องทาง LINE, Facebook และการต่อสัญญากับ Bein Sport ที่ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกใหญ่ในยุโรป นำไฮไลต์การแข่งขันมาเผยแพร่ผ่านช่องทางของสยามสปอร์ตต่อเป็นปีที่ 2 นอกจากนี้ สยามสปอร์ตยังประกาศทำธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยจับมือกับบริษัท MFEC จัดการขายตั๋วกีฬาออนไลน์ และทำธุรกิจทัวร์ชมกีฬาระดับโลก และการใช้บริษัทลูก iSport บริหารสิทธิการหารายได้ให้กับสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยด้วย [24]

 

ครึ่งหลังปี 2562 ‘CEO กลุ่มสิ่งพิมพ์' ระบุต้องลดการจ้างงาน-รับผลเชิงลบจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์

สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เพื่อทราบมุมมองจากผู้บริหารระดับสูง (CEO) เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ แนวโน้มการส่งออก การลงทุนและการระดมทุน และตลอดจนความคิดเห็นของผู้บริหารต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา ในการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการสำรวจครั้งที่ 13 (เริ่มสำรวจความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อไตรมาส 3/2557) โดยรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 26 ก.ค. - 12 ก.ย. 2562 ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 118 บริษัทจาก 26 หมวดธุรกิจ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมร้อยละ 46 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

การสำรวจนี้พบว่า ผู้บริหารระดับสูง (CEO) ในหมวดกระดาษและวัสดุสิ่งพิมพ์ คาดว่าผลประกอบการจะแย่ลง, ร้อยละ 32 ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามตอบว่า บริษัทฯ วางแผนการลดการจ้างงาน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 29 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดยานยนต์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร และหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ นอกจากนี้ CEO บริษัทจดทะเบียนในหมวดกระดาษและวัสดุสิ่งพิมพ์ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มองว่าการส่งออกจะปรับตัวแย่ลง, และ CEO บริษัทจดทะเบียนในหมวด ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ ยังคาดว่าจะได้รับผลเชิงลบจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ [25]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สำรวจชั้นหนังสือ เมื่อ 'นิตยสาร-นสพ.' ทยอยปิดตัว 'หนังสือเล่ม' จะรอดไหม? (ไอโกะ ฮามาซากิ, TCIJ, 28 เม.ย. 2562)
[2] ปิดฉาก นสพ.ยักษ์ภาคเหนือ “เชียงใหม่นิวส์” อำลาแผง 5 มี.ค.ผันตัวสู่ออนไลน์ (ผู้จัดการออนไลน์, 4 มี.ค. 2562)
[3] พบ นสพ.สยามกีฬาโฉมใหม่ซื้อ 1 ได้ถึง 3 ทุกแผงพร้อมกัน 16 พ.ค. นี้ (siamsport.co.th, 11 พ.ค. 2561)
[4] อวสานหนังสือพิมพ์ THE NATION ฉบับสุดท้าย 28 มิ.ย.นี้ (ThaiPBS, 16 พ.ค. 2562)
[5] ทำไมหนังสือพิมพ์ทยอย “ลาแผง” ค่ายใหญ่ปิดรวด 2 ฉบับ “โพสต์ทูเดย์-M2F” (Positioning, 20 ก.พ. 2562)
[6] อีบุ๊ค สมรภูมิธุรกิจหนังสือยุคดิจิทัล (แสงวิทย์ เกวลีวงศ์ศธร, กรุงเทพธุรกิจ, 2554)
[7] รวมนิตยสารปิดตัว 2558-2560 (สำนักข่าวไทย, 15 ธ.ค. 2560)
[8] ปิดตำนาน 52 ปี แฟนหนังหลั่งน้ำตานิตยสาร Starpics หมดลมลาแผง (ไทยรัฐออนไลน์, 19 เม.ย. 2561)
[9] สำรวจชั้นหนังสือ เมื่อ 'นิตยสาร-นสพ.' ทยอยปิดตัว 'หนังสือเล่ม' จะรอดไหม? (ไอโกะ ฮามาซากิ, TCIJ, 28 เม.ย. 2562)
[10] ลอปติมัม ไทย ลาแผงรายต่อไป? เปิดใจทางรอดนิตยสารโมเดลต่อลมสื่อกระดาษ (ไทยรัฐออนไลน์, 4 ม.ค. 2562)
[11] การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินและการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ (ชญานุช อิ่มอกใจ, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 2559)
[12] ย้อนรอย 10 ปี เม็ดเงินโฆษณา “สื่อทีวี – หนังสือพิมพ์ – นิตยสาร” จากยุครุ่งเรือง สู่ยุควิกฤต (Brandbuffet, 24 ม.ค. 2561)
[13] 2019 Industry Update (สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย, 25 เม.ย. 2562)
[14] TMB Analytics: ส่องธุรกิจ...ผ่านวัฏจักรอุตสาหกรรม 2560 [TMB Analytics: ส่องธุรกิจ...ผ่านวัฏจักรอุตสาหกรรม 2560, ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), 3 มี.ค. 2560]
[15] การบริหารงานธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะวิกฤติ : ศึกษาเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในช่วงปี 2550-2552 (พิมพ์กมล วงศ์ทองเจริญ และพจนา ธูปแก้ว, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552)
[16] ผลกระทบวิกฤตการณ์เศรษฐกิจต่อธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ กลุ่มแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป (ไชยยง รัตนอังกูร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542)
[17] การบริหารงานธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะวิกฤติ : ศึกษาเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในช่วงปี 2550-2552 (พิมพ์กมล วงศ์ทองเจริญ และพจนา ธูปแก้ว, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552)
[18] การปรับตัวของนิตยสารในทศวรรษที่ 2010 - 2020 (รณพัชร์ เลิศเดชะ, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558)
[19] แมกกาซีนปรับทัพสู้โซเชียลมีเดีย เผยยอดขายวูบ30%-โฆษณาร่วง” 30% (ผู้จัดการออนไลน์, 23 ก.ค. 2559)
[20] เพิ่งอ้าง
[21] สัมภาษณ์ ปกรณ์ พงศ์วราภา – “ฤดูใบไม้ผลิของวงการนิตยสารผ่านไปแล้ว…” (สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ, sarakadee.com, 8 พ.ค. 2561)
[22] ผู้ผลิตสื่อปรับแผนธุรกิจ เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ รับมือโฆษณาสื่อวูบ (ฐานเศรษฐกิจ, 4 เม.ย. 2561)
[23] มติชนปรับโครงสร้างกิจการ ลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ (ประชาชาติธุรกิจ, 2 ต.ค. 2560)
[24] สวนกระแส ‘สยามสปอร์ต’ ดิ้นสู้ธุรกิจสื่อขาลง ขยายธุรกิจส่งหนังสือพิมพ์-ซื้อโรงพิมพ์ (Brand Inside, 6 ก.ย. 2561)
[25] SET Note Volume 11/2562: ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO Survey): Economic Outlook ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2562 (สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 7 ต.ค. 2562)

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: