Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง

กองบรรณาธิการ TCIJ: 25 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 7139 ครั้ง

แม้ 'สื่อใหม่' จะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของประชาชนทั่วโลกในการท้าทายอำนาจรัฐ แต่ก็พบว่าผู้คนทั่วโลกถูกโต้กลับด้วยการ 'คุกคาม-ปิดกั้น' จากผู้มีอำนาจ รวมทั้ง 'Fake news' ก็กำลังเป็นอุปสรรคต่อการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชน นอกจากนี้องค์กรสิทธิฯ ยังชี้ว่าการสอดส่องออนไลน์ของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง 'Facebook-Google' ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

‘สื่อใหม่’ เครื่องมือของประชาชนทั่วโลกในการท้าทายอำนาจรัฐ

โซเชียลมีเดีย (Social Media) มีบทบาทเป็นอย่างมากในเหตุการณ์ Arab Spring | ที่มาภาพประกอบ: connectedincairo.com

ในรอบไม่กี่ปีมานี้ความนิยมของ ‘สื่อใหม่’ (New Media) ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ปัจจัยหนึ่งก็คือผู้ใช้สื่อใหม่รู้สึกว่าตนมีเสรีภาพในการกำหนดเนื้อหา รูปแบบ และการใช้ประโยชน์บนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ ‘โซเชียลมีเดีย’ (Social Media) -- ซึ่งการใช้สื่อใหม่เพื่อสนองตอบ ‘ประเด็นการเมือง’ ของประชาชนและกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในประเทศไทย เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงปี พ.ศ.2552-2553 (ค.ศ. 2009-2010) เป็นตัวกระตุ้นให้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมจำนวนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นปิดกั้นสื่อหลัก ต่อมาในเหตุการณ์ 'อาหรับสปริง' (Arab Spring) ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ.2010 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในทางการเมือง และการโค่นล้มผู้นำประเทศซึ่งส่วนใหญ่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ทั้งโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต และโปรแกรมโซเชียลมีเดียต่างๆ ผสานกับการประท้วงดื้อแพ่ง การนัดหยุดงาน การเดินขบวน ประท้วง -- ซึ่งการใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการประท้วงต่อผู้มีอำนาจรัฐได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยในปี 2019 นี้ก็มีตัวอย่างเช่นที่ ฮ่องกง ชิลี โบลิเวีย เป็นต้น

เสรีภาพการในการแสดงออกยุคโซเชียลมีเดีย ‘ต้นทุนต่ำลง-มีทั้งบวกและลบ’

บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ที่เคยเป็นนักกิจกรรมมาก่อน ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2562 ต่อประเด็นการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่ได้ 'Disrupt' สื่อกระแสหลัก-สื่อในขนบเดิม และการส่งผลต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพในสังคมว่า ปัจจุบันนี้เสรีภาพการแสดงออกมีต้นทุนต่ำลง ในอดีตอาจจะต้องไปโพสต์ใน Webboard สร้าง Weblog เอง หรือไม่ก็ส่งบทความไปตามสื่อต่างๆ แต่ในปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย ทำให้การแสดงความเห็นของเราสามารถกระจายในวงกว้างได้ง่ายกว่าแต่ก่อน

“เดี๋ยวนี้ถ้าอะไรโดน ปัง ก็ยอดไวรัล แชร์สูง แต่มันก็จะมีข้อวิจารณ์ว่ามันเป็นเหมือนฟองน้ำ สามารถดูดซับความไม่พอใจ ข้อเรียกร้องหลายอย่างไว้ในโซเชียลมีเดีย มีคำเรียกว่า ‘คลิ๊กติวิสต์’ การคลิ๊กถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว หรือแสดงออกอะไรบางอย่างแล้ว แต่ด้วยความที่เฟสบุ๊คมันไหลไปตามไทม์ไลน์มันก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีลักษณะของการกัดไม่ปล่อย ในข้อเรียกร้องนั้นๆ มันเลยเหมือนคนได้แสดงออกซึ่งความไม่พอใจแล้ว เป็นอันจบ ด้านหนึ่งมันจึงลดทอนการออกมาแสดงออกซึ่งความไม่พอใจในพื้นที่จริงๆ”

เขามองว่าปรากฏการณ์นี้ว่ามีทั้งบวกและลบ แม้ว่าในบางกรณีที่มีการโหมกระพือทางโซเชียล จะได้รับการแก้ปัญหาหรือได้รับการรับฟังจากรัฐบ้าง แต่ในประเด็นใหญ่ๆ ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมได้นั้นการใช้โซเชียลมีเดียยังไปไม่ถึง

“เอาจริงๆ ผมยังไม่เห็นอันไหนที่มันชัดที่เกิดจากกระแสในโซเชียล อ้อ โอเค อันที่ชัดคือ กฎหมายห้ามนั่งท้ายกระบะ กระแสแรงมาก ไม่ได้แรงเฉพาะพวกแอคติวิสต์ ปัญญาชนในโซเชียล มันกระจายไปในหมู่ประชาชนทั่วไป มีอีกเรื่องคือ พ.ร.บ.ซิงเกิลเกตเวย์ ที่เขาประสานความร่วมมือกันต่อต้าน แต่เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่กระทบถึงตัวผู้คน แต่สำหรับกฎหมายที่ไม่ถึงตัวคนโดยตรง เป็นผลประโยชน์สาธารณะ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง นโยบาย มันค่อนข้างไกล อาจมีความไม่พอใจแต่ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจมากพอจะแอคชั่น มีฟรีไรเดอร์ คอมเม้นท์ วิจารณ์ด่า กดถูกใจคนด่า แชร์คนที่ด่า แล้วกระแสก็ดาวน์ไป กลไกรัฐก็รันต่อไป” 

“แอคติวิสต์ปัจจุบันที่โปรสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนเซเลบริตี้ (celebrity) ที่มาจัดอีเวนท์ต่างๆ  ในส่วนตัวผมยังโปรเรื่องกระบวนการในการรวมกลุ่ม รวมตัวมากกว่า การจัดอีเวนท์มันไม่เหมือนกลุ่ม   แอคติวิสต์ที่จัดกิจกรรมสมัยก่อนที่มวลชนที่มาได้คือพวกรามฯ กลุ่มเสื่อมฯ กลุ่มพีเอ็นวายเอส พวกนี้เขามีความเป็นกลุ่มจริงๆ ไปไหนไปกัน ไปไหนไปด้วย ไม่ใช่แค่ไปรวมตัวกันหน้างาน แต่มีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันตลอด”

“โซเชียลเน็ตเวิร์กมันส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ส่งผ่านข้อมูลกันก็จริง แต่การรวมกลุ่มอาจจะทำไม่ได้ และมันมีเรื่องของการเป็นศาสดา นี่คือพื้นที่ของฉัน คุณจะมาวิจารณ์ไม่ได้ เพราะมันเหมือนการวิจารณ์ต่อหน้าสาธารณชน พอมีการวิจารณ์ก็ขัดแย้งกันแล้วไม่ได้ข้อสรุป แต่ถ้าเรานึกถึงการวิจารณ์กันภายในขบวนการ ในกลุ่ม มันเอื้อต่อการนำไปสู่ข้อผิดพลาดและข้อเสนอมากกว่า แต่พอไปทำอะไรแบบนั้นในโซเชียล สุดท้ายแต่ละคนก็มีกลไกปกป้องตัวเองแล้วตัดญาติขาดมิตรกันหมด มันไม่เหมือนกันวิจารณ์แบบเจอหน้ากัน และมันไม่นำไปสู่การวมกลุ่ม สำหรับผมสิ่งสำคัญ unit of analysis คือ กลุ่ม ไม่ใช่ ปัจเจก เสรีภาพการแสดงออกมันจึงไม่ใช่ individual แต่มันต้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ” บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ผู้นี้ระบุกับ TCIJ

 

การโต้กลับ เมื่อรัฐ ‘ปิดกั้นและคุกความ’

ในไม่กี่ปีมานี้ พบว่าในหลายประเทศผู้มีอำนาจมักจะปิดกั้นเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตของประชาชน ในประเด็นที่สามารถสั่นคลอนอำนาจของพวกเขาได้ | ที่มาภาพ: REUTERS/Murad Sezer

หนึ่งในตัวชี้วัดภาพการลิดรอนเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตคือรายงาน 'เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต' (Freedom on the Net) ของ Freedom House องค์กรติดตามตรวจสอบเสรีภาพทางประชาธิปไตย และการแสดงความคิดเห็นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

จากรายงาน Freedom on the Net 2015 พบว่าจากการสำรวจ 65 ประเทศ โดยภาพรวมแล้วมีการสั่งลบเนื้อหาจากเว็บไซต์รวมถึงการจับกุมและข่มขู่คุกคามมากขึ้นทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา หรือสังคม โดยเฉพาะในประเทศจีน ขณะที่ในประเทศโลกเสรีเองก็มีเรื่องของการพยายามสั่งห้ามเครื่องมือที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศหันมาใช้วิธีการกดดันประชาชนหรือบริษัทภาคเอกชนมากขึ้นในการบังคับให้ลบหรือนำเนื้อหาออกแทนวิธีการบล็อคหรือการกรองเว็บแบบเดิม

ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่าร้อยละ 61 อาศัยอยู่ในประเทศที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กองทัพหรือครอบครัวที่ปกครองประเทศอยู่จะถูกปิดกั้นเนื้อหา และมากกว่าร้อยละ 58 ของประเทศเหล่านี้จะมีการจับกุมผู้เผยแพร่เนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม และประเด็นศาสนา โดยประเด็นที่เสี่ยงต่อการถูกเซ็นเซอร์และถูกลงโทษมากที่สุดคือข่าวความขัดแย้ง ข่าวเรื่องการทุจริตของผู้นำระดับสูงของรัฐหรือหน่วยงานธุรกิจ เว็บไซต์ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และเนื้อหาเชิงเสียดสีสังคม

ในรายงานปี 2015 นี้ยังระบุว่าประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตแย่ลงอย่างที่ต้องจับตามองคือลิเบีย, ฝรั่งเศส และยูเครน ซึ่งกำลังมีความขัดแย้งด้านเขตแดนกับและสงครามโฆษณาชวนเชื่อกับรัสเซีย ส่วนประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเสรีภาพอินเตอร์เน็ตมากขึ้นคือศรีลังกาและแซมเบียที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนในประเทศคิวบาประชาชนมีความสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในราคาที่จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น หลังจากปรับสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ [1]

รายงาน Freedom on the Net 2016 ระบุว่าเสรีภาพสื่อของโลกในปีที่ผ่านมา (2015) ถือว่าตกต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2004 จากการที่ทั้งกลุ่มการเมือง, แก็งค์อาชญากร และกองกำลังก่อการร้ายพยายามควบคุมหรือปิดปากสื่อเพื่อการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของพวกเขา ทั้งนี้มีประชากรเพียงร้อยละ 13 ของโลกเท่านั้นที่มีเสรีภาพสื่อ ทำให้มีการทำข่าวการเมืองได้อย่างแข็งขัน มีการรับรองความปลอดภัยของนักข่าว มีการแทรกแซงสื่อจากรัฐต่ำ และสื่อไม่ถูกกดดันจากการบังคับใช้กฎหมายหรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกร้อยละ 41 อาศัยอยู่ในที่ที่มีสื่อเสรีบางส่วนและร้อยละ 46 อยู่ในบรรยากาศที่สื่อไม่มีเสรี

ในรายงานปี 2016 ยังระบุอีกว่าการที่เสรีภาพสื่อทั่วโลกตกต่ำลงมีปัจจัย 2 ประการ ประการแรกคือบรรยากาศการแบ่งขั้วและการถือข้างของสื่อ ประการที่สองคือการข่มขู่คุกคามนอกกฎหมายและการใช้ความรุนแรงทางกายภาพที่นักข่าวต้องเผชิญ โดยปัญหานี้ร้ายแรงขึ้นมากในแถบตะวันออกกลางที่มีทั้งรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธที่กดดันผู้สื่อข่าวและสื่อต่างๆ ให้ต้องเลือกข้างมากขึ้น ทำให้เกิดบรรยากาศในแบบ "ถ้าคุณไม่ร่วมกับเราคุณก็เป็นฝ่ายตรงข้ามเรา" และทำการให้ร้ายคนที่ปฏิเสธจะร่วมมือด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิสหรือกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้ความรุนแรงโจมตีสื่อและใช้ช่องทางเครือข่ายของตัวเองในการเผยแพร่ความเชื่อของพวกเขาต่อสาธารณชนจำนวนมากโดยไม่ต้องผ่านนักข่าวหรือช่องทางสื่อแบบเดิม แม้กระทั่งในยุโรปที่มีบรรยากาศของสื่อที่เปิดกว้างมากกว่าก็ยังมีการกดดันจากผู้ก่อการร้าย เช่นกรณีคนติดอาวุธบุกสังหารคนทำงานในนิตยสารล้อเลียนเสียดสี 'ชาร์ลี เอ็บโด' นอกจากภัยคุกคามจากความรุนแรงแล้ว สื่อในยุโรปยังมีความเสี่ยงจากกฎหมายการสอดแนมและการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงถูกกล่าวโจมตีหรือถูกแทรกแซงจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาล [2]

รายงาน Freedom on the Net 2017 ที่ได้สำรวจการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชนใน 65 ประเทศ ระหว่าง มิ.ย.2016 - พ.ค.2017 คิดเป็นร้อยละ 87 ของประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต พบว่าราวครึ่งหนึ่งของประเทศที่ทำการสำรวจนั้น มีเสรีภาพด้านอินเตอร์เน็ตลดลง โดย ยูเครน อียิปต์ และตุรกี คือประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตลดลงมากที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนยังคงเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชนมากที่สุด ผ่านระบบที่เรียกกันว่า 'Great Firewall' หรือ กำแพงอินเตอร์เน็ตจีน ตามมาด้วย ซีเรีย และเอธิโอเปีย

รายงานปี 2017 ระบุว่าวิธีหนึ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาใช้ คือการปิดกั้นเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งรายงานบอกว่ามี 18 ประเทศ จาก 65 ประเทศ ที่ใช้วิธีนี้ อีกวิธีหนึ่งคือการสนับสนุนสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวปลอม (Fake news) หรือข่าวที่บิดเบือน ซึ่งรายงานระบุว่ามีรัฐบาล 30 ประเทศที่ใช้วิธีนี้

ทั้งนี้ ยังพบว่าการควบคุมอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มุ่งไปที่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรและชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่หนาแน่น นอกจากนี้ผู้จัดทำรายงานยังบอกด้วยว่ารัฐบาล 30 ประเทศได้ใช้กำลังในการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 20 ประเทศเมื่อปีก่อนหน้านี้ ซึ่งวิธีใช้กำลังปราบปรามนี้เป็นมาตรการที่รัฐบาลรัสเซียและจีนเริ่มนำมาใช้เมื่อหลายปีก่อน และได้แพร่เข้าไปในหลายประเทศในปัจจุบัน [3]

รายงาน Freedom on the Net 2018 ได้ทำการวิเคราะห์ประเทศต่างๆ 195 ประเทศ พบว่า 88 ประเทศอยู่ในกลุ่ม 'เสรี' (Free) 58 ประเทศเป็นประเทศ 'เสรีบางส่วน' (Partly Free) ที่เหลือ 49 ประเทศ 'ไม่เสรี' (Not Free) รายงานระบุว่ามี 71 ประเทศที่สถานการณ์ด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองแย่ลง นับว่าแย่ลงติดต่อกันเป็นปีที่ 12 ขณะที่มี 35 ประเทศเท่านั้นที่มีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ดีขึ้น และแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ล่าถอยออกจากบทบาทการเป็นผู้นำและตัวอย่างที่ดีในทางประชาธิปไตยแบบที่เคยเป็นมาตลอด โดยที่แม้แต่ในสหรัฐฯ เอง สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองก็ลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศอย่างตุรกีและฮังการีเริ่มถลำลงสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมมากขึ้น ส่วนพม่าที่แม้จะเริ่มเปิดเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นบ้างตั้งแต่ปี 2010 แต่ในปีที่แล้วก็มีเหตุกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาที่น่าสะเทือนขวัญ ขณะเดียวกันประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ในทางประชาธิปไตยก็มีปัญหาหนักในบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ การแตกขั้วต่างๆ ปัญหาการก่อการร้าย การทะลักของผู้ลี้ภัย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการกลัว ‘ความเป็นอื่น’ มากขึ้น

รายงานปี 2008 ยังเน้นพูดถึงเรื่องการเข้ามามีบทบาทนำของฝ่ายขวาทางการเมืองในพื้นที่รัฐสภาหลายประเทศ พรรคการเมืองที่มีฐานอำนาจดั้งเดิมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเริ่มได้รับความนิยมลดลง และมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือเรื่องที่คนหนุ่มสาวไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการต่อต้านเผด็จการมาก่อน อาจจะสูญเสียศรัทธาหรือความสนใจในโครงการด้านประชาธิปไตย เสี่ยงต่อการทำให้รู้สึกเฉยชา

ในรายงานยังระบุว่าขณะที่ประชาธิปไตยดูถดถอย ประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างจีนและรัสเซียก็ฉวยโอกาสนี้ในการกดขี่ข่มเหงภายในมากขึ้นไปพร้อมๆ กับการแผ่ขยาย 'อิทธิพลเลวร้าย' ไปยังประเทศอื่น โดยพวกเขามองว่ามีประเทศอื่นๆ ที่เริ่มเอาสองประเทศนี้เป็นแบบอย่างในการไม่เห็นคุณค่าของประชาธิปไตย และไม่ทนกับกลุ่มที่ต่อต้านการสูญเสียประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงด้วย [4] [5]

รายงาน Freedom on the Net 2019 ซึ่งสำรวจเสรีภาพการใช้อินเตอร์เน็ตจาก 65 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าจีนถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากการปิดกั้นและควบคุมการเข้าถึงข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการรำลึกครบ 30 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน รวมถึงการประท้วงในฮ่องกงที่กำลังลุกลาม ส่วนประเทศที่มีการคุ้มครองเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดในโลกคือ ไอซ์แลนด์ ที่ไม่พบผู้ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากการแสดงความเห็นผ่านทางออนไลน์

ข้อมูลใหม่จากรายงานฉบับนี้ยังชี้ว่า การใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลกแทบไม่มีเสรีภาพอย่างที่คิด เนื่องจากผู้ใช้ทั่วโลกต่างถูกสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้ที่พยายามใช้ประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย เพื่อชักจูงและโน้มน้าวการเลือกตั้ง โดยพบว่า 40 ประเทศ จาก 65 ประเทศ ที่ถูกสำรวจ มีการจัดตั้งโครงการเฝ้าระวังโซเชียลมีเดียขั้นสูง ซึ่งหมายความว่า ประชาชนในประเทศเหล่านี้รวมเกือบ 3 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลก กำลังตกอยู่ภายใต้โครงการสอดส่องในโซเชียลมีเดีย

ในรายงานปี 2019 นี้ยังพบว่า 33 ประเทศ มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลง หนึ่งในนี้คือ สหรัฐฯ ที่แม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็ได้คะแนนลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากการเพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องโซเชียลมีเดียของหน่วยงานภาครัฐ หนึ่งในนั้นคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ (ICE) ที่ทำข้อตกลงกับ Cellebrite บริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์ของอิสราเอล เพื่อจัดซื้อเครื่องมือช่วยจารกรรมข้อมูลจากโทรศัพท์และข้อมูลทางออนไลน์ทุกประเภท ขณะที่หลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ต่างก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาหน่วยเฝ้าระวังทางโซเชียลมีเดียเช่นกัน [6]

สิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ของไทยแย่ลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ในรายงาน Freedom on the Net 2019 ซึ่งสำรวจเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตจาก 65 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ 'ไร้เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต' | ที่มาภาพ: Freedom House

นอกเหนือจากรายงาน Freedom on the Net ที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมักจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ ‘ไม่เสรี’ โดยในรายงานปี 2018 ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศ 'ไร้เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต ' เท่ากับพม่า และต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในรายงานปี 2019 ไทยก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไร้เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตเช่นเดิม

โดยในรายงาน Freedom on the Net ของ Freedom House ระบุว่าเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตของไทยถูกลดระดับลงเรื่อยๆ หลังรัฐประหารในปี 2557 (ค.ศ. 2014) การเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในปี 2559 ข่าวสารเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล ถูกควบคุมอย่างหนัก ข่าวจากต่างประเทศถูกบล็อค ทั้งยังกล่าวถึงการจับกุมจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ’ไผ่ ดาวดิน’ กรณีแชร์ข่าวของสำนักข่าวบ BBC ด้วย

ในปี 2557 และ 2558 หลังเกิดการรัฐประหารประเทศไทยมีการพยายามจับกุมหรือปิดกั้นผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการรวมถึงมีการดำเนินคดีกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2558 มีกรณีการใช้ศาลทหารตัดสินลงโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 56 ปีและ 60 ปี ก่อนจะลดโทษเหลือ 28 และ 30 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ

นอกจากนี้ Freedom House ยังระบุถึงกรณีการเรียกรายงานตัวประชาชนในค่ายทหารราว 400 คนโดยบีบให้เปิดเผยรหัสผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อแลกกับการปล่อยตัว นอกจากนี้ยังวิจารณ์เรื่องการร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เป็นไปเพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อในโลกออนไลน์และทำลายสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยจะสามารถเข้าถึง Freedom House ได้มากขึ้นแต่หลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็มีการประกาศแผนการ 'ซิงเกิล เกตเวย์' ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 'อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ' เพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ขณะที่ในสภาพการณ์ความเป็นจริงประเทศไทยมีการใช้แบนด์วิดท์หรือปริมาณการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นในประเทศร้อยละ 132 และนอกประเทศร้อยละ 195

ในประเด็นเรื่องการปิดกันเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต Freedom House ระบุว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมีการปิดกั้นสื่อเว็บไซต์อย่างหนักอยู่แล้ว แต่หลังเกิดการรัฐประหารก็มีกระบวนการปิดกั้นที่ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยยกตัวอย่างคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ (คสช.) ที่สั่งปิดกั้นและสอดส่องสื่อโดยอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง มีกรณีการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Daily Mail หรือเว็บไซต์ในประเทศอย่างสำนักข่าวประชาธรรม รวมถึงเว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คณะนิติราษฎร์ และหน้าเว็บ[ล็อกหรือโซเชียลมีเดียส่วนตัวที่มีเนื้อหาต่อต้านคณะรัฐประหาร หรือมีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

Freedom House ยังรายงานถึงเรื่องการพยายามควบคุมบงการสื่อและเนื้อหาของสื่อทำให้ไม่เกิดมุมมองที่หลากหลายทั้งการพยายามปิดกั้นสื่อ การว่ากล่าวตักเตือนและบีบให้นำเนื้อหาออกแม้กระทั่งกับกรณีวาสนา นาน่วม ที่ทำเสนอเรื่องราวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังรัฐประหารแต่ถูก คสช. สั่งให้ขอโทษและนำบทความออกจากเว็บไซต์บางกอกโพสต์ นอกจากนี้ยังมีการเซ็นเซอร์ตัวเอง เช่นกรณีการปลดผังรายการของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จากอมรินทร์ทีวี ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารเองกลับใช้การโจมตีด้วยข้อมูลแบบจัดตั้งเตรียมการไว้ก่อน เพื่อคุกคามฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการทหาร

ในแง่กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต Freedom House ระบุว่าเดิมทีแล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ของไทยมีมาตราที่ระบุถึงการส่งเสริมเสรีภาพสื่อแบบกว้างๆ แต่รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งหลังการรัฐประหารปี 2557 แล้วแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารเอง แต่ฝ่ายรัฐก็ยังคงใช้กฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ Freedom House ยังระบุถึงการลิดรอนเสรีภาพด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายคอมพิวเตอร์ ในแง่การหมิ่นประมาทจำนวนมาก รวมถึง 'คดีพงศ์ศักดิ์' 'คดีเครือข่ายบรรพต' 'คดีเจ้าสาวหมาป่า' รวมถึง 'คดีสำนักข่าวภูเก็ตหวาน' ที่ตีพิมพ์บทความเปิดโปงเรื่องที่ทหารเรือไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา Freedom House ยังวิจารณ์อีกว่าเจ้าหน้าที่อัยการและผู้พิพากษาของไทยไม่มีความเข้าใจความแตกต่างของกฎหมายทั้ง 2 เลย รวมถึงเรื่องที่ไม่เข้าใจว่า "การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ" (false computer information) ที่ระบุใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หมายถึงอาชญากรรมในเชิงเทคนิคอย่างการแฮ็คข้อมูล ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นตามความคิดของตัวเองในโลกออนไลน์

และนอกจากคณะรัฐประหารแล้ว Freedom House ยังระบุว่ามีกลุ่มรอยัลลิสต์บางกลุ่มที่ทำการข่มขู่คุกคามประชาชนทั่วไปเช่น "องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน" ที่ทำการล่าแม่มดไล่ฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไปทั่ว และ "เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ" ที่ทำการฟ้องร้องทอม ดันดี ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ยังมีการพยายามโจมตีโดยกลุ่มคนทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่นกรณีที่มีคนไปรุมคอมเมนต์ประณามเพจข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หลังได้ข่าวว่า 'ตั้ง อาชีวะ' ได้ลี้ภัยทางการเมืองในนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในอย่างน้อย 6 ประเทศที่มีการออกกฎหมายให้บริษัทเอกชนและปัจเจกปลดล็อคการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) เพื่อให้ทางการสามารถเข้าดูเนื้อหาการสื่อสารต่างๆ ที่เป็นความลับจากระบบหลังบ้าน (backdoor access) อีก 5 ประเทศคือจีน ฮังการี รัสเซีย สหราชอาณาจักรและเวียดนาม โดยการปลดล็อกรหัสเพื่อเข้าถึงนั้นเป็นดาบสองคมที่ด้านหนึ่งก็ปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยก็มองว่าระบบการเข้ารหัสเช่นนี้ถูกใช้ในปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายและอาชญากร

รายงาน Freedom on the Net 2017 ยังระบุว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) เป็นหนึ่งในกลไกของรัฐบาลไทยที่สะท้อนถึงการเอาประเด็นด้านความปลอดภัยและการก่อการร้ายบนโลกไซเบอร์เป็นเครื่องมือในการออกกฎหมายมาสอดส่องกลุ่มนักกิจกรรมและสื่อมวลชน การแก้ไข พ.ร.บ. คอมฯ ล่าสุดในมาตรา 18 (7) ที่ให้อำนาจรัฐ “ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว” เป็นข้อที่น่ากังวล [7] [8]

นอกจากนี้ จากการรวบรวมข้อมูลโดยโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าระหว่างปี 2552-2560 มีนักกิจกรรมถูกแจ้งความด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) อย่างน้องถึง 52 กรณี [9]

Fake news อีกหนึ่งภัยและอุปสรรคต่อการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

ปัจจุบันพบว่า 'Fake news' กำลังเป็นอุปสรรคต่อการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชนในที่ต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ | ที่มาภาพ: Christoph Scholz (CC BY-SA 2.0)

ความนิยมใช้สื่อออนไลน์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก แม้จะมีข้อดีหลายๆ อย่าง แต่ก็พบว่าในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ 'ข่าวปลอม' (Fake News) ได้สร้างอุปสรรคให้กับการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง Fake News มักจะโน้มน้าวชักจูง โฆษณาชวนเชื่อ เนื้อหามุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม สร้างความแตกแยกเกลียดชัง ความเข้าใจผิดต่างๆ ข้อมูลทั้งจริงและไม่จริง ยากจะตรวจสอบหรือค้นหาต้นตอ อาจมีคนตั้งใจทำเนื้อหาข้อมูลเท็จขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง บางคนรับมาแล้วแชร์เนื้อหาผิดๆ นั้นออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ (Misinformation)

ประเภทของ Fake News ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องไม่จริงที่ทำขึ้นมาให้ตลก เสียดสี เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งผู้รับก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องไม่จริงแต่ก็อยากจะอ่านและแชร์กันขำ ๆ ซึ่งหากคนหรือกลุ่มคนที่โดนล้อหรือเสียดสีนั้นไม่ขำด้วย รู้สึกอาย ถูกดูหมิ่น ถูกประจาน ถูกเกลียดชัง ก็จะกลายเป็น Cyberbullying หรือ Hate Speech ได้ อีกประเภทหนึ่งได้แก่เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งอาจทำโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ บางครั้งมีการแอบอ้างเอาบุคคลมีชื่อเสียงหรือน่าเชื่อถือว่าเป็นคนพูดหรือรับรองสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยังมีการนำข้อมูลหลากหลายมาเชื่อมโยงกันทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น นำงานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกันไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบางอย่างเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ในการขายสินค้าได้มากขึ้น การนำภาพเก่าหรือภาพของเหตุการณ์อื่นมาใส่ในเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้ผู้รับเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเหตุการณ์เดียวกัน ที่แย่ที่สุดคือเนื้อหาที่ตั้งใจตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ คลิปเสียง คลิปวีดีโอ ไม่ว่าจะทำเพื่อความสนุกสนาน สร้างความเชื่อ หรือเพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ ถือเป็นข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสังคมโดยรวม ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย [10]

ที่สหรัฐฯ มีงานวิจัยที่ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันมากกว่า 1,300 คน เกี่ยวกับข้อเขียนที่พวกเขาแชร์ลงในเฟสบุ๊ค พบว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไปเป็นกลุ่มประชากรที่แชร์ข้อเขียนที่เป็น Fake News มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น งานศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ทำการสำรวจพฤติกรรมการแชร์ข่าวในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 ผ่านทางเฟสบุ๊คระบุว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.5 แชร์ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมผ่านทางเฟสบุ๊ค โดยในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันและไม่ฝักใฝ่พรรคใดมีสถิติแชร์ข่าวปลอมมากกว่าผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต แต่นักวิจัยในเรื่องนี้ก็เตือนว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะข่าวปลอมจำนวนมากเป็นข่าวปลอมในทำนองสนับสนุนทรัมป์ก็ได้ เมื่อพิจารณาแต่เฉพาะผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไม่ฝักใฝ่พรรคใดก็พบว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปจะแชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่าถึงเกือบ 7 เท่า นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะเป็นเพราะการขาดความเข้าใจรู้เท่าทันทางดิจิทัล [11]

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ Fake News ได้สร้างความรุนแรงทางกายภาพในสังคมขึ้นจริงๆ ในหลายพื้นที่ในโลก ตัวอย่างเช่นที่ พม่า ประเทศที่ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลทหารมาเป็นเวลาช้านานอย่างเมียนมาร์มีการควบคุมสื่อเก่า อย่างโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ อย่างเข้มงวด จนกระทั่งเมื่อประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยความเข้มงวดก็เริ่มหย่อนลง รวมถึงการที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากโครงการ Free Basics ของบริษัทเฟสบุ๊ค ที่ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและเฟสบุ๊คฟรีแต่จะจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงเว็บอื่นๆ ทำให้ชาวพม่าใช้เฟสบุ๊คเป็นพื้นที่หลักในการเสพข้อมูลข่าวสาร มีการสำรวจพบว่าชาวพม่าผู้ใช้เฟสบุ๊คร้อยละ 38 รับข่าวสารผ่านเว็บนี้

ทว่า พื้นที่เฟสบุ๊คนี้ก็กลายเป็นตัวการในการแพร่กระจายความเกลียดชังทางเชื้อชาติในพม่า ทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงที่กองทัพเมียนมาร์เข้าไปกวาดล้างชาวโรฮิงญาจนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 ราย ต้องอพยพไปสู่ชายแดนบังกลาเทศ จากรายงานของสื่อ Washington Post ในปี 2017 พบว่าผู้ที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังผ่านหน้าฟีด ของเฟสบุ๊คในพม่านั้นไม่ใช่แค่คนธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและโฆษกของอองซานซูจี  องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้องค์กรหนึ่งระบุว่า 'การโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่ารังเกียจ' ในเรื่องการล้างเผ่าพันธุ์และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ 'ลุกลามดั่งไฟป่า' ผ่านเฟสบุ๊ค อย่างกรณีที่พระอะชิน วิระธุ พระรูปดังที่พูดในเชิงสร้างความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมในเมียนมาร์ก็อาศัยช่องทางเฟสบุ๊คในการให้คนติดตามหลังจากที่เขาถูกรัฐบาลสั่งแบนไม่ให้เทศน์ในที่สาธารณะเป็นเวลา 1 ปี วิระธุมักจะกล่าวเหยียดชาวมุสลิม โพสต์รูปศพแล้วอ้างว่าเป็นชาวพุทธที่ถูกมุสลิมสังหาร ขณะเดียวกันก็ไม่เคยยอมรับรู้ความโหดร้ายที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ [12]

ในประเทศไทย ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เคยสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม (Fake News) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,269 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 24 - 29 ส.ค. 2561 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 65.1 และเคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 56.2 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้วิธีการในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) โดยค้นหาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 53.0 อันดับที่สองคือสอบถามผู้เชี่ยวชาญร้อยละ 28.1 และอันดับสามคือไม่คิดจะตรวจสอบ ร้อยละ 18.9

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ผ่านสื่อเฟสบุ๊ค (Facebook) เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 54.2 อันดับสองคือมีคนเล่าให้ฟัง ร้อยละ 13.9 และอันดับสามคือผ่านสื่อไลน์ (Line) ร้อยละ 12.7 และพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 27.6 อันดับสองคือประเด็นเรื่องหลอกขายสินค้า ร้อยละ 23.2 อันดับสามคือประเด็นเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 19.1 อันดับที่สี่คือประเด็นเรื่องดารา ร้อยละ 17.8 อันดับที่ห้าคือประเด็นเรื่องภัยพิบัติ ร้อยละ 8.7 และอันดับสุดท้ายคือประเด็นเรื่องศาสนา ร้อยละ 3.6 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 76.6

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล ระบุว่าในอดีตปัญหาข่าวปลอม ไม่ได้ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง อย่างในสังคมไทยนั้นข่าวลือไม่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่ไม่จริง ในอดีตที่พูดกันปากต่อปากนั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างได้ แต่ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆได้อย่างรวดเร็ว และการส่งต่อๆกันนั้นทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศต่างๆทั่วโลกก็ประสบปัญหาในเรื่องของปัญหาข่าวปลอม การตรวจสอบข่าวปลอมของคนสังคมไทยนั้นมีการตรวจสอบหรือไม่ มีการตรวจสอบด้วยวิธีใด ภาครัฐจะต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรในการกำกับดูแลและควบคุมข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบในเชิงลบกับสังคม ทำให้เกิดความแตกตื่นของคนในสังคม ในสภาวการณ์ที่คนทุกคนในสังคมสามารถติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีการส่งต่อไปยังกว้างขวางและรวดเร็ว [13]

นอกจากนี้ ในงานศึกษา 'ลักษณะของข่าวปลอมในประเทศไทยและระดับความรู้เท่าทันข่าวปลอมบนเฟสบุ๊คของผู้รับสารในเขตกรุงเทพมหานคร' ของ นันทิกา หนูสม และวิโรจน์ สุทธิสีมา ที่ได้ทำการศึกษาผู้รับสื่อออนไลน์ 400 คน ในกรุงเทพฯ ช่วงต้นปี 2561 พบว่าประเภทของข่าวปลอมที่พบมากที่สุดในระหว่างการเก็บข้อมูลคือข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ (Bogus) และรูปแบบเนื้อหาของข่าวปลอมที่พบมากที่สุดคือ เนื้อหาที่ประดิษฐ์ขึ้น (Fabricated Content) โดยมีเจตนาในการสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นข่าวปลอมที่สมบูรณ์ แนบเนียนที่สุด มีเนื้อหาที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ทั้งภาพ พาดหัวข่าว เนื้อหา และข้อมูลที่ปรากฏในข่าว สร้างขึ้นมาเป็นข่าวปลอมทั้งสิ้น ส่วนระดับความรู้เท่าทันข่าวปลอมของผู้รับสารในเขตกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง โดยกลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อในระดับการเข้าถึง การวิเคราะห์ และการประเมินในระดับมาก ส่วนในระดับการสร้างสรรค์นั้นกลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในระดับน้อยที่สุด และส่วนประกอบของข่าวที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างที่เชื่อถือในระดับมาก คือข่าวที่มีแหล่งข่าวเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้เชื่อถือข่าวนั้นในระดับมาก เพราะเป็นข่าวที่ถูกนำเสนอบนหน้านิวส์ฟีดของเฟซบุ๊กบ่อยๆและผู้รับสารเชื่อข่าวที่สามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของตนเองได้เสมอ [14]

และในช่วงปลายปี 2562 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เผยผลการมอนิเตอร์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ณ 19 พ.ย. 2562 ทั้งหมด 482,077 ข้อความ เป็นข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด จำนวน 353,325 ข้อความ ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อความที่ต้องดำเนินการ Verify จำนวน 5,181 ข้อความ เป็นเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 63.2 นโยบายรัฐบาล ร้อยละ 21.8 เศรษฐกิจ ร้อยละ 14.2 และ ภัยพิบัติ ร้อยละ 0.8 [15]

ในบทความ “เห็นว่าดีก็แชร์ไว้” : ค่านิยมไทยแบบไหนที่ช่วยกระจาย Fake news โดยอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ถึงค่านิยมของสังคมไทยบางประการที่มีความเชื่อมโยงกับการแพร่กระจายและการดำรงอยู่ของข้อมูลเท็จ ซึ่งได้แก่

ระบบอุปถัมภ์-ความกตัญญู-การเคารพผู้อาวุโส : สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ผู้ใหญ่ที่มีความอาวุโสต้องมีความเมตตาให้การอุปการะแก่ผู้น้อย ผู้น้อยต้องมีความกตัญญูและต้องแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ การตั้งคำถามหรือการโต้แย้งแม้จะมีเหตุมีผลและทำด้วยท่าทีสุภาพก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพ ไม่กตัญญูต่อความเมตตาที่ผู้อาวุโสมีให้ และอาจนำไปสู่การตัดสินให้คุณให้โทษผู้น้อยต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ คนจำนวนมากจึงเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่ทักท้วง ไม่โต้แย้ง และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นอวยและเยินยอเพื่อเอาอกเอาใจ

พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง : คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็น ทักท้วง หรือโต้แย้งจะเป็นการทำให้ผู้อื่นอับอายและเป็นการทำลายความสัมพันธ์ จึงเลือกที่จะนิ่งเฉยเอาไว้

การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม – กันไว้ดีกว่าแก้ : การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นและความคิดที่ว่ากันไว้ดีกว่าแก้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการแชร์ข้อมูลเท็จ เนื่องจากผู้แชร์คิดว่าข้อมูลที่ได้รับมาเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ จึงทำการแชร์โดยไม่ได้ตรวจสอบและไม่คิดว่ามีผลเสียใดๆ

ยกย่องเชิดชูผู้มีชื่อเสียงและสถานะทางสังคม : สังคมไทยให้การยกย่องเชิดชู ผู้มีชื่อเสียง ผู้มีความร่ำรวยและมีสถานะทางสังคม และให้ความสำคัญกับผู้ประกอบวิชาชีพบางวิชาชีพว่าเป็นผู้เสียสละ มีคุณธรรม หรือทรงคุณค่าอย่างยิ่ง จึงให้สถานะทางสังคมที่เหนือกว่าผู้มีอาชีพอื่น เช่น พระสงฆ์ แพทย์ ครู อาจารย์ ผู้พิพากษา ดารา นักแสดง ผู้มีสถานะทางสังคมเหล่านี้จึงมักได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้นเมื่อบุคคลเหล่านี้แชร์ข้อมูลใด ก็มักจะมีผู้ให้ความเชื่อถือข้อมูลนั้นๆ ตามไปด้วยจำนวนมาก [16]

องค์กรสิทธิฯ ชี้การสอดส่องออนไลน์ของ 'Facebook-Google' ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน

รายงานฉบับใหม่ของ Amnesty International ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2019 เผยให้เห็นว่าธุรกิจในรูปแบบการสอดส่องออนไลน์ ทั้งของเฟสบุ๊ค (Facebook) และกูเกิล (Google) มีลักษณะพื้นฐานที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิความเป็นส่วนตัว และเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นระบบต่อสิทธิอื่นๆ รวมทั้งเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก เสรีภาพด้านความคิด และสิทธิที่จะเข้าถึงความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ | ที่มาภาพ: Amnesty International

การสอดส่องออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นของเฟสบุ๊คและกูเกิลกำลังเกิดขึ้นกับประชาชนหลายพันล้านคน และถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ระบุเตือนไว้ในรายงานชิ้นใหม่ใหม่ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบในแง่รูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้

รายงาน 'ยักษ์ใหญ่ด้านการสอดส่องออนไลน์' (Surveillance Giants) ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2019 เผยให้เห็นว่าธุรกิจในรูปแบบการสอดส่องออนไลน์ ทั้งของเฟสบุ๊ค (Facebook) และกูเกิล (Google) มีลักษณะพื้นฐานที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิความเป็นส่วนตัว และเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นระบบต่อสิทธิอื่นๆ รวมทั้งเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก เสรีภาพด้านความคิด และสิทธิที่จะเข้าถึงความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ

"กูเกิลและเฟสบุ๊คต่างครอบงำชีวิตในยุคสมัยใหม่ ทั้งสองบริษัทต่างกุมอำนาจมหาศาลในโลกดิจิทัล พวกเขาเก็บรวบรวมและค้ากำไรจากข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหลายพันล้านคน การควบคุมอย่างแยบยลเหนือชีวิตทางดิจิทัลของเรา ทำลายความเป็นส่วนตัว และเป็นปัญหาท้าทายสำคัญสุดอย่างหนึ่งต่อสิทธิมนุษยชนในยุคของเรา"

"เพื่อที่จะคุ้มครองคุณค่าหลักของมนุษย์ในยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงศักดิ์ศรี การกำหนดชะตากรรมของตนเอง และความเป็นส่วนตัว เราจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างพื้นฐานของแนวทางการดำเนินงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้ และต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบอินเตอร์เน็ตที่ยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญ" Kumi Naidoo เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ

กูเกิลและเฟสบุ๊คได้ครอบงำช่องทางการสื่อสารหลักของโลก ซึ่งเป็นช่องทางที่จำเป็นเพื่อให้สามารถใช้สิทธิออนไลน์ได้ หากไม่นับประเทศจีน แพลตฟอร์มต่างๆ ของบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Google Search, YouTube และ WhatsApp เป็นช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูล เข้าร่วมในการถกเถียง และมีส่วนร่วมด้านสังคม ระบบแอนดรอยด์ของกูเกิลยังเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในโลก

ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอื่นๆ รวมทั้งแอปเปิล แอมะซอน และไมโครซอฟต์ ต่างมีอำนาจอย่างมากในกิจการของตน แต่แพลตฟอร์มของเฟสบุ๊คและกูเกิลกลายเป็นช่องทางพื้นฐาน ที่ประชาชนมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ถือเป็นพื้นที่กลางใหม่ของการพบปะในระดับโลก

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีให้บริการกับประชาชนหลายพันล้านคนโดยไม่คิดมูลค่า โดยผู้ใช้งานต้องจ่ายค่าบริการในรูปของข้อมูลส่วนบุคคลของตน กล่าวคือต้องยอมให้ถูกสอดส่องติดตามออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสอดส่องในทางกายภาพ อย่างเช่น การสอดส่องผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่ต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ต

"อินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประการต่างๆ แต่ประชาชนหลายพันล้านคนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยอมเข้าสู่พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยเฟสบุ๊คและกูเกิล"

"ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ระบบอินเตอร์เน็ตที่เป็นอยู่แตกต่างจากระบบอินเตอร์เน็ตที่พวกเราลงชื่อเข้าร่วมใช้บริการ และตอนที่เริ่มมีแพลตฟอร์มเหล่านี้ กูเกิลและเฟสบุ๊คค่อยๆ ล้วงความเป็นส่วนตัวของเราไปทีละน้อย จนเราติดกับดักในปัจจุบัน กล่าวคือเราต้องยอมตกเป็นเป้าหมายของเครื่องมือการสอดส่องออนไลน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งข้อมูลของเราได้ถูกเปลี่ยนเป็นอาวุธเพื่อครอบงำและชักจูงใจของเราได้อย่างง่ายดาย หากเราไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น เราก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากโลกดิจิทัลเลย ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ชอบธรรม เราต้องทวงคืนพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นเหล่านี้ เพื่อให้เราสามารถเข้าร่วมในพื้นที่นี้ได้โดยไม่ถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิ" เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ

การตักตวงและนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ไม่สอดคล้องกับองค์ประกอบใดๆ ของสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมทั้งเสรีภาพที่จะปลอดจากการรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของเรา สิทธิในการควบคุมข้อมูลและตัวเราเอง และสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่ที่เราสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเสรี

ในประเด็นอัลกอริทึมที่มุ่งแสวงหาประโยชน์นั้น พบว่าแพลตฟอร์มของกูเกิลและเฟสบุ๊คต่างถูกออกแบบตามสูตรอัลกอริทึม ซึ่งถูกใช้เพื่อประมวลผลข้อมูลในปริมาณมหาศาล ทั้งนี้เพื่อจำแนกคุณลักษณะอย่างละเอียดของผู้ใช้งาน และเพื่อหาทางครอบงำการรับรู้ทางออนไลน์ของพวกเขา ส่งผลให้บริษัทโฆษณายอมจ่ายเงินให้เฟสบุ๊คและกูเกิล เพื่อให้ทำโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลเหล่านี้ หรือการสร้างข้อความที่ตรงใจคนเหล่านี้

เหตุการณ์อื้อฉาวกรณีเคมบริดจ์แอนะลิติกา เผยให้เห็นการปฏิบัติมิชอบต่อข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อครอบงำและโน้มน้าวใจบุคคลเหล่านั้น

"เราได้เห็นแล้วว่า โครงสร้างพื้นฐานในการโฆษณาของทั้งกูเกิลและเฟสบุ๊ค เป็นอาวุธสำคัญที่ตกอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งอาจถูกใช้ประโยชน์อย่างมิชอบเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และอาจสร้างหายนะรุนแรงต่อสังคม โดยปล่อยให้มีการใช้ยุทธวิธีการโฆษณาที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ อย่างเช่น การสร้างโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนผู้อ่อนแอ ผู้ป่วยทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ หรือผู้ที่มีอาการเสพติด เนื่องจากเป็นการออกแบบโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เป็นการเฉพาะ ทำให้ขาดการตรวจสอบจากสาธารณะ" เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ [17]

เรียกร้องระบบอินเตอร์เน็ตแบบใหม่ที่คุ้มครองบุคคลจากการปฏิบัติมิชอบของบรรษัท

รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรื้อโครงสร้างธุรกิจที่มีการสอดส่องออนไลน์ และคุ้มครองบุคคลให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนของบรรษัท ทั้งนี้โดยการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เข้มแข็ง และการใช้มาตรการที่เป็นผลเพื่อควบคุมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ดำเนินการอย่างสอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ในขั้นแรก รัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่าง ๆ อย่างกูเกิลและเฟสบุ๊ค สามารถกำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงบริการ โดยบังคับให้บุคคลต้อง 'ยินยอม' ให้มีการเก็บ ประมวลผล หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลของตน เพื่อการตลาดและการโฆษณา บริษัทต่างๆ รวมทั้งกูเกิลและเฟสบุ๊คยังต้องแสดงความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าเป็นการดำเนินงานในขั้นตอนหรือในรูปแบบใด

"เราต้องไม่ยอมให้เฟสบุ๊คและกูเกิลครอบงำชีวิตออนไลน์ของเรา บริษัทเหล่านี้เลือกใช้แนวทางธุรกิจแบบการสอดส่องออนไลน์ ซึ่งกระทบต่อความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เทคโนโลยีที่เป็นพลังขับเคลื่อนอินเตอร์เน็ตไม่ขัดแย้งกับสิทธิของเรา แต่แนวทางธุรกิจที่เฟซบุ๊กและกูเกิลเลือกใช้ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน"

"ถึงเวลาที่เราต้องทวงคืนพื้นที่สาธารณะออนไลน์เพื่อทุกคน แทนที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ทรงอิทธิพลแต่ขาดการตรวจสอบได้จากซิลิคอน วัลเลย์เพียงไม่กี่แห่ง" เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ [18]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ฟรีดอมเฮาส์ 2015 เผยรายงานเสรีภาพเน็ต-ไทยคะแนนแย่-ยังอยู่โซน 'ไม่เสรี' (ประชาไท, 30 Oct 2015)
[2] ฟรีดอมเฮาส์จัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลกปี 2016 ไทยยังตกชั้นอยู่ในโซน 'ไม่เสรี' (ประชาไท, 28 Apr 2016)
[3] รายงาน "Freedom on the Net 2017" ชี้ 'ไทย' ไร้เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต (VOA, 15 Nov 2017)
[4] 'Freedom House' ชี้ระดับความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ลดลงเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน (VOA, 17 Jan 2018)
[5] รายงานฟรีดอมเฮาส์ ‘เสรีภาพโลกปี 61’ ชี้ปชต.ถดถอยทั่วโลก ไทยคะแนนต่ำต่อเนื่อง (ประชาไท, 8 Feb 2018)
[6] รายงาน Freedom on the Net 2019 ชี้ ไทยไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้เน็ตทั่วโลกเกือบ 90% ถูกสอดส่อง (The Standard, 6 Nov 2019)
[7] ฟรีดอมเฮาส์ 2015 เผยรายงานเสรีภาพเน็ต-ไทยคะแนนแย่-ยังอยู่โซน 'ไม่เสรี' (ประชาไท, 30 Oct 2015)
[8] รายงาน: ความรันทดของสื่อ ประชาชนเมื่อเสรีภาพออนไลน์ถูกรัฐและเฟสบุ๊คตีกระหนาบ (ประชาไท, 20 Nov 2017)
[9] ตารางคดี "ปิดปาก" นักเคลื่อนไหว ด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) (iLaw, 9 Jan 2017)
[10] Fake News ลวงให้เชื่อ หลอกให้แชร์ (ETDA, 25 Nov 2019)
[11] OVER-65S SPREAD THE MOST FAKE NEWS DURING 2016 ELECTION: STUDY (KATHERINE HIGNETT, newsweek.com, 9 Jan 2019)
[12] เมื่อเมียนมาร์ใช้ 'ข่าวปลอม' ผ่านโซเชียลฯ กระพือความเกลียดชังชาวโรฮิงญา (ประชาไท, 13 Dec 2017)
[13] โพลระบุคน กทม. เจอข่าวปลอม 65.1% จากเฟสบุ๊คและเรื่องการเมืองมากที่สุด (ประชาไท, 2 Sep 2018)
[14] ลักษณะของข่าวปลอมในประเทศไทยและระดับความรู้เท่าทันข่าวปลอมบนเฟสบุ๊คของผู้รับสารในเขตกรุงเทพมหานคร (นทิกา หนูสม และวิโรจน์ สุทธิสีมา, วารสารนิเทศศาสตร์ ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2562)
[15] กระทรวงดิจิทัลเผยข่าวปลอมสุขภาพติดอันดับโดนตรวจเจอมากที่สุด (สำนักข่าวไทย, 21 Nov 2019)
[16] “เห็นว่าดีก็แชร์ไว้” : ค่านิยมไทยแบบไหนที่ช่วยกระจาย Fake news (อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ, The Matter, 1 Aug 2019)
[17] รายงานใหม่แอมเนสตี้เผย การสอดส่องบนโลกออนไลน์คือภัยคุกคามใหม่ด้านสิทธิมนุษยชน (Amnesty International, 21 Nov 2019)
[18] อ้างแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: