จับตา: กฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4856 ครั้ง


'พืชกระท่อม' ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna Speciosa Korth เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกับกัญชา พืชฝิ่น ที่มาภาพประกอบ: สำนักงาน ปปส. ภาค 7

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ระบุว่า 'พืชกระท่อม' ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna Speciosa Korth เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกับกัญชา พืชฝิ่น

เนื่องจากสารในพืชกระท่อม คือ ไมทราไจนีน มีฤทธิ์กดประสาท ดังนั้น 'พืชกระท่อม' ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อเสพโดยการเคี้ยวใบ มีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหารท้องผูก นอนไม่หลับ ถ้าเสพระยะเวลายาวนานติดต่อกันมีผลกับสุขภาพ ได้แก่ ท้องผูกรุนแรง เม็ดสีที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ใจสั่น อาจทำให้ชัก และมีผลต่อตับและต่อมไทรอยด์

หากกินน้ำต้มกระท่อมที่ผสมน้ำอัดลม ยาแก้ไอ ยาจุดกันยุง สารจากหลอดไฟนีออน ที่เรียกว่า 4 คูณ 100 หรือ 8 คูณ 100 อาจทำให้ตายได้ เพราะออกฤทธิ์เสริม ทำให้กดระบบประสาทและระบบหายใจ

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดการกระทำความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับพืชกระท่อม ดังนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาต โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(2) ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 5

ข้อหาและโทษทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ได้แก่

(1) ผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 75 วรรค 2)

(2) จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
-จำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 3)
-จำนวนตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 4)

(3) ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76 วรรค 2)

(4) เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 92 วรรค 2)

อย่างไรก็ตาม หากนักวิชาการต้องการวิจัยพืชกระท่อมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ ก็สามารถกระทำได้ โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้หลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว แต่การเสพพืชกระท่อม กฎหมายห้ามเด็ดขาดไม่อนุญาตให้เสพได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: