เอาสนามหลวงคืนประชาชน

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 12 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 13732 ครั้ง


วันก่อนผมเพิ่งเดินได้เกือบครึ่งรอบสนามหลวง สังเกตดูว่าตอนนี้สนามหลวงถูกปิดล้อมไว้ด้วยรั้วกั้น ประชาชนไม่ได้มีโอกาสใช้งานเท่าที่ควร  เราควรช่วยกันเรียกร้อง ร้องเรียนให้สนามหลวงกลับมาเป็นของหลวง หรือของประชาชนเจ้าของประเทศ ได้ใช้กันดังแต่ก่อน

ผมรู้จักท้องสนามหลวงในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ หรือเมื่อราว 51 ปีก่อน สมัยนั้นผมไปหัดขี่จักรยานสองล้อเป็นที่สนามหลวงแห่งนี้  ต่อมาก็ไปเล่นว่าว หรือดูเขาเล่นว่าวโดยเป็นการต่อกรกันระหว่างว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า  ในสมัยนั้นยังมีตลาดนัดท้องสนามหลวงก่อนที่จะย้ายไปจตุจักร  แต่เดี๋ยวนี้สมบัติของแผ่นดินถูก "ปล้น" ไป "ขัง" ล้อมรั้วไว้เฉยๆ แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย  แน่นอนว่าในงานพระราชพิธีต่างๆ ก็ต้องใช้สนามหลวงแห่งนี้  แต่ในยามปกติ ก็มักให้ประชาชนได้ใช้เสมอ  แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป

จาก wikipedia ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยทางขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้าอยู่ด้านเหนือ ทางด้านตะวันออกเป็นศาลฎีกา ด้านใต้เป็นวัดพระแก้ว ด้านตะวันตกเป็นวัดมหาธาตุฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติและโรงละครแห่งชาติ มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา  ตั้งแต่ปี 2520 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ

ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

ที่ผ่านมายังมีการใช้สนามหลวงเป็นจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสาธารณชน อาทิ การปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางกีฬาการละเล่นต่างๆ เช่น ฟุตบอล หรือ เล่นว่าว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป  อย่างไรก็ตามภายหลังการปรับปรุงท้องสนามหลวงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ก็ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เหมือนในอดีต

แต่ที่ผ่านมาก่อนหน้าทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และสันทนาการ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถหรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านถนนเส้นกลาง ซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่สนามหลวงเป็นหน่วยงานของราชการสังกัดกรุงเทพมหานครดูแลความสงบเรียบร้อยภายในท้องสนามหลวง

อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง จะสังเกตได้ว่า รั้วของสนามหลวงแทบไม่มีการเปิด  มีเปิดเฉพาะจุดคัดกรองสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมพระบรมมหาราชวัง แต่ก็เป็นแค่มุมหนึ่งเท่านั้น  ผู้คนแทบไม่มีโอกาสเข้าไปใช้สนามหลวงนั่งพักผ่อนหย่อนใจดังแต่ก่อน แม้แต่เก้าอี้รอบสนามหลวง ก็ปรากฏว่าได้มีการรื้อถอนออกไปบางส่วน  ภายในตัวสนามหลวงเองก็ดูมีการปรับปรุงอะไรบางอย่าง แต่ไม่สังเกตเห็นมีประกาศอะไรแน่ชัดว่ากำลังดำเนินการอะไรกันแน่

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ รั้วด้านนอกของสนามหลวง เหลือพื้นที่ตรงขอบสนามหลวงเพียงราว 2-3 เมตรเท่านั้น แถมยังมีโคนต้นไม้ขวางทางเดินอีกต่างหาก  ทางเดินจริงๆ จึงเหลือราว 1 เมตรบริเวณโคนต้นไม้  บ้างต้องออกมาเดินบนถนนแทน  ยิ่งบริเวณป้ายรถประจำทาง เมื่อมีคนมาออกันมาก ๆ ก็คงต้องลงไปบนถนน ซึ่งคงจะอันตรายไม่น้อย  ส่วนทางเดินกว้างขวางที่ยังมีรั้วกันอีกชั้นหนึ่ง และบางส่วนก็ยังมีเก้าอี้อยู่นั้น ประชาชนกลับไม่ได้มีโอกาสเข้าไปนั่ง  แล้วอย่างนี้สมควรหรือไม่ 

กทม. จะเอาอย่างไรกันแน่ น่าจะชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบบ้าง ว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้สนามหลวงเพื่อการหย่อนใจเสียที

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Agency for Real Estate Affairs (AREA)
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: siamhistories

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: