อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ผู้ปรุงรสวรรณกรรม ผ่านประสบการณ์ร่วมสมัยในอาคเนย์คะนึง

วีรวรรธน์ สมนึก: 12 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4418 ครั้ง


“ดินแดนอาคเนย์เป็นดินแดนที่แปลก ในด้านหนึ่งมันเป็นดินแดนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยอาณาจักรโบราณจำนวนมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นดินแดนใหม่ที่หลายประเทศเพิ่งได้รู้จักคำว่าอิสรภาพจากบรรดาเจ้าอาณานิคม เป็นดินแดนแห่งการซ้อนทับ เป็นดินแดนแห่งการผสมปนเป มีตำนานมากมายในดินแดนแห่งนี้ จากเหนือจรดใต้ จากผืนดินสู่ผืนน้ำ จากยอดภูเขาสู่ทะเลสาบ บางครั้งมันอวลด้วยกลิ่นอายเครื่องเทศและหลายครั้งมันอวลด้วยไอสงคราม “ 

รวมเรื่องสั้น “อาคเนย์คะนึง” ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Southeast Wind Of Love  ทั้งเล่มประกอบด้วย 8 เรื่องสั้น เล่าผ่านฉากและชีวิตของผู้คนในดินแดนทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของทวีปเอเชีย สำหรับผู้อ่านที่คุ้นเคยกับงานของอนุสรณ์ ที่ให้ห้วงอารมณ์เปลี่ยนเหงา โหยหา พลัดพราก และซึมลึกไปกับอารมณ์ เรื่องของ “ผม”ตัวละครหลักที่เป็นผู้ดำเนินหลากเรื่องในอาคเนย์คะนึง ก็พาผู้อ่านไปปะทะกับประสบการณ์รักต่างๆหลากเรื่องราวหลายอารมณ์ ทั้งความรักในเสียงเพลงโบราณที่ใครต่อใครหลงลืมมันไปแล้ว ความรักที่มีต่อแมวของศาสดา ความรักของชายหนุ่มกับตำราโบราณ หรือกระทั่งความรักที่พลัดพรากแม่ลูกจากสงคราม   ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเปรียบเสมือนบันทึกรักที่ถูกปรุงแต่งโดย”นักรู้สึก”ที่มีชื่อว่า อนุสรณ์ ติปยานนท์ 

อนุสรณ์เปิดเรื่องด้วย “กาจู่” เครื่องดนตรีโบราณของเวียดนาม ผ่านเรื่องความสัมพันธ์ของ “ผม”นักเขียนหนุ่มชาวไทย   กับ “เตรืองมีนา” นักร้องเพลงสาวเจ้าถิ่น ผู้ทำให้เขาลุ่มหลงในบทเพลงกาจู่และจมหายไปกับสิ่งสวยงามที่เขาเชื่อว่า “ความรัก”

ที่มาภาพ: Viet Nam Government Portal

"งานเขียนของผมเดินหน้าไปพร้อมกับความรัก ช่วงเวลานั้นผมไม่มีข้อสงสัยใดเลยว่างานเขียนของผมจะไม่มีวันสำเร็จลง หน้าแต่ละหน้าของนิยายที่มากขึ้นคู่ขนานไปกับวันแต่ละวันที่ผมใช้ชีวิตกับเธอมากขึ้น" น.17

ซึ่งท้ายที่สุดชีวิตของนักเขียนหนุ่มก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อการตัดสินใจ “จมหาย” ของคนรัก หลังเธอกระโดดลงจากสะพานลองเบียนด้วยอยากทดสอบว่าปอดสามารถดำดิ่งลงไปใต้แม่น้ำแดงได้นานเพียงใด  เพราะเธอเชื่อว่าระยะเวลาที่ยาวนานจะบอกว่าปอดของเธอนั้นพร้อมสำหรับการฝึกฝนการขับร้องกาจู่ที่ยากขึ้นหรือไม่

สำหรับผู้อ่านถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่าเข้าใจได้ยากกับการตัดสินใจเพียงชั่ววูบของเตรืองมีนาเหมือนกัน และอยากเห็นว่าท้ายที่สุดเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ? 

ในท้ายที่สุด ผู้ที่ลุ่มหลงและจมหาย ก็ยังเป็น”ผม” คนที่ละทิ้งความฝันที่จะเป็นนักเขียน กลับสู่บ้านเกิดและเริ่มทำงานในบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งวรรณกรรมหรือดนตรี  แต่ความคิดคำนึงถึงความตายของสาวคนรักไม่เคยจางไปไหน  และแล้วความตายในรูปแบบเดียวกับที่เขาพบเห็นทำให้เขาตระเวณไปทั่วแม่น้ำในภูมิภาคแถบถิ่นนี้ เพื่อไปร่วมพิธีศพและคาดหวังลึกๆว่าเรื่องราวดุจเดียวกันนี้จะปะติดปะต่อให้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น และความเจ็บปวดจากการพลัดพรากของผู้คนที่เขาไปพบ ก็น่าจะทำให้เขาทำใจยอมรับได้เร็วขึ้น 

"การยอมรับความจริงว่าผมไม่อาจลืมเตรียงมีนาได้นั้น ง่ายกว่าการยอมรับว่าไม่มีเธอในใจผมอีกแล้ว"น.28

เรื่องที่สองที่จะพูดถึงคือ “เยว่เลี่ยง ไต้เปี่ยวหว่อเตอซิน” อนุสรณ์ยังคงเล่าเรื่องของนักดนตรี แต่คราวนี้เป็นเครื่องดนตรีสากลอย่างเปียโน  ผ่านการแวะพักของนักเปียโน มาที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองลึกลับไม่ระบุชื่อ แต่ก็พยายามเล่นล้ออิงแอบปริศนาสถานที่กับความเป็นเอเชียอาคเนย์ ผ่านบทสนทนาการสั่งเครื่องดื่มกับบาร์เทนเดอร์ประจำร้าน 

ที่มาภาพ: The Straits Times

"ซานมิเกล อังกอร์ เมียนมา ฮานอย สำหรับเบียร์ภูมิภาค โคโรน่า สเตลล่า อาร์ทัวร์ บัดไวเซอร์ ฟอสเตอร์ สำหรับเบียร์นอกถิ่นและชิงเต่า " น.61

และเป็นอีกครั้งที่อนุสรณ์เอาเรื่องแม่น้ำจุดกำเนิดของหลากเรื่องราวมาเล่า  

ยิ่งกับสายน้ำท่ามกลางเมืองที่แห้งผาก 

นอกจากบทสนทนาแช่มช้าของนักเปียโนกับบาร์เทนเดอร์ผู้เล่าเรื่อง อนุสรณ์ใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับรูปปั้น การพลัดหายไปจากแม่น้ำของหญิงสาว ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า แล็ง กอนนู เดอ ลา แซน หรือหญิงสาวที่ไม่มีใครรู้จักแห่งแม่น้ำแซน ที่ต่อมากลายเป็นแบบรูปปั้นที่งดงามสำหรับหลายคนที่เพลิดเพลินกับการเสพความตาย   ? และความงามที่ว่านั้นก็ติดตาตรึงใจหนุ่มนักเปียโนด้วย

ก่อนที่หนุ่มนักเดินทางผู้นั้น จะได้รู้ว่าความงามของวัตถุที่ว่า  เดินทางไกลมากจากปารีส และก่อนที่เขาจะจินตนาการไปมากกว่านั้น บาร์เทนเดอร์ก็เฉลยว่า เขาไม่เคยไปที่ที่มีหอไอเฟลและร้านขนมหวานมากมายแบบนั้นหรอก เพราะความงามที่เขาครอบครองอยู่ตอนนี้เดินทางมาหาเขาเอง

"เป็นเรื่องแปลกที่รูปปั้นน้ำหนักมากเช่นนี้กลับลอยพ้นเหนือน้ำ ในคืนนั้นดวงจันทร์บนท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง ส่องต้องผิวของรูปปั้นขาวนวลจนสว่างไสวไปทั่วผืนน้ำ ผมว่ายเข้าไปหามัน กอดไว้ด้วยความอ่อนแรง ผมลอยล่องอยู่เช่นนั้น เป็นหนึ่งเดียวกับรูปปั้น เป็นดังชายไม่มีชื่อแห่งสายน้ำ จนทุกอย่างเหือดแห้ง ความปกติกลับมาหาผมอีกครั้ง เว้นแต่ว่ามือของผมที่โอบกอดรูปปั้นนี้เป็นเวลานานมีขนาดใหญ่โตกว่าเดิม"  น.67

ก่อนเวลาล่วงผ่าน ถึงกำหนดเดินทางต่อ นักเปียโนเดินออกจากร้านไปและได้พบกับหญิงสาว ตรงบริเวณน้ำพุหน้าร้านบาร์  ปรากฎว่าเพียงแรกเห็นหญิงสาวผู้นั้น ก็ทำให้เขาแทบจะเชื่อว่าเป็นคนคนเดียวกับรูปปั้นที่เห็นในร้าน

"การแสดงของผมเป็นไปได้ด้วยดี คู่บ่าวสาวเป็นชายหนุ่มและหญิงสาวจากครอบครัวสำคัญในเมืองนั้น แขกเหรื่อมากมายราวกับมาทุกซอกมุมของเมือง เพลงที่ถูกร้องขอให้เล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ เย่วเลี่ยงไต้เปี่ยวหว่อเตอซิน หรือพระจันทร์แทนใจ" น.68 

อันบอกถึงตำแหน่งแห่งที่ของเรื่องราว ที่ปรากฎในอาคเนย์ ทั้งบทเพลงพระจันทร์แทนใจ และเหตุแห่งการตกหลุมรักที่ไม่ว่าระยะใกล้หรือไกลก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน

เรื่อง"นางตันไต" เป็นความพยายามของอนุสรณ์ที่พยายามเอาตำนานพื้นบ้านของลาว มาผูกเข้ากับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ผ่านการพลัดพรากของแม่กับลูก เรื่องนี้อนุสรณ์ใช้เทคนิคการเล่าแบบ สัจนิยมมหัศจรรย์ด้วยกำหนดให้นางตันไตมีชีวิตชีวาและสร้างบทสนทนากับ “ผม” คนที่ต้องไปพบนางบนยอดเนินแห่งนั้น หลังการตายจากโลกของนางไปแล้วกว่า 40 ปี

 

ที่มาภาพ: http://rforearth.weloveshopping.com/shop/showproduct.php?pid=24494192&shopid=219357

เพียงแรกเห็นของทั้งคู่นางตันไตก็ได้ขับร้องบทเพลงหลากหลายทำนองให้เขาฟัง ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้อวลไปด้วยกลิ่นอายของบทเพลงปฏิวัติชาติลาว

“ผมเอนกายลงนอนข้างๆนางตันไต ขณะที่เธอร้องเพลงถึงท่อนสุดท้าย เมฆบนฟ้าสีขาวยวงเคลื่อนไปอย่างช้าๆ สีซะนะ สีสาน แต่งเพลงอาไลฮักใน พ.ศ. 2505 ช่วงเวลาที่สงครามเพื่อการเปลี่ยนแปลงกำลังดำเนินไปอย่างครุกรุ่น ชื่อเพลงแสดงถึงความรักหากแต่เป็นความรักที่มีต่อชาติและประชาชน ไม่ใช่ความรักฉันหนุ่มสาวทั่วไป”น. 108

อนุสรณ์ยังใช้วิธีบอกเรื่องราวด้วยเพลงอีกครั้ง “เพลงน้ำตาแม่ แต่งโดย ไซยะสิน สีโคดจุนนะมาลี ใน พศ. 2515 สถานการณ์ดินแดนลาวขนาดนั้นกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายแห่งการปลดปล่อย ผู้คนพากันตื่นตัว อำนาจเก่ากำลังสูญสลายไป พลังของประชาชนใหม่กำลังอุบัติขึ้น ทว่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้นเองผู้สูญเสียก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย ว่ากันว่ามีลูกที่ขาดแม่นับร้อยนับพันและมีแม่ที่ขาดลูกนับพันนับหมื่น จำนวนผู้สูญเสียมากขนาดนั้นทำให้ทุกครั้งที่เพลงน้ำตาแม่ดังขึ้น จะมีน้ำตาของผู้ได้ยินเพลงนี้ผสมปนอยู่ด้วย” น.109

ก่อนที่จะคลายปมเรื่องที่มีฉากหลังเป็นสงครามปฏิวัติและหลากบทเพลงชวนหลั่งน้ำตา ด้วยความสัมพันธ์ที่ผู้อ่านคาดไม่ถึงระหว่าง “ผม” กับ นางตันไต เมื่อ “ผม” ถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ว่ายากลำบากแค่ไหนในภาวะสงคราม

แทนคำตอบ นางตันไตหยิบดอกสะเลเตของผมขึ้นแนบชิดกับจมูกของเธอ  "ขึ้นอยู่กับว่าคุณคือใครและคุณทำอะไรในยามนั้น รู้จักเพลงน้ำตาแม่ไหม  ผมพยักหน้าอีกครั้ง ผมรู้จักเพลงนี้ดีแทบทุกคนในลาวล้วนรู้จัก แม้ว่าหลังการจากไปของยาย ผมไม่ได้ฟังเพลงนี้จากใครอีกเลย” น.108

“คริสมาสต์ในวังหน้า” เป็นอีกความฉกาจของอนุสรณ์ในการเล่นกับข้อมูล โดยเปิดเรื่องด้วยเอกสารพระบรมราชโองการ ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว ก่อนตัวละคร “ผม” จะได้พบกับเพี้ยสิงห์ตัวละครที่อนุสรณ์สร้างขึ้นมา เป็นภาพแทนแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ของคนยุคเก่าก่อน และเป็นตัวแทนของอัตลักษ์ผู้คนแถบถิ่นนั้น 

ที่มาภาพ: Pantip

“จากภายนอกเขาน่าจะมีอายุราวหกสิบปี แต่การเคลื่อนไหวอันคล่องแคล่ว ทำให้เหมือนคนที่อายุอ่อนกว่านั้น เบ้าตาของเขาลึก โหนกแก้มของเขาสูง หน้าผากของเขากว้างและรูปศีรษะของเขากลมมนคล้ายชาวลาวพวนทั่วไปในละแวกนี้” น.75

เพี้ยสิงห์กลายเป็นบุคคลที่ “ผม” ในเรื่องผู้ไม่ชอบวิชาเรขาคณิตและกำลังอยู่ในฤดูสอบ ได้พบกันเพียงลำพัง และใช้ความเป็น “โลกเก่า” เข้ามาสอดแทรกชีวิตของเด็กนักเรียนหนุ่ม ทำให้เขารู้สึกเข้มแข็งขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ากำลังถูกครอบงำด้วยความคิดอะไรบางอย่างจากผู้ใหญ่ และเขาต้องทนฟังเพี้ยสิงห์เล่าในหลายๆเรื่องเพื่อแลกกับความเมตตาที่เพี้ยสิงห์มีต่อเขา

กระทั่งปมขัดแย้งมีขึ้นเมื่อ “ผม” ได้ไปทัศนาที่กรุงเทพมหานคร ยลความงดงามของวัดวังอลังการ แต่เพี้ยสิงห์ก็ได้ตอบเขากลับไปทำนองว่า ทุกที่ทุกเหตุการณ์ที่หนุ่มน้อยคนนั้นไปเจอเขาอยู่ในทุกเหตุการณ์  ก่อนจะหันไปหยิบแคนแล้วเป่าเป็นเพลง

“นั่นคือเพลงที่ข้าได้ยินที่นั่น ไอ้หน่ออ่อน เขาเอ่ย จากที่ที่แกไปเยือน พระเจ้าอยู่หัวทรงเพลงนี้ด้วยพระองค์เอง พ่อพาข้าเข้าไปในวัง พวดเขาจัดงานฉลองกัน ข้าเป็นลูกมือทำอาหารในวันนั้น” 

ด้วยคิดว่าเพี้ยสิงห์อ้างว่าเหนือกว่าเขาในทุกประสบการณ์ จากวันนั้น “ผม” ก็ไม่ได้ไปพบเพี้ยสิงห์อีก แม้จะรู้ว่าจะพบได้ที่ไหน แต่เขาก็ไม่ได้พยายามหา

กระทั่งเรื่องราวดำเนินมาถึง “ผม” โตขึ้นได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ในระบบ และสิ่งที่เขายังปักใจสงสัยอยู่คือเพี้ยสิงห์มีอายุยืนนับร้อยปีและเคยเข้าร่วมงานฉลองคริสต์มาสในพระบวรราชวังจริง ?

และเรื่องที่เชื่อมโยงระหว่างศาสตร์โลกใหม่กับความเชื่อในโลกเก่าของ “ผม” กับ เพี้ยสิงห์จะมีจุดตัดและเชื่อมต่อกันอย่างไร ก็เป็นอีกวิธีการร้อยเรียงเรื่องเล่าที่น่าสนใจ 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นความหลงใหลใคร่เสน่หาของคนๆนั้นต่อเรื่องราวภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น “ควัน” ที่”ผม”เล่าเรื่อง ภาพถ่ายขาวดำภาพหนึ่งของญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับก่อนเรื่องจะสะท้อนย้อนกลับไปยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเรื่องราวที่อนุสรณ์นำมาปรุงใส่ในงาน ทั้งบรรยากาศเก่าๆ อาคารบ้านช่อง ท้องถนน โรงหนัง ดาราภาพยนตร์ที่เป็นที่พูดถึงในยุคนั้น ถูกนำมาเสนอตีแผ่ ผ่านบันทึกของคนยุคนั้น และสายตาของผู้ถ่ายภาพในทีมสำรวจชาวตะวันตก 

“เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีถ่ายภาพนี้ แต่ใช้เวลานานนับปีเก็บภาพนี้ไว้ในใจ หลังถ่ายภาพนี้เขาอกเดินทางไกลไปกับคณะสำรวจ เมืองแล้วเมืองเล่า ประเทศแล้วประเทศเล่า เฝ้ามองดวงอาทิตย์ดวงเดิมนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดในอีก 3 ปีต่อมา เขาตรงไปยังสถานที่แห่งเดิมที่เขาถ่ายภาพหญิงสาวผู้นี้ เขาดั้นด้นตามหาบ้านของเธอจนพบ ด้วยหมายใจจะมอบภาพนี้ให้กับเธอตามที่ตั้งใจมาเนิ่นนาน ก่อนจะพบความจริงว่าเขามาสายเกินไป เธอแต่งงานไปแล้ว “ น.99

หรือการหลงใหลในตำราโบราณ ใน “เตภูมิกถา” ที่เป็นเรื่องของ “ผม” กับการผลิตซ้ำผลิตสร้างหนังสือที่คล้ายๆสมบัติชาติ ด้วยวิธีปลอมแปลงให้แยบยล และเป็นอีกเรื่องที่ตัวละครของอนุสรณ์จมหายไปกับเรื่องบางเรื่องที่หมกหมุ่นครุ่นคิดตั้งแต่ต้นจนจบ 

ที่มาภาพ: Bangkok Post

“วันแต่ละวันของผมในสถานที่แห่งนั้นจึงจมอยู่ในนรกภูมิ สวรรค์ภูมิ พรหมภูมิ แต่ในภูมิต่างๆนรกภูมิเป็นภูมิที่ผมสนใจที่สุด ทุกครั้งที่ผมคัดลอกเรื่องราวของบุคคลที่ถูกลงทัณฑ์เหล่านั้น ผมจะเต็มไปด้วยข้อสงสัย กังวล หวาดกลัวว่ามันเป็นเรื่องจริงได้หรือไม่” น.47

ใน “โยนีรูป” อนุสรณ์ใช้กลวิธีเล่นเชือกที่เรียกว่า Cat Cradle ผูกเข้ากับชีวิตของ "ผม"

ที่มาภาพ: Museams Victoria Collections

"ผมเลี้ยงชีวิตด้วยเชือก กล่าวให้ถูกต้อง ผมเลี้ยงชีวิตของตนด้วยเกมของเชือก ตั้งแต่อายุสิบห้า ผมเดินทางไปตามที่ต่างๆจากตำบลหนึ่งสู่ตำบลหนึ่ง จากอำเภอหนึ่งสู่อำเภอหนึ่ง จากจังหวัดหนึ่งสู่จังหวัดหนึ่ง สร้างหลากหลายรูปแบบของเชือก สรรค์หลากหลายรูปแบบของการแสดง"

และในช่วงแรกอนุสรณ์ให้ " ผม" เข้าไปในโลกของจินตนาการอันเป็นสิ่งที่เกมแห่งเชือกมอบให้ แต่แล้วการผ่านเข้าไปเช่นนั้นก็ทำให้เขาได้พบ “เธอ”และบางสิ่งที่ไม่อาจหลุดจากบ่วงของมัน  เป็นอีกครั้งที่เรื่องราวความสัมพันธ์สั่นสะเทือนความรู้สึกผู้อ่าน 

“ฉันพบเขาอีกครั้งที่ร้านสะดวกซื้อ ขณะนั้นเขาพันธนาการมือข้างหนึ่งของเขาจนแน่นหนา ปมเชือกปรากฎอยู่บนมือข้างนั้นเป็นระยะ เขาเงยหน้าขึ้นมองฉันด้วยสายตาสิ้นหวัง ฉันรู้สึกได้ว่าเขาดีใจมากเพียงใด กระนั้นเขาก็หวาดหวั่นและหวาดกลัวว่าฉันจะทอดทิ้งเขาไปอีกครั้ง” น.42 

เรื่อง”แมว” ที่เป็นเหมือนตั้งใจให้เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของทัวร์เอเชียอาคเนย์รอบนี้ อนุสรณ์เริ่มฉากที่มัสยิดแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย  ในฐานะนักท่องเที่ยวที่จะไปเก็บภาพมุมที่สวยที่สุดในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของศาสสถานแห่งนั้น 

ที่มาภาพ: wikipedia

“น่าแปลกที่เมื่อทุกอย่างมืดมิดแล้วความงามของมัศยิดแห่งนี้ก็ปรากฏขึ้นทุกจุด หรือว่าแท้จริงแล้วความงามของสถาปัตยกรรมทางศาสนาหาได้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในหลักธรรมของศาสนานั้น” 

เช่นเดิมกับการไปอยู่วัฒนธรรมแปลกถิ่น และความหลากหลาย ทำให้ “ผม” ในเรื่องนี้ต้องพยายามหาเบียร์สักขวดดื่มในเมืองแห่งนั้น กระทั่งไปย่านไชน่าทาวน์ พบร้านน้ำชาที่มีลูกค้าคนจีนจำนวนหนึ่งที่บนโต๊ะของพวกเขามีทั้งแก้วเบียร์และแก้วน้ำชาคละกัน  นี่ก็เป็นอีกวิธีที่อนุสรณ์พยายามคลี่เรื่องพหุวัฒนธรรมของคนภูมิภาคนี้ผ่านวัฒนธรรมการกินดื่ม และมีตัวละครอีกตัวคือ แมวที่เขาพบเจอ และคนท้องถิ่นตรังกานู ที่บทสนทนาไพล่ไปถึง ปมเชื้อชาติ ศาสนา และความขัดแย้งจากนโยบายหลากเชื้อชาติดั้งเดิมของดินแดนนี้  และอนุสรณ์ได้ใช้ความเปรียบเรื่องความเมตตาของท่านนบีมูฮัมหมัดศาสดาของศาสนาอิสลามกับความรักและเมตตาสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอย่างแมว ในขณะที่แมวในเรื่องก็กำลังคลอเคลียก่อนหลับใหลบนตัก “ผม”

“การหายไปของแมว อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยในยุคนั้น แต่ในยุคสมัยของเราการหายไปของแมวเพราะไม่มีที่หลับนอนอีกต่อไปคือการหายไปของสิ่งใดคุณนึกออกไหม มันคือการหายไปของสิ่งที่เรียกว่า “สันติภาพ”

“เขาตอบประโยคนั้นก่อนที่ผมจะทันคิดอะไรได้ด้วยซ้ำ” น.151

ทั้งหมดที่ปรากฏในอาคเนย์คะนึง กรุ่นไอคิดถึงอุษาคเนย์ ผ่านสายตาคนอ่าน จึงเป็นเรื่องเล่าที่มีคุณค่า ทรงเสน่หา และเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น ที่มีชั้นเชิงและน้ำเสียงเล่าได้อย่างสากล และไปไกลกว่าภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน 

งานเขียนเล่มนี้ คงจะถูกนำมาพูดถึงบ่อยๆ ในฐานะหมุดหมายในการเปิดความรับรู้ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนที่มีความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ให้คนทั่วโลกได้รับรู้  โดยเชฟทางวรรณกรรมผู้ปรุงแต่งมันขึ้นมานามว่า อนุสรณ์ ติปยานนท์ ..

 

 


 

*อาคเนย์คะนึง เขียนโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2559
ได้รับรางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น (สพฐ.) ปี 2560

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: