ส่องมาตรการป้องกันภัยหวานจากหลากประเทศ

กฤติน ลิขิตปริญญา | ผู้ดำเนินรายการ TCIJ Health Knowledge | 12 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4123 ครั้ง


หนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2561 ว่าศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเครื่องดื่มชง เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น น้ำแดงโซดา ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน โดยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างร้านค้ารวม 62 แห่ง บริเวณถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม อันเป็นถนนสายเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เก็บตัวอย่างเครื่องดื่ม ชนิดต่างๆ รวม 270 ตัวอย่าง พบว่า

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.น้ำแดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2.เครื่องดื่มมอลต์รสช็อกโกแลต 13.3 ช้อนชา 3.ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4.ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5.นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่าหากบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว (250 มล.) ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการ ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแล้ว

ขณะที่ รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล แห่งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจอันเป็นวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศเพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง เป็นรากของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรั้ง ทั้งเบาหวาน ความดัน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

นอกจากนี้เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่ขายตามข้างทาง ถึงจะมีวิตามินและมีสารต้านอนุมูลอิสระจากผักและผลไม้ แต่ในรูปแบบที่ร้านค้าวางขายนั้นอยู่ในระดับที่เจือจางมาก ผู้บริโภคจึงแทบจะไม่ได้รับคุณค่า ดังกล่าว ตรงกันข้ามสิ่งที่ได้กลับมาคือปริมาณน้ำตาล ดังนั้น ระหว่างที่เครื่องดื่มซึ่งมีฉลากในร้านสะดวกซื้อกำลังปรับตัวตามกฎหมายเก็บภาษีความหวาน ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดเลือกที่จะรับประทานเครื่องดื่มริมทางด้วย

รศ.ดร.ประไพศรี ยังกล่าวอีกว่า เคยมีผลการศึกษาพบคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับ 4-7 เท่าตัว โดยข้อมูลที่คำนวณจากรายงานการบริโภคน้ำตาลของคนไทย ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยถึง 28 ช้อนชา ต่อคนต่อวัน ซึ่งแหล่งที่มาของการบริโภคน้ำตาลล้นความต้องการของร่างกายส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด และพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน

ทั้งนี้พฤติกรรมการบริโภคสามารถสร้างได้โดยเริ่มตั้งแต่อายุน้อยๆ ตั้งแต่การบริโภคนมผงต่อจากนมแม่ การ รับประทานอาหาร ขนม ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน หากเกิดความเคยชินกับรสหวาน คือต้องหวานถึงจะเรียกว่าอร่อย ก็จะทำให้ติดรสหวานและเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับลูกหลานในวันข้างหน้า โดยการเลือกนมหรืออาหารต่างๆ ให้ดี และปรุงอาหารโดยที่ไม่ต้องเติมน้ำตาล[1]

สำหรับมาตรการการรับมือภัยจากความหวานในประเทศไทยนั้น นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยภายหลังการประชุม เรื่องการปรับภาษีความหวานว่า ในวันที่ 1 ต.ค.62 จะปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานอีกเท่าตัว หลังจากได้ปรับโครงสร้างภาษีไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน หรือตั้งแต่ปี 60 ซึ่งส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมส่วนใหญ่ ประมาณ 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร (มล.) จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร จากเดิมเสียที่ 50 สตางค์ต่อลิตร คาดว่ากรมสรรพสามิตจะสามารถจัดเก็บภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1,500 บาท จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับภาษีความหวาน กรมจะจัดเก็บในอัตราขั้นบันไดทุก 2 ปี โดยปรับเพิ่มเป็น 2 เท่า สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร คือ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.64 ภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 10-14% จาก 1 บาทต่อลิตร จะเพิ่มเป็น 3 บาทต่อลิตร และในวันที่ 1 ต.ค.66 จะเพิ่มจาก 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร ซึ่งกรมเชื่อว่า หลังจากนี้ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนสูตรในเครื่องดื่ม เพื่อลดความหวานลงเอง เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น

“ในช่วงที่กรมสรรสามิตเริ่มเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่า มีกลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ปรับลดปริมาณน้ำตาลให้น้อยลง เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 60-70 สินค้า เพิ่มเป็น 200-300 สินค้า และมีน้ำดำบางค่ายลดปริมาณน้ำตาลลงจาก 10% เหลือเพียง 7.5% ทำให้เครื่องดื่มดังกล่าวเสียภาษีในอัตราเดิม” นายณัฐกรกล่าว[2]

ในแต่ละมุมของโลกก็เริ่มตระหนักถึงภัยจากความหวานและออกมาตรการรับมือภัยจากความหวานด้วยเช่นกัน

หนึ่ง – สิงคโปร์

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ประกาศให้เครื่องดื่มน้ำตาลสูงที่จะวางขายต้องมีฉลากแจกแจงสัดส่วนน้ำตาลและสารอาหาร

ในขณะที่เครื่องดื่มที่ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากที่สุดจะถูกห้ามปรากฎในสื่อโฆษณาทุกประเภท

ส่งผลให้เวลานี้ สิงคโปร์กำลังจะเป็นประเทศแรกในโลกที่จะออกกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพื่อต่อสู้กับอัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เผยว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและเตรียมจะศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องของการเก็บภาษีน้ำตาลและการแบนน้ำตาลต่อไปในอนาคต โดยระหว่างนี้จะทำงานร่วมกับโรงงานผลิตเพื่อทำงานร่วมกันในการดำเนินมาตรการดังกล่าวและจะประกาศรายละเอียดอีกครั้งในปีหน้า

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากสมาพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ พบว่าที่ผ่านมาสิงคโปร์มีผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 13.7 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว[3]

สอง – มาเลเซีย

รัฐบาลมาเลเซียเปรยเอาไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าจะเริ่มเก็นภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 กรกฎาคมนี้ จากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวานจากน้ำตาลสูงกว่า 5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร รวมถึงน้ำผลไม้และน้ำผักที่ใส่น้ำตาลมากกว่า 12 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรด้วย โดยนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด เผยในงานประชุมการลงทุน 2019 ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะนำรายได้จากการเก็บภาษีนี้ มาเป็นเงินทุนโครงการอาหารเช้าเพื่อสุขภาพให้เด็กในโรงเรียนประถมในกำกับของรัฐ

ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียมีแผนที่จะกำหนดเริ่มเก็บภาษีน้ำตาลเดือนเมษายน แต่สุดท้ายได้เลื่อนไปเป็น 1 กรกฎาคม พร้อมสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่า ปีนี้จะไม่มีภาษีใหม่ประเภทอื่นแล้วนอกจากภาษีน้ำตาลเท่านั้น

นอกจากนี้มหาเธร์เผยอีกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ชาวมาเลเซียต้องเพิ่มผลผลิต ซึ่งทำได้โดยแรงงานที่มีคุณภาพ จากการศึกษาที่มีคุณภาพ รัฐบาลจึงมีความต้องการให้เด็กๆ มาเลเซียแข็งแรง และมีสุขภาพดี โดยที่การปฏิรูปครั้งใหญ่จะมีขึ้นหลังทีมเฉพาะกิจได้พิจารณานโยบายการศึกษาแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมหลายด้าน รวมทั้งการใช้ภาษาอังกฤษ การปรับปรุงหลักสูตรพลเมืองและศาสนา คุณภาพครูผู้สอน และความสามารถที่จะใช้ทำงานได้จริงของคนเรียนจบใหม่อีกด้วย[4]

สาม – เมืองลิเวอร์พูล

สหราชอาณาจักร สภาเทศบาลเมืองลิเวอร์พูล ได้ใช้วิธีประกาศรายชื่อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมในปริมาณมาก เช่น น้ำอัดลม และเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่างๆ เพื่อเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับอันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพของลูกๆ ซึ่งเมืองลิเวอร์พูลนั้น เป็นเมืองที่มีอัตราของโรคอ้วนในวัยเด็กและฟันผุสูงที่สุดในสหราชอาณาจักร

เดนนิส แคมแบล บรรณาธิการด้านนโยบายสุขภาพของเดอะการ์เดียน สื่อมวลชนสหราชอาณาจักร ได้เขียนรายงานเรื่อง “ความหวานที่ซ่อนอยู่” โดยระบุว่า

“แคมเปญของเมืองลิเวอร์พูลแคมเปญนี้ต้องการที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มต่างๆ แก่ผู้ปกครอง โดยระบุชื่อเครื่องดื่มอย่างชัดเจน เช่น โคลา ซึ่งกลุ่มแพทย์และสาธารณสุขได้เสนอให้รัฐบาลใช้วิธีนี้ในระดับประเทศ”

2 พ.ค.59 เป็นวันแรกที่ลิเวอร์พูลเริ่มการรณรงค์ด้วยวิธีการประกาศรายชื่อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมอยู่มาก เมื่อเริ่มประกาศแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพยังกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อที่ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยอดนิยมและรู้จักกันดีจะมีปริมาณน้ำตาลจำนวนมากผสมอยู่

แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ที่แพทย์จากโรงพยาบาลและศูนย์เด็กจัดทำขึ้น ได้แสดงถึงสัดส่วนและปริมาณของน้ำตาลในเครื่องดื่มที่นิยมเจ็ดชนิด ขนาด 500 มิลลิลิตร ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลที่แตกต่างกัน

Lucozard เครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อดังของอังกฤษ จะมีจำนวนน้ำตาลถึง 15.5 ลูกบาศก์น้ำตาล หรือราวๆ 62 กรัม ตามด้วย Coca-Cola (หรือโค้ก) มีจำนวนน้ำตาล 13.5 ลูกบาศก์น้ำตาล และแม้กระทั่งน้ำแร่ธรรมชาติ ยี่ห้อ Volvic ขนาด 500 มิลลิลิตร ก็ยังมีส่วนผสมของน้ำตาลถึง 5.75 ลูกบาศก์น้ำตาลเช่นกัน

จากการศึกษาเครื่องดื่มประเภทนมและน้ำผลไม้ โดยใช้ข้อมูลที่แสดงบนฉลากที่ติดบนขวดเครื่องดื่มและเวปไซด์ของผู้ผลิต พบว่า ช็อคโกแลตปั่นผสมนม Frijj ขนาด 471 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 12.7 ลูกบาศก์ (50.8 กรัม) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก Lucozard และ Coca-Cola ในขณะที่น้ำส้มทรอปปิคานาขนาด 300 มิลลิลิตร มีจำนวนน้ำตาล 7.5 ลูกบาศก์หรือ 30 กรัม

เป้าหมายของการรณรงค์ด้วยวิธีการนี้ก็คือ เพื่อที่จะแสดงให้ครอบครัวเห็นถึงปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเหล่านั้น ก่อนตัดสินใจกระดกมันเข้าร่างกาย

พญ.แซนดร้า เดวีส์ ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข เมืองลิเวอร์พูล กล่าวถึงการรณรงค์เรื่องนี้ว่า แม้แต่ตัวเธอเองยังรู้สึกประหลาดใจที่พบปริมาณน้ำตาลจำนวนมากในเครื่องดื่มเหล่านี้

พญ.เดวีส์ กล่าวว่า “คุณจะได้รับปริมาณน้ำตาลมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่คุณควรได้รับสูงสุดต่อวัน หรืออาจเป็นได้รับเป็น 2 เท่า เพียงเพราะดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้" พญ.เดวีส์ กล่าว

ในปีที่แล้ว ข้อแนะนำในการบริโภคน้ำตาลได้รับการแก้ไข โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ให้คำแนะนำว่า ในแต่ละวันผู้บริโภคไม่ควรจะได้รับน้ำตาลมากกว่า 5% ของการเผาผลาญพลังงานจากน้ำตาลของร่างกาย

เด็กอายุ 3 ปี ควรได้รับปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 4 ลูกบาศก์น้ำตาลต่อวัน เด็กอายุ 4-6 ปี ควรได้รับมากสุด 5 ลูกบาศก์น้ำตาลต่อวัน เด็กอายุ 7-10 ปี ควรได้รับไม่เกิน 6 ลูกบาศก์ต่อวัน และเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 11 ปี ควรได้รับไม่เกิน 7 ลูกบาศก์ต่อวัน

ซันโดส อัลบาดลิม ทันตแพทย์ที่ปรึกษาแผนกทันตกรรมเด็กของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล กล่าวว่า เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ว่า ทำไมทุกวันนี้ เด็กๆ ถึงมีปัญหาเรื่องฟันกันเป็นจำนวนมาก 

“เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งทำการถอนฟัน 15 ซี่ ให้กับเด็กอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่รุนแรง แต่ก็พบได้ไม่ยาก ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการลดปริมาณน้ำตาลจากการบริโภค และรักษาความสะอาดฟันโดยการหมั่นแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง” เขากล่าว

ในการดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือ จะต้องเก็บภาษีน้ำตาล เสนอให้มีการปรับลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำตาลมากเกินกำหนด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กๆ เพราะกลุ่มสุขภาพคิดว่า “น้ำตาลคือยาสูบชนิดใหม่” ศ.เคปเวลล์ กล่าว[5] 


 

 

อ้างอิง

[1] https://www.tcijthai.com/news/2018/17/current/8571

[2] https://www.thairath.co.th/news/business/1657076

[3] https://www.matichon.co.th/foreign/news_1707400

[4] https://www.springnews.co.th/news/464407

[5] https://www.hfocus.org/content/2016/08/12509

ที่มาภาพประกอบ: Eater

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: