สธ.เปิดสถิติใช้ความรุนแรงในโรงพยาบาลพบ 8 ปี เกิด 51 เหตุการณ์ แนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ปี 2561 เกิดถึง 17 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ด้านแพทยสภาสำรวจพบหมอเจอเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุด ตามด้วยพยาบาล เฉลี่ยเจอ 1-3 ครั้งต่อปี พบมากสุดใน รพ.สังกัดตำรวจ ทหาร และโรงพยาบาลชุมชน มีผลตัดสินใจลาออกของบุคลากร 54% ที่มาภาพประกอบ: ไทยรัฐออนไลน์
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ว่าในการประชุมเสวนา เรื่อง “ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา” จัดโดยแพทยสภา นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาล สังกัด สธ. ตั้งแต่ปี 2555-2562 พบว่า มี 51 เหตุการณ์ แบ่งเป็นการทะเลาะวิวาท 18 เหตุการณ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 19 เหตุการณ์ ทำลายทรัพย์สิน 1 เหตุการณ์ ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์ กระโดดตึก 6 เหตุการณ์ และอื่นๆ 6 เหตุการณ์ ผลจากความรุนแรงทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ประชาชน เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 43 ราย เมื่อแยกเป็นรายปีและรายเขตสุขภาพ พบว่า ปี 2555 และปี 2557 ทั่วประเทศเกิดเหตุเพียง 1 ครั้ง ปี 2556ไม่เกิดเหตุ จนในปี 2558 เกิดเหตุ 7 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 10 ครั้ง ปี 2561 จำนวน 17 ครั้ง และในช่วง 4 เดือนของปี 2562 เกิดเหตุแล้ว 11 ครั้ง
“สธ.จึงได้ร่วมกับสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการจัดทำชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เพิ่มบุคลากรที่เพียงพอ รวมถึงการปรับปรุงห้องฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน คือ กั้นพื้นที่แยกผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง แยกประตูทางเข้า-ออก ให้ครอบคลุมสถานพยาบาลในสังกัด ซึ่งอยู่ระหว่างให้กองแบบแผนดำเนินการ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทำประกันภัยบุคลากรที่ทำงานในห้องฉุกเฉินด้วย คล้ายกับการทำประกันภัยชั้นหนึ่งให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินที่มีวงเงินชดเชย 2 ล้านบาทต่อคน” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า จากการทำแบบสำรวจเรื่องความปลอดภัยของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 20-30 เม.ย. 2562 มีจำนวนผู้ตอบ 1,726 คน เป็นผู้หญิง 83.2% อายุ 21-30 ปี 29.2% อาชีพพยาบาลมากที่สุด 63.7% อยู่ในภาคตะวันออก 36.4% อยู่ รพ.สังกัด สธ. ระดับโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ 60% ทั้งนี้ การพบความรุนแรง จะพบมากสุดที่ รพ.สังกัดอื่น เช่น ตำรวจ ทหาร 78% และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สังกัด สธ. 71% ส่วนใหญ่ใน 1 ปี จะพบความรุนแรงระดับ การใช้กำลัง ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน สูงถึง 51.5% จำนวนครั้งที่พบ 1-3 ครั้งต่อปี มากสุดที่ในรพช. 4-6 ครั้ง และมากกว่า 6 ครั้งต่อปี มากสุดที่ รพ.สังกัดอื่นๆ เช่น ตำรวจ ทหาร
ผู้พบเหตุความรุนแรง จำนวน 1-3 ครั้งมากสุด คือแพทย์ รองลงมาเป็นพยาบาล ระดับความรุนแรงที่พบ 48.4% เป็นความรุนแรงที่ถึงผู้ป่วยแต่ยังไม่สูญเสียอวัยวะ แต่มีถึง 26.9% ที่ส่งผลกระทบถึง สูญเสียอวัยวะ หรือถึงชีวิต โดย 96% เห็นว่าการเมาสุราเป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน และ97.2% เห็นด้วยกับ นโยบายห้องฉุกเฉินเป็นเขตปลอดคนเมาสุรา
สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่คิดว่า สามารถใช้แก้ไขปัญหาความรุนแรง เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ของห้องฉุกเฉิน เรียงจากมากไปหาน้อย พบว่า จำคุก 5 ปี ถ้าขู่ทำร้าย ทำลายข้าวของ 56.3% ห้องฉุกเฉิน สามารถเปิด-ปิด ได้เฉพาะเจ้าหน้าที่เปิดเท่านั้น 45.9% ห้องฉุกเฉิน ปลอดคนเมา 44.2% รณรงค์ให้สังคมและชุมชนปกป้องห้องฉุกเฉิน 41.6% ติดกล้องวงจรปิด40.3% โทษอาญาติดคุก 1-5 ปี 34.1% ฝาก รพ.ไว้กับตำรวจ/อาสา 31.5% อีกทั้ง ความรุนแรงของห้องฉุกเฉิน ยังมีผลต่อการตัดสินใจลาออกของบุคลากร 54.9% โดยเป็นแพทย์ 63.8% และพยาบาล 58% ซึ่งมีผลต่อการลาออกของคนที่มีอายุน้อย ระหว่าง21-30 ปี มากที่สุด 36%
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ