'เอกชน-ภาครัฐ' ร่วมพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2590 ครั้ง

'เอกชน-ภาครัฐ' ร่วมพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

'สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ-บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด-บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด' จับมือพัฒนาอุปกรณ์และระบบป้องกันนักท่องเที่ยวหายโดยทำสายรัดข้อมือ (Wristband) เซนเซอร์ติดเสื้อชูชีพสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังศูนย์สั่งการเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562 ว่านางฐิติมา สุวรรณรัฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่าเอ็กซ์เซ้นส์ใช้ประสบการณ์ในการพัฒนาระบบติดตามรถมากว่า 15 ปี จึงพัฒนาระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยวโดยร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สมาคมสมองกลฝังตัว พัฒนาอุปกรณ์และระบบป้องกันนักท่องเที่ยวหายโดยทำสายรัดข้อมือ (Wristband) เซนเซอร์ติดเสื้อชูชีพ ที่สามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังศูนย์สั่งการเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที ระบบจัดการเพื่อรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย เพื่อใช้ติดตามเรือนำเที่ยว ติดตามเรือขนส่งสินค้า ตลอดจนการติดตามยานพาหนะทางบก แตกต่างจากซอฟต์แวร์ของต่างประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขการใช้งานได้

นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นด้านความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากสามารถเรียกดูระบบในหลายส่วนผ่านหน้าจอเดียว หรือที่เรียกว่า Single monitor ระบบติดตามประกอบด้วย 3 ระบบ คือ ระบบระบุตำแหน่งนักท่องเที่ยว โดยมีสายรัดข้อมือหรือ Wristband และเสื้อชูชีพติดเซนเซอร์ เป็นอุปกรณ์ปลายทาง ทำหน้าที่ส่งสัญญาญไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการ เมื่อนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือ ระบบติดตามเรือท่องเที่ยว (Automatic Identification System) แสดงพิกัดตำแหน่งของเรือและเรือบริเวณรอบข้าง แสดงความเร็วของเรือ และระบบเข็มทิศนำทาง เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ ประเมินความเสี่ยง และกิจกรรมการปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ และ ระบบติดตามรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว (GPS Vehicle Tracking System) ทำการแสดงภาพวิดีโอ และระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ แจ้งเตือนเมื่อเข้าเขตพื้นที่เสี่ยงอันตราย และแจ้งเตือนเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด สามารถแจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย ด้วยการแชร์จุดพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS Location) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล หน่วยกู้ภัย สามารถควบคุมและป้องกัน ปราบปรามปัญหาอาชญากรรม เพื่อรักษาความความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่นักท่องเที่ยว

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสทโทรคมนาคม กล่าวว่า กสท ได้สนับสนุนโครงข่ายกระบายสัญญาณบน 'ลอร่าแวน' (Long-Range Wide Area Network) เพื่อใช้งานระบบจัดการและรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว โดยพื้นที่ที่จะให้บริการคือพืเนที่ทะเลอันดามันได้แก่กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล และภูเก็ต โดยนำร่องที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก ด้วยความสามารถในการสื่อสาร ระบบทั้งหมดจะเชื่อมโยงมายัง ศูนย์ควบคุมและสั่งการการทำงานของระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยจะทำการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ไปยังระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Control and Command Center) ทำให้รู้ตำแหน่งและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที รู้ตำแหน่งของนักท่องเที่ยวแต่ละราย ป้องกันการสูญหายหรือพลัดหลงกับทัวร์ รวมทั้งมีระบบจอภาพแสดงผลในห้องศูนย์ปฏิบัติการอีกทั้งยังมีพยากรณ์อากาศ เพื่อตรวจตราการออกเรือท่องเที่ยวในแต่ละวันมีศูนย์ประสานความช่วยเหลือ ณ จุดประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลที่สำคัญ โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่ามเพื่อช่วยเหลือและประสานงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อมีข้อมูลนักท่องเที่ยวยังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการท่องเที่ยว เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สมบูรณ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวครั้งต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: