นักเศรษฐศาสตร์ชี้ 'บรรษัทข้ามชาติ' ในไทยเลี่ยงภาษีมากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3784 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ 'บรรษัทข้ามชาติ' ในไทยเลี่ยงภาษีมากขึ้น

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต ชี้บรรษัทข้ามชาติในไทยเลี่ยงภาษีมากขึ้นหลังการค้าโลกชะลอและสหรัฐฯ ลดภาษีนิติบุคคล สนับสนุนการออกกฎหมาย Transfer Pricing ของรัฐบาล สิทธิประโยชน์การลงทุนให้ต่างชาติใน EEC ต้องมองความเสมอภาคต่อกลุ่มทุนไทยด้วย ที่มาภาพประกอบ: Nick Youngson CC BY-SA 3.0 Alpha Stock Images

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบรรษัทข้ามชาติในไทยและอาเซียนมีการโยกย้ายการรายงานผลกำไรระหว่างแหล่งผลิตของบริษัทในเครือบรรษัทข้ามชาติเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การทำธุรกรรมแบบออนไลน์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การค้าโลกขยายตัวลดลงจากการเติบโตขึ้นของลัทธิกีดกันทางการค้าและแนวคิดต่อต้านโลกาภิวัฒน์ การทวีความสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อการวางแผนภาษีของบริษัทข้ามชาติ การให้บริการข้ามพรมแดนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มีการโยกย้ายถ่ายเทกำไรไปยังประเทศที่เป็น Tax haven ต่างๆ หรือประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ 

ทั้งนี้การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติในไทยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยและสังคมไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงที่ผ่านมา เพราะขาดยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อดึงประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติสู่เศรษฐกิจและกระจายมายังคนไทยส่วนใหญ่ จะเป็นเพียงมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเคลื่อนย้ายทุนออกไปเมื่อต้นทุนสูงขึ้นและทิ้งความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้กับลูกหลานของเรา สิทธิประโยชน์พิเศษของเรามอบให้กับนักลงทุนต่างชาติต้องมีเงื่อนไขให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและต้องสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันต่อกลุ่มทุนไทยและกิจการนอกเขต EEC ด้วย 
    
ทั้งนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าขอสนับสนุนการรัฐบาลไทยในการออก พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (transfer pricing) บังคับใช้เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา กฎหมายนี้จะแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีได้ระดับหนึ่ง จะช่วยเพิ่มข้อมูลเพื่อให้กรมสรรพากรสามารถคัดกรอง และออกแบบกลไกการตรวจสอบบริษัทข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ประเด็นการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาตินี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศเหล่านี้ สำหรับประเทศไทยนั้นได้พึ่งพารายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด ระดับความเข้มงวดของการตรวจสอบบัญชีนั้น สามารถลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าจากงานวิจัยของ ดร.กฤษณ์เลิศ สัมพันธารักษ์ (สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์) และ ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรายงานกำไรของบริษัท และการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีในต่างประเทศของบริษัทต่างๆในเครือ โดยได้ควบคุม fixed effects ต่างๆ และพบว่าบริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติลง 10 percentage point จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งลงทุน (host country) ถึง 10.3% โดยเฉลี่ย ทั้งนี้งานวิจัยชี้ว่าแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนี้จะเด่นชัดสำหรับบริษัทในภาคการผลิตและบริษัทขนาดใหญ่ 

เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีด้วยการรายงานกำไรต่ำกว่าความเป็นจริงของบรรษัทข้ามชาติ รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบบัญชี (auditing scrutiny) ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของต่างประเทศ อย่างเช่น การลดอัตราภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้วจากระดับ 35% เป็น 21% ทำให้บรรษัทข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯหรือบรรษัทข้ามชาติในไทยที่มีสาขาในสหรัฐฯมีแรงจูงใจอย่างมีนัยสำคัญในการรายงานผลกำไรในประเทศไทยต่ำกว่าความจริง มีการลดการรายงานผลกำไรในไทยลง ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาวิจัยพบว่า รายได้ภาษีหายไปอย่างน้อย 4% จากกรณีดังกล่าว หากไม่มีการแก้ไข แนวโน้มรายได้ภาษีนิติบุคคลของบรรษัทข้ามชาติในไทยจะเก็บได้ลดลงกว่าความเป็นจริงที่ต้องจ่ายภาษีอย่างต่อเนื่องในอนาคต รัฐบาลต้องกู้เงินมาพัฒนาประเทศมากขึ้น เพิ่มภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ ขณะนี้รัฐบาลเองก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้ตามนโยบายรัฐบาล หากนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้มากเกินไปต่อไปหากเกิดความจำเป็นฉุกเฉิน ท้องถิ่นก็จะมีงบประมาณไม่เพียงพอให้การแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่านอกจากนี้หลังน้ำลด ต้องฟื้นฟูที่อยู่อาศัย ซ่อมแซ่มและซื้อทรัพย์สินใหม่ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมและพืชผลได้รับความเสียหาย หากงบอยู่กับท้องถิ่นจะฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพมากกว่า จึงมีความเห็นว่าหากรัฐบาลต้องการงบเพิ่มเติมในการบริหารประเทศ ขอให้ไปเก็บภาษีจากบรรษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษีแทนการไปล้วงเอางบสะสมจากท้องถิ่นไม่น่าจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ หากมีการกระจายอำนาจทางการคลัง ชาวบ้านเดือดร้อนประสบภัยน้ำท่วมจะได้รับความช่วยเหลือดีขึ้น การกระจายอำนาจทางการคลังจะลดการรั่วไหลของงบประมาณและจะทำให้มาตรการช่วยเหลือตรงความต้องการและตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: